โรคที่มากับหน้าร้อน มีอะไรบ้างที่ต้องระวัง
ตอนนี้ก็ถือได้ว่าเข้าหน้าร้อนอย่างเป็นทางการแล้วนะคะ สิ่งหนึ่งที่คนเป็นพ่อแม่ต้องคอยระวังนั่นก็คือ “โรคที่มากับหน้าร้อน” เพราะโรคเหล่านี้อาจทำให้ช่วงเวลาปิดเทอมซัมเมอร์ของเด็ก ๆ ต้องหมดสนุกได้ แทนที่เขาจะได้ใช้ช่วงเวลาปิดเทอมใหญ่ทำกิจกรรมเสริมหรือพักผ่อนจากการเรียนได้อย่างเต็มที่ เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่ามีโรคอะไรที่มากับหน้าร้อนได้บ้าง
1. โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)
เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสารพิษจากเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารเข้าไปในร่างกาย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไป โรคอาหารเป็นพิษอาจเกิดขึ้นพร้อมกันได้หลายคน โดยการกินอาหารปนเปื้อนชนิดเดียวกัน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับอาหารที่ไม่ได้แช่ไว้ในตู้เย็น อาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านาน ๆ โดยไม่มีการแช่เย็นหรือนำไปอุ่นให้ร้อนอยู่เสมอ อาหารที่เตรียมขึ้นอย่างไม่สะอาด มักพบในอาหารที่ปรุงแบบสุก ๆ ดิบๆ ซึ่งมีทั้งในเนื้อสัตว์ ไข่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ
เด็กและคนชรามีความเสี่ยงสูง อาการของโรคอาหารเป็นพิษมักเกิดขึ้นภายใน 2-6 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อหรือสารพิษของเชื้อ อาการที่พบคือ มีไข้ ปวดท้อง ปวดเมื่อย คลื่นไส้อาเจียน บางครั้งอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว อุจจาระร่วงด้วย หรือเกิดการติดเชื้อที่อวัยวะอื่น เช่น ข้อกระดูก ถุงน้ำดี หัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง ไปจนถึงโลหิตเป็นพิษ ซึ่งหากเกิดในทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ จะมีโอกาสทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถ้าถ่ายอุจจาระมากจะเกิดอาการขาดน้ำและสารเกลือแร่ในร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย
วิธีป้องกันคือ ควรเลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่รับประทานอาหารที่เก็บไว้ค้างคืนนาน ๆ หรือไม่มีการนำไปแช่ในตู้เย็นหรือนำมาอุ่นอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการรับเชื้อโรคโดยไม่จำเป็น
2. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea)
เกิดจากเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และหนอนพยาธิ สามารถติดต่อได้โดยการทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูกปนเลือด ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อก หมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
3. โรคบิด (Dysentery)
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรืออะมีบา ซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านการรับประทานอาหาร ผักดิบ รวมถึงน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค หากผู้ป่วยติดเชื้อก็มักจะมีไข้ จะมีอาการถ่ายเป็นมูกปนเลือดบ่อยครั้ง ร่วมกับอาการปวดเบ่งที่ทวารหนักคล้ายถ่ายไม่สุด โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ บิดชิเกลลา (Shigellosis) หรือบิดไม่มีตัว และบิดอะมีบา (Amebiasis) หรือบิดมีตัว
4. อหิวาตกโรค (Cholera)
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Vibrio cholerae) ที่ติดต่อจากอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ เช่น อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารสุกๆ ดิบๆ เชื้อโรคจะสร้างพิษออกมาทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก หากติดเชื้อโรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคราวละมาก ๆ โดยไม่มีอาการปวดท้อง และมีอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว เช่น กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ปัสสาวะน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อก หมดสติจากการเสียน้ำ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก ๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
5. โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
เกิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นพาหะนำโรค มักจะพบเชื้อจากสุนัขและแมว โดยสามารถติดต่อได้จากทั้งการโดนกัดหรือถูกเลียบริเวณที่มีแผลถลอก หรือแม้แต่น้ำลายสัตว์ที่มีเชื้อเข้าตา ปาก จมูก หากถูกกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่หรือน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน และต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบเพื่อเข้าควบคุมโรคในพื้นที่ทันที หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการภายใน 15-60 วัน แต่บางรายอาจใช้เวลานานเป็นปี เนื่องจากปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษา จึงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายใน 2-7 วันหลังแสดงอาการ
อีกวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้คือการพาสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน เพื่อความปลอดภัยสำหรับทุกคนในครอบครัว รวมทั้งบุคคลที่มีโอกาสไปมาหาสู่
6. ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid)
โรคนี้สามารถติดต่อจากอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาหารส่วนใหญ่ที่มักพบว่าทำให้เกิดโรคนี้คือ ผลิตภัณฑ์จากนม หอย ไข่ เนื้อสัตว์ น้ำ และอาหารอื่น ๆ ที่ถูกปนเปื้อน โดยจะทำให้ผู้ป่วยมีไข้แต่ไม่สูงนัก ปวดหัว ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร อาจมีอาการหนาวสั่นหรือเพ้อร่วมด้วย และอาจท้องผูกหรือท้องเสียได้ นอกจากนี้เชื้อโรคก็สามารถปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะเป็นครั้งคราวได้ด้วย ทำให้เราเป็นพาหะนำโรคได้เช่นกัน
การป้องกันโรคที่มากับหน้าร้อน
สิ่งที่เราควรทำเพื่อหลีกเลี่ยงโรคต่าง ๆ ที่มักเกิดขึ้นในหน้าร้อน ได้แก่ การเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสดใหม่ ไม่รับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม หากจะยังไม่รับประทานทันทีก็ต้องนำอาหารไปเก็บในตู้เย็นเสียก่อน หรือนำมาอุ่นซ้ำให้ร้อนอีกครั้งก่อนรับประทาน น้ำที่เลือกดื่มก็ต้องเป็นน้ำสะอาด เช่น น้ำที่ผ่านการต้มแล้วหรือน้ำบรรจุขวดขายที่มีเครื่องหมายอย.รับรอง การใช้ช้อนกลางเวลารับประทานอาหารร่วมกันก็เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ที่สำคัญจะต้องล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังการใช้งานห้องน้ำ
นอกจากการป้องกันตามที่กล่าวมาแล้ว เราก็ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยเช่นกัน Motherhood หวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะดูแลเด็ก ๆ ให้ห่างไกลจากโรคในช่วงหน้าร้อนนี้ได้เป็นอย่างดีค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th