ให้นมในที่สาธารณะ สิทธิของแม่ลูกยุคใหม่
ประเด็นของการ “ให้นมในที่สาธารณะ” เช่น บนรถโดยสารสาธารณะ ในร้านอาหาร หรือห้างสรรพสินค้า มักจะกลายเป็นดราม่าให้ถกเถียงกันในวงกว้างอยู่เสมอ คุณแม่หลายๆคนที่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะจัดการกับข้อถกเถียงนี้อย่างไรดี การให้นมแม่แก่ทารกในที่สาธารณะถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมของทั้งแม่และเด็กหรือไม่
กระแสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ปัจจุบันนี้คุณแม่มากมายจากทั่วโลกเริ่มหันมาใส่ใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันมากขึ้น เพราะประโยชน์ของนมแม่นั้นมีมากมายมหาศาล องค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป หลังจากนั้นจึงให้ลูกกินนมแม่ควบคู่กับอาหารเสริมตามวัยจนอายุครบ 2 ปี ซึ่งคุณแม่หลายๆคนก็ตัดสินใจที่จะให้นมลูกนานกว่านั้น นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ที่มันกลายเป็นเรื่องก็เพราะว่าในเวลาที่คุณแม่ต้องเดินทางไปไหนมาไหนพร้อมลูกน้อย และลูกก็ร้องไห้ร้องหิวหานมแม่ตามประสาเด็ก การให้นมจากอกแม่ในที่สาธารณะจึงกลายเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้อย่างยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นในห้างร้าน ภัตตาคาร หรือแม้แต่ในอาคารสำนักงานต่างๆ
การให้นมแม่ในสถานประกอบการ
ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน คุณแม่ส่วนหนึ่งเมื่อคลอดบุตรแล้ว จำเป็นจะต้องกลับไปทำงานตามเดิน สำหรับในไทย เรามีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่มีหลักอยู่ว่า ลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาคลอดก่อนและหลังคลอดครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วันโดยให้นับรวมวันหยุดที่มีระหว่างวันลาด้วย ดังนั้น “คุณแม่” ผู้เป็นลูกจ้างที่ได้กลับไปทำงานแล้ว การให้นมลูกในขณะที่ทำงานไปด้วยจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ในประเทศไทยเรา เรื่องสถานประกอบการหรือที่ทำงานจะต้องจัดให้มีสถานที่สำหรับให้นมบุตรอาจดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว หรือคนในสังคมอาจยังไม่เห็นความสำคัญของประเด็นนี้มากนัก แต่ในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หรือสหราชอาณาจักร การให้นมบุตรถือเป็นสิทธิที่มารดาพึงจะกระทำได้ ทั้งในที่สาธารณะและในที่รโหฐาน
โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา มีกฎหมายที่ออกมาในแต่ละรัฐในเรื่องเกี่ยวกับการให้นมบุตร ถือเป็นวาระที่สำคัญอีกเรื่องในระดับชาติเลยทีเดียว เช่น ในกฎหมายฉบับปรับปรุงพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงานที่เป็นธรรมได้ระบุเอาไว้ว่า … “ลูกจ้าง” สามารถพักเพื่อให้นมบุตร ปั๊มนมให้บุตรเมื่อไหร่ก็ได้ในเวลาที่เห็นสมควรหรือจำเป็น เป็นเวลา 1 ปี หลังคลอดลูก (ต่อลูกจ้าง 1 คน) และหลังเลิกงานลูกจ้างไม่จำเป็นต้องทำงานชดเชยของเวลาที่หายไปนั้นๆด้วย และทางบริษัทก็ควรจัดสถานที่สำรอง ที่สะดวกสบายให้กับลูกจ้าง ที่ไม่ใช่ห้องน้ำ เพื่อให้ลูกจ้างสามารถปั๊มนมได้สะดวกขึ้นด้วย ถ้าบริษัทนั้นไม่สามารถที่จะทำสถานที่สำหรับห้องให้นมลูกได้ บริษัทนั้นจะต้องมีพนักงานน้อยกว่า 50 คน ก็จะไม่ผิดกฎหมายข้างต้น แต่จะต้องชี้แจงเหตุผล รวมถึงภาระการพิสูจน์จะตกอยู่กับนายจ้างเหตุใด? จึงไม่สามารถทำสถานที่ดังกล่าวได้ … ซึ่งปัจจุบันมีหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาที่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองในเรื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมของลูกจ้างในที่ทำงาน เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐหลุยเซียนา รัฐนิวยอร์ก รัฐโอกลาโฮมา รัฐอาร์คันซอ
