Site icon Motherhood.co.th Blog

“กัดเล็บ” กลัวลูกเล็บกุดจัง จะแก้ยังไงดี

เด็กกัดเล็บ

“กัดเล็บ” กลัวลูกเล็บกุดจัง จะแก้ยังไงดี

“กัดเล็บ” จนเล็บกุดเป็นอีกปัญหานึงที่คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านต้องพบเจอจากลูกน้อยนะคะ การกัดเล็บนี่เป็นปัญหาที่กระทบในหลายด้านเลย ทั้งฟัน ทั้งการนำเชื้อโรคเข้าปากเพราะเล็บไม่สะอาด และถ้ากัดมากๆเป็นเวลานานตัวเล็บเองก็จะกุด้วย ที่สำคัญคือทำให้เสียบุคลิกมากๆเลยละค่ะ ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากจะแก้ไขให้ลูกเลิกกัดเล็บ ก็ต้องติดตามอ่านนะคะ

การกัดเล็บจนกุดทำให้เสียบุคลิก

เด็กกัดเล็บทำไม?

การกัดเล็บบ่งบอกว่าเด็กกำลังใช้ความคิดอย่างหนัก กำลังใจจดจ่ออยู่กับอะไรบางอย่าง หรืออาจมีความประหม่ากังวลเกิดขึ้น มีความรู้สึกไม่พึงพอใจและหาทางออกไม่ได้ สมองของเขาเลยสั่งการออกมาโดยเขาไม่รู้ตัว อีกสาเหตุนั้นเป็นเพราะความเหงา เกิดความเบื่อหน่าย

ข้อเสียของการกัดเล็บ

สิ่งที่สังเกตเห็นได้ก่อนอื่นเลยคือบุคลิกภาพจะเสีย ถ้าปล่อยให้ลูกเคยชินกับการกัดเล็บไปจนโต เขาก็อาจจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ยังกัดเล็บอยู่ แถมยังส่งผลให้เล็บกุดและฝ่อ บางครั้งกัดลามเข้าไปถึงหนังบริเวณรอบเล็บจนเป็นแผล ทั้งบวม แดง ลอกเป็นริ้วๆ ก็ยิ่งดูไม่ดีเข้าไปใหญ่ นอกจากนี้การกัดเล็บเป็นประจำยังส่งผลต่อฟันของลูกอีกด้วย เพราะมันทำให้ฟันผิดรูป หรืออาจจะบิ่นไปเลยก็ได้ เมื่อเขาโตขึ้นก็จะเสียความมั่นใจอีก

ความกังวลหรือความประหม่าก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กกัดเล็บ

แต่การกัดเล็บก็ยังพอมีข้อดี

มีงานวิจัยจากประเทศแคนาดาและนิวซีแลนด์ที่บ่งชี้ว่า การกัดเล็บจะทำให้เด็กมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงขึ้น และเป็นภูมิแพ้ได้น้อยกว่าคนอื่น เด็กที่กัดเล็บจะมีภูมิต้านทาต่อขนแมวขนสุนัข และต้านทานต่อไรฝุ่นมากกว่าเด็กอื่นถึง 3 เท่า และภูมิต้านทานพวกนี้จะติดตัวเด็กไปจนเขาโต

หาเด็กมีความเครียดก็จะกัดเล็บ

วิธีทำให้ลูกเลิกกัดเล็บ

  1. อธิบายให้ลูกฟังว่าการกัดเล็บไม่ดียังไง เพราะถึงแม้จะพอมีข้อดีอยู่บ้าง แต่ในเล็บคนเราก็มีเชื้อโรคมากมายที่สามารถทำให้ลูกป่วยและติดเชื้อต่างๆได้เมื่อนำเข้าสู่ร่างกาย หากลูกป่วยแล้ว เขาจะอดสนุกกับการทำกิจกรรมที่เขาชอบ หรือจะให้เขาเห็นตัวเองในกระจกและภาพถ่ายตอนเขากำลังกัดเล็บอยู่ก็ได้ พร้อมทั้งแสดงให้ลูกเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำให้บุคลิกภาพลูกเสีย
  2. หากิจกรรมให้ลูกทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ หากิจกรรมอย่างอื่นที่ทำให้ลูกไม่ว่างจะเอามือเข้าปาก ไม่ว่าจะเป็นการเล่นวาดรูประบายสี การเล่นบอร์ดเกมกับคุณพ่อคุณแม่ หรือจะหาขนมขบเคี้ยวประเภทที่ดีต่อสุขภาพมาไว้ใกล้มือเขาก็ได้ ให้เขากินขนมที่ดีก็ยังดีกว่าให้เขาแทะเล็บตัวเองจนเล็บกุด
  3. สำรวจความเครียดของลูก บางทีที่ลูกกัดเล็บไม่ใช่แค่เพราะเขามือว่างหรือติดเป็นนิสัย แต่เป็นเพราะเขามีความเครียดหรือความกดดันอะไรบางอย่างอยู่ในใจ คุณพ่อคุณแม่ต้องลองพูดคุยและหาทางออกร่วมกันดู หรือช่วนเขาทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด สามารถใช้ลูกบอลเพื่อบีบคลายเครียดได้ ลูกจะได้ไม่เอามือเข้าปากตัวเองทันทีที่เครียดเหมือนที่ผ่านมาอีก
  4. ตัดเล็บและดูแลมือให้สะอาดอยู่เสมอ ในเบื้องต้นถึงเราจะยังห้ามลูกเอาเล็บเข้าปากไม่ได้อย่างเด็ดขาด แต่การที่เราตัดเล็บเขาให้สั้น และคอยดูแลเขาให้ทำความสะอาดมืออยู่เสมอก็จะทำให้ลดการสะสมของเชื้อโรคลงไปได้บางส่วน เมื่อเขามีเล็บและหนังบริเวณรอบเล็บที่สวยงามแล้ว ก็อาจจะลดความอยากกัดของเขาไปได้บ้าง
  5. ชมลูกเมื่อเขาหยุดกัดเล็บ แสดงความชื่นชมลูกเมื่อลูกหยุดกัดเล็บได้เป็นเวลานาน เรื่องกัดเล็บนี้ต้องใช้เวลากว่าจะเลิกได้ขาด ดังนั้นถ้าลูกสามารถนั่งทำกิจกรรมอื่นไปเพลินๆได้โดยไม่กัดเล็บสัก 2 ชั่วโมง ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าขึ้นบ้างแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรกล่าชมเขาที่เขาห้ามใจไม่กัดเล็บได้ หรือมีของรางวัลให้เล็กๆน้อยๆเพื่อเป็นกำลังใจ

การจะแก้ปัญหาลูกกัดเล็บนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องทำอย่างเข้าใจ อย่าเพิ่งไปบ่นว่าเด็กอย่างรุนแรง เพราะเด็กจะตอบสนองกับปฏิกิริยาเชิงบวกของผู้ใหญ่มากกว่า ควรให้เหตุผลแก่เขาดีๆว่าการกัดเล็บมีผลเสียมากกว่าผลดียังไง และเมื่อเขาห้ามใจได้ก็แสดงออกว่าภูมิใจในตัวเขา ลูกจะได้มีกำลังใจในการเลิกพฤติกรรมกัดเล็บมากยิ่งขึ้น

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th