Site icon Motherhood.co.th Blog

ครูทำโทษเด็ก ลงโทษเกินกว่าเหตุ ด่าหยาบคาย พ่อแม่เอาผิดได้มั้ย ?

ครูทำโทษเด็กรุนแรง

หากครูทำร้ายลูกเราเกินกว่าเหตุ พ่อแม่จะจัดการอย่างไรได้บ้าง ?

ครูทำโทษเด็ก ลงโทษเกินกว่าเหตุ ด่าหยาบคาย พ่อแม่เอาผิดได้มั้ย ?

ในอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ เชื่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครองชาวไทยคงจะติดตามข่าว “ครูทำโทษเด็ก” โดยใช้ความรุนแรงกับเด็กเกินกว่าเหตุกันอย่างใกล้ชิด นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากที่เด็ก ๆ ของเราจะต้องได้รับบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจขนาดนั้น ในฐานะพ่อแม่ เราจะปกป้องลูกรักของเราอย่างไร หากเราพบว่าครูที่โรงเรียนมีการลงไม้ลงมือกับลูกเราเกินกว่าเหตุ มีข้อกฎหมายใดที่เราสามารถเอาผิดเขาได้หรือไม่

ลงโทษเด็กแค่ไหนที่ครูทำได้ ?

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2550 กำหนดไว้ว่า โทษที่จะลงโทษนักเรียนได้นั้นมีอยู่ด้วยกัน 5 สถาน คือ

  1. ว่ากล่าวตักเตือน
  2. ทำทัณฑ์บน
  3. ตัดคะแนนความประพฤติ
  4. จัดให้ทำกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
  5. พักการเรียน

โดยกฎหมายนี้บังคับใช้กับทุกโรงเรียน ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ซึ่งการลงโทษนักเรียนตามระเบียบกระทรวงที่กล่าวมานี้ ครูที่มีสิทธิลงโทษจะต้องได้รับมอบหมายจากผู้บริหารหรือผู้อำนวยการโรงเรียนแล้วเท่านั้น หากไม่ได้รับมอบหมายมา แม้จะเป็นการลงโทษตามระเบียบก็ไม่มีสิทธิ์ทำได้

ข่าวของครูทำร้ายร่างกายเด็กถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงสุดสัปดาห์

ครูทำโทษเด็กรุนแรงเกินเหตุ พ่อแม่เอาผิดหรือฟ้องได้มั้ย ?

หากครูตีเด็ก ตบหน้าไม่ว่าจะด้วยมือหรือด้วยรองเท้า ตบหัว เอาสันไม้บรรทัดตีหัว หยิก ใช้ไม้ตีขา น่อง ก้น อย่างรุนแรงจนเกิดรอยบวม รอยช้ำเลือด หรือการลงโทษโดยสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามกลางแดดหลายรอบจนเด็กเป็นลมหมดสติไป เป็นต้น การการกระทำเหล่านี้เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการทั้งสิ้น ถือว่าเข้าข่ายทำลงไปโดยไม่มีอำนาจและไม่ปฏิบัติตามระเบียบ จึงเท่ากับเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ตามมาตรา 85 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู

ตัวเด็กเองหรือพ่อแม่ผู้ปกครองมีอำนาจในการแจ้งความดำเนินคดีฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นคดีอาญาได้ ส่วนบทลงโทษจะหนักเบาเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการทำร้ายว่ามีความทารุณมากน้อยเพียงใด โดยจะพิจารณาจากบาดแผล ผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็กผู้เสียหาย นอกจากนี้ผู้ปกครองของนักเรียนในฐานะผู้เสียหายยังมีสิทธิ์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากครูและโรงเรียนที่เป็นนายจ้างของครูได้ด้วย

ผู้ปกครองสามารถฟ้องร้องได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิด อันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากลูกอายุยังไม่เกิน 15 ปี ก็สามารถฟ้องได้อีกตามมาตรา 398 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทารุณ ต่อเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี คนป่วยเจ็บหรือคนชรา ซึ่งต้องพึ่งผู้นั้นในการดำรงชีพหรือการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากครูลงโทษหนักเกินไป จนเกิดบาดแผล บวมช้ำ หรือเจ็บมากจนต้องไปพบแพทย์ หรือกระทำอย่างอื่นที่น่าจะเข้าข่ายทารุณกรรม ผู้ปกครองก็สามารถฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ยิ่งการลงโทษนั้นก่อให้เกิดการอันตรายถึงขั้นสาหัส เช่น ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด หน้าเสียโฉมถาวร ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต ก็สามารถแจ้งความตามมาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือน ถึงสิบปี

นอกจากนั้น ผู้ปกครองยังสามารถเรียกร้องให้ชดเชยค่าทำขวัญได้อีกเช่นกัน โดยฟ้องในคดีแพ่งตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 อันว่าด้วยการเรียกร้องค่าเสียหายต่อร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ซึ่งทางผู้ปกครองต้องกำหนดจำนวนเงินไป แต่ต้องมีการแจกแจงรายละเอียดและมีเหตุผลรองรับ เช่น การบาดเจ็บของลูกครั้งนี้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตอย่างไร ต้องนอนโรงพยาบาลกี่วัน เป็นต้น

สำหรับการแจ้งความ นอกจากการเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุแล้ว ผู้ปกครองยังสามารถโทรไปปรึกษาศูนย์ประชาบดีที่สายด่วน 1300 หรือสายด่วนร้องทุกข์ของกระทรวงศึกษาธิการ 1579 ได้เช่นกัน

ลูกโดนครูด่าหยาบคาย เอาผิดได้มั้ย อย่างไร ?

