Site icon Motherhood.co.th Blog

พาผู้อ่านไปคุยกับ “ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนมแม่”

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนมแม่

ติดตามบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญเรื่องนมแม่ ดร.อิซาเบล บาโน่

พาผู้อ่านไปคุยกับ “ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนมแม่”

เพราะเรารู้ดีว่าการเป็นแม่ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งมีลูกเป็นคนแรก มีอะไรรออยู่มากมายให้เรียนรู้ วันนี้ Motherhood เลยจะพาให้คุณไปรู้จักกับ “ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนมแม่” ที่จะช่วยไขข้อข้องใจและหลากหลายปัญหาที่คุณแม่มือใหม่คาใจ ติดตามอ่านกันได้ในบทสัมภาษณ์ฉบับนี้เลยค่ะ

Motherhood: ช่วยเล่าถึงความเป็นมาของ The Best Beginning และเส้นทางของคุณหมอในวงการหน่อยค่ะ

Dr.Isabel: สวัสดีค่ะ ดิฉันชื่ออิซาเบล บาโน่ นะคะ เป็นด็อกเตอร์สาขาการพยาบาลผดุงครรภ์และที่ปรึกษาด้านนมแม่ ประกาศนียบัตรนานาชาติ (IBCLC) ค่ะ ตัวดิฉันเองมีลูก 3 คน และตอนนี้กำลังตั้งครรภ์คนที่ 4 ด้วยความที่เป็นแม่ และต้องผชิญกับปัญหาในช่วงที่มีลูกคนแรก ดิฉันก็เลยหลงใหลในเรื่องการให้นมบุตร ก็เลยอยากจะให้ความช่วยเหลือบรรดาแม่ในเรื่องนี้น่ะค่ะ ตอนนี้อยู่กรุงเทพฯมา 2 ปีแล้วนะคะ และได้ก่อตั้งบริษัทของตัวเองที่ชื่อ The Best Beginning ขึ้นมา เพื่อให้ความช่วยเหลือพ่อแม่มือใหม่เรื่องการตั้งครรภ์และการให้นมบุตรค่ะ

ดร.อิซาเบล บาโน่ ด็อกเตอร์สาขาการพยาบาลผดุงครรภ์และที่ปรึกษาด้านนมแม่ ประกาศนียบัตรนานาชาติ 

Motherhood: ขั้นตอนการทำงาน The Best Beginning เป็นอย่างไรบ้างคะ

Dr.Isabel: ที่ The Best Beginning นะคะ เราต้องการให้ความช่วยเหลือครอบครัว คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ระหว่างการตั้งครรภ์ ไปจนถึงเมื่อลูกคลอดเลยค่ะ ส่วนตัวดิฉันเองก็เป็นที่ปรึกษาด้านนมแม่ และเป็นด็อกเตอร์ด้านพยาบาลผดุงครรภ์ ถึงอย่างนั้นก็ตาม ตอนที่ฉันมีลูกคนแรกเนี่ย ดิฉันบอกได้เลยค่ะว่ามีหลายอย่างที่ทั้งคุณพ่อคุณแม่ไม่รู้เกี่ยวกับมัน เพราะดิฉันเองก็เคว้งๆอยู่เหมือนกันนะคะ ก็เลยตระหนักได้ว่ามันจำเป็นมากจริงๆที่พ่อแม่มือใหม่ควรจะได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ การได้รับการฝึกฝนและเตรียมพร้อมก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำลังจะมีลูกคนแรกค่ะ ซึ่งที่ The Best Beginning เราพร้อมจะช่วยเหลือพ่อแม่มือใหม่ให้มีความรู้ตลอดการตั้งครรภ์ เราจึงมีกิจกรรมที่ช่วยเตรียมความพร้อมแก่แม่ตั้งครรภ์และครอบครัว และหลังจากที่พวกแม่ๆคลอดลูกแล้ว เราก็ช่วยให้คำปรึกษาแก่พวกเธอในเรื่องการให้นมบุตรค่ะ ทางเราสามารถไปเยี่ยมถึงบ้านหรือที่โรงพยาบาล หรือครอบครัวจะมาที่นี่เองก็ได้ค่ะ เพราะเรามีที่ปรึกษาเรื่องการให้นมบุตรทำงานอยู่ที่นี่หลายคน เราคอยสนับสนุนและช่วยเหลือบรรดาแม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาในการให้นมบุตร เราพร้อมที่จะตอบทุกข้อสงสัย พูดง่ายๆว่าการช่วยเหลือพ่อแม่มือใหม่คือหน้าที่ของเราค่ะ

Motherhood: แสดงว่าการมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาและข้อมูลเป็นสิ่งที่จำเป็นมากเลยใช่ไหมคะ

