Site icon Motherhood.co.th Blog

4 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพ ให้ลูกเรียนรู้ผ่านประวัติศาสตร์

เที่ยวพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพ

ปิดเทอมนี้หากไม่อยากไปไหนไกล พาลูกชมพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพดูสิ

4 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพ ให้ลูกเรียนรู้ผ่านประวัติศาสตร์

เราต่างก็รู้กันดีว่าพิพิธภัณฑ์เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้น่าสนใจที่เหมาะสมสำหรับเด็ก วันนี้ Motherhood จะมาแนะนำ “พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพ” ที่น่าสนใจให้คุณพ่อคุณแม่ได้พาเด็กๆไปเปิดหูเปิดตา เรียนรู้สิ่งใหม่ในช่วงปิดเทอมนี้กันค่ะ

01 – พิพิธบางลำพู

พิพิธภัณฑ์เสมือนจริงที่จะพาให้ผู้ชมย้อนอดีตไปเยี่ยมชมบางลำพู ที่นี่บอกเล่าเรื่องราวของเสน่ห์วิถีชีวิตชุมชนคนบางลำพูประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนหลากหลายเชื้อชาติแห่งนี้ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยการจำลองบรรยากาศแบบสมจริงผ่านห้องจัดแสดงต่างๆ ที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอข้อมูลได้อย่างน่าสนใจ

พาเด็กยุคใหม่เรียนรู้วิถีชีวิตย่านเมืองเก่า

จุดเด่นภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือการออกแบบพื้นที่ในรูปแบบ “ยูนิเวอร์แซล ดีไซน์” โดยการสร้างพื้นที่ที่สามารถรองรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และด็ก เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าเยี่ยมชมได้อย่างสะดวก

ห้องเบาะแสจากริมคลอง ภายในห้องนี้มีการจัดฉายภาพยนตร์ลงบนผนังและพื้นผิวน้ำที่จำลองเป็นคลองบางลำพู เพื่อแสดงให้เห็นภาพของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติที่อาศัยร่วมกัน ทั้งชาวไทย มอญ ลาว เขมร แขกตานี และจีน

พระนครเซ็นเตอร์ ห้องนี้จะเป็นการจำลองวิถีชีวิตของชาวย่านบางลำพูในอดีต มีทั้งโรงภาพยนตร์บุศยพรรณ โรงลิเกหอมหวน ห้าง ต.เง็กชวน  ถนนสิบสามห้าง  และร้านค้าเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในย่านบางลำพู

จัดแสดงจำลองบ้านดุริยประณีต

ย่ำตรอกบอกเรื่องเก่า เป็นห้องที่จัดแสดงเรื่องราวของชุมชนและตรอกซอกซอยต่างๆของบางลำพู ที่คนภายนอกอาจไม่เคยรู้ อาทิ การปักชุดโขนของชุมชนตรอกเขียนนิวาสและชุมชนตรอกไก่แจ้ บ้านดุริยประณีตที่เป็นเจ้าตำรับแห่งดนตรีไทยในชุมชนวัดสังเวชวรวิหาร ชุมชนทำเครื่องถม การตีทองคำเปลว และการแทงหยวก

ถิ่นคนดีศรีบางลำพู เป็นการจัดแสดงประวัติของบุคคลมีชื่อเสียงที่สร้างคุณูปการให้แก่สังคม จำลองต้นลำพูซึ่งนำส่วนหนึ่งมาจาก “ลำพูต้นสุดท้าย” จัดแสดงคู่กันกับ “ขุมทรัพย์บางลำพู” ที่เด็กๆจะได้สนุกกับการค้นหาคำตอบด้วยแผนที่

ที่ตั้ง: ถนนพระสุเมรุ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เวลาเปิด-ปิด:  ห้องจัดแสดงชั้น 1 เปิดเวลา 10.00-18.00 น. สามารถเดินชมได้ด้วยตนเอง ห้องจัดแสดงชั้น 2 เปิดเข้าชมเป็นรอบ ทุกๆ 30 นาที โดยมีเจ้าหน้าที่นำชม รอบแรกเวลา 10.00 น. รอบสุดท้ายเวลา 16.30 น. (หยุดทุกวันจันทร์)
เบอร์โทรศัพท์: 02-281 0345-51 ต่อ 1223 , 1224

02 – พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ป้อมมหากาฬ

อีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชน และเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งในชุมชนป้อมมหากาฬที่เกิดจากความร่วมมือของชาวบ้านในชุมชน พวกเขารวมตัวกันเพื่อพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณแห่งนี้ขึ้น จนกลายเป็น “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” แห่งแรกในกรุงเทพฯ