สามารถเอาผิดได้ใน 3 ส่วน โดยในส่วนแรกคือ โทษฐานกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติระเบียบราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551) ในมาตรา 88 ซึ่งได้ระบุไว้ว่า คนเป็นครูจะต้องมีความสุภาพเรียบร้อย แต่หากกระทำการกลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือข่มเหงลูกศิษย์ (หรือบุคคลทั่วไป) ถือว่ามีความผิดวินัยขั้นร้ายแรง ซึ่งจะต้องได้รับโทษทางวินัยขั้นร้ายแรง คือการถูกปลดออก (ให้ออกจากการเป็นครู แต่อาจโยกย้ายไปทำงานอย่างอื่น) หรือไล่ออกไปเลย ตามแต่คณะกรรมการสอบสวนจะพิจารณา

ส่วนที่สองคือ โทษฐานกระทำผิดต่อกฎหมายอาญาตามมาตรา 393 ข้อหาดูหมิ่นซึ่งหน้า ซึ่งระบุโทษจำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากครูใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการด่าเด็กอย่างหยาบคายก็ถือว่าผิดกฎหมายมาตรานี้เช่นกัน เพราะถือว่าเป็นการดูหมิ่นด้วยการโฆษณา

และในส่วนที่สามคือ โทษฐานกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 (เด็กหมายถึงบุคคลที่อายุไม่ถึง 18 ปี) โดยมีความผิดต่อมาตรา 26 นั่นคือ การกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถพาลูกไปแจ้งความได้ หรือหากเป็นเด็กที่โตพอสมควรก็สามารถไปแจ้งความตำรวจเองได้เช่นกัน โดยไปที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ เช่น เมื่อถูกครูด่าหยาบคายที่โรงเรียน ก็ให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในเขตเดียวกัน

ต้องดูเจตนาในการยึดว่าเข้าข่ายทุจริตหรือไม่

ลูกโดนครูยึดโทรศัพท์มือถือหรือของอย่างอื่นแล้วไม่ยอมคืน จะเอาผิดครูตามกฎหมายได้มั้ย ?

สามารถเอาผิดได้แน่นอน เพราะถือครูคนนั้นทำผิดกฎหมายอาญาโทษฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่จะต้องพิจารณาว่าครูมีเจตนาทุจริตหรือไม่ เช่น เมื่อเด็กหรือผู้ปกครองไปทวงถามแล้ว ขอคืนแล้ว ก็ยังทำเฉย หรืออ้างว่าทำหายไปแล้ว เช่นนี้ถือว่าเป็นเจตนาทุจริต หากครูยึดไว้ชั่วคราวอย่างสุจริต พร้อมมีเหตุผลที่ฟังขึ้น เช่น เก็บไว้ชั่วคราวเพราะเป็นเวลาเรียน เวลาสอบ และนักเรียนสามารถรับคืนได้ในวันนั้นหลังเลิกเรียนหรือหลังสอบ อย่างนี้ไม่ถือว่ามีเจตนายักยอกทรัพย์

เมื่อลูกโดนครูลวนลาม ?

ครูที่ลวนลามเด็กนักเรียน นอกจากผิดวินัยครูอย่างร้ายแรงตามมาตรา 94 ที่ระบุว่า การกระทำล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียนไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตนหรือไม่ ถือเป็นความผิดวินัยขั้นร้ายแรงอันมีโทษปลดออกหรือไล่ออก ยังต้องโทษอาญาที่อาจติดคุกร่วม 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 279 ผู้ใดกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากครูมีการข่มขู่ ขู่เข็ญ นักเรียนร่วมด้วย เช่น ขู่ว่าถ้าไม่ยอมจะโดนทำร้าย หรือถ้าเอาเรื่องไปฟ้องจะโดนฆ่า หรือมีการทำร้ายร่างกาย เช่น ทุบ ต่อย ตบ เตะ ฯลฯ ก็เท่ากับว่ามีโอกาสติดคุกนานขึ้นกว่าเดิม เพราะในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 (วรรคสอง) ระบุไว้ว่า ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ผู้กระทำได้กระทำโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้เด็กนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รูปถ่ายตอนแผลยังสดใหม่ก็นำไปเป็นหลักฐานตอนแจ้งความได้

ต้องเตรียมอะไรบ้างเมื่อไปแจ้งความ ?

หากต้องการแจ้งความที่สถานีตำรวจ นักเรียนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็สามารถเข้าแจ้งความได้ แต่หากจะฟ้องคดีจำเป็นต้องมีผู้ปกครอง (พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่พ่อแม่เซ็นยินยอม) ไปด้วย โดยไปแจ้งความยังสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ ซึ่งก่อนจะเข้าแจ้งความต้องเตรียมตัวและเตรียมเอกสาร ดังนี้

1. เรียบเรียงเรื่องราวที่จะร้องเรียนไว้ให้ตำรวจผู้รับแจ้งฟังรู้เรื่อง และต้องมีความชัดเจนว่า จำเลยหรือผู้กระทำได้กระทำให้เด็กเสียหายอย่างไร มากน้อยเพียงใด

2. เอกสารที่ต้องเตรียมไป มีดังนี้

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th