Site icon Motherhood.co.th Blog

8 ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดเมื่อคุณ “ใช้คาร์ซีท”

การใช้คาร์ซีท

8 ข้อผิดพลาดที่คุณทำเมื่อใช้คาร์ซีท

8 ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดเมื่อคุณ “ใช้คาร์ซีท”

หลังจากที่อ่านบทความนี้ อยากให้คุณลองเดินไปตรวจสอบที่รถของคุณ เพื่อดูว่าคุณ “ใช้คาร์ซีท” อย่างปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ ของคุณหรือไม่ รับรองได้เลยว่าคุณจะต้องตกใจกับสิ่งที่คุณทำผิดพลาดอยู่

คาร์ซีทเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งที่คุณเคยใช้ น่าเสียดายที่พ่อแม่หลายคนไม่ทราบว่าพวกเขากำลังใช้งานมันอย่างผิดพลาดจนนำไปสู่อันตราย

“แม้จะมีการปรับปรุงการออกแบบ แต่ผู้ปกครองยังคงพบว่าคาร์ซีทเป็นอะไรที่น่าสับสนมาก” Benjamin Hoffman ช่างเทคนิคด้านความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารเด็กที่ผ่านการรับรองกล่าว “ผมตรวจสอบคาร์ซีทมาแล้วกว่า 4,000 แห่ง และเห็นเพียง 13 แห่งที่ติดตั้งอย่างถูกต้อง”

แม้รายละเอียดจะเยอะ แต่มันจำเป็นที่คุณจะต้องใช้ให้ถูก

เราตระหนักดีว่าไม่ใช่เรื่องเล็กที่จะทำให้ออกมาถูกต้องทุกรายละเอียด คุณต้องรู้แน่ชัดว่าเมื่อไรที่ลูกของคุณโตเกินที่นั่งแล้ว ซื้อคาร์ซีทใหม่ที่เหมาะกับเขาที่สุด (และเชี่ยวชาญแนวทางในการติดตั้งอันใหม่) จัดตำแหน่งสายรัดให้ถูกต้อง และอื่น ๆ อีกมากมาย ความยุ่งยากพวกนี้มันมากเพียงพอที่จะทำให้คุณคิดว่าคุณต้องการปริญญาเอกด้านวิศวกรรมเพื่อหาคำตอบทั้งหมด ข่าวดีก็คือคาร์ซีทนั้นมีประสิทธิภาพเป็นพิเศษเมื่อคุณใช้อย่างถูกต้อง คุณสามารถมั่นใจได้ว่าบุตรหลานของคุณจะรอดชีวิตจากการชนโดยได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยหรือไม่บาดเจ็บเลย

จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือการค้นหาว่าคุณกำลังทำข้อผิดพลาดเหล่านี้หรือไม่ และแก้ไขเสียแต่วันนี้

1. คาร์ซีทในรถของคุณหลวมเกินไป

ทดสอบ: ใช้มือทั้งสองข้างจับคาร์ซีทที่ส่วนฐาน คุณไม่ควรขยับคาร์ซีทในทางด้านข้างหรือหน้าหลังได้เกิน 1 นิ้วเมื่อใช้งานเข็มขัดอยู่ ถ้าสามารถทำได้ มันก็จะไม่แน่นหนาพอ นี่เป็นความผิดพลาดอันดับหนึ่งที่พ่อแม่มักทำ

อันตราย: ในการชน เด็กที่อยู่ในคาร์ซีทหลวมอาจพุ่งชนด้านหลังของเบาะนั่งด้านหน้า และทำให้ใบหน้าหรือศีรษะของเด็กบาดเจ็บสาหัส

การแก้ไขอย่างรวดเร็ว: อ่านคู่มือการใช้คาร์ซีทและคู่มือของรถในส่วนการติดตั้งคาร์ซีท คาร์ซีททุกอันจำเป็นต้องติดตั้งโดยใช้ระบบ LATCH หรือเข็มขัดนิรภัยแบบล็อคเพื่อยึดให้เข้าที่ หากคุณเลือกใช้เข็มขัดนิรภัยในการติดตั้งคาร์ซีท ให้วางเข่าบนเบาะนั่ง แล้วใส่น้ำหนักทั้งหมดลงไป (ใช้แขนหากเป็นเบาะสำหรับทารก) รัดเข็มขัดนิรภัยให้แน่นที่สุด จากนั้นล็อคเข็มขัดนิรภัย นี่มักเป็นขั้นตอนที่ผู้ปกครองหลายคนพลาด

2. สายรัดหลวมเกินไปบนตัวลูก

ทดสอบ: Stephanie Tombrello ผู้อำนวยการบริหารของ SafetyBeltSafe U.S.A. ในเมืองทอร์รันซ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า “หากคุณกระชับเด็กไว้ในคาร์ซีทแล้ว คุณยังสามารถหนีบสายรัดระหว่างนิ้วมือได้ แสดงว่าสายรัดนั้นหลวมเกินไป”

