Site icon Motherhood.co.th Blog

ความรุนแรงในครอบครัว เราช่วยกันหยุดมันได้

ความรุนแรงในครอบครัว

ปัญหาเรื่องความรุนแรงภายในครอบครัวส่งผลกระทบต่อเด็กมาก

ความรุนแรงในครอบครัว เราช่วยกันหยุดมันได้

“ความรุนแรงในครอบครัว” กำลังเป็นปัญหาเรื้อรังในแทบทุกจะสังคม ซึ่งผลของมันก่อให้เกิดความเจ็บปวด และความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่ผู้ถูกกระทำความรุนแรง มีแนวคิดทฤษฎีมากมายที่พยายามอธิบายถึงสาเหตุของความรุนแรงในครอบครัว และผู้คนในสังคมก็เกิดความกังวลหนึ่งที่มีร่วมกันว่าครอบครัวที่มีเด็กและเกิดการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัวนั้น จะทำให้เด็กมีการเลียนแบบพฤติกรรมอันรุนแรงเหล่านั้นบ้างหรือไม่ รวมทั้งยังมีความรุนแรงในระดับสังคมที่เกี่ยวเนื่องหรือส่งผลให้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวยังคงมีอยู่ต่อไป ทำอยางไรถึงจะป้องกันปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวนี้ได้ สมาชิกในครอบครัวจะมีส่วนช่วยลดระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะช่วยป้องกันความเสียงที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นภายในครอบครัวของตนเองได้อย่างไรบ้าง ติดตามบทความนี้กันค่ะ

อะไรคือความรุนแรงในครอบครัวและความสัมพันธ์?

ความรุนแรงในครอบครัวและในความสัมพันธ์คือพฤติกรรมการข่มขู่ทำร้ายในความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด หรือความสัมพันธ์แบบอื่นๆในครอบครัว ซึ่งคนๆหนึ่งอยู่ในสถานะที่มีอำนาจเหนืออีกคนหนึ่งและทำให้อีกฝ่ายเกิดความกลัว มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น ความรุนแรงในความสัมพันธ์ ความรุนแรงในครอบครัว หรือความรุนแรงของคู่รัก และจัดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

สิ่งที่สะท้อนความรุนแรงไม่จำเป็นต้องเป็นบาดแผลทางกายเสมอไป

ความรุนแรงแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น ระหว่างสามีและภรรยา หรือแฟนหญิงกับชาย  ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ระหว่างผู้ใหญ่กับพ่อแม่ที่แก่ชรา หรือระหว่างคนในครอบครัวขยาย เช่น ป้า ลุง หรือ ปู่ย่าตายาย หรือระหว่างคนที่อยู่ด้วยกันโดยไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ทางเพศ เรามักเรียกความรุนแรงนี้ว่าเป็นแบบแผนเชิงบังคับข่มขู่และควบคุม บางทีก็เรียกผู้ทำร้ายว่า “ผู้กระทำความรุนแรง”

ความรุนแรงในครอบครัวและในความสัมพันธ์ไม่ได้ยุติลงเสมอไปเมื่อความสัมพันธ์นั้นสิ้นสุด มันอาจจะเกิดขึ้นกับคนที่เคยเป็นคู่รักกันก็ได้ ซึ่งผู้ทำร้ายจะใช้วิธีการหลายอย่างเพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจและการควบคุม เช่น

ผู้ทำร้ายสามารถแสดงการควบคุมได้หลายแบบซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละความสัมพันธ์ ในบางความสัมพันธ์ การไม่ให้ยาที่ใช้เป็นประจำก็นับว่าเป็นการควบคุมรูปแบบหนึ่ง พฤติกรรมที่เป็นการบังคับข่มขู่ เช่น การขู่ฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายตัวเองเมื่ออีกฝ่ายพยายามจะบอกเลิก ก็เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการควบคุมด้วย ในสถานการณ์ที่ผู้หญิงที่มีความพิการต้องพึ่งพาอีกคนหนึ่งให้ช่วยเหลือหรือดูแล การเลิกดูแลหรือการใช้การดูแลนั้นเป็นเครื่องมือเพื่อควบคุมเป็นการใช้อำนาจที่ยอมรับไม่ได้ การแทรกแซงเรื่องการเลี้ยงดูบุตร โดยการห้ามกล่อมเด็กทารกหรือห้ามให้นมแม่กับเด็กทารกก็เป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงในครอบครัวและในความสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน

ทัศนคติ ความคิด และอารมณ์ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงได้