Living Heritage Museum ของชุมชนป้อมมหากาฬ

ที่นี่นำเสนอวิถีชีวิตของคนในชุมชนหลังกำแพงพระนครที่อยู่กันมายาวนานหลายชั่วอายุคน สัมผัสความเป็นไทยผ่านคลองเล็กๆ ที่ชื่อว่า “คลองโอ่งอ่าง” ซึ่งขุดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ พร้อมทั้งบ้านไม้โบราณ บ้านทรงไทยยกใต้ถุน ที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และมีต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี รวมถึงการทำอาชีพแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน เช่น การทำกรงนกเขาชวาแบบทำมือ การปั้นเศียรพ่อแก่ ซึ่งหาดูได้ยากมากในปัจจุบันเพราะเหลือช่างฝีมือแค่คนเดียว นอกจากนี้ยังการปั้นเครื่องดินเผา การทำเครื่องดนตรีไทยแบบโบราณอีกด้วย

ลองพาเด็กๆมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน โดยให้คนในชุมชนพาเที่ยวชมด้วยตัวเอง เด็กๆจะสามารถสัมผัส จับต้อง และเดินชมได้อย่างสนุกสนาน

ที่ตั้ง: ป้อมมหากาฬ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตรงข้ามวัดราชนัดดารามวรวิหาร ติดถนนมหาชัย แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เวลาเปิด-ปิด: ทุกวัน เวลา 09.00 – 16.00 น

03 – มิวเซียมสยาม

มิวเซียมสยามเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องแบบโต้ตอบ โดยใช้ตัวละคร 7 ตัว เป็นตัวกลาง ที่นี่มีจุดมุ่งหมายในการแสดงตัวตนของชนในชาติ ซึ่งทำให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้รากเหง้าของชาวไทย ความเป็นมาของชนชาติไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ การตกแต่งก็เป็นไปอย่างสวยงาม สามารถไปถ่ายรูปเก๋ๆกันได้

ที่นี่เคยเป็นอาคารของกระทรวงพาณิชย์มาก่อน

สถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกอาคารก็น่าสนใจ อาคารสีเหลืองที่เป็นพื้นที่จัดแสดงงาน เคยเป็นอาคารของกระทรวงพาณิชย์มาก่อน ก่อนที่กระทรวงพาณิชย์จะย้ายไปสนามบินน้ำ และกลายเป็นมิวเซียมสยามในเวลาต่อมา

ในส่วนของอาคารหลักนั้น จะจัดแสดงนิทรรศการถาวร ชุด “ถอดรหัสไทย” ซึ่งทำการจัดแสดงแยกเป็น 14 ห้อง 14 หัวข้อ ดังนี้

  1. ห้องไทยรึเปล่า – ตั้งคำถามเกี่ยวกับกรณีตัวอย่างที่เป็นที่ถกเถียงกันในสังคม
  2. ห้องไทยแปลไทย – จัดแสดงในรูปแบบลิ้นชัก ข้างในจะใส่ของที่นำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยในแต่ละยุคสมัย
  3. ห้องไทยตั้งแต่เกิด – นำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในสมัยต่างๆ
  4. ห้องไทยสถาบัน – แสดงแนวคิดและภาพจำของ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
  5. ห้องไทยอลังการ – จัดแสดงความงดงามของสถาปัตยกรรม และงานประณีตศิลป์ของไทย
  6. ห้องไทยแค่ไหน – จัดแสดงหุ่นจำลองกับเครื่องแต่งกายหลากหลายแบบ พร้อมป้ายอธิบายชื่อเรียกของแต่ละชุด
  7. ห้องไทย Only – รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ เพื่อให้เราได้เห็นชีวิตประจำวัน ที่เห็นแล้วจะรู้ทันทีว่า Thailand only!
  8. ห้องไทย Inter – นำเสนอความเป็นไทยผ่านสิ่งของต่างๆในสายตาของชาวต่างชาติ เทียบกับชาวไทย ในตู้เปรียบเทียบ
  9. ห้องไทยวิทยา – จำลองห้องเรียนใน 4 ยุค 4 สมัย
  10. ห้องไทยชิม – เรียนรู้ที่มาของอาหารไทยขึ้นชื่อ และเมนูที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ
  11. ห้องไทยโคตรดี – นำเสนอความเป็นไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอื่น
  12. ห้องไทยเชื่อ – รวบรวมสิ่งของที่คนไทยเคารพบูชา ภาพถ่ายพิธีกรรม และสิ่งของที่เกิดจากความเชื่อของคนไทย
  13. ห้องไทยประเพณี – ห้องนี้มีจิ๊กซอว์อยู่ในกล่อง ให้ผู้ชมมาร่วมต่อจิ๊กซอว์ พร้อมได้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีและเทศกาลไทย
  14. ห้องไทยแชะ – นำเสนอภาพถ่ายและหลักฐานความเป็นไทยที่ถูกถ่ายเก็บไว้ และมีชุดกับเครื่องประดับให้ยืมใส่เพื่อถ่ายรูป
ถ่ายรูปสวยๆกันให้สะใจ เพราะที่นี่จัดฉากสวยมาก

นิทรรศการถอดรหัสไทยจะทำการจัดแสดงไปจนถึง 31 ธันวาคม 2563 โดยนอกจากอาคารหลักที่จะแสดงนิทรรศการถาวรแล้ว ยังมีห้องสำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งสามารถเช็คได้ในเว็บไซต์ และสามารถเข้าชมได้ฟรี หากคุณพ่อคุณแม่กำลังวางแผนจะเดินทางมามิวเซียมสยาม ตอนนี้สามารถเดินทางสะดวกสบายและง่ายกว่าเดิมด้วยรถไฟฟ้า MRT ลงที่สถานีสนามไชยได้เลย

