Site icon Motherhood.co.th Blog

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือสิ่งสำคัญที่เราต้องใส่ใจ

ความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

อยากให้คุณแม่ในไทยตระหนักถึงความสำคัญของนมแม่มากขึ้น

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือสิ่งสำคัญที่เราต้องใส่ใจ

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าแม่ควรให้นมบุตรเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีหลายคนที่ไม่เห็นถึงความสำคัญของ “การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” มีคุณแม่หลายคนที่ให้นมลูกจนถึงช่วงที่ตัวเองต้องกลับไปทำงานต่อ เมื่อเลิกงานกลับถึงบ้านอาจจะมีโอกาสให้นมลูกแค่นิดหน่อย เช้าวันรุ่งขึ้นก็ต้องกลับไปทำงานอีก ไม่ได้มีการปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกได้กินนมแม่อย่างจริงจังอย่างน้อยก็ถึง 6 เดือน ในขณะที่ยังมีคุณแม่ฟูลไทม์อีกหลายคนที่ให้ลูกกินนมถึง 2-3 ขวบเลยด้วยซ้ำ วันนี้เราจะมาเน้นย้ำถึงคุณประโยชน์ของนมแม่และสารอาหารที่มีในนมแม่กัน

ควรให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน

นมแม่คืออะไร?

นมแม่คือน้ำนมที่ถูกสร้างขึ้นตามกระบวนการทางธรรมชาติ เป็นน้ำนมที่เอาไว้เป็นอาหารสำคัญของเด็กทารก ซึ่งพบได้ทั้งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและมนุษย์ เป็นสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อยที่อยู่ในช่วงแรกเกิดไปจนถึง 1 ปี การผลิตน้ำนมของคุณแม่จะเริ่มตั้งแต่การตั้งครรภ์ 16-22 สัปดาห์ โดยร่างกายจะกระตุ้นให้เต้านมมีการผลิตน้ำนมออกมา แต่ยังอยู่ในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ยิ่งอายุครรภ์มากขึ้น แม่บางคนก็จะมีน้ำนมไหลออกมาที่หัวนมบ้างหากมีน้ำนมมาก ภายหลังการคลอดแล้ว ฮอร์โมนในร่างกายก็จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำนมมากขึ้นจนรู้สึกคัดตึงเค้านม แม้ในช่วงที่ลูกน้อยไม่ได้ดื่มนม ร่างกายก็ยังคงผลิตน้ำนมออกมาตามธรรมชาติ

เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของทารกยังไม่สมบูรณ์ ทารกจะมีภูมิคุ้มกันโดยรับแอนติบอดีต่างๆตามที่แม่สร้างขึ้นผ่านทางนมแม่ นมแม่จึงช่วยให้ทารกสามารถปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อปกป้องทารกจากสภาวะแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอได้ นมแม่จึงถือเป็นอาหารและยาที่ดีที่สุดของทารก ซึ่งแตกต่างจากนมผงปรุงแต่งที่ถึงแม้ว่าบริษัทผู้ผลิตจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความใกล้เคียงกับนมแม่ แต่ไม่สามารถสังเคราะห์สารก่อภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะตามที่แม่สร้างได้

ภูมิคุ้มกันของลูกสร้างได้โดยการให้นมแม่

9 ข้อดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

1. นมแม่เป็นสารอาหารธรรมชาติ ปลอดภัยกับลูกมากที่สุด

ไม่มีนมใดๆที่ปลอดภัยและได้สารอาหารที่ร่างกายต้องการเทียบเท่านมแม่ แม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลไปแค่ไหน ก็ไม่สามารถเลียนแบบนมจากสัตว์อื่นๆหรือนมสังเคราะห์ใดๆ ที่ทั้งปลอดภัยและมีสารอาหารได้เท่ากับนมแม่

2. เด็กที่เติบโตมาจากนมแม่จะแข็งแรงกว่า

เพราะในน้ำนมแม่ทุกหยดกลั่นมาจากภายในร่างกายของแม่เอง ภูมิต้านทานต่างๆตามที่ร่างกายของแม่สร้างขึ้นจะถูกถ่ายทอดผ่านน้ำนม เมื่อลูกได้กินนมแม่ก็จะได้รับภูมิต้านทานต่างๆไปด้วย ซึ่งนมวัวหรือนมสังเคราะห์อื่นๆจะไม่มีภูมิต้านทานเหล่านี้