อันตราย: เด็กที่สายรัดหลวมสามารถหลุดออกจากที่นั่งได้ง่ายเมื่อมีการชน เด็กอาจได้รับบาดเจ็บสาหัสได้หากชนกับชิ้นส่วนภายในรถหรือผู้โดยสารคนอื่น สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดก็คือเด็กกระเด็นออกจากรถโดยสิ้นเชิง

การแก้ไขอย่างรวดเร็ว: รัดสายรัดให้แน่น โปรดทราบว่าสายรัดควรกระชับและไม่หย่อนคล้อย

อย่าติดตั้งคาร์ซีทแบบหันหน้าออกให้ทารกเร็วเกินไป

3. ทารกหันหน้าออกเร็วเกินไป

ทดสอบ: เด็กทุกคนควรหันหน้าไปทางด้านหลังจนกว่าพวกเขาจะถึงความสูงหรือน้ำหนักสูงสุดที่คาร์ซีทกำหนด ตามข้อมูลของสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (APP) ระบุว่าควรหันหน้าไปทางด้านหลังอย่างน้อยจนถึงอายุ 2 ปี แต่คำแนะนำใหม่ได้ละอายุที่เฉพาะเจาะจงออกไป

อันตราย: กระดูกที่ปกป้องไขสันหลังของทารกยังคงฟอร์มตัวอยู่ เมื่อเด็กหันหน้าไปทางด้านหลัง หลังของเขา ซึ่งเป็นส่วนที่แข็งแกร่งที่สุดของร่างกาย สามารถดูดซับแรงมหาศาลของการชนได้ดีกว่า เมื่อหันไปข้างหน้า หัวที่ค่อนข้างหนักของทารกสามารถพุ่งไปข้างหน้าได้ ทำให้กระดูกสันหลังที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ของเขาปลิ้นเอาไขสันหลังออกมา และเสี่ยงต่ออัมพาตหรือเสียชีวิต

การแก้ไขอย่างรวดเร็ว: ทำตามกฏ ให้ลูกน้อยของคุณหันหน้าไปทางด้านหลังจนกว่าเขาจะถึงขีดจำกัดความสูงหรือน้ำหนักสูงสุดที่กำหนด

4. คาร์ซีทแบบหันหน้าไปทางด้านหลังของคุณไม่ได้อยู่ในมุมที่เหมาะสม

ทดสอบ: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเบาะอยู่ในมุมที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ศีรษะของเด็กก้มไปข้างหน้า ตรวจสอบคำแนะนำเพื่อค้นหามุมที่ถูกต้องสำหรับคาร์ซีทของคุณ และวิธีปรับมุมหากจำเป็น คาร์ซีทแบบหันหลังทั้งหมดควรมีตัวบอกระยะหรือตัวปรับมุมในตัว

อันตราย: ทางเดินหายใจของทารกนั้นแคบมาก ประมาณเส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดดูดน้ำ หากเบาะนั่งแบบหันหน้าไปทางด้านหลังของคุณเอนไปข้างหน้ามากเกินไป หัวที่หนักเกินไปของทารกอาจร่วงไปข้างหน้า ตัดทางเดินหายใจของเด็กจนหายใจไม่ออก

การแก้ไขอย่างรวดเร็ว: แม้ว่าเบาะนั่งด้านหลังส่วนใหญ่จะลาดไปทางด้านหลังของรถเพื่อความสบายของผู้โดยสารที่เป็นผู้ใหญ่ แต่คาร์ซีทได้รับการออกแบบให้ติดตั้งบนพื้นผิวเรียบ อย่างไรก็ตาม คาร์ซีทหลายรุ่นมีฐานรองแบบปรับได้เพื่อแก้ปัญหานี้

สายรัดควรอยู่ในจุดที่เหมาะสม และเสียบถูกที่

5. สายรัดหน้าอกอยู่ผิดจุด

ทดสอบ: คลิปหนีบสายรัดหน้าอกควรอยู่ตรงกลางหน้าอก แม้กระทั่งกับรักแร้ของเด็ก คลิปช่วยให้มั่นใจได้ว่าสายรัดอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง

อันตราย: เมื่อคลิปหนีบสายคาดหน้าอกอยู่ผิดที่ สายคาดอาจหลุดจากไหล่ของเด็กได้ง่าย และเด็กอาจเสี่ยงต่อการถูกขับออกจากที่นั่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

การแก้ไขอย่างรวดเร็ว: ผู้ปกครองมักขยับคลิปขณะเคลื่อนตัวบุตรหลานออกจากที่นั่ง ดังนั้น โปรดตรวจสอบตำแหน่งของคลิปทุกครั้งที่รัดเข็มขัด

