Site icon Motherhood.co.th Blog

งานวันแม่ที่โรงเรียน ควรยกเลิกจะดีกว่าไหม ?

จัดงานวันแม่ที่โรงเรียน

งานวันแม่มีแต่จะยิ่งทำร้ายจิตใจเด็กบางคนหรือเปล่า ?

งานวันแม่ที่โรงเรียน ควรยกเลิกจะดีกว่าไหม ?

นับเป็นเวลากว่า 30 ปีที่เราจะเห็นภาพซ้ำ ๆ ของนักเรียนที่ต้องเข้าร่วม “งานวันแม่ที่โรงเรียน” โดยที่แม่ของเด็ก ๆ บางคนไม่สามารถไปร่วมงานได้ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ในบรรดาเด็กที่แม่ไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมวันแม่กับทางโรงเรียนได้ มีบางคนเกิดความรู้สึกเศร้าและแปลกแยก เพราะเขาต้องอยู่ทามกลางเพื่อน ๆ คนอื่นที่นั่งอยู่กับแม่และดูมีความสุขกัน แต่ความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีให้หลังมานี้ เมื่อผู้คนในสังคมไทยเริ่มเกิดคำถามขึ้นมาว่าการจัดกิจกรรมรำลึกพระคุณแม่ที่โรงเรียนชอบทำกันมันเป็นสิ่งที่ดีต่อเด็กจริงหรือ แท้ที่จริงแล้วมันสร้างบาดแผลให้เด็กบางคนมากกว่าหรือเปล่า ?

งานวันแม่ที่โรงเรียนเริ่มมีในยุคไหน ?

แรกเริ่มเดิมทีงานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้เป็นงานที่ถูกจัดขึ้นในโรงเรียนเหมือนอย่างทุกวันนี้ จนถึงช่วงที่มีสงครามโลกจึงได้หยุดจัดไป หลังจากนั้นหลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้งด้วยกัน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ

หลังจากที่เรามีวันแม่แห่งชาติที่แน่นอน การจัดกิจกรรมวันแม่ก็ค่อย ๆ เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานศึกษาต่าง ๆ ที่มีความนิยมจัดงานให้บรรดาคุณแม่มาร่วมพิธีและให้เด็ก ๆ นำดอกไม้ พวงมาลัย มอบแด่แม่เป็นการแสดงสัญลักษณ์ของการสำนึกในพระคุณ

กระแสต่อต้านค่อย ๆ ก่อตัว

ในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ กระแสต่อต้านการจัดงานวันแม่ภายในโรงเรียนก็เริ่มหนาหูขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกโซเชียล เมื่อเดือนสิงหาคมเริ่มขึ้น ผู้คนจำนวนหนึ่งก็เริ่มแสดงทรรศนะที่เห็นค้านกับการจัดงานรำลึกพระคุณแม่ที่สถานศึกษาแทบทุกแห่งในไทยนิยมจัดกันในช่วงวันแม่แห่งชาติ คำถามที่ชวนให้คิดถึงความรู้สึกของเด็กที่ไม่ได้อยู่กับแม่ พ่อแม่หย่าร้างกัน แม่เสียชีวิตไปแล้ว หรือพ่อแม่เดินทางไปทำงานนอกภูมิลำเนาและไม่สะดวกที่จะกลับมาร่วมงานของโรงเรียน เด็ก ๆ เหล่านี้เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบ แปลกแยกจากเพื่อน ๆ ความน้อยใจ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความรู้สึกทางลบที่ก่อตัวขึ้นในหัวใจดวงน้อย ๆ ผู้คนในสังคมพากันกังวลว่าการจัดงานวันแม่จะยิ่งเป็นตัวการสร้างบาดแผลทางความรู้สึกให้กับเด็ก !

