Site icon Motherhood.co.th Blog

โรคหอบหืด เมื่อลูกน้อยทรมานกับอาการหอบ

โรคหอบหืดในเด็ก

เมื่อลูกเป็นโรคหอบหืด พ่อแม่ต้องดูแลให้ดี ป้องกันอาการกำเริบ

โรคหอบหืด เมื่อลูกน้อยทรมานกับอาการหอบ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วย “โรคหอบหืด” ถึง 150 ล้านคน เสียชีวิตปีละมากกว่า 180,000 คน คงไม่ดีแน่หากลูกรักของเราจะต้องเป็นหนึ่งในนั้น พ่อแม่จะมีวิธีช่วยเหลือลูกได้อย่างไร โรคหอบหืดรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ หรือจะบรรเทาอาการของลูกได้มากน้อยแค่ไหน Motherhood นำความรู้ในเรื่องหอบหืดมาฝากกันแล้วค่ะ

ทำความรู้จักกับโรคหอบหืด

โรคหืด (Asthma) หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่าหอบหืด คือ โรคที่เกิดจากการหดตัวหรือตีบแคบของระบบทางเดินหายใจเป็นครั้งคราว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเหนื่อยเป็นๆหายๆ และเรื้อรัง แต่ส่วนมากจะไม่มีอันตรายร้ายแรง ยกเว้นในรายที่เป็นมากหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นถาวร หรือทำเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

โรคหอบหืดเป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เช่น ในเด็กทำให้เกิดการพัฒนาช้า เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันหรือเล่นกีฬาได้อย่างเป็นปกติ ยิ่งเมื่อสภาพอากาศเกิดการแปรปรวนหรือมีมลภาวะเป็นพิษมากเท่าไหร่ ผู้ป่วยยิ่งได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตมากขึ้นและส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองและเตรียมพร้อมรับมือกับอาการกำเริบที่อาจเกิดขึ้นและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

โรคหืดเกิดจากการหดตัวหรือตีบแคบของระบบทางเดินหายใจ

โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยและมีโอกาสเกิดได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ แต่มีความชุกสูงสุดอยู่ที่ช่วงอายุ 10-12 ปี ในวัยเด็กจะพบในเด็กชายได้มากกว่าเด็กหญิงประมาณ 1.5-2 เท่า ส่วนใหญ่มักมีอาการเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่อายุก่อน 5 ปี มีส่วนน้อยที่เกิดอาการขึ้นครั้งแรกในวัยหนุ่มสาวและวัยสูงอายุ

ในไทยเราโรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อย และคาดว่าจะมีผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน โดยพบในเด็กมากถึง 10-12% ของเด็กทั้งหมด ส่วนในผู้ใหญ่พบได้ประมาณ 6.9% และทั่วโลกพบว่าโรคนี้มีแนวโน้มเกิดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษและสารก่อภูมิแพ้

สาเหตุของโรคหอบหืด

เกิดจากปัจจัยร่วมกันหลายประการ ทั้งทางด้านกรรมพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การติดเชื้อ และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดเลือด ทำให้หลอดลมมีความไวต่อสิ่งเร้าต่างๆได้มากกว่าคนปกติ จนเป็นเหตุทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลม เกิดการบวมของเนื้อเยื่อผนังหลอดลม และมีเสมหะมากในหลอดลม จึงมีผลโดยรวมคือทำให้หลอดลมตีบแคบลงเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นชนิดผันกลับได้ (Revesible) ซึ่งสามารถกลับคืนเป็นปกติได้เองหรือภายหลังจากการใช้ยา

ผู้ป่วยบางรายอาจมีการอักเสบของหลอดลมอย่างต่อเนื่องนานเป็นปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โครงสร้างของหลอดลมจะค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงจนในที่สุดมีความผิดปกติ (Airway remodeling) ชนิดไม่ผันกลับ (Irreversible) ทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นอย่างถาวร

ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ผิวหนังจากภูมิแพ้ และมักมีพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือญาติพี่น้องเป็นหืดหรือโรคภูมิแพ้อื่นๆ นอกจากนี้ยังพบปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ในเด็กได้มากขึ้นด้วย ได้แก่ ทารกที่มีมารดาสูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณมากตั้งแต่ในช่วงขวบปีแรก เด็กที่อาศัยในบ้านที่พ่อหรือแม่สูบบุหรี่ การติดเชื้อไวรัสตั้งแต่เล็กๆ

โรคหอบหืดในไทยพบในเด็กมากถึง 10-12% ของเด็กทั้งหมด

อาการของโรคหอบหืด

1. เสียงหายใจออกดังคล้ายนกหวีด มีเสียงดังวี้ด ในระยะแรกจะได้ยินเสียงนี้ในขณะที่หายใจออก แต่ถ้าเป็นมากขึ้นก็จะได้ยินทั้งในขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก
2. เหนื่อยง่ายขณะเล่นหรือออกกำลังกาย
3. มีอาการไอเรื้อรังต่อเนื่องเป็นเวลานาน
4. เวลาที่ติดไข้หวัดจะไอรุนแรง หรือไอนานกว่าเด็กคนอื่นๆที่เป็นไข้หวัด ในเด็กเล็กอาจไอมากจนอาเจียนออกมาเป็นเสมหะเหนียว และรู้สึกสบายหลังได้อาเจียน
5. มีอาการไอหรือหอบเวลากลางคืนหรือตอนเช้ามืดมากกว่ากลางวัน ในช่วงอากาศเย็นหรืออากาศเปลี่ยน
6. อาการที่หอบเหนื่อยหรือไอ ดีขึ้นภายหลังได้รับยาขยายหลอดลม
7. มีอาการไอหรือหอบภายหลังสัมผัสถูกสารบางชนิด เช่น เล่นกับสัตว์เลี้ยง