Dr.Isabel: ถูกต้องค่ะ อย่างที่ The Best Beginning เน้นมาเสมอคือเรื่องของสุขภาพ มันสำคัญมากนะคะที่จะให้การฝึกฝนกับพ่อแม่ และให้ข้อมูลทุกอย่างที่พวกเขาต้องการในการเป็นพ่อแม่คน ในฐานะแม่ ดิฉันรู้ดีว่ามันสำคัญแค่ไหนที่จะเตรียมความพร้อมและมีข้อมูลที่เพียงพอ การมีลูกคนแรก ไม่แปลกเลยที่คนเป็นแม่จะรู้สึกเคว้ง หรือรู้สึกว่าไม่รู้ข้อมูลสำคัญๆในการเลี้ยงลูก การที่มีผู้เชี่ยวชาญมาเตรียมความพร้อมให้ก่อน และคอยให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่แม่ๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็นเพราะอย่างนี้ละค่ะ ที่นี่เรามีกิจกรรมมากมายให้คุณแม่เข้าร่วมในช่วงก่อนคลอด และเมื่อคลอดลูกแล้ว ดิฉันและทีมก็ช่วยเขาในช่วงให้นมลูกต่อค่ะ เรายินดีที่จะตอบในทุกปัญหาและข้อสงสัย แน่นอนว่าหากมีปัญหาเกิดขึ้นเราก็จะร่วมกันช่วยหาทางออกที่ดีที่สุดให้ค่ะ และแน่นอนว่าเราสนับสนุนให้แม่ๆให้นมลูกด้วยตัวเองมาตลอด ดิฉันเองเชื่อว่าการช่วยเหลือแม่ที่ดีที่สุด คือการให้ข้อมูลจากการค้นคว้าและการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญค่ะ

ที่ The Best Beginning จะเน้นการเตรียมความพร้อมให้พ่อแม่มือใหม่

Motherhood: มีวิธีใดบ้างที่จะช่วยเพิ่มการผลิตน้ำนมคะ

Dr.Isabel: หลักๆเลยจะมีอยู่ 2 วิธีค่ะ วิธีแรกคือการกระตุ้นโดยตรง วิธีที่สองคือการเร่งการผลิตน้ำนม ซึ่งเป็นการให้อาหารหรือยาที่จะช่วยให้ร่างกายสร้างน้ำนมมากขึ้น โดยการเพิ่มระดับโพรแลคตินค่ะ

Motherhood: โพรแลคตินคืออะไรคะ

Dr.Isabel: โพรแลคตินเป็นฮอร์โมนที่สำคัญมากนะคะในการให้นมบุตร อาหารเสริมหรือยาตัวที่ว่า เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วก็จะช่วยเพิ่มฮอร์โมนตัวนี้ค่ะ

Motherhood: แล้ววิธีไหนจัดว่าดีที่สุดคะ

Dr.Isabel: ตามความคิดของดิฉันนะคะ วิธีที่ดีที่สุดคือเพิ่มการกระตุ้นค่ะ ตรงนี้หมายความว่ายิ่งเรากระตุ้นด้วยการปั๊มนมหรือให้ลูกกินนมมากเท่าไหร่ น้ำนมก็จะยิ่งผลิตออกมามากขึ้นเท่านั้น กระบวนการทำงานของมันเป็นแบบนี้ค่ะ เวลาที่แม่ให้นมมากขึ้น แต่รู้สึกว่าน้ำนมที่มีอยู่ยังไม่พอ ก็จะมีสัญญาณส่งไปยังสมองว่าต้องผลิตน้ำนมให้มากขึ้นแล้วนะ อันนี้เป็นวิธีที่ดีสุดที่จะเพิ่มการผลิตน้ำนมค่ะ เริ่มจากความรู้สึกว่าน้ำนมไม่พอเพราะเราปั๊มนมหรือให้นมลูกอยู่ตลอด แต่ถ้าแม่ปั๊มนมหรือให้นมไม่มากพอ การกระตุ้นก็จะต่ำตามไปด้วย ทีนี้สมองเราก็จะเข้าใจว่าไม่ต้องสร้างน้ำนมแล้ว หรือไม่ต้องสร้างมากขนาดนั้นก็ได้ พอเป็นแบบนี้แล้วน้ำนมก็จะยิ่งลดลง ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือต้องกระตุ้นโดยการปั๊มนมหรือให้นมลูกสม่ำเสมอค่ะ