ที่ตั้ง: เลขที่ 4 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เวลาเปิด-ปิด: วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.00 น. (หยุดทำการวันจันทร์)
ค่าเข้าชม: คนไทย 100 บาท ต่างชาติ 200 วันหยุดนักขัตฤกษ์เข้าชมฟรี เวลา 16.00-18.00 น. ของวันทำการ เข้าชมฟรี

04 – นิทรรศน์รัตนโกสินทร์

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เป็นอาคาร 4 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับวัดราชนัดดาราม ที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้และแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมยุครัตนโกสินทร์ จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมยุครัตนโกสินทร์

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ได้นำเสนอเรื่องราวด้านต่างๆแห่งยุครัตนโกสินทร์ผ่านห้องจัดแสดง ซึ่งตั้งชื่อไว้อย่างคล้องจองกัน โดยแบ่งเป็นเส้นทางที่ 1 (ห้องหมายเลข 1-7)  และเส้นทางที่ 2 (ห้องหมายเลข 8-9) ดังนี้

  1. รัตนโกสินทร์เรืองโรจน์ จัดแสดงภาพยนตร์สื่อผสม 4 มิติ เสนอประวัติความเป็นมาการกำเนิดกรุงรัตนโกสินทร์
  2. เกียรติยศแผ่นดินสยาม : จัดแสดงความวิจิตรอลังการของพระบรมมหาราชวัง ตามคติความเชื่อในความเป็นสมมติเทพของพระมหากษัตริย์ ตลอดจนเกร็ดความรู้ ชีวิตในวัง
  3. เรืองนามมหรสพศิลป์ : จัดแสดงความเป็นมา และรูปแบบของมหรสพสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์หลากหลายประเภท
  4. ลือระบิลพระราชพิธี : จัดแสดงที่มาและความสำคัญของพระราชพิธี รวมทั้งเกร็ดความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์
  5. สง่าศรีสถาปัตยกรรม : จัดแสดงรูปแบบสถาปัตยกรรมในยุครัตนโกสินทร์ ทั้งวัง วัด บ้าน แห่งยุคสมัยรัตนโกสินทร์
  6. ดื่มด่ำย่านชุมชน : จัดแสดงความเป็นมาและเอกลักษณ์ของชุมชนบนเกาะรัตนโกสินทร์
  7. เยี่ยมยลถิ่นกรุง : รวบรวมและนำเสนอ สถานที่น่าสนใจบนเกาะรัตนโกสินทร์ หลายรูปแบบ
  8. เรืองรุ่งวิถีไทย : รวบรวมและนำเสนอวิถีชีวิตของคนไทย นับตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จวบจนถึงปัจจุบัน
  9. ดวงใจปวงประชา : รวบรวมและนำเสนอเรื่องราว พระอัจฉริยภาพ และพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน

ผู้ชมสามารถเลือกชมได้ทั้ง 2 เส้นทาง หรือจะเลือกชมเพียงเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งได้ตามความต้องการ โดยขึ้นอยู่กับรอบเวลาที่ว่างอยู่

ให้เด็กๆมาดูวิวัฒนาการของมหรสพไทยได้ที่นี่

นอกจากนิทรรศการหลักแล้ว ภายในอาคารยังมีห้องสมุดนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นห้องสมุดเฉพาะด้านที่รวบรวมสื่อต่างๆเกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์ มีจุดชมวิวที่ชั้น 4 ซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพของถนนราชดำเนินในมุมกว้างได้อย่างเต็มตา และมุมจำหน่ายของที่ระลึกให้ซื้อกลับไปอีกด้วย

ที่ตั้ง: เลขที่ 100 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เวลาเปิด-ปิด: วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 10.00 – 19.00 น. (หยุดทำการวันจันทร์)
ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ 100 บาท (ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ) เด็ก ส่วนสูงไม่เกิน 120 เซนติเมตร (ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ) นักเรียน/นิสิต/นักศึกษา ไม่เกินระดับปริญญาตรี (ในเครื่องแบบ หรือ แสดงบัตรนักเรียน/นักศึกษา) ผู้สูงอายุชาวไทย อายุ 60 ปีขึ้นไป (แสดงบัตรประชาชน) ภิกษุ สามเณร ผู้พิการ

เด็กๆอาจจะมองว่าการเที่ยวพิพิธภัณฑ์มันดูน่าเบื่อ แต่จริงๆแล้วมันมีอะไรให้เขาได้เรียนรู้และสนุกไปกับมันได้เยอะมาก ยังไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหนดีในช่วงปิดเทอมนี้ หรือไม่มีเวลาจะออกต่างจังหวัดหลายวัน แนะนำไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์กันดีกว่าค่ะ รับรองว่ามีรูปสวยๆ กลับมาเพียบแน่นอนเลย

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th