ผู้ปกครอง คนเป็นลูก และครู ได้บอกเล่าเรื่องราวส่วนหนึ่งของพวกเขา ความกังวลใจ และความอึดอัดใจ ที่ทุกคนมีต่อการจัดงานวันแม่ของสถานศึกษา และนี่คือเรื่องราวที่เราได้รับฟังมา

ผู้ปกครองหาเช้ากินค่ำจะเอาเวลาที่ไหนไปงาน ?

“มีอาชีพค้าขายค่ะ ขายส้มตำ ช่วงประถมเด็กจะต้องการให้แม่ไปร่วมงาน เหมือนครูเขาจะบอกแบบอยากให้ไปร่วมงาน อยากให้ไปเข้าร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนจัด เหมือนเอาแม่ไปอวดอะไรอย่างนี้ อีกอย่างคือเด็กไม่ได้อยู่ด้วยตลอดเวลาด้วย ที่ลูก ๆ อยากให้ไปตอนนั้น เคยมีที่ไม่ไปแต่ไม่บ่อย ส่วนใหญ่จะไปเพราะว่ามันแค่ปีละครั้ง เราก็เลยเออ สละเวลาให้ลูกไปนิดนึง เพื่อให้เขาสบายใจ ไม่อยากให้เขาน้อยใจว่าทำไมเราไม่ไป ลูกอยู่ต่างจังหวัด เราก็ต้องหยุดงานแหละ เสียเวลาไปประมาณ 2-3 วัน เพราะว่าต้องไปวันนึง ต้องไปเตรียมนู่นเตรียมนี่ เพราะว่าทางโรงเรียนจะให้เราหาพวกพวงมาลัยไปเอง มันสิ้นเปลืองด้วยแหละ ต่างจังหวัดคือให้แม่ต้องแต่งตัวตามที่โรงเรียนเขากำหนด แบบต้องเป็นชุดกระโปรงสีฟ้า แล้วบางทีเราก็ไม่มีเวลาจะไปหาชุดตรงนั้น แล้วด้วยความที่ไม่ได้ใส่ชุดแบบนี้เป็นประจำด้วย เราก็เลยคิดว่าไม่จำเป็น น่าจะเป็นชุดอะไรที่มันสุภาพก็น่าจะพอแล้ว” อาร์ท ธันย์ณิชา แม่ค้าขายส้มตำ วัย 39 ปี เล่าย้อนถึงเมื่อครั้งที่เธอต้องหยุดขายของเพื่อไปร่วมงานวันแม่ของโรงเรียนลูกที่ต่างจังหวัด

อาร์ท ธันย์ณิชา อินสวัสดิ์ คุณแม่ลูก 4 อาชีพค้าขาย

งานปลอมเปลือก เด็กเจ็บปวด

“คุณค่าของการจัดงานวันแม่มันอยู่ตรงไหน ? อย่างเช่นว่า โอเค เด็กมีความกตัญญูขึ้นหรือว่าได้แสดงความกตัญญู หรือว่าเป็นแค่งานในพิธีหรือเปล่า หลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้เป็นอย่างงั้น ในสังคมไทยการจัดงานอย่างนี้เป็นเหมือนการสร้างภาพชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง” ธรรศ พ่อเลี้ยงเดี่ยวผู้ประกอบอาชีพที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ทนายความ และนักลงทุน วัย 47 ปีบอกกับเราเกี่ยวกับการตั้งคำถามถึงคุณค่าของงานวันแม่ “สำหรับในปัจจุบันเนี่ย ผมมองว่าการจัดงานวันแม่มันอาจจะสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับเด็กได้ หรือสร้างความแตกแยกให้กับเด็ก ๆ บางคนไม่มีพ่อไม่มีแม่ เขาต้องไปนั่งอยู่คนเดียวบนเวทีแล้วก็ร้องไห้ เสียใจ แล้วกลายเป็นปมในใจของเขาไปตลอด ถึงวันพ่อวันแม่ทีไรเขาก็จะมานั่งกลัวว่าเอ้า นี่จะถึงวันพ่อวันแม่อีกหรือเปล่า”