3. หมดปัญหาท้องผูก

เพราะนมแม่นั้นย่อยง่าย ทำให้ลูกไม่ต้องทรมานกับอาการท้องผูก แต่หากลูกกินนมวัวหรือนมประเภทอื่นจะพบปัญหาท้องผูกได้มากกว่า

4. ลูกจะไม่อ้วนจนเกินไป

เด็กแรกเกิดที่ดูว่าอ้วนจ้ำม่ำน่ารักนั้นมักมีน้ำหนักตัวเกินมาตราฐาน สาเหตุมาจากการเลี้ยงลูกด้วยนมวัวหรือนมสังเคราะห์ชนิดอื่นๆ นั่นเอง ในขณะที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ลูกจะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวเกิน น้ำหนักตัวของลูกจะเป็นไปตามมาตราฐานของเด็กในแต่ละวัยอย่างธรรมชาติ

5. เกิดผื่นผ้าอ้อมน้อยลง

ผื่นผ้าอ้อมเกิดจากความอับชื้นและเกิดปฏิกริยาของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งกรณีที่เราเลี้ยงลูกด้วยนมวัวนั้นของเสียของลูกจะมีเชื้อแบคทีเรียมากกว่า เมื่อมารวมกับความอับชื้นจากการใส่ผ้าอ้อม ผิวของลูกจะเกิดอาการผื่นแดงที่เรียกว่าผื่นผ้าอ้อม ซึ่งหากเราเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ ของเสียของลูกจะมีเชื้อแบคทีเรียน้อยกว่ามาก โอกาสที่ลูกจะต้องทรมานกับอาการผื่นผ้าอ้อมก็จะลดลงด้วย

6. เป็นการสานสัมพันธ์แม่ลูก

การให้ลูกได้ดูดนมจากอกแม่เองเป็นความรู้สึกที่ดีมาก มีแต่แม่ที่เคยให้ลูกดูดนมจากอกตัวเองเท่านั้นที่จะรู้สึกได้ นอกจากนั้นตลอดเวลาที่ลูกดูดนมจากอกแม่ ลูกก็จะมองหน้าแม่ของตัวเอง ทำให้ช่วงเวลาที่ให้นมลูกนั้นเป็นช่วงเวลาที่ทรงคุณค่าที่สุด เพราะแม่ลูกจะได้สบตา ได้พูดคุย ได้แสดงความรักต่อกัน ทำให้ลูกสามารถรับรู้ได้ว่าแม่ของเขารักเขามากแค่ไหน นอกจากนั้นการที่ลูกดูดนมจากอกของแม่บ่อยๆ จะทำให้ลูกจำกลิ่น เสียง หน้าตา และสัมผัสต่างๆของแม่ได้เร็วกว่าเด็กที่กินนมจากขวด

7. แม่จะผอมเร็วขึ้น

หลังจากคลอดลูก แม้ว่าร่างกายของคุณแม่จะลดน้ำหนักลงไปได้บ้าง แต่ระบบภายในรวมถึงมดลูกอาจจะยังไม่เข้าที่เท่าที่ควร การเลี้ยงลูกโดยให้ลูกดูดนมแม่จากอกนั้น จะช่วยกระตุ้นร่างกายของแม่ให้หลั่งฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ซึ่งจะออกมาเฉพาะตอนที่ให้ลูกดูดนมแม่เท่านั้น ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะช่วยให้มดลูกหดตัวเข้าที่ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นการที่ร่างกายต้องผลิตนมแม่จะช่วยเผาผลาญไขมันต่างๆตามหน้าท้องออกไปด้วย ทำให้รูปร่างของแม่ที่เพิ่งคลอดลูกกลับมาผอมเพรียวได้เร็วกว่าแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมวัว โดยเฉลี่ยแล้วการที่เลี้ยงลูกเอง ให้ลูกกินนมจากอกแม่เอง จะทำให้น้ำหนักตัวของแม่จะลดลงเฉลี่ยเดือนละ 1-2 กิโลกรัม ซึ่งหากเราให้ลูกกินนมแม่ตลอด 6 เดือนแรกหลังคลอด น้ำหนักตัวและรูปร่างของคุณแม่ก็จะเข้ารูปและเกือบจะกลับมาเป็นปกติ

8. เป็นอาหารสะดวกสำหรับลูก

นมแม่เป็นแหล่งอาหารของลูกน้อยของเราที่สามารถให้ลูกกินได้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อไรที่ลูกหิว เราก็สามารถให้ลูกกินนมจากอกของเราได้ทันที ไม่ต้องพกขวดนม น้ำร้อน นมผง ฯลฯ สะดวกและรวดเร็วทันใจลูก

