กระดาษเมา สารเสพติดชนิดใหม่ หน้าตาน่ารัก พ่อแม่ต้องระวัง
วันนี้จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความรู้จักกับสารเสพติดชนิดใหม่ค่ะ หน้าตาน่ารัก เหมือนสติกเกอร์แผ่นเล็ก ๆ สีสันสดใส แต่มันคือ “กระดาษเมา” ที่สามารถออกฤทธิ์หลอนประสาทได้ ด้วยความที่มันมีรูปลักษณ์ที่น่ารัก ดูเผิน ๆ แล้วจะไม่คิดว่าเป็นยาเสพติดเลย อาจจะล่อตาล่อใจเด็กได้ ก็ยิ่งต้องทำให้พ่อแม่เพิ่มความระมัดระวังเข้าไปอีก
กระดาษเมาคืออะไร?
กระดาษเมา หรือที่วัยรุ่นบางกลุ่มนิยมเรียกว่าแผ่น (LSD tab) มีส่วนผสมของสาร LSD (d-lysergic acid diethylamide) ที่ผลิตขึ้นมาจาก lysergic acid ของสารจำพวก ergot ซึ่งเป็นรา (fungus) ที่ขึ้นอยู่ตามเมล็ดข้าวไรย์ จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ที่ออกฤทธิ์หลอนประสาท เมื่อหยดลงบนกระดาษที่มีคุณสมบัติดูดซับ (blotter paper) โดยกระดาษดังกล่าวอาจมีสีขาว หรืออาจเป็นการะดาษที่มีลวดลาย มีการพิมพ์รูปภาพหรือลายการ์ตูนต่าง ๆ จากนั้นแบ่งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ทำให้มีลักษณะคล้ายแสตมป์ การใช้งานคือใช้อมใต้ลิ้น โดยจะออกฤทธิ์ภายใน 30-90 นาที นาน 8-12 ชั่วโมง
ผลข้างเคียงระยะสั้น
เป็นการยากที่จะบอกได้ว่าแอลเอสดีส่งผลต่อสมองอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าแอลเอสดีจะส่งผลต่อสารเซโรโทนินในสมองที่ส่งผลถึงกระบวนการรับรู้และพฤติกรรม ซึ่งแอลเอสดีจะไปรบกวนสารดังกล่าวทำให้ไม่สามารถทำงานตามปกติได้ จึงทำให้ยาอาจออกฤทธิ์ได้นานถึง 12 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น
ผู้เสพจะมีอาการมึนเมาหลังจากการเสพแอลเอสดีไปแล้วประมาณ 30-90 นาที ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการเสพยานั้นขึ้นอยู่กับหลายสาเหตุ เช่น ปริมาณยา ผู้คนที่อยู่รายล้อม หรือพฤติกรรมและอารมณ์ของผู้เสพเอง บางคนอาจมีอาการมึนเมาไม่มากนัก แต่จะมีอารมณ์แปรปรวนอย่างรวดเร็ว และหากมีอาการมึนเมาหนักขึ้น ผู้เสพจะมีอาการประสาทหลอน หูฝาด เกิดภาพลวงตา ระบบการรับรู้ของสมองผิดปกติ เกิดอาการสับสน และหลงผิด
ค่อนข้างยากที่จะคาดเดาได้ว่าอาการมึนเมาจะอยู่ได้นานแค่ไหน หรือผลข้างเคียงจะเกิดขึ้นแบบใดบ้าง แต่เป็นที่แน่นอนว่าอาการข้างเคียงรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ทำให้ผู้เสพเกิดอาการหวาดกลัว ซึมเศร้า เกิดภาวะสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้ หรือขาดสติ ซึ่งร่างกายจะไม่สามารถควบคุมอาการที่เกิดขึ้นได้เลยจนกว่าฤทธิ์ยาจะหมดลงไปเอง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ผู้เสพมีปัญหาทางจิตจนไม่สามารถกลับมาเป็นปกติแม้จะไม่ได้เสพยา
นอกจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับสภาพทางจิตแล้ว การเสพแอลเอสดีอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทางด้านร่างกายด้วย ดังนี้
- ภาวะรูม่านตาขยาย
- อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นผิดปกติ
- หัวใจเต้นเร็ว
- ความดันโลหิตสูง
- เหงื่อออกมากผิดปกติ
- วิงเวียน
- ปากแห้ง
- ตัวสั่น
- หวาดกลัว เสียขวัญ
- นอนไม่หลับ
- เบื่ออาหาร
ในบางกรณี การเสพแอลเอสดีเกินขนาดจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจนทำให้เกิดอาการชัก หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
ผลข้างเคียงระยะยาว
ผู้ที่เสพแอลเอสดีอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานยังคงมีอาการข้างเคียงแม้จะไม่ได้เสพยาก็ตาม โดยอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะไม่แสดงสัญญาณเตือน และจะยังเกิดขึ้นอยู่ 2-3 วันหรืออาจนานเป็นปีหลังจากการเสพแอลเอสดี นอกจากนี้อาการข้างเคียงอาจเกิดขึ้นได้แม้จะมีการเลิกเสพยาไปแล้ว ซึ่งจะรบกวนการดำเนินชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างมาก
