Site icon Motherhood.co.th Blog

การแพ้อาหาร พ่อแม่ควรตรวจเช็คว่าลูกแพ้ตัวไหน

การแพ้อาหารของลูก

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกแพ้อาหารชนิดไหน?

การแพ้อาหาร พ่อแม่ควรตรวจเช็คว่าลูกแพ้ตัวไหน

ขึ้นชื่อว่าเป็นพ่อแม่ก็ย่อมต้องระมัดระวังกับเรื่องต่างๆของลูกไปทุกอย่างก้าว รวมทั้งเรื่องของอาหารการกิน “การแพ้อาหาร” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าห่วงไม่แพ้เรื่องไหนๆ เพราะอาการแพ้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในระดับรุนแรง หากพ่อแม่และตัวเด็กเองไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอาการแพ้อาหารตัวไหน ลูกน้อยอาจจะต้องทนทรมานกับอาการแพ้นั้นไปเป็นเวลานาน แต่เราจะสามารถตรวจสอบได้อย่างไรบ้างว่าลูกมีอาการแพ้อาหารชนิดใดบ้าง ขอให้คุณพ่อคุณแม่ติดตามอ่านเรื่องราวของการแพ้อาหารได้เลยค่ะ

การแพ้อาหารในเด็ก

อาการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นในเด็ก สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และชนิดที่ไม่เฉียบพลัน ในบทความนี้จะเน้นพูดถึงการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ซึ่งเป็นการแพ้อาหารชนิดที่เกี่ยวข้องกับอิมมูโนโกลบูลิน อี อาการแพ้อาหารในเด็กที่พบได้นั้นจะแตกต่างกันที่ความรุนแรง มีตั้งแต่รุนแรงน้อย รุนแรงปานกลาง และรุนแรงที่สุด อาการที่พบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในวัยเด็กทารก และเด็กเล็ก เมื่อเขาโตขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้วอาการเหล่านั้นก็จะหายไปเอง

อาการแพ้อาหารที่รุนแรงจะเกิดปฏิกิริยาเฉียบพลันต่อระบบอวัยวะต่างๆภายในร่างกายตั้งแต่ 2 ระบบขึ้นไป ซึ่งมีผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ไข่ นม ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ข้าวสาลี งา เมล็ดพืช อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และผลไม้ ซึ่งปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น มีดังนี้

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพ้อาหาร

1. กรรมพันธุ์ พบว่าถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ 1 คน จะมีความเสี่ยงให้เกิดการแพ้อาหาร 40% ถ้าคนในครอบครัวเป็นภูมิแพ้ 2 คน จะมีความเสี่ยงให้แพ้อาหารเพิ่มขึ้นถึง 80%

2. เผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะคนผิวดำที่ไม่ใช่คนเอเชียและเป็นเพศชาย จะมีความเสี่ยงสูงในการแพ้อาหาร

3. การขาดวิตามินดี ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพ้อาหารได้

4. การรับประทานอาหารชนิดเดียวกันซ้ำๆ ตั้งแต่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์ เช่น คุณแม่ที่บำรุงด้วยนมวัวมากขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้ลูกน้อยเกิดความเสี่ยงในการแพ้นมวัวได้

สังเกตอาการแพ้อาหารของลูก

อาการแพ้อาหารสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ เช่น

การแพ้อาหารอาจเกิดขึ้นในครั้งแรกที่กินหรือเคยกินอาหารชนิดนั้นมาก่อนก็ได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตให้ดี เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่กินอาหารชนิดนั้นอีก ไม่เช่นนั้นลูกอาจมีอาการแพ้ที่รุนแรงมากขึ้น ความเชื่อที่ว่า “ถ้าแพ้สิ่งใด ให้กินสิ่งนั้นเข้าไปเพื่อให้ร่างกายเคยชิน” เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น แต่หากหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นได้นานหลายปี ภายหลังอาจกลับมากินได้อีก

มีผื่นแดงและบวมเกิดขึ้นหลังจากกินอาหารที่แพ้

อาหารที่เด็กมักแพ้ในแต่ละช่วงวัย

1. ไข่

อายุที่เริ่มแพ้ – พบมากในช่วงขวบปีแรกของเด็ก

อายุที่อาการแพ้หาย – ประมาณ 9 ปีขึ้นไป

มีรายงานว่ายังคงมีเด็กบางกลุ่มที่จะยังมีอาการแพ้ไข่อยู่ เมื่อพ้นจากวัยที่เด็กส่วนหนึ่งหายจากอาการแพ้ ประมาณร้อยละ 38.1 ของเด็กกลุ่มที่ยังพบอาการแพ้จะสามารถกินอาหารอบที่มีไข่เป็นส่วนประกอบได้