ดังนั้น ผู้ป่วยโรคหืดจะมีอาการแน่นหน้าอก อึดอัด หายใจลำบาก ไอ มีเสมหะ เกิดจากทางเดินหายใจตีบตัน เป็นครั้งคราว และเกิดขึ้นหลังจากสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นที่ผู้ป่วยแพ้ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ หรือเชื้อราในอากาศ เป็นต้น

ในช่วงที่ไม่มีอาการกำเริบ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายเช่นคนปกติทั่วไป ในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางมักจะมีอาการเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและอาการมักกำเริบขึ้นมาทันทีเมื่อมีสาเหตุมากระตุ้น ส่วนในรายเป็นที่รุนแรงมักจะมีอาการต่อเนื่องตลอดทั้งวันจนกว่าจะได้ยารักษา จึงจะรู้สึกหายใจโล่งสบายขึ้น

ต้องระวังไม่ให้อาการกำเริบจนเป็นหอบหืดขั้นรุนแรง

จะดูอย่างไรว่าลูกเป็นหอบหืด

หากพบว่าลูกมีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้สงสัยว่าเป็นโรคหอบหืด

ระดับความรุนแรงของโรคหอบหืด

โรคหอบหืดแบ่งตามความรุนแรงของโรคออกเป็น 4 ระดับ โดยอาศัยจากความถี่ของอาหารหอบในตอนกลางวัน ความถี่ของอาการหอบกลางคืน การวัดสมรรถภาพของปอด และการวัดค่าความผันผวนของพีอีเอฟอาร์ (PEFR – Peak Expiratory Flow Rate) คือ อัตราการไหลของลมหายใจออกสูงสุด หลังจากสูดหายใจเข้าเต็มที่ (หน่วยเป็นลิตร/นาที)

ข้อควรปฏิบัติเมื่ออาการหอบหืดกำเริบ

1. ถ้ามีอาการหอบช่วงที่กำลังวิ่งเล่น หรือมีอาการเหนื่อยให้หยุดพักทันที

2. หายใจเข้าอย่างปกติและหายใจออกทางปาก โดยค่อยๆเป่าลมออกจากปอดทีละน้อยให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และขณะหายใจออกอาจห่อปากขณะเป่าลมหายใจออกด้วยก็ได้

3. ใช้ยาตามแพทย์สั่ง ยาขยายหลอดลมที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการมีทั้งแบบ พ่น กิน ฉีด เป็นชนิดออกฤทธิ์เร็ว ถ้ามียาขยายหลอดลมแบบพ่นชนิดออกฤทธิ์เร็ว ให้พ่น 2 พัฟ ซ้ำได้ 3 ครั้ง ห่างกัน 20 นาที หากอาการดีขึ้นให้พ่นยาทุก 4 – 6 ชั่วโมงต่ออีกประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์

ยาขยายหลอดลมแบบพ่นมีหลากหลายชนิด

เป็นหอบหืด ออกกำลังกายได้ไหม?

คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าการออกกำลังกายจะทำให้อาการหอบหืดกำเริบได้ง่าย จึงห้ามคนเป็นโรคหอบหืดออกกกำลังกาย อาการของโรคหอบหืดที่มีสาเหตุมาจากการออกกำลังกายจะกำเริบต่อเมื่อออกกำลังกายอย่างหักโหม หากไม่ให้ลูกออกกำลังกายเพราะกลัวอาการหอบหืดกำเริบ เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง การทำงานของปอดจะแย่ลงตามไปด้วย

ผู้ป่วยโรคหอบหืดสามารถเลือกออกกำลังกายตามสภาพร่างกายและความชอบของตัวเอง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น กีฬาที่เหมาะสมที่สุดคือกีฬาที่สามารถพักเป็นระยะๆได้

คนเป็นโรคนี้สามารถออกกำลังกายได้ แค่อย่าหักโหม

โรคหืดรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

ไม่สามารถฟันธงได้ว่าจะหายขาด แต่เราสามารถควบคุมอาการได้ คำว่าควบคุมได้หมายถึงผู้ป่วยสามารถมีชีวิตปกติ ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ไม่ต้องสูดยาขยายหลอดลมเป็นประจำทุกวัน ทำกิจกรรมได้ เล่นกีฬาได้ เหมือนคนปกติอื่นๆ

เป้าหมายของการรักษาโรคหอบหืด คือต้องให้เด็กไม่มีอาการหอบ สามารถนอนหลับสนิทได้ตลอดคืน ไม่ต้องลุกขึ้นมากินยาหรือสูดยาเพราะเหนื่อยหอบ ไม่ต้องใช้ยาขยายหลอดลม หรือหากต้องใช้ก็ไม่ควรบ่อย และต้องไม่มีอาการหอบฉับพลันจนต้องเข้าโรงพยาบาล ในจุดนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยดูแลและควบคุมอาการของลูกรักได้นะคะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th