โรคคางทูม อาการ สาเหตุ และวิธีรักษา
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีไข้ และมีอาการปวดบวมช่วงบริเวณหน้าใบหู ก็น่าสงสัยว่าจะเป็น “โรคคางทูม” แต่ก็ยังสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ส่วนขั้นตอนของการรักษาจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น มีโรคที่สามารถแทรกซ้อนได้อีกหรือไม่ บทความนี้จะไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคคางทูมให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบกันค่ะ
ทำความรู้จักโรคคางทูม
คางทูม (Mumps/Epidemic Parotitis) เป็นโรคติดต่อเฉียบพลันทางระบบทางเดินหายใจ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Paramyxovirus และติดต่อจากคนสู่คน โดยการสัมผัสละอองน้ำลายของผู้ที่ติดเชื้อผ่านการไอหรือจาม ไวรัสจะเคลื่อนจากระบบทางเดินหายใจไปยังต่อมน้ำลายที่อยู่บริเวณข้างหู ที่เรียกว่า “ต่อมพาโรติด” (Parotid Glands) ซึ่งเป็นต่อมคู่ มีทั้งข้างซ้ายและข้างขวา โดยโรคอาจเกิดขึ้นกับต่อมน้ำลายเพียงข้างใดข้างหนึ่งหรือเกิดทั้งสองข้างก็ได้ นอกจากนั้นยังอาจเกิดขึ้นกับต่อมน้ำลายอื่นได้ เช่น ต่อมน้ำลายใต้คาง (Submandibular Glands) และต่อมน้ำลายใต้ลิ้น (Sublingual Glands) แต่ก็พบได้น้อยกว่าต่อมน้ำลายข้างหูมาก และเมื่อเกิดขึ้นกับต่อมน้ำลายอื่นๆ แล้วก็มักจะเกิดร่วมกับการอักเสบของต่อมน้ำลายข้างหูด้วย เมื่อต่อมนี้เกิดการอักเสบจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและบวมแดง นอกจากนี้ ถ้าไวรัสแพร่กระจายเข้าสู่น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังแล้ว ก็อาจจะแพร่ไปที่อื่นในร่างกายส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะแทรกซ้อนในระบบสืบพันธุ์
คางทูมเป็นโรคที่พบได้มากในเด็กอายุ 6-10 ปี โดยเด็กที่มีอายุ 5-9 ปี จะมีอัตราการป่วยสูงที่สุด พบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชายใกล้เคียงกัน หรือกลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีน มักไม่ค่อยพบในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี โรคนี้แพร่กระจายสูงในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน และในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน แต่อาจพบการระบาดได้เป็นครั้งคราว
อาการของโรค
เด็กที่ป่วยจะมีอาการผิดปกติที่สังเกตได้คือ ต่อมน้ำลายบริเวณข้างหูเจ็บและบวมอย่างเห็นได้ชัด และปรากฏอาการเบื้องต้นของโรคดังต่อไปนี้
- มีไข้สูง (38 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงกว่า)
- ปากแห้ง
- เบื่ออาหาร
- ปวดศีรษะ
- ปวดตามข้อ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
ผู้ป่วยส่วนมากจะแพร่เชื้อก่อนมีอาการบวมของต่อมน้ำลายบริเวณข้างหู 2-3 วัน เชื้อไวรัสนี้จะเคลื่อนจากระบบทางเดินหายใจตั้งแต่จมูก ปาก ลำคอ ไปยังต่อมน้ำลายบริเวณข้างหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง อาการปวดและบวมส่วนใหญ่จะหายไปได้เองภายใน 4-8 วัน โดยปกติแล้วโรคนี้จะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 16-18 วัน แต่ในบางรายอาจมีระยะฟักตัวนานถึง 25 วัน
สาเหตุของโรค
สาเหตุของโรคเกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า มัมส์ (Mumps) เป็นไวรัสที่อยู่ในอากาศ สามารถแพร่กระจายได้โดยการไอ จาม เหมือนโรคหวัด หรือการสัมผัสละอองของเหลว ทั้งน้ำลายและน้ำมูกจากผู้ป่วยที่อาจแฝงอยู่ตามวัตถุต่างๆรอบตัว เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ หรือแม้แต่การใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งประมาณ 30% ของผู้ที่ติดเชื้อคางทูมจะไม่แสดงอาการของโรคคางทูม แต่ยังสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้อยู่
การวินิจฉัยโรค
ปกติแล้วแพทย์มักจะรักษาตามอาการหากผู้ป่วยยังไม่ได้เป็นอะไรรุนแรงหรือพบอาการแทรกซ้อน โดยแพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ตรวจเช็คประวัติการเจ็บป่วยของเด็ก
- ตรวจการบวมของต่อมน้ำลายที่ข้างหู และต่อมทอนซิลในปาก
- ตรวจวัดอุณหภูมิว่าอยู่ในระดับที่สูงผิดปกติหรือไม่
- ตรวจสารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) ในเลือด
การรักษาโรค
การรักษาโรคคางทูมในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แต่สามารถทำได้โดยบรรเทาอาการและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงขึ้น ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จนกว่าอุณหภูมิในร่างกายจะลดลงเป็นปกติ
- รับประทานยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอลหรือไอบูโปรเฟน แต่ไม่ควรใช้ยาแอสไพรินกับเด็กและผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะอาจเกิดกลุ่มอาการเรย์ซินโดรม ซึ่งจะทำให้ตับและสมองบวม อาเจียน อ่อนเพลีย ชัก และหมดสติได้