9. อุณหภูมิกำลังดีสำหรับลูก

แม่ไม่ต้องกังวลว่านมแม่นั้นจะร้อนหรือเย็นเกินไปสำหรับลูก เพราะนมแม่ที่ออกมาจากเต้าจะมีอุณหภูมิที่พอเหมาะกับลูกทันที หากเลี้ยงลูกด้วยนมวัว เราจะต้องตรวจสอบก่อนเสมอว่านมที่ผสมนั้นจะร้อนหรือเย็นเกินไปหรือไม่

ประโยชน์จากการให้นมแม่นั้นมีมากมาย

สารอาหารในน้ำนมแม่

สารอาหารในน้ำนมแม่มีความผันแปรตามระยะการผลิตน้ำนม หนังสือ “มีอะไรในน้ำนมแม่” ของศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยได้อธิบายถึงส่วนประกอบของน้ำนมแม่ที่ร่างกายแม่ผลิตขึ้นในแต่ละระยะไว้อย่างชัดเจน ว่ามีด้วยกัน 3 ระยะ ดังนี้

ในนมแม่มีสารอาหารที่จำเป็นหลายชนิดที่หาไม่ได้ในนมอื่น

จากการศึกษาองค์ประกอบของน้ำนมภายหลังจาก 4 เดือนหลังคลอด พบว่าปริมาณของธาตุอาหารหลักในนมแม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับแม่ ได้แก่ น้ำหนักของแม่ ปริมาณโปรตีนที่แม่ได้รับ การมีประจำเดือน และความถี่ของการให้นมบุตร แม่ที่ผลิตน้ำนมในปริมาณมากจะมีความเข้มข้นของไขมันและโปรตีนในน้ำนมต่ำ แต่มีความเข้มข้นของแลคโตสสูงกว่าแม่ที่ผลิตน้ำนมได้น้อย

โปรตีนส่วนใหญ่ที่อยู่ในน้ำนมได้แก่ เคซีนชนิดเบต้า อัลฟาแลคตาบูมิน แลคโตเฟอริน IgA ไลโซไซม์ และซีรัมอัลบูมิน แต่พบว่าการรับประทานอาหารของแม่ไม่ได้ส่งผลต่อปริมาณโปรตีนในน้ำนม

ไขมันในน้ำนมประกอบด้วยไขมันหลายชนิด ได้แก่ ไตรกลีเซอไรด์ ฟอสโฟไลปิดส์ โคเลสเตอรอล ไดกลีเซอไรด์ โมโนกลีเซอไรด์ กรดไขมันสายยาวชนิดไม่อิ่มตัว จากการศึกษาพบว่าไขมันในนมแม่ที่ผลิตช่วงกลางคืนและช่วงเช้าของวันจะมีปริมาณไขมันน้อยกว่าน้ำนมที่ผลิตในช่วงกลางวันหรือช่วงเย็นของวัน ปริมาณไขมันยังสัมพันธ์กับอาหารที่แม่รับประทาน

น้ำตาลชนิดที่พบในนมแม่คือน้ำตาลแลคโตส พบว่าแม่ที่ผลิตน้ำนมได้ปริมาณมากจะมีปริมาณน้ำตาลแลคโตสสูงมากกว่าแม่ที่ผลิตน้ำนมได้น้อย

วิตามินและแร่ธาตุต่างๆที่มีในนมแม่ ได้แก่ วิตามิน A, B1, B2, B6, B12, C, D, E, K และแร่ธาตุต่างๆ ได้แก่ เหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน เป็นต้น ถึงแม้ว่าปริมาณสารอาหารสำคัญในนมแม่จะเพียงพอต่อความต้องการของทารก แต่ปริมาณธาตุอาหารหลายชนิดในน้ำนมแม่อาจมีความแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับการรับประทานอาหารและร่างกายของแม่

ในเมื่อนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารมากมายขนาดนี้แล้ว การให้ลูกได้กินนมแม่ไปนานๆจึงเป็นเรื่องที่ดีมากนะคะ พยายามให้เขากินนมแม่ไปอย่างน้อยๆก็สัก 6 เดือน หรือจะลากยาวไปถึง 1  ปีก็ได้ คุณแม่สามารถหาอุปกรณ์ต่างๆมาเป็นตัวช่วยให้การให้นมเป็นไปได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปั๊มนม ผ้าคลุมให้นม ถุงเก็บน้ำนม หรือหมอนรองให้นม เพื่อเพิ่มโอกาสและระยะเวลาให้ลูกได้กินนมแม่ไปนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th