Motherhood: วิธีต่อมาละคะ เป็นอย่างไรบ้าง

Dr.Isabel: อีกวิธีที่สามารถทำได้คือการเร่งการผลิตน้ำนมค่ะ จะรับประทานอาหารแบบธรรมชาติเลยก็ได้ อย่างพวกข้าวโอ๊ต มะละกอ หัวปลี หรือว่าลูกซัด ความจริงมันมีวิธีแบบธรรรมชาติหลายอย่างมากนะคะที่จะช่วยเพิ่มหรือเร่งการผลิตน้ำนม แต่ก็คงไม่ได้ง่ายเหมือนเกิดปาฏิหาริย์ หากเราไม่กระตุ้นโดยตรงแบบที่เพิ่งพูดไปเมื่อกี้น่ะค่ะ

การเตรียมพร้อมเรื่องการดูแลลูกให้คุณแม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ

Motherhood: แล้วการใช้ยาเพื่อช่วยเร่งละคะ

Dr.Isabel: การเร่งการผลิตน้ำนมด้วยยาเนี่ยนะคะ ส่วนมากเรานิยมให้เป็นยาโมติเลียม ที่เป็นยาแก้ปวดท้องน่ะค่ะ ปกติเราจะกินมันเพื่อแก้ปวดท้องใช่ไหมคะ ทีนี้มันมีผลข้างเคียงคือจะไปเพิ่มโพรแลคตินด้วย ก็เลยทำให้ผลิตน้ำนมได้มากขึ้นค่ะ แต่ก็จะต้องให้แพทย์สั่งใช้เท่านั้นนะคะ แล้วต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดด้วย

Motherhood: แล้วเราจะทราบได้อย่างไรคะ ว่าลูกกินนมพอแล้วหรือยัง

Dr.Isabel: เราสามารถสังเกตได้จาก 3 จุดใหญ่ๆด้วยกันนะคะ อย่างแรกเลยให้ดูที่อาการของลูกค่ะ หลังจากให้นมเสร็จแล้ว ให้เราดูว่าลูกนอนอย่างผ่อนคลายดีหรือเปล่า เขานอนยกแขนอย่างสบายตัวเลยไหม หรือเขาเอาแขนมาไว้ด้านหน้า ทำท่าเหมือนยังอยากดูดนมต่ออีก ท่าทางที่ควรจะเป็นคือต้องแสดงออกว่าผ่อนคลาย ดูพึงพอใจ สามารถหลับได้อย่างสบายค่ะ อย่างถัดมา คือให้เรานับจำนวนครั้งที่เราให้นมลูก ภายใน 24 ชั่วโมง และนับจำนวนครั้งที่เราเปลี่ยนผ้าอ้อมค่ะ ซึ่งเด็กควรกินนมประมาณ 8-12 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง อันนี้ก็จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตนมของแม่ และขึ้นกับตัวเด็กเองด้วยค่ะ ว่าจะกินนมมากหรือน้อย และมันก็เปลี่ยนแปลงได้ ช่วงแรกเด็กอาจจะกินนมถึง 12 ครั้ง แต่หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์หรือเป็นเดือนก็จะลดลงแล้วค่ะ เหลือ 7 หรือ 6 ครั้งแต่ในช่วงแรกต้องแน่ใจว่าเขาจะกินนม 8-12 ครั้งใน 24 ชั่วโมงนะคะ และต้องเช็คจำนวนผ้าอ้อมลูกด้วย ว่ามีผ้าอ้อมฉี่กับผ้าอ้อมอึอย่างละเท่าไหร่ จำนวนของผ้าอ้อมต้องเพิ่มขึ้นตามอายุของทารก จนครบ 1 สัปดาห์ก็ควรจะมีจำนวนคงที่ หลังคลอดออกมาใน 1-2 วันแรก ทารกควรอึบ้างนะคะ อาจจะออกมาไม่มาก แค่ผ้าอ้อม 1-2 ชิ้น แล้วจะมีสีเข้ม มีเนื้อเหนียว จากนั้น 1-2 วัน สีจะเปลี่ยนเป็นเขียวหรือเขียวขี้ม้าค่ะ แล้วเป็นสีเหลืองในที่สุด ตรงนี้เราต้องคอยสังเกตว่าทารกอึเป็นสีอะไร และเปลี่ยนผ้าอ้อมกี่ครั้ง นอกจากนั้นต้องดูน้ำหนักตัวลูกค่ะ นี่คือวิธีที่ 3 ที่จะบอกได้ว่าลูกกินนมเพียงพอหรือเปล่า ควรพาลูกไปคลินิกเด็กหรือโรงพยาบาลเพื่อวัดน้ำหนักและตรวจสุขภาพของทารกเป็นประจำ

