ผื่นผ้าอ้อม ดูแลและป้องกันอย่างไรไม่ให้ก้นลูกพัง
ผื่นผ้าอ้อม นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่กวนใจทั้งคุณพ่อคุณแม่และตัวลูกน้อยเอง ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บและอาการคันยามที่สัมผัสโดน หากปล่อยไว้นานเกินไปก็จะกลายเป็นปัญหาลุกลามจนเป็นแผลอักเสบ เกิดแผลเปื่อย หรืออย่างร้ายก็ติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้ ไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ ผื่นผ้าอ้อมเกิดขึ้นได้ยังไง เราจะดูแลผิวลูกยังไงให้หาย และจะป้องกันยังไงไม่ให้ผื่นลุกลาม ติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ
ผื่นผ้าอ้อมคืออะไร?
มันคือผื่นที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับผ้าอ้อม ไม่ว่าจะเป็นผ้าอ้อมสำเร็จรูปหรือผ้าอ้อมผ้า ผื่นจะขึ้นตามก้น ข้อพับ และขาหนีบ บางครั้งก็เกิดผื่นที่อวัยวะเพศได้ด้วย ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานเกินไปอาจจะติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย แทรกซ้อนจนอาการรุนแรงขึ้นได้
ทำไมลูกถึงมีผื่นผ้าอ้อม?
ในทารกวัย 3 เดือนขึ้นไปจนถึงวัยที่เลิกใส่ผ้าอ้อมจะสามารถมีผื่นผ้าอ้อมได้เป็นปกติ เนื่องจากทารกมีผิวที่บอบบาง เวลาเกิดการเสียดสีกับผ้าอ้อมเนื่องจากใส่ผ้าอ้อมแน่นเกินไป ก็ทำให้เกิดการระคายเคืองและมีผื่นคันได้เช่นกัน แต่ก็เป็นไปได้ว่าสาเหตุของการระคายเคืองจะมาจากสารสัมผัสในสบู่เหลว แป้ง หรือทิชชูเปียกที่ใช้อยู่ คุณพ่อคุณแม่จะต้องสังเกตอาการของลูกทุกครั้งที่เปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดจริงๆคือ “ความเปียกชื้น” จากการที่ผิวหนังบริเวณใต้ผ้าอ้อมสัมผัสกับปัสสาวะหรือุจจาระเป็นเวลานาน หนังกำพร้าจะเปื่อย เมื่อสัมผัสกับผ้าอ้อมจึงเกิดการเสียดสี ทำให้ผิวถลอก มีรอยแดง นอกจากนี้โดยปกติผิวหนังของคนเราจะมีความเป็นกรด ซึ่งจะคอยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แต่เมื่อสภาพความเป็นกรดถูกทำให้เป็นด่างด้วยสารแอมโมเนียจากปัสสาวะ จะทำให้ผิวหนังของทารกติดเชื้อง่ายขึ้น ยิ่งไปผสมกับอุจจาระที่มีเชื้อโรคนับล้านด้วยแล้วก็ยิ่งไปกันใหญ่ เชื้อโรคจะเจริญเติบโตได้ดีมาก เพราะมีแอมโมเนียที่เป็นสารอาหารให้แบคทีเรียด้วย ในช่วงแรกที่เริ่มเป็นผื่นจะเกิดจากการระคายเคือง แต่เมื่อปล่อยไว้นานภูมิต้านทานของผิวลดลง ก็ยิ่งเกิดการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น
ในทารกที่มีอาการหนักมาก ผิวหนังจะเปื่อยเป็นแผลและมีน้ำสีเหลืองเยิ้ม ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้ผิวหนังอักเสบและเป็นหนอง แต่ถ้ามีการติดเชื้อรา ลักษณะของผื่นจะมีทั้งแบบผื่นแดง ปื้นแดง โดยจะมีสีออกแดงชมพูและเห็นขอบชัดเจน หรือตรงผื่นมีหนังลอกได้เป็นแผ่น มีการลามของผื่นเล็กๆออกไป กระจายตัวไปเป็นวงๆ
ดูแลลูกอย่างไรหากเป็นผื่นผ้าอ้อม?
