Site icon Motherhood.co.th Blog

การล่วงละเมิดทางเพศ ควรสอนลูกอย่างไรให้รอดพ้น

การล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก

คุณพ่อคุณแม่พร้อมหรือยังที่จะป้องกันลูกจากการล่วงละเมิด

การล่วงละเมิดทางเพศ ควรสอนลูกอย่างไรให้รอดพ้น

ทุกวันนี้มีข่าว “การล่วงละเมิดทางเพศ” กับเด็กมากขึ้น คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็เกิดความกังวลว่าจะปกป้องลูกจากคนไม่ดีในสังคมอย่างไร เพราะบางครั้งเรื่องร้ายๆกลับเกิดขึ้นจากคนใกล้ตัว เป็นคนที่พ่อแม่ไว้ใจด้วยซ้ำ ส่วนคนที่ยังไม่มีลูกก็พานจะไม่อยากมีกันไปเลย เพราะมองว่าสภาพสังคมสมัยนี้มีแต่อันตรายรอบตัว ไม่อยากให้เด็กต้องเกิดมาเจอ เราจะสอนลูกหลานและเด็กๆของเราอย่างไรให้ปลอดภัยจากการล่วงละเมิดทางเพศ บทความนี้เหมาะสำหรับผู้อ่านทุกคนที่มีเด็กๆให้ต้องดูแล หรือจะนำบางส่วนไปประยุกต์ใช้เพื่อดูแลตัวเองก็ได้เช่นกัน

เพราะร่างกายของลูกคือพื้นที่ส่วนตัว

ร่างกายของคนเราคือพื้นที่ส่วนตัวของเราเอง เป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่จะต้องสอนให้ลูกเข้าใจตั้งแต่ยังเด็ก ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศก็เช่นกัน เพราะความเข้าใจในเรื่องเพศจะมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้ลูกตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศได้ อย่าไปคิดว่าการสอนเรื่องเพศกับลูกเป็นเรื่องน่าอาย หรือว่าเป็นเรื่องที่ควรสอนเมื่อเข้าวัยรุ่นไปแล้ว เพราะความไม่รู้อาจทำให้ลูกพลาดตกเป็นเหยื่อได้โดยไม่รู้ตัว พ่อแม่จึงควรทราบว่าเด็กแต่ละวัยมีปัญหาในเรื่องใดบ้าง เพื่อที่จะได้สอนเรื่องเพศให้ลูกได้เหมาะสมกับวัยของเขา

พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตลูกว่ามีสัญญาณของการถูกล่วงละเมิดหรือเปล่า

สอนเรื่องเพศลูกวัยอนุบาล

เด็กเล็กจะมีความสงสัยว่าเขาเกิดมาจากไหน ทำเอาผู้ใหญ่ตอบไม่ถูกกันเลยทีเดียว ซึ่งมันสะท้อนทัศนคติของพ่อแม่ว่ามองเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย ไม่ควรเอามาพูดถึง ไม่ใช่เรื่องที่เด็กจำเป็นต้องรู้ หากพ่อแม่ไม่ตอบคำถามเขา เด็กก็จะยิ่งไม่กล้าถาม และพอไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง เขาจะไม่รู้เลยว่าสิ่งไหนที่เกิดขึ้นกับเขาเข้าข่ายการละล่วงละเมิดบ้าง

คำถาม “หนูเกิดมาจากไหน”

คำตอบ “หนูเกิดมาจากพ่อก่อน แล้วพ่อก็พามาอยู่กับแม่ ในท้องแม่” (ชี้ที่ท้อง)

คำถาม “แล้วหนูออกมาได้ยังไง”

คำตอบ “ผู้หญิงจะมีช่องเฉพาะไว้ให้เด็กออกมาได้ พอครบกำหนดแล้วหนูก็ออกมา”

นี่เป็นตัวอย่างการตอบคำถามง่ายๆที่เด็กเล็กมักถามถึงการเกิดมาของตัวเอง เด็กต้องการคำอธิบายที่เข้าใจง่าย กระชับ ไม่ใช่การเล่าอะไรที่เหมือนนิทานแต่งขึ้นมาจนผิดไปจากความเป็นจริง

นอกจากนี้ยังต้องสอนให้ลูกรู้จักร่างกายของตัวเองด้วย ให้เขารู้ว่าตรงนี้คือพื้นที่ส่วนตัวของเขา โดยสอนให้เขารู้จักอวัยวะในร่างกายตัวเอง และให้เขาได้เรียนรู้ว่าอวัยวะส่วนไหนบ้างที่จัดเป็นพื้นที่ส่วนตัว ที่เขามีสิทธิ์จะปกป้อง จะหวง ไม่ให้ใครมาสัมผัสจับต้อง หรือทำร้าย และอวัยวะไหนที่เด็กไม่ชอบให้ใครมาจับต้อง เขาก็มีสิทธิ์เต็มที่ในร่างกายของเขาเอง