การใช้แอลเอสดีปริมาณมากจะทำให้ผู้เสพมีอาการดื้อยาและพวกเขาต้องใช้ยาในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจัดการกับความเครียดและทำให้พวกเขารู้สึกเพลิดเพลิน ซึ่งลักษณะการเสพเช่นนี้ย่อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย
ปัญหาอื่น ๆ ที่อาจตามมา
การเสพแอลเอสดีจะทำให้ผู้เสพมีปัญหาด้านการรับรู้และการคิดตัดสินใจของสมอง หากมีการเสพเกินขนาดอาจนำมาซึ่งเหตุรุนแรงที่กระทบต่อทั้งตนเองและผู้อื่นได้ เช่น เกิดอุบัติเหตุทางถนน การทำร้ายตนเองและผู้อื่นเนื่องจากเกิดภาพหลอน
สังเกตอย่างไรว่าลูกใช้ยาเสพติด
คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพฤติกรรมของลูกว่าใช้ยาเสพติดหรือไม่ โดยการสังเกตและเฝ้าดูพฤติกรรมของลูก ดังนี้
1. มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
สุขภาพทรุดโทรม ซูบซีด น้ำหนักตัวลดลง กลิ่นตัวแรง เพราะขาดความเอาใจใส่เรื่องความสะอาดของร่างกายตนเอง และมีร่องรอยการเสพยาเสพติด
2. มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ ความประพฤติ และบุคลิกภาพ
มีสีหน้าแสดงความวิตกกังวล ซึมเศร้า ขาดเรียน ตื่นสายผิดปกติ สติปัญญาและความจำเสื่อม การงานบกพร่อง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ชอบแยกตัวเอง เจ้าอารมณ์ หงุดหงิดง่าย พูดจาก้าวร้าว ขาดเหตุผล ชอบเข้าห้องน้ำนาน ใช้เงินเปลืองอย่างไม่มีสาเหตุ ของในบ้านหายบ่อยขึ้น เพราะถูกขโมยไปขายหรือไปจำนำ กลับบ้านผิดเวลาบ่อยขึ้น
3. เมื่อขาดยาเสพติดจะเกิดอาการอยากยา
น้ำมูกและน้ำตาไหล หาวนอน จามเหมือนเป็นหวัด กระสับกระส่าย กระวนกระวายตลอดเวลา คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก กล้ามเนื้อสั่น กระตุก ขบฟัน ปวดเมื่อยตามร่างกาย ความดันโลหิตสูง คลั่ง เสียสติ
ทำอย่างไร หากพบว่าลูกเสพยา?
1. ทำใจยอมรับความจริง
คุณพ่อคุณแม่ควรทราบว่าการติดยาเสพติดเป็นอาการที่รักษาให้หายได้ด้วยการบำบัดทางการแพทย์ ซึ่งผู้ที่ติดยาต้องการความรัก ความเอาใจใส่ ถ้าลูกรู้ว่าคุณยอมรับความผิดพลาดของเขาได้และยินดีให้ความช่วยเหลือ หนทางสู่การเลิกยาเสพติดก็ไม่ใช่เรื่องยาก
2. หาข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อเตรียมพร้อม
ยาเสพติดมีหลายชนิดและอาการของผู้เสพยาแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไป พ่อแม่ควรสอบถามว่าลูกติดยาชนิดไหน มีอาการอย่างไร และวิธีที่จะเลิกยามีอะไรบ้าง เพื่อความเข้าใจและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการช่วยเหลือลูก
3. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและติดต่อสถาบันบำบัด
การพาลูกไปเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลและคลินิกของรัฐ หรือศูนย์ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดต่าง ๆ เช่น สถาบันธัญญารักษ์ สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก เป็นทางเลือกที่ดี เพราะลูกจะได้รับการช่วยเหลือและอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านยาเสพติดโดยตรง
4. พูดคุยและให้กำลังใจ
ระหว่างการบำบัดเลิกยาเสพติด ลูกอาจมีภาวะลงแดงหงุดหงิด กระวนกระวาย ทำร้ายตนเอง พ่อแม่ควรแสดงความรักโดยการพูดคุย ให้กำลังใจ พร้อมทั้งให้ความเชื่อมั่นว่าลูกสามารถเลิกยาได้ ซึ่งในช่วงเวลานี้ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องใช้ความอดทนสูง นอกจากจะสร้างความมั่นใจในตัวเองให้แก่ลูกแล้ว การทำให้ลูกรู้ว่าคุณจะอยู่เคียงข้างเขายังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในครอบครัว ช่วยป้องกันการกลับไปติดยาเสพติดได้อีกทางหนึ่ง
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th