Site icon Motherhood.co.th Blog

การผ่าคลอด คิดให้ดีว่าจำเป็นจริงหรือ

การผ่าคลอดโดยไม่จำเป็น

การผ่าคลอดไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน

การผ่าคลอด คิดให้ดีว่าจำเป็นจริงหรือ

เมื่อไม่กี่วันก่อน ทางโรงพยาบาลราชวิถีได้ออกโครงการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นออกมา ที่ต้องรณรงค์เรื่องนี้เพราะมีว่าที่คุณแม่หลายคนนิยม “การผ่าคลอด” กันมากขึ้น ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้น สถิติของการผ่าคลอดในปัจจุบันนั้นสูงถึง 40% เลยทีเดียว ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่น่าตกใจว่าจำนวนถึงครึ่งของแม่ที่ผ่าคลอดเป็นการผ่าคลอดโดยไม่มีความจำเป็นเลย ทำไมแพทย์ถึงไม่แนะนำการผ่าคลอด การผ่าคลอดจำเป็นกับใครบ้าง ติดตามเรื่องราวของการผ่าคลอดได้ในบทความนี้เลยค่ะ

สถิติกการผ่าคลอดในไทยสูงถึง 40%

พัฒนาการของการผ่าท้องคลอด

การผ่าท้องคลอดมีมานานแล้ว อาจถึงร้อยปีด้วยซ้ำไป การผ่าท้องคลอดเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Caesarean Section หรือเรียกสั้นๆว่า Caesar มีตำนานที่เล่าต่อๆกันมาว่าเป็นเพราะพระเจ้าซีซาร์มหาราชประสูติด้วยการผ่าท้องคลอด แต่ก็ไม่มีใครที่ยืนยันได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่

การผ่าท้องคลอดเป็นการรักษาพยาบาลหรือหัตถการที่สำคัญมากในอดีต เพราะเป็นการช่วยชีวิตแม่และลูกในกรณีที่แม่ไม่สามารถคลอดได้โดยธรรมชาติ สมัยก่อนการผ่าท้องคลอดนั้นอันตรายมาก ต้องให้ยาระงับความรู้สึก ดมยาสลบ ระหว่างการผ่าตัดก็เสียเลือดมาก และเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ไต และยังก่อให้เกิดภาวะข้างเคียงได้มาก ที่สำคัญยังเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ยิ่งสมัยก่อนยาปฏิชีวนะยังไม่ค่อยดี ดังนั้น การเสียชีวิตจากการผ่าท้องคลอดจึงมีมาก

ทุกวันนี้การแพทย์พัฒนาก้าวหน้าขึ้น การผ่าท้องคลอดปลอดภัยมากขึ้นและมีความเสี่ยงน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต มีการใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อได้ดีขึ้น การผ่าตัดก็มีเทคนิคต่างๆ ที่พัฒนาขึ้น มีการบล็อกหลังระงับความรู้สึก ช่วยให้การผ่าคลอดสะดวกสบายกว่าเดิมมาก

เมื่อไหร่การผ่าคลอดถึงจำเป็น

การคลอดเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ การผ่าท้องคลอดเป็นเรื่องจำเป็นเฉพาะในบางกรณี เช่น แม่ตัวเล็ก เด็กตัวใหญ่ แม่มีภาวะแทรกซ้อน เด็กอยู่ในท่าผิดปกติ หรือเด็กมีภาวะเครียดจากการขาดออกซิเจนในครรภ์  การผ่าท้องคลอดในภาวะที่เหมาะสมจะช่วยลดอันตรายของแม่และลูกได้

ข้อบ่งชี้ที่สำคัญอันดับแรกคือ มีการผิดสัดส่วนระหว่างตัวเด็กกับเชิงกรานของแม่ เช่น แม่ตัวเล็ก เชิงกรานแคบ ลูกตัวโต สิ่งเหล่านี้สามารถประเมินได้ บางรายอาจจะเห็นได้ชัดเจน การทำอัลตร้าซาวด์ก็ช่วยคำนวณน้ำหนักได้ แต่ในกรณีที่ก้ำกึ่ง แพทย์อาจจะวางแผนให้คลอดปกติดูก่อน แล้วดูความก้าวหน้าของการคลอด ถ้าสักระยะหนึ่งแล้วไปต่อไม่ได้ ก็แปลว่าคงมีการผิดสัดส่วน จึงค่อยตัดสินใจให้ผ่าท้องคลอดในกรณีที่มีความจำเป็นเช่นนั้น

ระหว่างที่ให้ลองคลอดรอดูอาการ แพทย์จะคอยฟังและบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจเด็กตลอดเวลา เพราะจะเป็นข้อบ่งชี้ข้อที่สองในการผ่าคลอด ซึ่งก็คือภาวะเด็กขาดออกซิเจน ถ้าเป็นเช่นนี้ต้องรีบผ่าโดยทันที

ข้อบ่งชี้ที่สามคือ เด็กอยู่ในท่าผิดปกติ เช่น เด็กอยู่ในท่าก้นหรือท่าขวาง ซึ่งข้อนี้มักจะรู้ได้ก่อนที่จะเกิดการเจ็บท้องคลอดแล้ว แพทย์ก็มักแนะนำให้ผ่าท้องคลอดเลย

ดังนั้น ในภาวะปกติที่ไม่มีข้อบ่งชี้ การผ่าท้องคลอดถือว่ามีอันตรายทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อทั้งแม่และลูกสูงกว่าการคลอดปกติผ่านทางช่องคลอด

