Site icon Motherhood.co.th Blog

9 การทดลองวิทยาศาสตร์ เล่นสนุกง่าย ๆ ได้ที่บ้าน

การทดลองวิทยาศาสตร์แสนสนุก

ชวนให้เด็ก ๆ ทำการทดลองวิทยาศาสตร์แสนสนุกที่บ้านกันเถอะ

9 การทดลองวิทยาศาสตร์ เล่นสนุกง่าย ๆ ได้ที่บ้าน

เด็ก ๆ ล้วนเกิดมาเป็นนักสำรวจ เขาอาจจะถามคุณด้วยคำว่าทำไมถึง 14 หนต่อวัน “การทดลองวิทยาศาสตร์” สามารถสร้างความบันเทิงให้พวกเขา และยังแสดงแนวคิดพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้เขาได้รู้ ด้วยการทดลองง่าย ๆ เหล่านี้ที่ออกแบบโดยพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ซานฟรานซิสโก สิ่งที่คุณต้องมีคือของใช้ในบ้านทั่วไปไม่กี่อย่างเท่านั้น

1. ปราการปกป้องผิว

บทเรียนวิทยาศาสตร์: ผิวของคุณปกป้องคุณจากการติดเชื้ออย่างไร

ทำไมเราถึงล้างมือบ่อยขนาดนี้ ? ผิวของเราปกป้องเราจากไวรัสอันตรายหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งไวรัส Covid-19 ก็รวมอยู่ในนั้นด้วย ดังนั้น การล้างมือบ่อย ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อสุขภาพที่ดี สำหรับการทดลองนี้ ให้คุณเจาะรูในมะเขือเทศ แล้วเฝ้าสังเกตเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อดูว่าแบคทีเรียและเชื้อราเติบโตอย่างไร  มะเขือเทศจะเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าผิวหนังของเรายังประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อให้แก่เราได้อย่างไร

เหมาะกับใคร – เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6-10 ปีโดยมีผู้ปกครองดูแล และเด็กอายุ 11 ปีขึ้นไปสามารถทำเองได้อย่างอิสระ

2. สีสันของท้องฟ้า

บทเรียนวิทยาศาสตร์: เหตุใดท้องฟ้าจึงเป็นสีฟ้าในขณะที่พระอาทิตย์ตกเป็นสีส้ม ?

แสงแดดเป็นแสงสีขาวประกอบด้วยสีรุ้งซึ่งมีความยาวคลื่นต่างกัน โดยที่แสงสีน้ำเงินมีความยาวคลื่นสั้นกว่ามากและกระจายได้มากกว่าแสงสีแดง สำหรับการทดลองที่แสนง่ายนี้ ไฟฉาย กล่องพลาสติกใส น้ำ นมไม่กี่หยด และแว่นกันแดด จะช่วยให้คุณเห็นว่าเหตุใดดวงอาทิตย์ที่อยู่เหนือศีรษะจึงทำให้คุณมองเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้า ในขณะที่ดวงอาทิตย์ตั้งอยู่บนเส้นขอบฟ้าทำให้คุณเห็นสีแดงส้ม

เหมาะกับใคร – เหมาะสำหรับเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป

3. ประสาทการรับรส

บทเรียนวิทยาศาสตร์: ค้นพบวิธีการ

นักวิจัยบอกว่า 80% ของสิ่งที่เราคิดว่ามันคือรสชาติ แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่กลิ่นเท่านั้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมอาหารถึงดูไร้รสชาติเมื่อเราเป็นหวัด ในการทดลองนี้ ให้ชิมลูกอมรสต่าง ๆ ที่ผสมกันในขณะที่บีบจมูกเอาไว้ จากนั้นพยายามหารสชาติ มันจะยาก แต่เมื่อลูกอมละลายมันจะง่ายขึ้น เพราะโมเลกุลของกลิ่นเดินทางจากหลังคอไปที่จมูก

เหมาะกับใคร – เหมาะสำหรับเด็กอายุ 8  ปีขึ้นไป

4. ในไข่มีก๊าซ

บทเรียนวิทยาศาสตร์: สำรวจคุณสมบัติของก๊าซ

การทำอาหารเป็นเรื่องของเคมี ด้วยการทดลองวิทยาศาสตร์ที่แสนง่ายทำได้ที่บ้านนี้ เด็ก ๆ จะได้รู้ว่าการปอกเปลือกไข่ที่ง่ายที่สุดก็คือการจุ่มลงในน้ำเย็นหลังจากต้มมันจนเดือด ก๊าซในถุงลมระหว่างเยื่อที่อยู่ติดกับเปลือกไข่จะขยายตัวเมื่อได้รับความร้อน แต่การระบายความร้อนอย่างรวดเร็วจะลดปริมาณก๊าซลงอย่างรวดเร็วทำให้ง่ายต่อการแยกไข่ออกจากเปลือก

เหมาะกับใคร – เหมาะสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เด็กที่อายุน้อยกว่านั้นต้องการความช่วยเหลือของผู้ใหญ่

