Site icon Motherhood.co.th Blog

รวมขั้นตอนและสถานที่ในการ “ทำพาสปอร์ตเด็ก”

การทำพาสปอร์ตเด็ก

ปิดเทอมนี้ ถ้าพาลูกเที่ยวต่างประเทศ ต้องทำพาสปอร์ตก่อนนะ

รวมขั้นตอนและสถานที่ในการ “ทำพาสปอร์ตเด็ก”

การปิดเทอมมาถึงซะที เด็กๆจะได้หยุดเป็นเวลาหนึ่งเดือน ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่อาจวางแผนเที่ยวไว้แล้ว ถ้ามีแผนไปต่างประเทศ อย่าลืมคิดถึงเรื่อง “ทำพาสปอร์ตเด็ก” ด้วยนะคะ เพราะมีขั้นตอนหลายอย่างที่ซับซ้อนกว่าของผู้ใหญ่ แต่ถ้าได้ใช้เวลาอ่านบทความนี้อย่างละเอียด ก็จะพบว่าไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ

พาลูกไปทำหนังสือเดินทางครั้งแรก ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังวางแผนพาลูกๆไปเที่ยวต่างประเทศเป็นครั้งแรก อาจจะรู้สึกยุ่งยากอยู่ไม่น้อยเพราะต้องพาเขาไปทำหนังสือเดินทาง ซึ่งจะต้องใช้เอกสารมากกว่าของผู้ใหญ่ ด้านล่างนี้คือขั้นตอนการทำพาสปอร์ตสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี แต่จะมีขั้นตอนอย่างไรและต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างนั้น ลองไปดูกันเลย

ก่อนจะเที่ยวต่างประเทศ เด็กก็ต้องทำหนังสือเดินทาง

เอกสารประกอบการขอหนังสือเดินทางธรรมดาสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มีดังนี้

1. สูติบัตรฉบับจริง หากเป็นสำเนาต้องมีการรับรองสำเนาถูกต้องจากอำเภอหรือเขตมาแสดง พร้อมผู้มีอำนาจปกครอง

2. บัตรประชาชนฉบับจริงของพ่อและแม่ นำบัตรประชาชนฉบับจริงของทั้งพ่อและม่มาลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ โดยต้องเป็นบัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่หมดอายุใช้งาน หรือบัตรที่ใช้แทนได้ตามกฎกระทรวงมหาดไทย หากชื่อนามสกุลของพ่อแม่ในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย ในกรณีที่แม่หย่าและจดทะเบียนสมรสใหม่และใช้นามสกุลตามสามีใหม่ ให้นำหลักฐานการหย่าและการสมรสครั้งใหม่ที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย

3. หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ จะต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจากทางอำเภอหรือเขต

4. เอกสารอื่นๆ เช่น หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตรหรือรับบุตรบุญธรรม บันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ในความดูแลของพ่อหรือแม่

5. อัตราค่าธรรมเนียม ค่าธรรมเนียมแบบปกติ ราคา 1,000 บาท ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทางเล่มด่วน จะอยู่ที่ 2,000 หรือ 3,000 บาท แล้วแต่กรณี

กรณีบิดาหรือมารดา หรือทั้งบิดาและมารดาไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมด้วยตนเอง

เฉพาะกรณีผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ จะต้องให้บุคคลที่ไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมฯ ต่อเจ้าหน้าที่ ทำหนังสือยินยอมผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศจากอำเภอ สำนักงานเขต หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงที่มีอายุการใช้งานของบิดา หรือมารดาที่ไม่สามารถให้ความยินยอมได้ ให้บุคคลอื่น ที่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) เป็นผู้พาผู้เยาว์มายื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางเพิ่มเติมจากหนังสือยินยอมฯ ข้างต้นพร้อมบัตรประชาชนฉบับจริงของผู้รับมอบอำนาจ

กรณีบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสและผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของมารดา

มารดาสามารถลงนามให้ความยินยอมฯ ได้ ฝ่ายเดียวพร้อมกับบันทึกคําให้การรับรองการปกครองบุตร (ป.ค.14) ที่ออกโดยอําเภอ สำนักงานเขต หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น และบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของมารดา

กรณีผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม

ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมกับทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม และบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของผู้รับบุตรบุญธรรม

กรณีบิดา-มารดาหย่า

บิดาหรือมารดาที่ระบุให้เป็นผู้ใช้อํานาจปกครองผู้เยาว์แต่ผู้เดียวในบันทึกการหย่า สามารถเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมฯ ได้ฝ่ายเดียวพร้อมบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริง

กรณีที่บิดา-มารดาหย่ากัน แต่มีสิทธิ์ในการดูแลบุตรร่วมกัน ทั้งพ่อและแม่ก็ต้องเดินทางมาทำหนังสือเดินทางกับบุตรด้วย แต่ถ้าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถมาเซ็นยินยอมได้ ก็ต้องทำหนังสือยินยอมจากอําเภอ สำนักงานเขต หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น หรือจากสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ไทย กรณีที่บิดาหรือมารดาอยู่ในต่างประเทศมาด้วย

กรณีบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต

ให้บิดาหรือมารดาที่ยังมีชีวิตมาลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมกับใบมรณบัตรของอีกฝ่ายหนึ่ง และบัตรประชาชนฉบับจริง

กรณีบิดาหรือมารดาผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติ มิได้จดทะเบียนสมรส และไม่สามารถตามหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอม

บิดาหรือมารดาผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติมิได้จดทะเบียนสมรส และไม่สามารถตามหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้ และบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสแต่บุตรอยู่ในความดูแลของฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวมาตลอด และไม่สามารถตามหาอีกฝ่ายได้ ให้นำคำสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจปกครองมาแสดง พร้อมสูติบัตรตัวจริง

เตรียมเอกสารทำหนังสือเดินทางให้ครบ ก็เที่ยวอย่างสบายใจ

สิ่งที่ต้องทำในวันมายื่นคำร้อง

นำเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปแสดงให้ครบถ้วน โดยเฉพาะการยื่นคำร้องกรณีผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้เยาว์อายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ หากเอกสารที่นำไปแสดงไม่ครบถ้วนจะต้องนำเอกสารเหล่านั้นไปแสดงเพิ่มเติมในวันรับเล่ม ซึ่งจะทำให้การรับเล่มล่าช้า เนื่องจากต้องใช้เวลาในการบันทึกข้อมูลเอกสารที่นำไปแสดงเพิ่มเติมลงในระบบให้ครบถ้วน ขั้นตอนของการยื่นขอหนังสือเดินทางใหม่ มีดังนี้

1. การตรวจสอบเอกสาร

ตรวจสอบเอกสารประกอบการยื่นคําร้องขอทําหนังสือเดินทาง หากถูกต้องครบถ้วนจะแจกบัตรคิว และเรียกผู้ร้องเข้ารับบริการตามลําดับ

2. เข้ารับบริการ

เรียกผู้ร้องเข้ารับบริการตามคิว วัดส่วนสูง

3. การพิจารณา

เข้าบูธบริการ ตรวจสอบเอกสารประกอบการยื่นคําร้องขอทําหนังสือเดินทางอีกครั้ง ตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ ตรวจสอบข้อมูลจากส่วนบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เก็บข้อมูลชีวมาตร ได้แก่ รูปใบหน้า ลายนิ้วมือ 10 นิ้ว ลายมือผู้ถือหนังสือเดินทาง และทําสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายของผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ

4. ชำระค่าธรรมเนียม

ชำระค่าธรรมเนียม 1,000 บาท และค่าส่งไปรษณีย์แบบ EMS 40 บาท หรือแบบ PSP 60 บาท หากประสงค์ให้จัดส่งทางไปรษณีย์ รับใบเสร็จรับเงิน และรับใบนัดรับเล่ม

ระยะเวลารอรับพาสปอร์ต

1. ถ้ายื่นกรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ สามารถรอรับได้ 2 วันทำการ ไม่นับวันยื่น ถ้ารับทางไปรษณีย์จะได้ 5 วันทำการ

2. ถ้ายื่นสำนักสาขาในกรุงเทพฯ (ปิ่นเกล้าและบางนา) จะได้เล่มภายใน 2 วันทำการ ไปรษณีย์ 5 วันทำการ

3. ถ้ายื่นสาขาต่างหวัด และขอให้จัดส่งทางไปรษณีย์ในเขตเมือง จะได้หนังสือพาสปอร์ต 5 วันทำการ

สถานที่ให้บริการทำหนังสือเดินทาง

1. กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ เบอร์ติดต่อ 02 981 7257 เปิดให้บริการ จันทร์ ถึง ศุกร์ 08:00 – 15:30 น.

2. สํานักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางนา- ศรีนครินทร์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าธัญญาพารค์ โซน E เบอร์ติดต่อ 02 136 3800-01 เปิดให้บริการ จันทร์ ถึง ศุกร์ 08:30 – 15:30 น.

3. สํานักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปิ่นเกล้า อาคาร SC Plaza ชั้น 2 (สายใต้ใหม่) เบอร์ติดต่อ 02 422 3431 เปิดให้บริการ จันทร์ ถึง ศุกร์ 08:30 – 15:30 น

ตัวอย่างรูปถ่ายวีซ่าของเด็ก

เทคนิคการถ่ายรูปทำวีซ่าให้เด็กเล็ก

สำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็กๆ แต่อยากเที่ยวต่างประเทศ นอกจากความวุ่นวายในการเตรียมเอกสารเพื่อทำพาสปอร์ตแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่พ่อแม่หลายๆคนชอบมองข้าม ซึ่งนั่นก็คือการถ่ายรูปเพื่อทำวีซ่าให้ทารกนั่นเอง เพราะการถ่ายรูปวีซ่าให้เด็กนั้นไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด หากคุณพ่อคุณแม่กำลังตัดสินใจว่าควรพยายามถ่ายรูปวีซ่าให้ลูกเอง หรือพาลูกไปถ่ายรูปที่ร้านดี Motherhood มีคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝาก

หากลูกยังนั่งเองไม่ได้ก็ต้องถ่ายในท่านอน

หากลูกยังเล็กเกินกว่าจะลุกขึ้นมานั่งได้ด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ก็ยิ่งต้องใช้ความพยายามมากขึ้นไปอีกในการจัดท่าเพื่อถ่ายรูป

หวังว่าบทความนี้จะช่วยลดความกังวลของคุณพ่อคุณแม่ในการพาลูกไปเที่ยวต่างประเทศลงได้บ้างนะคะ ทั้งในเรื่องการเตรียมเอกสารไปทำหนังสือเดินทางเล่มแรกของลูก หรือการถ่ายภาพเพื่อขอวีซ่าสำหรับเด็กทารก ขอให้ทุกคนเที่ยวในช่วงปิดเทอมให้สนุกนะคะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th