- หลีกเลี่ยงอาหารหรือน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว เพราะกรดในน้ำผลไม้จะทำให้ต่อมน้ำลายเกิดการระคายเคือง และทำให้ปวดบวมมากขึ้นได้
- ประคบร้อนหรือประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการปวดบวมที่บริเวณต่อมน้ำลาย
- รับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว เช่น โจ๊กหรือซุป เพื่อลดการเคี้ยวและการกระแทกในบริเวณที่ปวดบวม
ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน แต่เมื่อรักษาตามอาการแล้วไม่ดีขึ้น ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงขึ้นได้ โรคนี้เมื่อเป็นแล้วมักจะไม่เป็นซ้ำอีก เพราะเมื่อเป็นแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานโรคนี้ได้ตลอดชีวิต ไม่กลับมาติดเชื้อได้อีก ในบางรายซึ่งเป็นส่วนน้อยอาจติดเชื้อเป็นซ้ำได้อีก แต่อาการมักไม่รุนแรงและไม่ค่อยเกิดภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนของโรค
สามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น
- ลูกอัณฑะอักเสบ 25% ของผู้ป่วยคางทูมในเพศชาย มักจะมีอาการบวมของลูกอัณฑะเพียงข้างเดียว ทำให้การผลิตสเปิร์มลดลง อาจส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ แต่มักไม่ถึงกับทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในผู้ป่วย อาการนี้จะเกิดขึ้นหลังเป็นโรคคางทูมตั้งแต่ 4-8 วัน หรือบางรายอาจนานถึง 6 สัปดาห์ สามารถบรรเทาอาการลงได้ด้วยตนเองโดยการประคบร้อนหรือประคบเย็น หรือสวมใส่กางเกงชั้นในที่กระชับ
- รังไข่อักเสบ 1 ใน 20 ของผู้ป่วยคางทูมในเพศหญิง จะมีอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย ป่วยและมีไข้สูง
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส สามารถเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสคางทูมแพร่กระจายเข้าสู่เยื่อหุ้มสมองซึ่งจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย 1 ใน 7 คน แต่จะไม่รุนแรงเท่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
- ตับอ่อนอักเสบ หรือตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เป็นอาการอักเสบของตับอ่อนระยะสั้น อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ เจ็บที่บริเวณหน้าท้อง อาจพบอาการท้องร่วง เบื่ออาหาร หรือมีไข้สูงร่วมด้วย
- ไข้สมองอักเสบ สามารถเกิดขึ้นได้ 1 ใน 1,000 ของผู้ป่วยคางทูม เป็นอาการแทรกซ้อนที่พัฒนามาจากอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส
- สูญเสียการได้ยิน ในผู้ป่วยคางทูม 1 ใน 20 คนอาจสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว และ 1 ใน 20,000 อาจสูญเสียการได้ยินแบบถาวร
การป้องกันโรค
การป้องกันโรคทำได้โดยการฉีดวัคซีน MMR (Measles-Mumps-Rubella Vaccine) เป็นการฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 0.5 มิลลิลิตร บริเวณกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าในเด็กหรือต้นแขนในผู้ใหญ่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ถึง 95% การรับวัคซีนจะเกิดขึ้นทั้งหมด 2 ครั้ง คือ
- ครั้งแรกในเด็กอายุ 9-12 เดือน
- ครั้งที่ 2 ในเด็กอายุ 2.5 ปี หรือ 4-6 ปี
ในปี พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณะสุข ประเทศไทย มีการแนะนำให้เปลี่ยนการฉีดวัคซีน MMR ครั้งที่ 2 จากเด็กอายุ 4-6 ปี เลื่อนเข้ามาเป็นอายุ 2.5 ปี เพื่อเร่งการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กที่ได้รับวัคซีนครั้งแรกในอายุ 9 เดือนแล้วไม่ได้ผล
คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้ลูกๆลดการแพร่กระจายของโรคคางทูมได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ให้ลูกล้างมือให้สะอาดด้วยการฟอกสบู่
- ใช้ทิชชู่ปิดปากเวลาไอหรือจามและทิ้งลงในถังขยะให้เรียบร้อย
- เมื่อเริ่มสังเกตได้ว่าลูกมีอาการของโรคคางทูม ควรหยุดเรียนเพื่อพักอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 5 วัน และหลีกเลี่ยงการไปตามสถานที่สาธารณะ
- คุณพ่อคุณแม่เองต้องไม่นอนรวมกับลูกที่ป่วย และแยกพี่ๆน้องๆคนอื่นออกจากเขาด้วย
- ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ดูแลลูก
เขียนเสือให้คางทูมกลัว
สมัยก่อนเวลาเด็กๆเป็นคางทูม พ่อแม่บางบ้านจะพาเด็กไปหาหมอหรือซินแส เพื่อให้เขียนตัวอักษรจีนคำว่าเสือหรือเขียนเป็นรูปเสือไว้ตรงแก้มเด็กข้างที่เป็น ในที่สุดเด็กก็หายเป็นปกติ หลายๆคนจึงปักใจเชื่อว่าต้องเขียนเสือไว้ คางทูมถึงจะกลัว หากรักษาตัวอย่างดี ไม่ปล่อยให้เกิดอาการแทรกซ้อน คางทูมก็จะมีลักษณะเหมือนกับหวัด คือเป็นเองหายเองได้โดยไม่ต้องพาไปให้ใครเขียนเสือ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th