ในสหราชอาณาจักรเองก็มีกฎหมายว่าด้วยการให้นมบุตรของลูกจ้าง บัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติว่าด้วยความเสมอภาคหรือความเท่าเทียม ปี ค.ศ.2010 โดยนายจ้างต้องจัดหาสถานที่สำหรับลูกจ้างให้ปั๊มนมหรือบีบให้น้ำนมออก หรือให้นมบุตรที่สามารถพักและนอนพิงเอนได้ ลูกจ้างสามารถเรียกร้องขอสถานที่ที่เป็นส่วนตัวและสะดวกที่จะปั๊มนมให้บุตรได้ที่ไม่ใช่ในห้องน้ำ ห้องพยาบาล หรือสถานที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
แม้แต่ประเทศอาร์เจนตินา กฎหมายของที่นันก็อนุญาตให้ลูกจ้างสามารถพักไปให้นมหรือปั๊มนมได้ 2 ครั้งต่อวัน และในแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 30 นาที จนกระทั่งเด็กอายุครบ 1 ปี และระยะเวลาดังกล่าวสามารถยืดออกไปได้อีก หากมีความจำเป็นตามความเห็นของแพทย์
สำหรับประเทศในทวีปเอเชียนั้น ประเทศที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการให้นมบุตร เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการให้นมบุตร ค.ศ.2009 โดยถือเป็นนโยบายระดับชาติเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยกล่าวถึงสถานที่ที่มารดาจะให้นมบุตร และมารดาที่จะปั๊มนมหรือให้นมในระหว่างเวลาทำงาน ทางสถานประกอบการจะมีช่วงเวลาให้พนักงานสามารถไปให้นมหรือปั๊มนมเพิ่มเติมจากเวลาพักปกติ และชั่วโมงที่ออกไปให้นมจะถูกนับเป็นชั่วโมงการทำงานได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าหากเป็นการให้นมในสถานที่ที่กำหนดไว้ เช่น ห้องให้นมในสถานประกอบการ โดยลูกจ้างสามารถให้นมได้อย่างน้อย 40 นาทีในเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง
เมื่อย้อนกลับมามองถึงสถานการณ์ในบ้านเรา ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับสถานที่ที่มารดาสามารถให้นมบุตรหรือปั๊มนมในสถานประกอบการ แต่นับว่าน่ายินดีที่ในหลายๆสถานประกอบการเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ โดยจัดให้มีห้องหรือสถานที่ให้นมบุตร ซึ่งไม่ใช่ห้องน้ำหรือห้องพยาบาลอยู่ในสถานประกอบการ แต่อาจยังเป็นส่วนน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับสัดส่วนจำนวนสถานประกอบการในประเทศไทย
สิทธิของแม่และเด็กในการให้นมในที่สาธารณะ
แม้ว่าผู้คนส่วนมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจะเห็นว่าควรมีกฎหมายปกป้องคุ้มครองผู้หญิงที่ให้ลูกกินนมแม่ในที่สาธารณะก็ตาม แต่ในความเป็นจริงผู้หญิงในเอเชียก็ยังคงต้องเผชิญกับการถูกละเมิดสิทธิ์จากการต้องให้ลูกกินนมแม่ในสาธารณะ มีกลุ่มผู้รณรงค์หลายรายที่ให้การสนับสนุนสิทธิของแม่และเด็กในการให้นมลูกในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย ทั้งในประเทศออสเตรเลีย ไทย และฮ่องกง
แต่ผลสำรวจของยูกอฟ บริษัทสำรวจความคิดเห็นทางออนไลน์ ที่ถูกเปิดเผยในเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่า ผู้ชายสนับสนุนให้ผู้หญิงให้นมลูกในที่สาธารณะน้อยกว่ากลุ่มผู้หญิงด้วยกันเอง และกลุ่มคนที่ยังโสดมีความกระตือรือร้นในเรื่องนี้น้อยกว่ากลุ่มคนที่แต่งงานแล้วในการสนับสนุนให้ลูกกินนมแม่ในที่สาธารณะได้ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากถึง 75% บอกว่าควรมีกฎหมายคุ้มครองแก่ผู้หญิงที่ต้องให้นมลูกในที่สาธารณะด้วย
ถึงกระนั้นก็ตาม สภาพความเป็นจริงในสังคมกลับสะท้อนว่าคนที่ยอมรับและสนับสนุนให้ผู้หญิงป้อนนมลูกเองในที่สาธารณะยังมีน้อยกว่าผลจากโพลที่ทำออกมา เนื่องจากสังคมเอเชียส่วใหญ่ยังมีความอนุรักษ์นิยมสูงหรือไม่ก็ขาดความตระหนักถึงประโยชน์ของการให้ทารกกินน้ำนมแม่