ควรผ่าคลอดเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น

อันตรายของการผ่าท้องคลอด

จากงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก ที่รวบรวมเอาผลของการคลอดในประเทศเอเชียจำนวน 9 ประเทศ เปรียบเทียบการคลอดโดยการผ่าท้องคลอดกับการคลอดปกติ พบข้อมูลยืนยันว่าการผ่าท้องคลอดทำให้แม่และลูกเกิดอันตรายมากขึ้นประมาณ 2-3 เท่า ทั้งการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยแต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต เพราะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆมากขึ้น สำหรับแม่ มีโอกาสเสียเลือดและมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น ยาระงับความรู้สึกอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ และหลังคลอดก็มีโอกาสฟื้นตัวช้ากว่า

นอกจากนี้ หลังผ่าท้องคลอด ในช่องท้องจะมีพังผืดมาจับลำไส้ จับที่แผลผ่าตัด ผลที่ตามมาคือ ถ้าต้องผ่าตัดครั้งต่อไปจะทำได้ยากขึ้น มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ยิ่งไปกว่านั้น แผลเป็นที่ตัวมดลูกจะเป็นจุดอ่อนเมื่อตั้งครรภ์ครั้งต่อไป รกจะไปเกาะอยู่ตรงนั้น กินทะลุมดลูก ทำให้แตกได้ เรียกว่าภาวะรกฝังตัวลึก

ในส่วนผลกระทบต่อลูก ก็มีอยู่หลายข้อด้วยกัน การคลอดตามปกติที่เด็กผ่านช่องคลอดออกมา ปอดของเด็กจะถูกรีดผ่านช่องคลอดของแม่ ทำให้มูก เสมหะ หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในลำคอเด็กถูกขับออกมา เลยมีโอกาสที่จะหายใจเป็นปกติได้ดีกว่าเด็กที่คลอดโดยการผ่าท้องคลอดซึ่งไม่ผ่านกระบวนการนี้ ดังนั้นเด็กที่ผ่าท้องคลอดจะมีโอกาสต้องช่วยหายใจ และมีโอกาสขาดออกซิเจนได้มากกว่า และในช่องคลอดแม่ก็มีแบคทีเรียที่ดีอยู่ มันคอยควบคุมไม่ให้แบคทีเรียไม่ดีเข้ามาแทรกแซง เด็กที่คลอดผ่านช่องคลอดจะได้สัมผัสกับแบคทีเรียนี้ ทำให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน มีงานศึกษาพบว่าเด็กที่คลอดตามปกติมีโอกาสเป็นภูมิแพ้น้อยกว่าเด็กที่คลอดโดยการผ่าท้องคลอดถึง 3 เท่า

และการคลอดก็มีความสัมพันธ์กับเรื่องการให้นมเช่นกัน แม่ที่คลอดแบบปกติ หลังคลอดเราสามารถนำลูกมาให้แม่อุ้มได้ทันทีตั้งแต่นาทีแรก แล้วให้ดูดนมได้เลย ในช่วงครึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดมีความสำคัญมากที่จะต้องรีบให้ลูกได้ดูดนมแม่ เพราะการให้ลูกดูดนมจะทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ซึ่งจะทำให้น้ำนมหลั่งออกมามากขึ้น ยิ่งดูดช้าฮอร์โมนก็หลั่งช้า แม่ที่คลอดลูกแบบปกติจึงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า เพราะในการผ่าท้องคลอด แม่ต้องดมยาสลบ อาจไม่สามารถอุ้มและให้นมลูกได้ทันที

การผ่าคลอดจะทำให้การผ่าตัดครั้งต่อไปทำได้ยาก

ภาพรวมของการผ่าคลอดจากทั่วโลก

ภาพรวมการผ่าท้องคลอดขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาประเทศด้วย ประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีก็จะมีอัตราการผ่าท้องคลอดสูง เพราะมีทรัพยากรทางการแพทย์ที่ดี ทั้งหมอ ยา อุปกรณ์ และบุคลากรต่างๆ ฉะนั้น ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมทั้งเอเชีย จะมีอัตราการผ่าท้องคลอดมากกว่าในแถบแอฟริกา ซึ่งในปัจจุบันนี้อัตราการผ่าท้องคลอดเฉลี่ยทั่วโลกจะอยู่ที่ 15-20%

ในปี 1985 องค์การอนามัยโลกได้ออก WHO Statement ที่มีใจความว่าอัตราการผ่าท้องคลอดไม่ควรเกิน 15% โดยอัตรานี้คำนวณขึ้นมาจากความจำเป็นในการผ่าท้องคลอดเพื่อช่วยชีวิตแม่และลูก การผ่าท้องคลอดในอัตราเกิน 15% ไม่ได้ช่วยให้แม่และลูกมีชีวิตรอดมากขึ้นแต่อย่างใด

จนในปี 2015 องค์การอนามัยโลกได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาประชุมกันอีกครั้ง หลังจากที่รวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยทั้งหลาย พวกเขาพบว่า อัตราการผ่าท้องคลอดที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 10% ถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ เมื่อมองจากจุดนี้ จะเห็นได้ชัดว่ามีการผ่าท้องคลอดโดยไม่จำเป็นเกิดขึ้นจำนวนมาก

การผ่าคลอดในประเทศไทย

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกยืนยันว่า อัตราผ่าท้องคลอดในประเทศไทยสูงเกิน 30% นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเสียอีก ถึงขนาดมีคลินิกเฉพาะสำหรับฝากท้องคลอดแบบผ่าคลอดอย่างเดียว บางโรงพยาบาลในไทยตอนนี้มีอัตราการผ่าท้องคลอดสูงถึง 60-70% สาเหตุที่แม่ไทยนิยมเลือกการผ่าคลอดเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่

หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลถึงผลกระทบจากการผ่าคลอดกันไปแล้ว ก็หวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่เลือกการผ่าคลอดโดยไม่จำเป็นนะคะ เพราะนอกจากการผ่าคลอดจะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพของแม่หลายอย่างด้วยค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th