Site icon Motherhood.co.th Blog

ไส้เลื่อนในเด็ก เป็นกันได้ทั้งเด็กชายเด็กหญิงนะ

โรคไส้เลื่อนในเด็ก

ไม่ว่าเด็กชายหรือหญิงก็เป็นไส้เลื่อนได้ทั้งนั้น

ไส้เลื่อนในเด็ก เป็นกันได้ทั้งเด็กชายเด็กหญิงนะ

ผู้ชายทั่วไปอาจจะกลัวเป็นโรคไส้เลื่อนกัน แต่คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมว่า “ไส้เลื่อนในเด็ก” ก็เกิดขึ้นได้กับทารกเช่นกัน และมีสิทธิ์เป็นได้ไม่ว่าจะกับเด็กชายหรือเด็กหญิง ทารกน้อยมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ทั้งนั้น หากคุณพ่อคุณแม่อยากทราบว่ามีวิธีการสังเกตอย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้เลยค่ะ

โรคไส้เลื่อนคืออะไร?

ไส้เลื่อน (Hernia) คือ ภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมาจากตำแหน่งเดิม และทำให้เกิดเป็นลักษณะคล้ายก้อนตุง ซึ่งมีสาเหตุจากความอ่อนแอของผนังช่องท้องที่มีมาแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นในภายหลัง เช่น จากการผ่าตัด ภาวะแรงดันที่มากผิดปกติภายในช่องท้อง เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การเบ่งเพราะมีภาวะท้องผูก การไอหรือจาม การยกของหนัก โดยภาวะไส้เลื่อนสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามตำแหน่งที่มีการเกิดโรค ซึ่งตำแหน่งที่มักพบได้บ่อย ได้แก่ ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ ไส้เลื่อนเนื่องจากการผ่าตัด และ ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ

สำหรับโรคไส้เลื่อนในเด็กสามารถเกิดกับเด็กได้ในทุกช่วงอายุ โดยพบว่าเด็กผู้ชายมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้มากกว่าเด็กผู้หญิงประมาณ 5-10 เท่า และเกิดขึ้นในข้างขวามากกว่าข้างซ้าย และมักพบในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด

ลำไส้เคลื่อนจากจุดเดิมเป็นก้อนตุง เพราะผนังช่องท้องบาง

อาการของไส้เลื่อนในเด็ก

อาการของเด็กที่เป็นไส้เลื่อน จะพบว่ามีก้อนบริเวณเหนือขาหนีบและข้างหัวเหน่าเคลื่อนตัวออกมา หรือเคลื่อนแบบผลุบเข้า ๆ ออก ๆ เด็กจะมีอาการเจ็บเวลาเบ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเบ่งอุจจาระ ปัสสาวะ ไอ หรือร้องไห้ตามปกติ เด็กบางคนจะรู้สึกแน่นท้องหรือมีอาการปวดแสบปวดร้อน จนเกิดความงอแง ส่วนก้อนที่เคลื่อนออกมานั้นจะยุบหายไปหมดเมื่อเด็กนอนหลับ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถดันก้อนไส้เลื่อนกลับเข้าไปในช่องท้องได้

สำหรับเด็กโตที่มีอาการไส้เลื่อน มักจะบอกได้ว่ามีก้อนที่ปูดออกมาในขณะเดิน วิ่ง หรือขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวร่างกายมา และสามารถยุบลงได้เวลานอน นอกจากนี้มักมีอาการเจ็บหน่วง ๆ ขณะที่มีก้อนปูดขึ้นมา

ในเด็กที่เกิดภาวะไส้เลื่อนหนักขึ้น อาจมีอาการอาเจียน ท้องผูก มีแก๊สในกระเพาะอาหาร บริเวณที่ไส้เลื่อนออกมาตุงที่ผนังหน้าท้องมีลักษณะแข็ง จนไม่สามารถใช้มือกดบริเวณที่เป็นก้อนลงไปได้ หากพบว่าเด็กมีอาการเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์อย่างเร็วที่สุด เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงลำไส้ในบริเวณที่เกิดไส้เลื่อนได้ และจะเกิดอาการบวม ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะลำไส้ตาย และจะต้องได้รับการผ่าตัดด่วนเพื่อรักษาอาการ