ความแรงของการให้ความร้อนและระยะเวลาในการใช้ความร้อนมีผลต่อการก่อภูมิแพ้ของไข่ เด็กปริมาณร้อยละ 70 จะแพ้ไข่ที่ผ่านความร้อนไม่มาก เช่น ไข่ที่อยู่ในรูปแบบขนมปังชุบไข่ทอด หรือไข่คน เด็กกลุ่มนี้จะสามารถกินไข่ที่ผ่านความร้อนสูงเป็นระยะเวลานานได้ เช่น ไข่ที่อยู่ในรูปขนมอบอย่างวาฟเฟิลหรือมัฟฟิน ดังนั้น การให้เด็กเริ่มต้นกินไข่ที่อยู่ในรูปแบบขนมอบบ่อยครั้งขึ้น จะช่วยให้เด็กสามารถทนกับอาหารไข่ในรูปแบบอื่นได้เร็วขึ้น

2. นม

อายุที่เริ่มแพ้ – พบบ่อยที่สุดในช่วงขวบปีแรกของเด็ก

อายุที่อาการแพ้หาย – ประมาณ 10 ปีขึ้นไป

เด็กส่วนใหญ่ ร้อยละ 75 สามารถรับนมที่อยู่ในขนมอบได้ แต่จะแพ้นมที่ไม่ได้ผ่านความร้อน การที่เด็กได้รับนมในรูปแบบขนมอบนานเป็นเวลา 3 เดือน ทำให้เด็กมีปฏิกิริยาตอบสนองในการแพ้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เด็กกลุ่มนี้จะมีอาการแพ้น้อยกว่าเด็กกลุ่มที่หลีกเลี่ยงการดื่มนมโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ การให้นมในสูตรไฮโดรไลซ์เคซีน แทนการให้นมถั่วเหลืองหรือนมสูตรกรดอะมิโน ก็มีผลทำให้สามารถทนนมได้เร็วขึ้น

3. ถั่วลิสง

อายุที่เริ่มแพ้ – อายุประมาณ 18 เดือน หรือมักพบในช่วงที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว

อายุที่อาการแพ้หาย – เป็นส่วนน้อยที่จะหายแพ้เมื่ออายุ 4-20 ปี แต่ส่วนมากแล้วอาการแพ้จะติดตัวไปจนโต และต้องกินอาหารด้วยความระมัดระวังไปตลอด

อาการแพ้ถั่วลิสงพบได้บ่อยในเด็กที่เกิดในประเทศทางตะวันตกมากกว่าเด็กที่เกิดในแถบเอเชีย ซึ่งอาการแพ้สามารถเกิดได้ภายในไม่กี่นาทีหลังได้รับถั่วลิสงเข้าไปแม้มีปริมาณไม่มาก อาการที่เกิดคือ ลมพิษ ผิวหนังบวม อาเจียน อาการแพ้ถั่วลิสงรวมกับอาการแพ้ Tree nut เป็นอาการแพ้ที่มีความรุนแรงถึงตาย

ควรติดตามอาการแพ้ต่อไปเมื่อเข้าวัยผู้ใหญ่ ในบางกรณีแม้จะทดสอบแล้วว่าไม่พบอาการแพ้แล้ว ก็ยังสามารถเกิดอาการได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ไม่ยอมกินถั่วลิสง แม้จะรู้ผลการทดสอบว่าไม่พบอาการแพ้แล้ว

การแพ้ถั่วลิสงบางครั้งก็รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้

4. ถั่วเหลือง

อายุที่เริ่มแพ้ – มักพบในช่วงที่เป็นทารกไปจนถึง 2 ปี

อายุที่อาการแพ้หาย – ประมาณร้อยละ 45 ของเด็ก อาการแพ้จะหายไปเมื่ออายุ 6 ขวบ

อาการแพ้ถั่วเหลืองพบได้ร่วมกับการแพ้ถั่วลิสง โดยทั่วไปจะเกิดผื่นผิวหนัง อักเสบ บวมแดง มีน้ำเหลืองเยิ้ม ประมาณร้อยละ 50 ของเด็กไม่พบอาการแพ้ หลังติดตามอาการหลัง 1 ปี และประมาณร้อยละ 68 ของเด็กไม่พบอาการแพ้ หลังติดตามอาการหลัง 2 ปี

5. ข้าวสาลี

อายุที่เริ่มแพ้ – พบได้บ่อยในวัยเด็ก

อายุที่อาการแพ้หาย – ร้อยละ 20 ของเด็กอาการจะหายไปเมื่ออายุ 4 ปี ร้อยละ 52 อาการจะหายไปเมื่ออายุ 8 ปี ร้อยละ 66 อาการจะหายไปเมื่ออายุ 12 ปี

เด็กที่พบอาการแพ้ข้าวสาลีจะเป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มีอาการผื่นแดงแห้งเป็นขุย และพบว่าประมาณร้อยละ 25-33 ของเด็กจะทนข้าวสาลีได้เมื่อติดตามทดสอบไป 1-2 ปี