6. สายรัดเสียบอยู่ผิดช่อง

ทดสอบ: คาร์ซีทแบบปรับเปลี่ยนได้ส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบด้วยช่องสายรัด 3 ชุด สองชุดล่างสำหรับตำแหน่งหันหน้าไปทางด้านหลัง และชุดบนสำหรับตำแหน่งหันหน้าไปข้างหน้า สำหรับคาร์ซีทส่วนใหญ่ เมื่อเบาะนั่งหันไปข้างหน้า จะมีเพียงช่องบนสุดเท่านั้นที่มีการเสริมแรงพิเศษที่จำเป็นต่อการยึดสายรัดให้แน่นเมื่อเกิดการชน ทว่าผู้ปกครองมักหันเบาะนั่งโดยไม่ปรับสายรัด

อันตราย: เมื่อเด็กหันหน้าไปข้างหน้า สายรัดในช่องด้านล่างสามารถทะลุเบาะนั่งระหว่างการชนได้

การแก้ไขอย่างรวดเร็ว: เลื่อนสายสะพายไหล่ไปที่ช่องที่อยู่บนหรือเหนือไหล่ของเด็ก หรือตำแหน่งที่หรือใกล้ที่สุดกับไหล่ของเด็ก (ด้านบนหรือด้านล่าง ขึ้นอยู่กับว่าหันคาร์ซีทไปด้านหลังหรือด้านหน้า) ตรวจสอบคำแนะนำที่มาพร้อมกับคาร์ซีทเพื่อให้แน่ใจว่าคุณวางสายสะพายไหล่อย่างถูกต้อง คุณอาจต้องปรับมุมเอนของเบาะนั่งเพื่อให้นั่งในรถได้ตรงมากขึ้น ตรวจสอบคำแนะนำเพื่อให้แน่ใจ

การใช้เบาะเสริมก็เป็นสิ่งจำเป็น หากเด็กยังสูงไม่ถึง

7. คุณไม่ได้ใช้เบาะรองนั่ง

ทดสอบ: ตามข้อมูลของสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (APP) เมื่อเด็กถึงขีดจำกัดความสูงหรือน้ำหนักสูงสุดที่คาร์ซีทกำหนด (คาร์ซีทหลายแบบสามารถรองรับเด็กที่มีน้ำหนักไม่เกิน 29 กิโลกรัมขึ้นไป) พวกเขาควรใช้เบาะเสริมที่ตำแหน่งเข็มขัดจนกว่ารถจะรัดเข็มขัดนิรภัยไว้ที่หน้าตักและไหล่ได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อพวกเขามีความสูงอย่างน้อย 149 เซนติเมตร และมีอายุ 8-12 ปี

อันตราย: เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้ใหญ่ที่ใช้โดยตัวมันเองไม่สามารถรัดเด็กได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากมันจะรัดร่างกายของเด็กผิดจุด ยกสูงไปที่ท้อง สูงพาดไหล่ของเด็ก และบางครั้งก็พาดผ่านคอ เด็ก ๆ มักจะขยับสายสะพายไหล่ไปข้างหลังเพราะไม่สบายตัว ในการชน เด็กที่มีขนาดเล็กเกินไปสำหรับเข็มขัดนิรภัยสามารถรับความเสียหายของอวัยวะภายในจำนวนมาก หรือการบาดเจ็บที่ศีรษะและกระดูกสันหลัง และอาจถูกขับออกจากตัวรถได้

การแก้ไขอย่างรวดเร็ว: หาซื้อเบาะเสริมมาให้ลูกเดี๋ยวนี้ และคำเตือน: เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีควรนั่งเบาะหลังเสมอ ห้ามนั่งด้านหน้า

อย่าให้เด็กนอนหลับในคาร์ซีทที่ไม่ได้อยู่ในรถ

8. ลูกของคุณนอนในคาร์ซีทที่อยู่นอกรถ

ทดสอบ: ผลการศึกษาในเดือนพฤษภาคม 2019 จากวารสารกุมารเวชศาสตร์พบว่า การเสียชีวิตของทารกที่เกิดจากอุปกรณ์นั่งนั้น 62.9% เกิดขึ้นบนคาร์ซีท การเสียชีวิตด้วยคาร์ซีทเหล่านี้มากกว่าครึ่งที่เกิดขึ้นภายในบ้านภายใต้การดูแล และคาร์ซีทถูกใช้งานอย่างถูกต้องมีไม่ถึง10% ของเคส

อันตราย: เมื่อเด็กนอนในคาร์ซีทนอกรถ คาร์ซีทอาจล้มหรือพลิกกลับ สายรัดอาจทำให้รัดคอถึงตายได้

การแก้ไขอย่างรวดเร็ว: ใช้คาร์ซีทภายในรถเท่านั้น หากลูกของคุณเผลอหลับไปในเบาะรถยนต์ระหว่างขับรถ ให้วางเขาบนพื้นเรียบเมื่อคุณกลับถึงบ้าน

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th