สอนเรื่องเพศเด็กวัยประถม

เมื่อเด็กเข้าวัยประถมหรือช่วงก่อนวัยรุ่น พวกเขาจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เห็นได้ชัด และเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่จะต้องพูดถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นและการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เช่น การมีหน้าอก การมีประจำเดือน การมีกลิ่นตัว เป็นต้น

การแสดงออกของเด็กหากถูกล่วงละเมิดทางเพศ

สอนให้ลูกแยกแยะได้ว่าสัมผัสแบบไหนคือสัมผัสที่ไม่ปลอดภัย

วิธีการรับมือเมื่อเกิดเหตุ

  1.  ตั้งสติให้ดี อย่าโวยวายหรือตกใจ เพราะลูกจะยิ่งตกใจจนไม่กล้าเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง
  2. บอกให้ลูกเล่าและรับฟัง พร้อมบอกว่าเชื่อที่เขาพูดก่อนในขั้นแรก หากลูกไม่สามารถระบุได้ว่าใครทำ ก็อย่าไปคาดคั้นเอาคำตอบให้ได้ แต่ให้ลูกพยายามอธิบายรายละเอียดสถานที่และบรรยากาศรอบข้างให้ได้มากที่สุด แล้วเราจะรู้ได้เอง
  3. รวบรวมหลักฐานการถูกล่วงละเมิดไว้ให้ได้มากที่สุด และถ่ายภาพร่องรอยบาดแผลเอาไว้ แล้วพาไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล โดยยังไม่ต้องชำระร่างกายเขา
  4. คอยอยู่เป็นเพื่อนลูกอย่างใกล้ชิด ถ้าจิตใจเขาบอบช้ำมากก็ให้พาไปพบจิตแพทย์เด็ก
  5. แจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้ที่ล่วงละเมิดเด็ก

หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเด็กถูกละเมิด

องค์กรและมูลนิธิเหล่านี้สามารถให้ความช่วยเหลือได้ไม่เฉพาะแต่กรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้น หากพบเห็นพฤติกรรมที่เข้าข่าย child abuse ในแง่อื่นๆก็สามารถติดต่อไปได้เช่นกัน

5 ข้อที่ต้องคุยกับลูกเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

  1. ย้ำเตือนถึงสิทธิ์ในร่างกายตัวเอง หรือจะเรียกว่าเป็นหลัก consent ก็ได้ ซึ่งพ่อแม่ต้องหมั่นย้ำกับลูกเสมอว่าเขาเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในร่างกายของเขา หากเขาไม่ยอมให้ใครมาสัมผัส ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิ์มาจับต้องเขาทั้งนั้น โดยเฉพาะการสัมผัสที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายใจ และเริ่มสอนลูกถึงพื้นที่ต้องห้ามในร่างกาย ที่ไม่ว่าใครก็ห้ามสัมผัส นอกจากเป็นไปเพื่อทำความสะอาดหรือการรักษาจากแพทย์ ทันทีที่ลูกรู้สึกอึดอัดเวลามีใครมาสัมผัสร่างกาย ลูกต้องกล้าที่จะบอกออกไปว่าลูกไม่ชอบ ไม่พอใจ และต้องรีบมาบอกกับพ่อแม่ทันทีหากมีใครพยายามมาจับต้องตัวเขาโดยที่เขาไม่ยินยอม
  2. อธิบายเพิ่มเติมถึงพื้นที่ต้องห้ามในร่างกาย พ่อแม่สามารถยกตัวอย่างให้ลูกเข้าใจได้ง่ายๆโดยใช้ภาพใส่ชุดว่ายน้ำ พร้อมทั้งอธิบายเขาว่า ทุกๆส่วนในร่างกายของลูกที่อยู่ภายใต้ชุดว่ายน้ำ ถือเป็นพื้นที่ต้องห้าม ห้ามสัมผัส ห้ามจ้องมอง ห้ามถ่ายรูป/ถ่ายวิดิโอ ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถทำสิ่งนี้กับลูกได้ และคนที่ลูกต้องระวังไม่ได้มีแต่คนแปลกหน้าเท่านั้น แต่คนคุ้นเคย คนใกล้ชิด ก็มีสิทธิ์ที่จะมาล่วงละเมิดเขาได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นใคร หากลูกรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ เมื่อถูกเขาสัมผัส ก็ให้ลูกรีบมาบอกกับพ่อแม่
  3. สอนให้เขาเรียกอวัยวะต่างๆในร่างกายให้ถูก เมื่อถึงวัยที่ลูกเรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่างร่างกายของมนุษย์เพศหญิงและของมนุษย์เพศชาย พ่อแม่ต้องสอนลูกถึงคำเรียกที่ถูกต้อง ห้ามเรียกส่วนนั้นด้วยคำแสลงน่ารัก เพราะเมื่อเกิดปัญหาและลูกต้องการบอกเล่า การใช้คำที่เป็นทางการจะได้ทำให้มีความเข้าใจตรงกัน และทำให้สามารถอธิบายเรื่องราวได้อย่างถูกต้อง
  4. อธิบายถึงการสัมผัสอย่างปลอดภัย พ่อแม่ต้องสอนเขาว่าสัมผัสแบบใดคือสัมผัสที่ปลอดภัย สามารถทำได้ เพื่อให้เขาเข้าใจว่าพ่อแม่ ญาติๆ พี่เลี้ยง ครู หรือแพทย์ จำเป็นต้องช่วยเขาในการทำความสะอาดร่างกาย ช่วยตรวจรักษาร่างกาย หรือในวิชาเรียนบางอย่างที่ต้องมีการสัมผัสกันเล็กน้อย
  5. พูดคุยกับลูกเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ หาเวลาพูดคุยกับลูกอย่างสบายๆ สอนเขาให้เข้าใจความหมายของการล่วงละเมิด และสิทธิ์ของเขาที่จะปกป้องตัวเองจากการละเมิดนั้น แต่อย่าพูดด้วยความเคร่งเครียดจนเกินไป หากลูกมีความสงสัย เขาจะได้สอบถามพ่อแม่ได้ตรงๆ ไม่รู้สึกกดดัน
พ่อแม่ควรหาเวลาสอนลูกให้ป้องกันตัวเอง และสร้างความมั่นใจว่าคุณปกป้องเขาได้แน่นอน