Motherhood: แล้วเมื่อไหร่ที่เราจะเลิกปลุกลูกขึ้นมากินนมได้คะ

Dr.Isabel: ความจริงเราไม่ควรปลุกลูกขึ้นมาให้นมนะคะ เพราะเด็กเขาจะบอกคุณเองว่าช่วงเวลาไหนเหมาะสมที่สุดในการกินนม เด็กจะเป็นฝ่ายบอกเราเอง คุณแม่ต้องสังเกตสัญญาณความหิวที่เขาแสดงออกมาค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการยกมือหรือส่งเสียงร้อง นี่คือเวลาที่ควรให้นม อย่าปล่อยให้ลูกหิวจนร้อง เพราะจะยิ่งยากขึ้นในการให้นม ต้องจำไว้เลยว่าไม่ควรปลุกเด็กขึ้นมาเพื่อให้นม นอกเสียจากว่าเขาไม่เป็นไปตาม 3 ข้อที่พูดไปเมื่อกี้ ถ้าเขากินนมไม่ถึง 8-12 ครั้งต่อวัน ไม่ฉี่หรืออึมากพอ และน้ำหนักไม่ขึ้น ก็ต้องปรึกษาแพทย์ และค่อยปลุกเขาขึ้นมาให้นมค่ะ หรืออีกกรณีคือเวลาลูกป่วย ไม่ว่าจะเป็นเบาหวานหรือคลอดก่อนกำหนด ต้องแน่ใจว่าเขาได้กินนมเพียงพอ แนะนำว่ารออย่างน้อยสัก 4-6 สัปดาห์กำลังเหมาะค่ะ อะไรๆจะได้เข้าที่ หากคุณแม่ติดธุระหรือมีปัญหาอื่น ก็สามารถปั๊มนมไว้ล่วงหน้าได้ แต่ไม่ใช่ปั๊มเลยทันทีที่มีน้องนะคะ แม่บางคนอาจมีปัญหาเรื่องการเข้าเต้า เจ็บหัวนม หรืออยู่คนละที่กับลูก หรืออาจติดเงื่อนไขทางการแพทย์ที่ทำให้ไม่สามารถให้นมได้ เพื่อรักษาระดับการผลิตน้ำนม ก็เป็นการดีกว่าที่จะปั๊มนมเลยในช่วงแรกค่ะ หากมีน้ำนมไม่เพียงพอ ก็ต้องทำทั้งการให้นมเองและการใช้งานปั๊มนม เพื่อเพิ่มนมให้มากพอสำหรับลูกค่ะ

หากน้ำนมไม่เพียงพอ ที่ The Best Beginning มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา

Motherhood: บราสำหรับให้นมจำเป็นหรือเปล่าคะ

Dr.Isabel: ก็ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้นค่ะ แต่การใช้บราสำหรับให้นมก็ทำให้คล่องตัวและสะดวกดี เพราะมันถูกออกแบบมาเพื่อการให้นมโดยเฉพาะ ถ้ามีบราแบบอื่นอยู่แล้วก็ใช้ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าบรานั้นไม่รัดแน่นเกินไปค่ะ

Motherhood: เราจะสามารถตั้งครรภ์อีกในช่วงที่กำลังให้นมลูกได้หรือไม่คะ

Dr.Isabel: คำตอบสั้นๆคือได้ค่ะ เราสามารถพบเห็นแม่ท้องและให้นมลูกอีกคนในเวลาเดียวกัน แต่การให้นมลูกอย่างเดียว โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของเด็กเนี่ย ฮอร์โมนของแม่จะสูงขึ้น โดยเฉพาะโพรแลคติน ซึ่งมันจะไปควบคุมฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่และรอบเดือนอย่างเอสโตรเจน ถ้าแม่ให้นมลูกสม่ำเสมอ ก็จะไม่มีการตกไข่และไม่มีรอบเดือนค่ะ หากแม่เว้นช่วงการให้นมนาน หรือลูกนอนนานมากจนโพรแลคตินของแม่ลดลง ฮอรโมนเอสโตรเจนก็จะพุ่งขึ้น และการตกไข่ก็จะเกิดขึ้นได้ค่ะ แล้วเราก็ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าตกไข่อยู่หรือเปล่า เพราะการตกไข่มันเกิดก่อนการมีรอบเดือน ดังนั้นจึงไม่มีทางรู้ได้เลยค่ะ ว่าจะท้องหรือไม่ขอแนะนำว่าควรมองหาวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมสำหรับช่วงให้นมไว้ด้วย ดีกว่าที่จะปล่อยให้มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ค่ะ

 

หวังว่าการพูดคุยกับดร.อิซาเบล บาโน่ ในวันนี้จะช่วยคลายข้อสงสัยหลายๆเรื่องเกี่ยวกับการให้นมลูกนะคะ คุณพ่อคุณแม่คอยติดตามบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจได้เสมอ ทางเราจะนำเรื่องราวที่น่ารู้ จากประสบการณ์ตรงของผู้เชี่ยวชาญ และบรรดาคุณพ่อคุณแม่มาฝากกันเรื่อยๆเลยค่ะ

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th