รักษาความสะอาด เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม ควรทำความสะอาดบริเวณก้น อวัยวะเพศ และบริเวณรอบๆด้วยน้ำสะอาด เลือกใช้ผ้าที่อ่อนนุ่มและใช้วิธีซับแทนการถู เพราะจะทำให้ผิวบอบบางของลูกระคายเคืองได้ง่าย จากนั้นให้ทายาที่เป็นครีมหรือขี้ผึ้งสำหรับผื่นผ้าอ้อมบางๆ เพื่อช่วยป้องกันความชื้นและไม่ให้บริเวณที่มีผื่นเกิดการเสียดสีเพิ่มขึ้นอีก
ดูแลผิวบริเวณก้นให้แห้งเสมอ หลังการล้างทำความสะอาด ใช้ผ้าขนหนูซับน้ำส่วนเกินบริเวณก้นและอวัยวะเพศอย่างเบามือและซับออกให้หมดก่อนการใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่ เพื่อป้องกันความเปียกชื้นที่จะทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม ควรเลือกใช้ผ้าอ้อมที่ระบายความชื้นได้ดี และรีบเปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีที่เด็กอุจจาระ
พักผิวบ้าง ความอับชื้นจากการใส่ผ้าอ้อมนานๆอาจทำให้ผื่นรุนแรงมากขึ้น ควรให้ลูกได้พักผิวโดยการเว้นช่วงให้ลูกน้อยไม่ต้องใส่ผ้าอ้อมระหว่างวันบ้าง นอกจากนี้ควรเลี่ยงการใช้ผ้าอ้อมที่ทำจากพลาสติค และเลือกใช้ผ้าอ้อมที่มีไซส์ใหญ่ขึ้นเล็กน้อยจนกว่าอาการจะดีขึ้น
ทายาเคลือบปกป้องผิว ควรทายาลงบนผิวทารกบางๆ ซึ่งตัวยาเหล่านี้มักมีส่วนประกอบสำคัญคือ Zinc Oxide สามารถหาซื้อได้ง่ายในหลากหลายรูปแบบทั้งครีม โลชั่น ขี้ผึ้ง ก่อนการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อเลือกยาที่เหมาะสมให้กับลูก และควรคำนึงถึงการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผิวของทารกโดยเฉพาะ
อาบน้ำเป็นประจำ คุณพ่อคุณแม่ควรอาบน้ำให้ลูกเป็นประจำ ใช้น้ำอุ่นเพียงเล็กน้อยและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิวเด็ก ปราศจากสารเคมีและน้ำหอม
เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองมากขึ้น รวมไปถึงแป้งที่มีส่วนผสมของทัลค์ (Talc) ซึ่งเป็นอันตรายต่อปอดของทารก
ผื่นผ้าอ้อมมักจะเกิดขึ้นแค่ 2-3 วัน เพียงแค่ดูและตามคำแนะนำของแพทย์ก็สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ แต่ในกรณีที่ติดเชื้อรา แพทย์จะแนะนำให้ยาต้านเชื้อรา หรือสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะในรายที่เกิดแผลพุพองเพราะติดเชือแบคทีเรีย และยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์แบบอ่อนๆที่อยู่ในรูปแบบของครีมหรือขี้ผึ้ง
เคล็ดลับสำหรับการดูแลผิว
ซื้อขวดบีบพลาสติกขนาดเล็กพร้อมฝาปิดหรือหัวฉีด เพื่อใส่ส่วนผสมสารละลายน้ำอุ่นกับครีมกลีเซอรีน 2 ช้อนชา แล้วใช้ทิชชู่หรือสำลีเช็ดก้นลูกให้สะอาด วิธีนี้ต้องทำเป็นประจำทุกวัน
ป้องกันผื่นผ้าอ้อมอย่างไร?
- เมื่อผ้าอ้อมเต็มหรือลองจับดูแล้วรู้สึกตุงๆและมีความชื้น ควรเปลี่ยนทันที และทำความสะอาดอย่างเบามือ เพื่อกันไม่ให้ความเปียกชื้นสะสม
- เปลี่ยนผ้าอ้อมทุก 2-3 ชั่วโมง หรือทุกครั้งหลังจากอุจจาระ
- ควรล้างทำความสะอาดก้นทารกระหว่างวันด้วยน้ำสะอาด เป็นน้ำอุ่นและสบู่สูตรอ่อนโยนสำหรับเด็กโดยเฉพาะ
- ก่อนจะใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่ให้ลูก ต้องมั่นใจว่าผิวของลูกแห้งและสะอาดดีแล้ว หลังการล้างทำความสะอาดให้ใช้ผ้าขนหนูซับให้ทั่วอย่างเบามือ
- ไม่ควรใส่ผ้าอ้อมให้แน่นเกินไป เพื่อป้องกันความอับชื้นและการเสียดสี ควรเลือกผ้าอ้อมที่ขนาดพอดีตัวเด็ก
- เด็กที่มีผิวบอบบางเป็นพิเศษให้ทาครีมหรือขี้ผึ้งเคลือบที่ก้นก่อนจะใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่
- การเลือกผ้าอ้อม ต้องไม่ใช้ที่มีพลาสติคเป็นวัสดุหลัก และต้องระบายอากาศได้ดี
- หลังการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังส่วนอื่นของลูก
- ควรให้ลูกกินนมแม่ให้นานที่สุด เพราะนมแม่ช่วยลดค่าความเป็นด่างในอุจจาระได้ และยังเพิ่มภูมิคุ้มกันในการติดเชื้อด้วย
แม้ว่าผื่นผ้าอ้อมจะเกิดขึ้นได้ง่าย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถช่วยกันป้องกันและดูแลไม่ให้อาการลุกลามไปถึงขั้นติดเชื้อได้ เพียงแค่ทำให้ลูกห่างไกลจากความเปียกชื้นและการเสียดสีบริเวณที่สวมใส่ผ้าอ้อม เท่านี้ก็จะลดความเสี่ยงในการเป็นผื่นผ้าอ้อมได้เยอะแล้วละค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th