5. ไข่เปลือย

บทเรียนวิทยาศาสตร์: เรียนรู้ว่าเยื่อหุ้มเซลล์ทำงานอย่างไร

สำหรับการทดลองชิ้นนี้ ให้วางไข่ที่ยังไม่สุกและไม่มีเปลือกลงในของเหลวหลายชนิด เช่น น้ำเกลือ น้ำกลั่น และน้ำคอร์นไซรัป เพื่อดูว่ารูปร่าง สี และมวลของมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป ไข่เป็นตัวแทนของเซลล์ของมนุษย์ซึ่งยอมให้สารบางอย่างผ่าน เช่น ออกซิเจน และสารอาหาร แต่ปิดกั้นสารอื่น ในขณะที่อนุญาตให้ของเสียออกได้ทางเยื่อหุ้มเซลล์

เหมาะกับใคร – เหมาะสำหรับเด็กอายุ 10-12 ปี โดยมีผู้ปกครองดูแล

6. เร่งเมล็ดพืชให้โต

บทเรียนวิทยาศาสตร์: เฝ้าดูต้นอ่อนเติบโต

เมล็ดพืช ภาชนะพลาสติก และกล่องซีดีเก่า เป็นสิ่งที่คุณต้องการในการทำการทดลองนี้ ที่จะชี้ให้เห็นถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต เอ็มบริโอของพืชอยู่ภายในเมล็ดพืช และน้ำจะถูกดูดซึมผ่านรูเล็ก ๆ ในเยื่อหุ้มเมล็ด เมื่อเวลาผ่านไป จะได้เห็นรากและยอดที่มีสีเขียวเริ่มแตกหน่อ

เหมาะกับใคร – เหมาะสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เด็กที่อายุน้อยกว่านั้นจะต้องการความช่วยเหลือของผู้ใหญ่

7. โลหะเย็น

การทดลองวิทยาศาสตร์: เรียนรู้ว่าเกิดความร้อนอย่างไร

เรื่องเซอร์ไพร์สก็คือ โลหะ ไม้ โฟม และวัสดุอื่น ๆ อาจรู้สึกเย็นหรืออุ่นเมื่อสัมผัส แม้ว่าจะอยู่ในอุณหภูมิเดียวกันก็ตาม การทดลองนี้จะทำให้คุณเห็นว่า โลหะรู้สึกเย็นเพราะเป็นตัวนำความร้อนที่ดี ซึ่งหมายความว่ามันดึงความร้อนจากมือคุณได้เร็ว ในขณะที่สไตโรโฟมเป็นตัวนำความร้อนที่ไม่ดี

เหมาะกับใคร – เหมาะสำหรับเด็กอายุ 8  ปีขึ้นไป

8. วิวัฒนาการเครื่องนับเมล็ดถั่ว

บทเรียนวิทยาศาสตร์: เรียนรู้ว่าทฤษฎีการคัดเลือกทางธรรมชาติทำงานอย่างไร

การทดลองอันชาญฉลาดนี้ ใช้ถั่วแห้งและเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยที่แต่ละทีมจะต้องแข่งขันกันเพื่อตักถั่วให้ได้มากที่สุด เฝ้าดู “การอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุด” โดยทีมที่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ก็จะมีสมาชิกมากกว่า ในขณะที่ทีมที่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพน้อยจะ มีสมาชิกลดน้อยลง (หรือถึงขั้นสูญพันธุ์) นั่นเป็นเพราะทีมที่คว้า “เหยื่อ” ได้มากที่สุดจะได้สมาชิกเพิ่ม ในขณะที่ทีมที่คว้าถั่วได้น้อยที่สุดจะสูญเสียสมาชิกไปในตอนท้าย

เหมาะกับใคร – เหมาะสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป

9. ลูกบาศก์ปริศนา

บทเรียนวิทยาศาสตร์: สมองของคุณมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไร

การทดลองวิทยาศาสตร์แสนง่ายนี้ใช้เพียงหลอดดูดน้ำและน้ำยาทำความสะอาดท่อ เพื่อสร้างลูกบาศก์ที่คุณสามารถมองเห็นได้ในสองลักษณะ หนึ่งในนั้นก็คือ ภาพลวงตาเสมือนจริง บางครั้งสมองของเราก็ตีความสิ่งชี้นำภาพเดียวกันได้หลายวิธี การปิดตาข้างเดียวจะเปลี่ยนแปลงการรับรู้เชิงลึกของเรา

เหมาะกับใคร – เหมาะสำหรับเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป

ลองทำการทดลองวิทยาศาสตร์แสนสนุกเหล่านี้ไปให้เด็ก ๆ เล่นกันดูที่บ้านนะคะ รับรองว่าเด็ก ๆ จะต้องติดใจในความสนุกของวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน และเชื่อได้เลยว่านี่จะเป็นกิจกรรมที่ช่วยปลูกฝังความเป็นนักสำรวจในตัวหนูน้อยได้เป็นอย่างดีค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th