Site icon Motherhood.co.th Blog

5 พัฒนาการทางภาษา ของเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ

พัฒนาการทางภาษาของลูก

5 พัฒนาการทางภาษาของลูกที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้

5 พัฒนาการทางภาษา ของเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ

เด็กเรียนรู้ภาษาตั้งแต่แรกเกิด ดังนั้น จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่พ่อแม่จะเรียนรู้เกี่ยวกับ “พัฒนาการทางภาษา” ตามช่วงวัย และสัญญาณของความผิดปกติทางภาษาที่อาจเกิดขึ้นไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะการตรวจจับความผิดปกติทางด้านภาษาล่วงหน้าสามารถช่วยป้องกันความท้าทายด้านวิชาการ สังคม และอารมณ์ของลูกน้อยในอนาคต

คุณพ่อคุณแม่ควรทราบไว้ว่าเด็กทุกคนมีความแตกต่างและพัฒนาในวิธีที่ต่างกัน ช่วงเวลาสำคัญเหล่านี้สามารถช่วยให้คุณวัดระยะของพัฒนาการในปัจจุบันของลูก แต่พยายามอย่าใช้มันเพื่อตรวจสอบอย่างเข้มงวดจนเกินไปนัก ต่อไปนี้เป็นตัวบ่งชี้การพัฒนาทางภาษาทั่วไป 5 แบบ รวมทั้งวิธีที่คุณจะสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาให้กับลูกในทุกช่วงอายุ

แสดงออกทางสีหน้าและร้องไห้ เพื่อแสดงความพอใจหรือไม่พอใจ

1. ยิ้มและมีปฏิกิริยากับผู้คน (แรกเกิด – 3 เดือน)

ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนา เด็กทารกมักจะยิ้ม หัวเราะ และทำเสียง เพื่อแสดงความพอใจหรือไม่พึงพอใจ สามารถส่งเสียงตอบเมื่อมีคนพูดด้วย พวกเขายังมีการร้องไห้ที่แตกต่างกันหลายแบบ เพื่อสื่อสารความต้องการที่แตกต่างกัน

ใช้กิจวัตรประจำวันของคุณกับลูกให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการโต้ตอบกัน และเพิ่มเวลาที่จะใช้กับเขาแบบตัวต่อตัว เพื่อให้คุณใช้เวลาช่วงนั้นใส่ใจลูกน้อยอย่างครบสมบูรณ์

2. ส่งเสียงอ้อแอ้ (4-7 เดือน) และทำกลุ่มเสียงทั้งสั้นและยาว (7-12 เดือน)

ทารกวัยนี้เริ่มเข้าใจคำว่า “ไม่” และสามารถส่งเสียงอ้อแอ้ได้ชัดเจนกว่าเดิม ในขณะที่มีความพยายามที่จะพูดตามผู้ใหญ่มากขึ้น และในช่วง 7 เดือนขึ้นไปก็จะสามารถพูดคำแรกได้

จำลองทักษะภาษาที่ลูกของคุณควรพัฒนาระหว่างการทำกิจกรรมประจำวัน ลองเล่นกับเสียงต่าง ๆ เช่น บา บา บา หรือ มา มา มา พูดคุยกับลูกของคุณแบบเห็นหน้าและแสดงวิธีอ้าปากส่งเสียง

ควรมีกิจกรรมกระตุ้นการออกเสียงให้กับลูก

3. ทำความเข้าใจกับสิ่งที่คนอื่นพูดและทำตามคำสั่งง่าย ๆ (7 เดือน – 2 ปี)

เด็กอายุสองขวบสามารถเข้าใจคำแนะนำง่าย ๆ และสามารถตอบคำถามง่าย ๆ ได้ คำศัพท์ใหม่จะถูกเพิ่มเข้าไปในคลังคำศัพท์ของพวกเขาทุกเดือน ส่วนมากเป็นคำเรียกบุคคลและสิ่งของ จนรู้คำศัพท์มากประมาณ 50 คำ แต่อาจจะยังไม่สามารถออกเสียงได้ชัดเจนทุกคำ และพวกเขาก็จะเริ่มรวมประโยคจากการใช้สองคำรวมเข้าด้วยกัน