อีกส่วนที่สำคัญมากก็คือ ต้องสอนให้ลูกไม่ใจอ่อนหรือหวาดกลัวต่อคำพูดของผู้ละเมิด กำชับกับลูกอย่างหนักแน่นที่สุดว่า ไม่ว่าคนที่ทำลูกจะขอร้องหรือพูดขู่ลูกยังไงก็ตาม หากลูกไม่พอใจในสิ่งที่ถูกกระทำ ลูกต้องบอกพ่อแม่ทันที ไม่มีใครจะทำอะไรเขาได้เด็ดขาด เพราะพ่อแม่จะปกป้องเขาได้แน่นอน ความมั่นคงในความรู้สึกตรงนี้สำคัญมากๆสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก พ่อแม่ต้องทำให้เขาแน่ใจว่าคุณปกป้องเขาได้ จ้องตาลูกพร้อมกับบอกเขาว่า “ไม่มีใครหน้าไหนที่จะมาทำอันตรายหนูได้ เพราะพ่อแม่จะปกป้องหนูเอง” คำพูดแบบนี้จะเสริมความมั่นใจให้เด็ก เขาจะรู้สึกเข้มแข็ง ไม่สนใจคำขู่ใดๆของผู้ละเมิด

ให้ลูกพกสิ่งของเพื่อป้องกันตัวดีไหม?

ควรให้ลูกพกนกหวีดติดตัวไว้สำหรับใช้เป่าในสถานการณ์ฉุกเฉิน และควรฝึกให้ลูกรู้จักการวิ่งหนีเอาตัวรอดจากผู้ล่วงละเมิด หากเป็นเด็กที่โตขึ้นมาสักหน่อย จะให้เขาได้เรียนรู้ศิลปะป้องกันตัวไว้บ้างก็เป็นเรื่องที่ดี

สุดท้ายอยากฝากไว้ว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตลูกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นลูกเพศใดก็มีสิทธิ์ถูกล่วงละเมิดได้ไม่ต่างกัน บางครั้งลูกยังเด็กเกินกว่าจะอธิบายได้ว่าสิ่งที่เขาเจอมามันคือการถูกละเมิด และนี่คือเหตุผลว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงต้องสอนเรื่องเพศศึกษาเอาไว้บ้าง ก็เพื่อให้เขาเข้าใจว่าเขาถูกล่วงละเมิดทางเพศนั่นเอง และที่สำคัญไปกว่านั้น หากเกิดปัญหาขึ้นห้ามอายเด็ดขาด ต้องพาลูกไปตรวจ ไปแจ้งความ และทำตามขั้นตอนอื่นๆที่เจ้าพนักงานแนะนำ ไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าการนำคนผิดไปลงโทษตามกระบวนการทางกฎหมาย

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th