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความรุนแรงภายในครอบครัว

  1. ปัจจัยส่วนบุคคล พื้นฐานการเกิดปัญหาความรุนแรงส่วนใหญ่มาจากทัศนคติ ความคิด และอารมณ์ในตัวบุคคล
  2. ปัจจัยด้านครอบครัว อาจเกิดจากการขาดความรัก ความอบอุ่น ขาดการดูแลเอาใจใส่ที่เหมาะสมจากครอบครัว ขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน หรือบางกรณีเกิดกับคนที่อยู่ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงอยู่ก่อนแล้ว
  3. ปัจจัยด้านพฤติกรรม ครอบครัวที่มีสมาชิกที่ชอบบังคับขู่เข็ญ มีนิสัยก้าวร้าว อารมณ์ร้อน ดื่มสุรา มีความเครียดมาจากการทำงาน หรือในบางรายมีสมาชิกที่ติดสารเสพติด จะมีโอกาสเกิดความรุนแรงในครอบครัวมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับครอบครัวที่สมาชิกไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว
  4. ปัจจัยด้านสื่อ ครอบครัวที่มีพฤติกรรมความชอบส่วนตัว ที่ชอบดูสื่อประเภทที่มีการแข่งขันต่อสู้ หรือในบางครอบครัวที่มีสมาชิกที่ชอบเสพสื่อออนไลน์ที่มีการสื่อถึงความรุนแรงจะมีโอกาสเกิดความรุนแรงในครอบครัวมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับครอบครัวที่ไม่มีสมาชิกชอบดูสื่อเหล่านี้

แบบตรวจประเมินพฤติกรรมรุนแรงภายในครอบครัว

องค์กรรีเลชันชิปส์ ออสเตรเลีย (Relationships Australia) ได้จัดทำแบบตรวจประเมินพฤติกรรมขึ้นมา เพื่อให้ผู้ชายที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ลองทำ ความรุนแรงในครอบครัวนั้นครอบคลุมพฤติกรรมการข่มเหงที่หลากหลาย และการที่เราสามารถเจาะจงได้แต่เนิ่นๆว่าพฤติกรรมใดเป็นพฤติกรรมของ ‘การใช้อำนาจควบคุมคนในครอบครัว’ ก็อาจช่วยรักษาชีวิตผู้คนที่ต้องตกเป็นเหยื่อไว้ได้มากมาย

สำหรับคุณผู้ชายเมื่อคุณอ่านรายการตรวจประเมินข้างล่างนี้ ขอให้ถามตัวเองว่า ‘คุณเคยมีพฤติกรรมแบบนั้นไหมสักครั้งหนึ่ง หรือมากกว่านั้น และแสดงพฤติกรรมนี้กับใคร?’ และสำหรับคุณผู้หญิง ต้องถามตัวเองดูว่าคู่ครองหรือแฟนของคุณเคยมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเหล่านี้บ้างหรือไม่

  1. ตบตี/คว้าหรือกระชากตัวเข้ามา/ต่อย
  2. ขว้างปาสิ่งของให้แตก/ปาสิ่งของใส่
  3. ต่อยผนัง/ทุบโต๊ะ
  4. ใช้สายตา สีหน้า การกระทำ และท่าทาง เพื่อทำให้เธอรู้สึกเกรงกลัว
  5. ทำลายสิ่งของของเธอ
  6. ทำร้ายสัตว์เลี้ยง
  7. เอาอาวุธมาแสดงให้เห็น
  8. พยายามทำให้เธอรู้สึกผิดที่ไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย
  9. มีเพศสัมพันธ์กับเธอขณะที่เธอนอนหลับ หรือหมดสติจากการเมาสุรา
  10. ขู่เข็ญให้เธอมีเพศสัมพันธ์กับคุณ
  11. ขู่ที่จะฆ่าตัวตาย
  12. พยายามทำให้เธอถอนการแจ้งความกับตำรวจ
  13. พยายามทำให้เธอถอนการดำเนินคดีกับคุณ
  14. พูดจาให้เธอรู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง หรือหมดกำลังใจ
  15. จับตาดูการใช้โทรศัพท์มือถือของเธอ
  16. ตำหนิเกี่ยวกับรูปร่างหรือร่างกายของเธอ
  17. ทำให้เธอคิดว่าตัวเธอเองเสียสติ
  18. กำหนดเงินใช้จ่ายให้เธอใช้
  19. ทำให้เธอรู้สึกผิด
  20. ควบคุมว่าใครที่เธอสามารถพบได้บ้าง
  21. ควบคุมสิ่งที่เธออ่าน
  22. ควบคุมว่าเธอสามารถไปไหนได้บ้าง
  23. ไม่ยอมให้เธอมีใบขับขี่ หรือไม่ยอมให้เธอมีรถใช้
  24. ใช้การหึงหวงเป็นเหตุผลอธิบายว่าทำไมคุณจึงมีพฤติกรรมต่างๆเหล่านั้น
  25. มองว่าพฤติกรรมการข่มเหงของคุณนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร มองว่าความวิตกของเธอไม่ใช่เรื่องสำคัญ
  26. กล่าวโทษเธอเกี่ยวกับพฤติกรรมการข่มเหงของคุณ
  27. กล่าวโทษยาเสพติด หรือสุราว่าทำให้คุณมีพฤติกรรมการข่มเหงเหล่านั้น
  28. กีดกันไม่ให้เธอได้งานทำ หรือกีดกันไม่ให้เธอทำงานต่อไปได้
  29. ทำให้เธอต้องขอเงินจากคุณ
  30. ไม่ให้เธอรู้ หรือไม่ให้เธอเข้าถึงเงินรายได้ของครอบครัว
  31. คาดหวังให้เธอซื้ออาหารทั้งหมด และจ่ายบิลต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีเงินเพียงพอ
  32. ฝากบอกเรื่องต่างๆกับเธอ โดยใช้ลูกเป็นผู้ส่งสาร
  33. เฝ้าติดตาม และคอยคุกคามเธอทางโซเชียลมีเดีย
  34. เฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของเธอ โดยใช้แอพพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ
  35. คุณคิดว่าพฤติกรรมของคุณสร้างปัญหาให้แก่ความสัมพันธ์ของคุณหรือไม่
หากเรียนรู้ว่าตนเองมีพฤติกรรมความรุนแรงและตั้งใจปรับเปลี่ยน ก็ลดปัญหาได้

หากตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตราย

ผลกระทบที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

ผลกระทบที่เกิดขึ้น มีทั้งผลกระทบที่มีต่อตัวบุคคลที่ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย ทางจิตใจ และพฤติกรรม รวมไปถึงผลกระทบต่อครอบครัว เนื่องจากครอบครัวที่มีพฤติกรรมรุนแรงจะไม่สามารถทำหน้าที่ครอบครัวได้ดี เพราะสัมพันธภาพระหว่างสมาชิกในครอบครัวถูกทำลาย บุคคลที่เป็นหัวหน้าครอบครัว คือสามีภรรยา หรือพ่อแม่ ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้ ครอบครัวไม่มีความสงบสุข ขาดความรัก ขาดความอบอุ่น ขาดการดูแลเอาใจใส่ ขาดความสามัคคีและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ครอบครัวลักษณะนี้จะไม่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างปกติในสังคม และจะแยกทางกันไปในที่สุด

สุดท้ายคือผลกระทบต่อสังคม พฤติกรรมรุนแรงในครอบครัวมีผลต่อทั้งความสันติสุขและเศรษฐกิจของสังคม ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ถ่ายทอดถึงคนรุ่นหลังได้อีก จึงเป็นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมต้องเข้าใจปัญหาอย่างชัดเจน และตระหนักถึงความ
รุนแรงนี้โดยพร้อมใจกันทุกฝ่าย เพื่อดูแลป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดมากขึ้นอีกในอนาคต

ผลกระทบของความรุนแรงต่อเด็กมีมากมาย

แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว

  1.  เรียนรู้วิธีควบคุมอารมณ์ เมื่อเกิดเหตุการกระทบกระทั่งกับบุคคลในครอบครัว เราควรที่จะพูดคุยกันด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์นำ และเรียนรู้ที่จะระบายความโกรธแบบไม่ทำร้ายผู้อื่น
  2. มีเทคนิคหลีกเลี่ยงหรือจัดการอย่างเหมาะสมเมื่อถูกก้าวร้าว เมื่อเกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งกับบุคคลในครอบครัว ที่ส่อเค้าว่าจะเป็นไปในทิศทางที่รุนแรง เราควรที่จะหลีกเลี่ยงเพื่อหาทางทำให้ใจเย็นลงก่อน หลังจากนั้นค่อยพูดคุยกันเพื่อหาข้อยุติ
  3. ให้ความรักความเข้าใจต่อคนในครอบครัว ควรให้ความรักกับทุกคนในครอบครัวอย่างเท่าเทียมกัน และต้องเรียนรู้ที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจซึ่งกันและกัน
  4. ลดความเครียดด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ หากบรรยากาศในครอบครัวเริ่มตึงเครียด สมาชิกในครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกัน เราจึงควรที่จะหากิจกรรมต่างๆให้ทุกคนในครอบครัวได้ทำร่วมกัน เพื่อเป็นการสานสัมพันธ์ให้แก่สมาชิกในครอบครัว
  5. ขอคำปรึกษาจากญาติหรือเพื่อนที่ไว้ใจได้หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในครอบครัว สิ่งแรกที่เราต้องทำคือการแก้ไขปัญหานั้นในทันที แต่ในบางกรณีที่ปัญหานั้นใหญ่เกินกว่าที่เราคนเดียวจะแก้ไขได้ เราจึงควรขอคำปรึกษาจากบุคคลที่เราไว้ใจได้ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือญาติ เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก ความเชื่อ ทัศนคติ อารมณ์ การเลียนแบบพฤติกรรมที่ผิด รวมไปถึงความไม่เข้มแข็งของกฎหมาย ที่ไม่สามารถเอาผิดได้ถ้าเป็นการทะเลาะวิวาทกันในครอบครัว และถูกคนส่วหนึ่งในสังคมมองว่าเป็นเรื่องปกติ คนในสังคมจึงควรผลักดันให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาอาจจะลดน้อยลงด้วยการแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบเห็นความรุนแรงในครอบครัว เพราะความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องของสาธารณชน ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องภายในครอบครัวอีกต่อไป

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th