ไวรัส HPV มีกี่ประเภท และจะป้องกันได้อย่างไร
ในบรรดาเรื่องสุขภาพของผู้หญิงนั้น มีสิ่งหนึ่งที่เป็นหัวข้อที่คนเริ่มให้ความสำคัญต่อเนื่องมาหลายปี นั่นก็คือเรื่องของ “ไวรัส HPV” ซึ่งผู้หญิงหลายคนกังวลว่าการติดเชื้อเอชพีวีจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกายซึ่งอาจนำไปสู่โรคมะเร็งได้ ดังนั้น วันนี้เรามาทำความรู้จักกับเชื้อไวรัสตัวนี้ให้มากขึ้นดีกว่าค่ะ เราจะได้ป้องกันได้ถูกจุด
HPV คืออะไร
ไวรัส HPV หรือ Human Papilloma Virus เป็นไวรัสตัวหนึ่งที่มีสายพันธุ์มากกว่า 100 ชนิด โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนักที่เรารู้จักกันดีคือสายพันธุ์เบอร์ 6 11 16 และ 18 ซึ่งการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนักจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่บริเวณมดลูก และสามารถนำไปสู่การเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ
โดยส่วนมากการติดเชื้อ HPV มักจะไม่แสดงอาการและสามารถหายได้เองภายในระยะเวลา 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานในร่างกายของแต่ละคน แต่ในบางเคสอาจมีการติดเชื้อ HPV นานหลายปี จนนำไปสู่การเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด
เชื้อ HPV กับการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
เชื้อเอชพีวี 40 สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ได้ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย (Low risk type) คือ ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น สายพันธุ์ 6 และ 11 แต่สามารถก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ได้
- กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (High risk type) คือ ก่อให้เกิดมะเร็งได้ เช่น สายพันธุ์ 16 18 31 33 35 39 45 51 52 56 58 59 68 69 73 82 โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากถึง 70%
ติดเชื้อ HPV มาได้อย่างไร
เชื้อเอชพีวีสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง ส่วนมากมักได้รับเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือปาก ซึ่งผู้ชายมักจะเป็นพาหะนำเชื้อมาสู่ผู้หญิงโดยที่ไม่รู้ตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคู่ของคุณนอกใจ เพราะไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าได้รับเชื้อมาเมื่อไรหรือได้มาอย่างไร
อาการของการติดเชื้อ HPV อาจเกิดขึ้นหลายปีหลังจากติดเชื้อ และสามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ในช่วงที่ไม่มีอาการ จึงทำให้เชื้อนี้แพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ง่าย โดยที่ทั้งคู่ไม่รู้เลยว่าตนเองหรืออีกฝ่ายมีเชื้อเอชพีวีอยู่
ใครบ้างมีความเสี่ยงต่อเชื้อ HPV
- ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV
- มีคู่นอนหลายคน
- มีคู่นอนที่มีคู่นอนหลายคน
- มีอายุน้อยกว่า 25 ปี
- เริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 16 ปี
- เป็นผู้ชายที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
- เป็นผู้หญิงที่มีคู่นอนเป็นชายที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
- มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ
อาการของผู้ติดเชื้อเป็นอย่างไร
ผู้ป่วยจำนวนมากไม่มีอาการชัดเจนสำหรับการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีแต่พบว่าบางรายมีอาการดังนี้
- มีตกขาวมากกว่าปกติ
- ตกขาวมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
- สำหรับผู้หญิงที่มีการติดเชื้อภายในช่องคลอดอาจมีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีสารคัดหลั่ง หรือเลือดไหลออกจากทางช่องคลอด
การวินิจฉัยโรคติดเชื้อ HPV
แพทย์สามารถตรวจคัดกรองการติดเชื้อ HPV ได้จากวิธีหลักๆ ดังต่อไปนี้
- การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Test) แพทย์จะเก็บตัวอย่างเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกด้วยอุปกรณ์เฉพาะ แล้วใส่ลงในขวดน้ำยาตินเพร็พ นำส่งห้องปฏิบัติการเพื่อเตรียมสไลด์และส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
- การตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อเอชพีวี (HPV DNA Test) คือการนำตัวอย่างเซลล์บริเวณอวัยวะเพศไปตรวจหาเชื้อเอชพีวีโดยตรง วิธีนี้นำมาใช้วินิจฉัยสายพันธุ์ของเชื้อได้เช่นกัน
- การตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (Colposcopy) แพทย์จะสอดกล้องคอลโปสโคปขนาดเล็กที่มีกำลังขยายสูงเข้าไปทางช่องคลอดเพื่อตรวจหาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ
- การทดสอบด้วยกรดอะซิติก (Acetic Acid Solution Test) สารละลายกรดอะซิติกจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติและเปลี่ยนบริเวณดังกล่าวให้เป็นสีขาว ซึ่งง่ายต่อการสังเกตเห็นของแพทย์
ใครควรได้รับการตรวจบ้าง
- ผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 30 ปี มีความเสี่ยงน้อยที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกไม่มีความจำเป็นต้องตรวจหาไวรัสนี้
- ผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก มีข้อแนะนำให้ตรวจไวรัสเอชพีวีร่วมกับการตรวจแป็ปเทสต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรก
เชื้อ HPV กับโรคมะเร็งปากมดลูก
การติดเชื้อ HPV ที่บริเวณปากมดลูกจากการมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปรากฏเมื่อเซลล์มะเร็งเริ่มลุกลามแล้ว ทางที่ดีจึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ เพื่อให้สามารถพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
วิธีการรักษา
การติดเชื้อไวรัส HPV นั้นยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อชนิดนี้มักหายไปได้เองเมื่อเวลาผ่านไป โดยหากตรวจพบเชื้อ แพทย์จะนัดมาติดตามอาการเพื่อดูว่าเชื้อยังคงอยู่หรือไม่ และมีสัญญาณที่แสดงว่าเชื้อทำให้เกิดเซลล์มะเร็งขึ้นมาหรือไม่ หากพบว่ามีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้น แพทย์จะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที โดยการรักษาที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีเซลล์มะเร็งจากเชื้อไวรัส HPV ได้แก่ การทำเคมีบำบัด การฉายรังสี และการผ่าตัด ซึ่งอาจใช้หลายวิธีร่วมกันได้
แต่การตัดเซลล์ผิดปกติที่ยังไม่เป็นมะเร็งออกไปเสียก็สามารถช่วยยับยั้งการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ การมีเซลล์ผิดปกติระดับรุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดหลายวิธี เช่น
- ไครโอเซอเจอรี่ (Cryosurgery)
- การทำเลเซอร์
- โคลด์ ไนฟ์ โคไนเซชั่น (Cold knife conization) หรือ โคลด์ ไนฟ์ โคน ไอออบซี (Cold knife cone biopsy) ซึ่งเป็นการตัดเนื้อเยื่อที่ผิดปกติด้วยมีดหรือเลเซอร์เป็นรูปโคน
- การผ่าตัดด้วยไฟฟ้า
ในบางกรณีแพทย์อาจต้องตัดมดลูกออกบางส่วนหรือทั้งหมด แต่พบได้น้อย
การรับวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV
ปัจจุบันมีการใช้วัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือ
- ชนิดป้องกันไวรัส 4 สายพันธุ์ ได้แก่สายพันธุ์ 6 11 16 และ 18
- ชนิดป้องกันไวรัส 2 สายพันธุ์ ได้แก่สายพันธุ์ 16 และ 18
ซึ่งเราสามารถเลือกใช้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ทั้งสองชนิด เนื่องจากวัคซีนทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากถึง 90 – 100% สำหรับผู้ที่ไม่มีประวัติของการติดเชื้อมาก่อน สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อแล้วการฉีดวัคซีนจะไม่สามารถช่วยป้องกันการเกิดของโรคได้ การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวีจึงควรได้รับวัคซีนตั้งแต่ยังไม่เกิดการติดเชื้อหรือก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ซึ่งวัคซีนนี้สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป
แม่ท้องไม่ควรใช้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวและทารกน้อยในครรภ์ หากเคยได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีเข็มแรกหรือเข็มที่สองแล้ว จะสามารถรับวัคซีนเข็มถัดไปหรือเข็มที่สามได้ตามปกติหลังจากคลอดบุตร
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th