ครูตีเด็ก เกินกว่าเหตุหรือไม่ พ่อแม่ควรทำอย่างไร
ข่าวของการลงโทษนักเรียนอย่างเกินกว่าเหตุมักมีมาให้เราเห็นกันบ่อย ๆ อย่างล่าสุดกับข่าว “ครูตีเด็ก” ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างครึกโครมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น พ่อแม่สมัยใหม่หลายคนเริ่มไม่เชื่อแล้วว่าการลงโทษเด็กด้วยการตีคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่ในขณะที่บุคลากรครูส่วนหนึ่งในบ้านเรายังคงมีความเชื่อเรื่องไม้เรียวสร้างคนให้เห็นกันอยู่ หากมีประเด็นเกิดขึ้นกับลูกของเรา พ่อแม่ควรจะทำเช่นไรต่อไปดี มาติดตามกันค่ะ
การลงโทษเด็กนักเรียนในไทย
การลงโทษด้วยไม้เรียวในประเทศไทยได้ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2542 ก่อนที่ในปี 2548 จะมีการปรับปรุงเนื้อหาในกฎกระทรวงโดยกำหนดชัดเจนว่า ครูจะลงโทษนักเรียนได้ด้วยเหตุผลเพื่อการอบรมสั่งสอนเท่านั้น โดยทำได้ใน 4 รูปแบบ คือ
- การว่ากล่าวตักเตือน
- ทำทัณฑ์บน
- ตัดคะแนนความประพฤติ
- ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
จะเห็นได้ว่าการมี “บทลงโทษ” นั้นเป็นสิ่งที่คู่กับการเรียนการสอนของไทยมาช้านาน แต่มีการปรับปรุงรูปแบบและถูกควบคุมให้อยู่ในขอบเขตโดยระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราก็มักจะเห็นการลงโทษเด็กนักเรียนที่ผิดแผกไปจากแบบแผนและชวนให้ตั้งคำถามถึงการใช้ความรุนแรงเสมอ เช่น การให้คาบรองเท้า การตีอย่างแรง หรือการจับเด็กมากร้อนผม ทำให้การลงโทษด้วยความรุนแรง (Corporal punishment) กลายเป็นหนึ่งในรูปแบบความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในรั้วโรงเรียน
แม้ว่าในปี 2548 กระทรวงศึกษาธิการ จะได้ออกกฎกระทรวงเพื่อห้ามการลงโทษด้วยความรุนแรง เช่นการตี แต่ก็พบว่าหลายโรงเรียนยังมีการใช้วิธีนี้อยู่ ครูร้อยละ 95 บอกว่าตนทราบถึงกฎกระทรวงปี 2548 แต่มีเพียงร้อยละ 50 ที่คิดว่ากฎกระทรวงมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติของครู ซึ่งจากการสำรวจขององค์การยูนิเซฟ ครูจำนวนมากยอมรับว่าไม่รู้วิธีอื่นที่จะใช้ในการดูแลพฤติกรรมนักเรียนได้ และมองว่าการลงโทษที่มาจากความหวังดีเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และเป็นสิ่งจำเป็นต่อการควบคุมเด็กในชั้นเรียน เพราะถือเป็นวิธีการจัดการชั้นเรียนที่ได้ผลทันที มากกว่าที่จะเป็นการลงโทษ
ผลกระทบต่อเด็กจากการถูกทำโทษอย่างรุนแรง
จากข่าวการทำโทษเด็กนักเรียนอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยหลายครั้งหลายครา เริ่มทำให้ผู้คนคิดว่าวิธีการลงโทษอันเกินกว่าเหตุนั้นจะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และการเติบโตของเด็กมากขนาดไหน
กรอกัน เคย์เลอร์ และเอลิซาเบ็ธ แกร์ชอฟฟ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยออสตินในสหรัฐฯ เคยทำการศึกษาเกี่ยวกับการลงโทษและผลของการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ผ่านกลุ่มตัวอย่างจำนวน 160,927 คน สิ่งที่พวกเขาค้นพบก็คือ ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนจนยืนยันได้ว่าการลงโทษด้วยการตีเด็กนั้นจะทำให้เด็กได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ นอกจากนั้นพวกเขายังค้นพบสิ่งที่น่ากังวลยิ่งไปกว่านั้นคือ การตีเด็กทำให้เด็กที่เป็นเป้าของความรุนแรงจะยิ่งมีแนวโน้มพฤติกรรมที่อาจก้าวร้าวและใช้กำลังกับคนอื่น ๆ เมื่อเขาโตขึ้นอีกด้วย
รายงานจากยูนิเซฟเรื่อง ‘Child Protection in Educational Settings: Findings from six countries in East Asia and the Pacific’ ได้นำเสนอถึงผลกระทบของความรุนแรงที่เด็กได้รับผ่านการลงโทษอย่างรุงแรงของครูว่า เมื่อเด็กประสบเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดรุนแรง (Toxic stress) เช่น เมื่อเผชิญกับความรุนแรง การถูกละเมิด การถูกละเลย หรือต้องเผชิญความหิวโหย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียด ออกมาในระดับสูง ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะขัดขวางกระบวนการพัฒนาการทางสมอง โดยจำกัดการขยายตัวหรือการแตกแขนงของเซลล์ต่าง ๆ ในสมอง และถ้ามันเกิดขึ้นกับเด็กอย่างต่อเนื่อง สะสมเป็นเวลานาน มันก็จะส่งผลร้ายต่อสุขภาพ การเรียนรู้ และพฤติกรรมของเด็กในระยะยาว
เราอาจจะสรุปได้ว่า แม้ว่าการทำโทษที่รุนแรงทางร่างกายหรือการดุด่าว่ากล่าวจะสามารถช่วยให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปตามที่ครูต้องการได้ในระยะแรก แต่ในระยะยาวแล้วมันจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการเติบโตของเขาได้เช่นกัน
นโยบายคุ้มครองเด็กในโรงเรียน
ปัจจุบันนี้กระทรวงงศึกษาธิการได้เล็งเห็นว่าควรมีการคุ้มครองเด็กในโรงเรียนที่เข้มแข็งขึ้น โดยได้เข้าร่วมกับองค์การยูนิเซฟในการจัดทำนโยบายการคุ้มครองเด็กในโรงเรียน ซึ่งจะเป็นแนวทางให้โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่งภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการปกป้องดูแลความปลอดภัยของนักเรียนทุกคน ซึ่งนโยบายการคุ้มครองเด็กในโรงเรียนตัวนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างเพื่อพิจารณา
เป้าหมายเป็นไปเพื่อกำหนดกรอบนิยามของความรุนแรงต่อเด็ก และมุ่งเน้นที่จะกำจัดความรุนแรงจากผู้มีอำนาจเหนือกว่า การกลั่นแกล้งรังแกของนักเรียน การลงโทษด้วยความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ และการแสวงประโยชน์ โดยในรายละเอียดอาจมีการกำหนดแนวทางตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากรของโรงเรียน การจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้สำหรับครูและบุคลการทั้งหมดเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก
พ่อแม่เองควรตระหนักถึงผลเสียของการลงโทษเกินกว่าเหตุจากครูให้มากขึ้น เพราะผลเสียในระยะยาวนั้นตกอยู่กับบุตรหลานของพวกคุณล้วน ๆ ถึงเวลาแล้วที่พ่อแม่จะต้องพิจารณาว่าโรงเรียนจะต้องมีนโยบายคุ้มครองเด็กอันเหมาะสม ที่จะทำให้เด็ก ๆ ของเราไปโรงเรียนได้อย่างมีความสุข เรียนรู้อย่างเต็มที่
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th