ที่สิงคโปร์ มีกรณีของคุณแม่รายหนึ่งที่เดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางกับลูกน้อยและได้ให้ลูกกินนมของเธอบนรถ แต่เธอกลับถูกต่อว่าว่าไม่ควรเปิดเผยร่างกายตนเองในที่สาธารณะ และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็มีรูปภาพของคุณแม่อีกคนในรถไฟใต้ดินที่สิงคโปร์เช่นกัน เธอกำลังให้นมลูกโดยไม่มีการปกปิดเต้านม รูปนี้ถูกแพร่ออกไปในวงกว้าง และจุดประเด็นให้เกิดเสียงโต้แย้งไปในทิศทางต่างๆกัน แน่นอนว่ามีเสียงวิจารณ์ว่าเธอควรปกปิดเต้านมของเธอ
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (Unicef) ได้ออกรายงานผลสำรวจประจำปี 2559 ซึ่งระบุว่า ผู้หญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในฮ่องกงร้อยละ 40 ต้องเผชิญกับประสบการณ์การถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่างๆจากการที่พวกเธอต้องให้นมลูกในที่สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม ที่ประเทศออสเตรเลียกลับพบว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้น จากการที่สมาชิกวุฒิสภาหญิงสามารถให้นมลูกของเธอได้ในขณะที่เข้าร่วมการประชุมรัฐสภาเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย หลังจากที่รัฐสภาแห่งออสเตรเลียได้ผ่านความเห็นชอบให้สมาชิกรัฐสภาสามารถให้นมลูกในสภาได้เมื่อปีที่แล้ว
เมื่อต้องให้นมแม่ในที่สาธารณะ
การให้นมแม่ในที่สาธารณะเป็นเรื่องที่คุณแม่มือใหม่สามารถทำได้โดยไม่ต้องคิดมาก ไม่จำเป็นต้องอาย หรือกังวลว่าจะมีคนอื่นมาจับจ้องหรือให้ความสนใจในทางลบ หากคุณแม่ตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ไว้แล้วว่าต้องการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็ต้องเตรียมใจไว้แล้วว่า ไม่ว่าลูกของเราจะหิวที่ไหน เมื่อไร แม่ก็ต้องให้เขากินนมได้ทันที เทคนิคและวิธีให้นมแม่ในที่สาธารณะ มีดังนี้
- ควรหามุมนั่งที่คนไม่พลุกพล่าน หรือเป็นมุมที่อยู่ในสุดของสถานที่นั้นๆ แล้วนั่งหันหน้าหรือเอียงตัวเข้าหากำแพงก่อนที่จะให้ลูกเข้าเต้า
- คุณแม่ควรใจเย็น ทำตัวสบายๆ และผ่อนคลาย มุ่งความสนใจไปที่ความต้องการดูดนมของลูกเป็นสิ่งแรก
- เมื่อต้องออกนอกบ้าน ควรเลือกเสื้อผ้าที่สามารถเปิดให้นมลูกได้ง่าย เลือกใส่เสื้อในแบบเปิดหน้า เสื้อแบบผ่าหน้ามีกระดุมเพื่อสะดวกและรวดเร็วในการเปิดให้นมลูก จะได้ไม่ฉุกละหุกเมื่อถึงเวลา
- เมื่อลูกเข้าเต้าแล้ว ใช้ผ้าคลุมผืนใหญ่หรือผ้าอ้อมพาดบ่า ให้ชายอีกด้านหนึ่งบังหัวลูกไว้ หรือเหน็บชายด้านหนึ่งของผ้าเข้าไปที่สายเสื้อชั้นในแล้วทิ้งชายอีกด้านลงมา จะให้นมลูกข้างไหนก็เหน็บผ้าด้านนั้น
- ลองฝึกการให้นมลูกจากอกที่หน้ากระจกดูก่อน เพื่อความมั่นใจในท่าที่คุณแม่จะให้ลูกเข้าเต้าได้
- ให้คุณพ่อ เพื่อน หรือญาติที่ไปด้วยเป็นตัวช่วยในการยืนบังในขณะที่ให้นมลูก
- ในกรณีที่ต้องให้นมลูกในรถขณะกำลังเดินทาง แล้วกระจกรถค่อนข้างใสสว่าง หรือมีคนอื่นที่ไม่ใช่คุณพ่อของน้องอยู่ในรถด้วย ลองพกที่บังแดดไว้ในรถเสมอ เมื่อถึงเวลาต้องให้นมลูกปุ๊บก็กางบังได้ทันที
การให้นมแม่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับโภชนาการของเด็กนะคะ มีการพิสูจน์กันแล้วว่านมแม่นั้นดีจริงๆ หากคุณแม่คนไหนที่ไม่ได้มีปัญหาติดขัดอะไรในการจะให้นมลูกด้วยตัวเอง ขอให้ภูมิใจในการทำหน้าที่นี้ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนกับลูก หากเขาร้องหิวนม ก็เป็นสิทธิของเราและลูกที่จะทำการให้นมค่ะ คนโตๆแบบเราๆก็ยังพยายามที่จะกินอาหารให้ตรงเวลาเลยจริงมั้ยคะ และเราก็ไม่ไปหลบมุมกินอาหารในห้องน้ำหรือตามบันไดหนีไฟด้วย ลูกของเราก็เช่นกันค่ะ สำหรับสัปดาห์แห่งการให้นมลูกที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ Motherhood ขอสนับสนุนแม่ๆทุกคนในการให้นมลูกนะคะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th