ธรรศ วันพฤหัส และน้องเจได-ไตรย วันพฤหัส

ความรู้สึกที่น่าอึดอัดและแปลกแยกของเด็กที่แม่ไม่สามารถมาร่วมงานได้ไม่ได้อยู่แค่เฉพาะกับพวกเขาเท่านั้น แต่มันยังเป็นสิ่งที่เพื่อนร่วมชั้นซึ่งแม่สามารถไปร่วมงานได้อย่างเนเน่ ทัศวรรณ นักเรียนโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เคยเผชิญมา

“จริง ๆ หนูค่อนข้างรู้สึกอึดอัดแทนเพื่อนน่ะค่ะ ที่บางคนก็ไม่ได้อยู่กับคุณแม่ พอถึงวันงานเขาก็ต้องกราบแม่เพื่อนหรือครูบนเวทีแทน หนูคิดว่างานวันแม่ไม่จำเป็นต้องจัดขึ้นก็ได้ค่ะ คือเด็กบางคนก็ไม่ได้ร่วมด้วยความสมัครใจ อาจเป็นเพราะเหตุผลส่วนตัวหรืออะไร ก็ไม่ควรบังคับเด็กให้เข้าร่วมงานวันแม่เลย มันอาจจะสร้างปมด้อยในใจเด็กเพิ่มมากขึ้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็ก” เนเน่ อธิบายให้เราฟัง

ด้านอาร์ท ธันย์ณิชา ก็ให้ความเห็นถึงความปลอมเปลือกของกิจกรรมว่า “ก็จะมีเลี้ยงข้าวเลี้ยงอาหารอะไรงี้ โรงเรียนต่างจังหวัดน่ะ เขาชอบทำอะไรที่มันเอาหน้าเอาตา เหมือนใครที่ทำประโยชน์ให้โรงเรียนมากหน่อยหรือบริจาคให้โรงเรียนมากหน่อยก็เหมือนจะได้แบบนี้ (รางวัลแม่ดีเด่น) ไป เราไม่ค่อยได้สนใจไอ้เรื่องตรงนี้ เราแค่ไปหาลูกเราแค่นั้นเอง”

ครูเบล วิรัลพัชร ฉัตรเจริญชัยกุล ครูชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 5

โรงเรียนนี้ไม่มีงานวันแม่

ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ก็ยังมีบางโรงเรียนที่ไม่ได้จัดกิจกรรมงานวันแม่ หนึ่งในนั้นคือโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 5 (วัดตลิ่งต่ำ) อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

“ตั้งแต่บรรจุนะคะ บรรจุมาประมาณ 5 ปีแล้ว ก็ไม่พบว่ามีการจัดอย่างนี้ เท่าที่สอบถามครูเก่ามา เขาก็บอกว่ามันก็เป็นมานานแล้ว เพราะว่าเชิญผู้ปกครองยาก โดยสภาพครอบครัวของเด็กโดยทั่วไปเนี่ยรายได้ก็อาจจะไม่สูงนัก พ่อแม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น แล้วก็เอาลูกเอาหลานเนี่ยมาเลี้ยงไว้กับปู่ย่าตายายซะเยอะ ประมาณ 60% เลย” ครูเบล วิรัลพัชร บอกกับเราถึงเหตุผลที่โรงเรียนต้นสังกัดของเธอไม่มีการจัดงานวันแม่ “ถ้าถามจริง ๆ ว่าเขาอยากจัดมั้ย มันก็อยากแหละ แต่เขาก็จัดไม่ได้น่ะ จัดแล้วมันก็จะงานล่มอะเนอะ เราก็เข้าใจน่ะ การเชิญผู้ปกครองมาโรงเรียนนี่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ยากมาก งานโดยส่วนใหญ่เลยจะเป็นทางด้านของสถาบันซะมากกว่า เป็นเรื่องของการแสดงความจงรักภักดีในวันแม่ ส่วนบริบทเรื่องของเอาแม่มาโรงเรียน มาแสดงคุณอะไรอย่างนี้ก็จะไม่มี”