พูดในระดับเดียวกับลูกของคุณ และใช้การชี้นำด้วยภาพ เช่น การแสดงออกทางสีหน้าและท่าทาง หลีกเลี่ยงการให้คำสั่งที่มากเกินไปในคราวเดียว แทนที่จะพูดว่า “เอากระเป๋า หยิบรองเท้า แล้วไปขึ้นรถ” ให้คำสั่งแบบแยกกันเป็นสามคำแล้วรอให้ลูกของคุณทำตามคำสั่งแต่อย่างให้เสร็จ

4. พูดโดยใช้ประโยคที่มี 2-3 คำ และถามคำถาม (2.5-3 ปี)

เมื่อเด็ก ๆ มีอายุได้ 3 ปี พวกเขาจะสามารถสร้างประโยคที่มี 2-3 คำได้ เริ่มเข้าใจแนวคิดของการใช้พื้นที่ เช่น “ใน” “บน” ใช้คำสรรพนามได้ รวมทั้งมีการถามคำถามกับคนรอบตัว และเมื่อพวกเขามีอายุถึง 5 ปี พวกเขาก็จะสามารถร้อยเรียงคำ 4-5 คำให้เป็นประโยคได้ การออกเสียงมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น แต่คนแปลกหน้าอาจจะยังฟังไม่เข้าใจอยู่

คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยเพิ่มคำศัพท์ให้กับคลังคำของลูก ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกของคุณพูดว่า “นั่นหมา” คุณสามารถตอบกลับไปว่า “ใช่ เจ้าแซมมันเป็นหมาตัวใหญ่” ให้พูดโดยเน้นคำที่คุณเพิ่มเข้าไป แต่ไม่ควรคาดหวังว่าพวกเขาจะพูดมันซ้ำให้คุณได้ฟัง

คลังคำศัพท์และการสร้างประโยคที่ซับซ้อนจะพัฒนาตามอายุ

5. พูดพยัญชนะ ตัวเลข และสามารถสนทนาได้นานขึ้น (4-5 ปี)

เด็กสามารถสร้างประโยคที่ยาวมากขึ้นด้วยคำ 7-8 คำ ขึ้นไป และจะยังคงสร้างคำศัพท์เพิ่มเมื่อเขาค่อย ๆ โตขึ้น รวมทั้งสามารถจัดหมวดหมู่ของคำศัพท์ได้ เช่น สัตว์ อาหาร อวัยวะ นอกจากนี้เด็กยังสามารถแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกมากกว่าเพียงแค่พูดคุยเรื่องใกล้ ๆ ตัว เขาสามารถเข้าใจคำถามที่ซับซ้อนกว่าเดิม เล่าเรื่องตามจินตนาการได้ และอธิบายขั้นตอนการทำสิ่งต่าง ๆ แบบง่ายได้ด้วย

คุณพ่อคุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกเข้าร่วมเพลย์กรุ๊ปหรือเนอสเซอรี่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการฝึกฝนทักษะทางภาษาและการเข้าสังคมกับเด็ก ๆ วัยเดียวกัน

จะเห็นได้ว่ารายละเอียดในของพัฒนาการด้านภาษาในแต่ละช่วงวัยนั้นมีมากมายเลยนะคะ คุณพ่อคุณแม่จึงยังไม่ควรนำมาเป็นมาตรฐานที่ตายตัวแบบเป๊ะ ๆ เพราะพัฒนาการของเด็กแต่ละคนสามารถยืดหยุ่นได้ ช้าหรือเร็วกว่ากันได้พอสมควรเลยละค่ะ ยังไม่ต้องกังวลไปก่อนว่าเขาจะเป็นเด็กพัฒนาการช้า เพียงแค่ให้เวลากับเขา ทำกิจกรรมเสริมพัฒนาการด้วยกัน คอยสังเกตพัฒนาการอย่างใกล้ชิด และปรึกษาแพทย์เมื่อพบความผิดปกติค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th