สาเหตุที่เด็กเป็นไส้เลื่อน

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อนนั้นเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนแอของเยื่อบุภายในช่องท้อง ความอ่อนแอของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง ที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด เกิดจากการเกิดอุบัติเหตุที่ช่องท้องจนทำให้กล้ามเนื้อบริเวณช่องท้องอ่อนแอลง หรือเกิดขึ้นจากการผ่าตัดบริเวณช่องท้อง นอกจากนี้ แรงดันภายในช่องท้องก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลส่งให้เกิดภาวะไส้เลื่อนได้อีกด้วย เพราะเมื่อมีแรงดันในช่องท้องมากขึ้น ลำไส้ที่อยู่ภายในก็จะถูกดันออกมาตุงอยู่ที่บริเวณผนังช่องท้อง

เด็กเล็กจะยังบอกอาการเองไม่ได้ พ่อแม่จึงต้องตรวจสอบเสมอ

อันตรายจากโรคไส้เลื่อนในเด็ก

เพราะเด็กทารกยังไม่สามารถสื่อสารกับพ่อแม่ได้ว่าเขามีอาการเจ็บหรือปวดตรงจุดไหนในร่างกาย และสำหรับเด็กที่ไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น หากเราไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่ทราบได้ว่าเขาเป็นโรคไส้เลื่อน จนทำให้อาการไส้เลื่อนเรื้อรัง ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น อาการเจ็บหรือปวดบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน เนื่องมาจากแรงดันที่ไปกดทับบริเวณที่อยู่โดยรอบลำไส้ที่เลื่อนออกมา หรือทำให้เกิดอาการท้องผูก รู้สึกคลื่นไส้ เนื่องมาจากการเคลื่อนที่ของลำไส้ถูกจำกัด อีกทั้งเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวอาจเกิดการติดเชื้อและกลายเป็นเนื้อตายในที่สุด และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

อันตรายที่สำคัญที่สุดของโรคไส้เลื่อนในเด็กก็คือไส้เลื่อนขาหนีบติดคา ซึ่งหมายถึงภาวะที่มีอวัยวะในช่องท้อง ซึ่งในเพศชายมักจะเป็นลำไส้เล็ก ส่วนในเพศหญิงมักจะเป็นรังไข่ ท่อนำไข่ หรือลำไส้เล็ก เข้ามาติดคาอยู่ในถุงไส้เลื่อน เมื่อมีอวัยวะออกมาติดคาในถุงไส้เลื่อนเช่นนี้ การไหลเวียนโลหิตของอวัยวะนั้นก็จะถูกรบกวน ทำให้อวัยวะนั้นขาดเลือด เกิดการเน่าตายได้ เมื่อเกิดภาวะไส้เลื่อนติดคานี้ จะมีก้อนนูนเกิดขึ้นที่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะโดยไม่ยุบหายไป เด็กจะร้องกวนเนื่องจากความเจ็บปวด ร่วมกับมีอาการอาเจียน การตรวจร่างกายจะพบก้อนนูนที่บริเวณขาหนีบข้างที่เป็นไส้เลื่อนติดคา เด็กจะเจ็บเมื่อคลำบริเวณที่มีก้อน ในช่วงแรกที่เป็น ผิวหนังที่คลุมเหนือก้อนจะมีลักษณะปกติไปจนถึงบวมเล็กน้อย แต่ถ้าปล่อยให้เป็นนานต่อไป จะเกิดการบวมแดงของผิวหนังบริเวณนั้นเนื่องจากมีการขาดเลือดของลำไส้ที่ลงมาติดคา

เมื่อสงสัยว่าลูกเป็นไส้เลื่อน ควรทำอย่างไร?