6. อาหารอื่นๆ เช่น งา เมล็ดพืช อาหารทะเล ผลไม้ เนื้อสัตว์

อายุที่เริ่มแพ้ – วัยเด็กและวัยผู้ใหญ่

อายุที่อาการแพ้หาย – การแพ้เมล็ดพืช อาหารทะเล หรือเนื้อสัตว์ มีเพียงส่วนน้อยที่อาการจะหายไปในวัยเด็ก หากเริ่มเป็นในวัยผู้ใหญ่ อาการแพ้จะคงอยู่ตลอดไป

ผลไม้และผัก หากแพ้ในวัยเด็กเล็ก สามารถพบการแพ้ได้บ่อยแต่จะเป็นในช่วงระยะเวลาไม่นานมาก ถ้าเป็นช่วงเด็กโตหรือวัยผู้ใหญ่ มักจะเกี่ยวข้องกับการสูดดมสารก่อภูมิแพ้อื่นด้วย

หากไม่แน่ใจว่าแพ้อะไรบ้าง สามารถไปตรวจสอบได้

การทดสอบการแพ้ด้วยวิธีต่างๆ

การตรวจสอบอาการแพ้นั้น มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ได้แก่

1. การทดสอบทางผิวหนัง (Skin Test)

เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เพราะทำให้ทราบผลได้ภายในวันเดียว ขั้นตอนในการทดสอบภูมิแพ้ด้วยการทำสกินเทสต์ หรือเรียกอีกอย่างว่าวิธีการสะกิด แพทย์จะนำสารสกัดจากภูมิแพ้หลายชนิดมาสะกิดที่ผิวหนังทีละจุด โดยในเด็กจะทำการทดสอบที่แผ่นหลัง วิธีการคือหยดน้ำยา แล้วนำเข็มมาสะกิดที่ผิวหนัง และรอผลประมาณ 15-30 นาที ถ้าสารไหนก่อให้เกิดอาการแพ้ บริเวณนั้นก็จะนูนแดงขึ้นมาและเป็นผื่น จากนั้นจะวัดขนาดของรอยนูนเพื่อตรวจว่าแพ้อะไรบ้าง มากหรือน้อยแค่ไหน เพื่อแนะนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้

หลังจากทำการทดสอบ ควรนั่งรอดูอาการอีกประมาณ 30 นาที แล้วค่อยกลับบ้าน และหลังจากกลับบ้านแล้ว คอยสังเกตอาการลูกน้อยเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ถ้ายังพบผื่นนูนแดงอยู่ ให้รีบแจ้งแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป

การทดสอบทางผิวหนังจะมีทั้งแบบ Prick Test และแบบ Patch Test ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไปตามจำนวนจุดที่ทดสอบ และการเลือกทำที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน

2. การเจาะเลือดหาสารก่อภูมิแพ้ (RAST)

เป็นวิธีที่ใช้เมื่อไม่สามารถทำการทดสอบทางผิวหนังได้ เช่น ในคนที่มีประวัติการแพ้รุนแรงถึงขั้นช็อก หรือคนที่มีผื่นมากและผิวหนังไม่ปกติมากพอที่จะทำการทดสอบ แต่บางครั้งเมื่อตรวจเลือดแล้ว อาจต้องตรวจทางผิวหนังเพื่อยืนยันผลด้วย เพราะผลที่ได้มานั้นอาจไม่ชัดเจนเท่ากับอาการแพ้ที่เกิดขึ้นจริง จึงควรสังเกตว่าลูกน้อยแพ้อาหารอะไรกันแน่ เพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนั้น

3. การทดสอบสมรรถภาพปอด

โดยทดสอบในเด็กที่สงสัยว่าจะเป็นหอบหืด ส่วนมากจะตรวจในเด็ก 6-7 ขวบขึ้นไป

ทำ Skin Test ได้ที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชน

การดูแลเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการแพ้อาหาร

หากลูกมีอาการอาเจียนจากการแพ้ การรักษาคือการให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้แพ้ น้ำเกลือแร่ชนิดกินเพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียจากร่างกาย

กรณีที่อาการรุนแรงจนกินอาหารหรือน้ำไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำและพลังงานอย่างมาก หรือมีอาการแพ้ชนิดที่มีอาการหายใจลำบากหรือภาวะช็อก ก็จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดและแก้ไขภาวะวิกฤติ

อาการแพ้อาหารไม่ใช่เรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยง เพียงแต่เราต้องรู้ให้แน่ชัดเสียก่อนว่าอาหารตัวไหนที่ก่ออาการแพ้แก่เรา หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าอาการที่ลูกเป็นหลังกินอาหารบางชนิดนั้นจะใช่อาการแพ้หรือเปล่า ก็ลองไปทดสอบดูได้ค่ะ เพื่อจะได้แน่ใจว่าลูกมีอาการแพ้หรือไม่ และจะได้หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่ออาการแพ้ได้ถูก

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th