“พอขึ้นมัธยมแล้วที่โรงเรียนก็ไม่ได้จัดงานวันแม่แล้วนะคะ อาจจะเป็นเพราะว่าจำนวนนักเรียนมันเยอะขึ้นด้วยค่ะ” เนเน่ บอกกับเราถึงเหตุผลที่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาของเธอเลือกที่จะไม่จัดงานวันแม่

สร้างนิยามของความกตัญญูกันใหม่ดีกว่ามั้ย ?

ครูเบลบอกกับเราว่า “แนวคิดเรื่องความกตัญญูมันก็เป็นคุณธรรมที่มีความสำคัญน่ะ แต่มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นคำว่าแม่ก็ได้ คืออยากจะปลูกฝังกับเด็กในเรื่องนี้มากกว่า ผู้ที่เลี้ยงเราน่ะ ผู้ที่ดูแลเรา ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้ที่คลอดเรา นั่นแหละคือผู้ที่เราควรจะรู้คุณ อาจจะจัดงานวันแม่ได้ แต่ผู้ที่เอามาก็คือผู้ที่มีพระคุณเหมือนแม่ จะเป็นใครมาก็ได้ พ่อมาก็ได้ ทำให้เขารู้คุณว่าเขาคือผู้ที่เลี้ยงเรามา เราก็ควรจะมีความระลึกถึงบุญคุณตรงนี้ ไม่ว่าเขาจะเป็นใครน่ะ จะเป็นปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ไม่ใช่วัฒนธรรมที่มาเปิดคลิปคลอดลูกแล้วก็รำลึกบุญคุณความเจ็บปวด เพราะเด็กเขาไม่ได้เลือกเกิดมาน่ะ เด็กมีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าควรที่จะกตัญญูต่อใครมากกว่า ควรกตัญญูต่อผู้ที่ค้ำจุนให้เขาอยู่ได้ เลี้ยงเขามา ให้ความรักความอบอุ่น จะเป็นคนนั้นมากกว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ Definition ของเราคืออย่างนี้ อยากจะให้เด็กเขาเห็นอย่างนี้มากกว่า สำหรับเราความเป็นแม่มันไม่ใช่คนที่เบ่งออกมาน่ะ ความเป็นคนที่เลี้ยงมามากกว่า”

เนเน่ ทัศวรรณ ดำรงมั่นไพศาล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

“หนูคิดว่าการแสดงความรักต่อคุณแม่ไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงออกแค่วันนั้นวันเดียวค่ะ ทุกคนสามารถแสดงความรักกับคุณแม่ได้ทุกวัน เพราะว่าจริง ๆ เราต่างก็รู้อยู่แก่ใจว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงความรักกับคุณแม่ให้คนอื่นดู ไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นไปกราบคุณแม่บนเวที ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมงานวันแม่ ความรักที่เรามีให้คุณแม่ไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงออกแค่วันแม่วันเดียวค่ะ” นักเรียนหญิงชั้นม.3 อย่างเนเน่ ทัศวรรณ กล่าวทิ้งท้ายกับเราด้วยความเฉียบขาดแบบเด็กรุ่นใหม่

ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลเรื่องบาดแผลทางจิตใจ ความรู้สึกแปลกแยกในหมู่เพื่อนนักเรียน สภาพเศรษฐกิจที่บีบคั้นให้คนเป็นพ่อแม่ต้องจากภูมิลำเนาไปหากินต่างถิ่น หรือแม้แต่พลวัตรในครอบครัวและนิยามของคำว่าครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป หลายบ้านอาจมีพ่อสองคนหรือแม่สองคน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่คนในสังคมควรหันมาทบทวนร่วมกันว่าเรายังจะจัดงานวันแม่ในสถานศึกษาไปเพื่ออะไร

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th