หากสงสัยว่าลูกน้อยป่วยเป็นไส้เลื่อน สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ก็คือ ควรรีบพาเด็กมาพบศัลยแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดรักษา โดยทั่วไปในโรงพยาบาลที่ใหญ่จะมีกุมารศัลยแพทย์ ซึ่งเป็นศัลยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยเด็ก 

หาสงสัยหรือไม่แน่ใจ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์โดยเร็ว

การรักษาโรคไส้เลื่อนในเด็ก

การผ่าตัดเป็นทางออกในการรักษาไส้เลื่อนได้ดีที่สุด โดยเฉพาะกับไส้เลื่อนชนิดติดคควรได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ส่วนไส้เลื่อนชนิดอื่น ๆ ในระหว่างรอการผ่าตัด แพทย์อาจใช้ยาเพื่อประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรงไปกว่าเดิม เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาขยายหลอดลมเพื่อลดอาการไอในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ หรือยาขับปัสสาวะเพื่อลดระดับของเหลวในช่องท้อง อย่างไรก็ตามการใช้ยาสามารถประคับประคองอาการไส้เลื่อนได้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อถึงระยะหนึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ทำการผ่าตัดโดยเร็วที่สุด ในกรณีของเด็กที่เป็นไส้เลื่อนที่สะดือ สามารถรอดูอาการจนถึงอายุ 2 ขวบแล้วค่อยพิจารณาผ่าตัดรักษา เนื่องจากสามารถหายได้เอง

สำหรับการผ่าตัดไส้เลื่อนในเด็กนั้น เป็นเพียงการผ่าตัดปิดช่องผนังหน้าท้องส่วนที่อวัยวะเคลื่อนตัวออกมาเท่านั้น เพราะไม่ได้เป็นการผ่าตัดเปิดช่องท้องหรือเป็นอันตรายต่ออวัยวะที่มีปัญหา นอกจากนี้ยังใช้เวลาไม่นานมาก เพียงแค่ 30-45 นาที หากเด็กฟื้นตัวได้เร็วก็สามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียว และการดมยาสลบในเด็กซึ่งไม่เคยมีโรคประจำตัวใด ๆ มาก่อน ก็มีความเสี่ยงที่ต่ำมาก ๆ คุณพ่อคุณแม่จึงหมดกังวลได้ ไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดอันตรายจากการดมยาสลบอย่างที่คนจำนวนหนึ่งอุปาทานกันไปเอง ยกเว้นในกรณีของเด็กที่คลอดก่อนกำหนด เด็กอายุไม่ถึง 3 เดือน หรือในเด็กที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการหลังผ่าตัดต่อประมาณ 1-2 วัน เพื่อคอยดูแลอาการแทรกซ้อนอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์

มีวิธีป้องกันโรคหรือไม่?

แม้ว่าโรคต่าง ๆ เราจะสามารถระมัดระวังและป้องกันได้ แต่กับโรคไส้เลื่อนนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะสาเหตุของโรคนั้นเนื่องมาจากการที่ผิวหนังเยื่อบุช่องท้องอ่อนแอมากกว่าปกติ ทำให้เด็ก ๆ มีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้ โดยที่ไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิด

โรคไส้เลื่อนในเด็กหรือในทารกเป็นสิ่งที่สามารถพบได้ตั้งแต่ยังเล็ก ทั้งในทารกเพศชายและเพศหญิง ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตพบก้อนนูน ๆ มีลักษณะแปลกในบริเวณสะดือหรือขาหนีบของลูกน้อย ก็อย่ามัวนิ่งนอนใจนะคะ ให้รีบพาน้องไปปรึกษาแพทย์โดยไว เพื่อที่จะได้รักษาด้วยการผ่าตัดอย่างทันท่วงทีค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th