Site icon Motherhood.co.th Blog

สิ่งที่ “พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก”

สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก

คำบางคำที่คุณพูดอาจจะกระทบจิตใจลูกโดยที่คุณไม่รู้ตัว !

สิ่งที่ “พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก”

มีคำพูดหลายอย่างที่ “พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก” นะคะ แต่หลาย ๆ ครั้งพ่อแม่บางคนก็อาจจะพูดมันออกมาโดยไม่ทันคิด อย่างเช่น ถ้าหนูไม่รีบ แม่จะทิ้งหนูไว้ที่นี่แล้วนะ นี่คือปัญหาหนึ่งที่มีต้นตอมาจากความไม่ระวังของพ่อแม่เอง แล้วเราจะแก้ปัญหานี้กันได้อย่างไร ?

พ่อแม่ทั่วโลกต่างก็มีคำศัพท์ที่คล้ายคลึงกันอย่างน่ากลัวเพื่อจัดการกับลูก ๆ ของพวกเขาที่เป็นเด็กดื้อ ‘เร็วเข้า ไม่งั้นแม่จะทิ้งหนูไว้ที่นี่นะ ‘ ‘กิน ๆ เข้าไปซะ โลกนี้มีเด็กยากไร้ผู้หิวโหยอีกตั้งเยอะ’ ‘ทำไมลูกไม่เห็นเหมือนพี่เค้าเลย’ ประโยคแบบนี้มีทั่วทุกประเทศ วัฒนธรรม และภาษา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้บอกไว้ว่ามันเป็นสิ่งที่รบกวนใจเด็ก ๆ อยู่ไม่น้อย

แม้เจตนาของคุณจะดี แต่ถ้อยคำบางคำอาจทำร้ายลูกได้

ลอเรนโซ ไนอา ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารกับเด็กในตูริน ผู้เขียนหนังสือสำหรับเด็ก กล่าวว่าสิ่งเหล่านี้ “มักถูกพูดอย่างสบาย ๆ (โดยพ่อแม่) โดยที่พวกเขาไม่ได้สังเกตว่าลูก ๆ กำลังซึมซับสัญญาณจากพวกเขาอยู่” แอนนาลิซ่า ฟอลคอน นักการศึกษา ก็เห็นด้วย “เด็ก ๆ เข้าใจข้อความจากพฤติกรรมของเรา จากสิ่งที่เราพูด จากน้ำเสียงที่เราพูด” เธอกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 คน จะบอกกับเราว่าพวกเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับคำพูดที่ใช้บ่อยที่สุดในการสั่งสอนเด็ก และเราจะหาคำพูดที่ดีกว่ามาทดแทนได้อย่างไร

เมื่อพ่อแม่ขู่จะทอดทิ้งลูก

“ถ้าลูกไม่รีบ แม่จะทิ้งหนูไว้ตรงนี้แล้วนะ”

“ถ้าลูกทำแบบนี้อีก พ่อกับแม่จะไม่อยู่ด้วยแล้ว”

“เมื่อพ่อแม่พูดสิ่งเหล่านี้ พวกเขาจะปลูกฝังความกลัวให้ลูก  ๆ เพียงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเร็วขึ้น” ฟอลคอนกล่าว

ปัญหาคือ: ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองเห็นพ้องกันว่าเด็กกลัวการถูกทอดทิ้งมากกว่าสิ่งใด แม้กระทั่งความตาย ในขณะที่เด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะกลัวความตายเมื่อโตขึ้น “ความกลัวการถูกทอดทิ้งมีมาแต่กำเนิด – มากจนทารกมักจะร้องไห้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ดูแลของพวกเขาอยู่ที่นั่น” ไนอากล่าว

เนื่องจากปัญหาของการละทิ้งโดยสัญชาตญาณ เด็ก ๆ จำเป็นต้องรู้ว่าพวกเขาสามารถพึ่งพาพ่อแม่ได้ตลอดเวลา “ในฐานะพ่อแม่ คุณควรทำให้ชัดเจนว่าแม้คุณอาจไม่เห็นด้วยกับพวกเขาเสมอไป และคุณอาจโกรธ แต่ยินดีเสมอกับการที่พวกเขาจะวางใจในตัวคุณ และคุณจะไม่หยุดรักและสนับสนุนพวกเขา ไนอาพูดต่อ “การขู่ว่าจะละทิ้งพวกเขา เป็นเหมือนการส่งข้อความถึงพวกเขาว่ามันมีโอกาสที่คุณอาจไม่ได้อยู่ที่นั่นเพื่อพวกเขา”

วิธีแก้ปัญหา: พ่อแม่มักใช้คำพูดเหล่านี้เมื่อต้องรีบไป หรือเพื่อให้แน่ใจว่าลูกจะไม่หลงทาง “วิธีหนึ่งคือการเปลี่ยนประโยคเหล่านี้เป็นแง่บวก”” ไนอากล่าว แทนที่จะพูดว่า “ถ้าลูกไม่ทำ X แม่จะทำ Y” คุณสามารถพูดว่า “ถ้าลูกทำสิ่งนี้เพื่อแม่ แม่จะทำเพื่อลูก”

ตามคำกล่าวของฟอลคอน คุณสามารถลองใช้ประโยคเช่น “โอค แม่จะให้เวลาหนูสิบนาทีในการชิงช้าให้เสร็จ จากนั้นเราจะไปกัน” เธอเสริมว่า “สิ่งนี้จะช่วยให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดที่สำคัญ เช่น การประนีประนอม”

ขู่เด็กไปก็เท่านั้น เขาไม่รู้ถึงเหตุผลที่แท้จริงของสิ่งที่จะต้องทำ
เมื่อพ่อแม่ข่มขู่หรือแบล็กเมล์ลูก

“ถ้าหนูกรี๊ดแบบนี้ แม่จะให้หนูไปอยู่โรงเรียนประจำ”

“ถ้าหนูไม่ทำตัวดี ๆ ก็รอดูได้เลยว่าจะเจออะไร”

“ถ้าหนูไม่ทำการบ้าน พ่อจะไม่ซื้อของเล่นอันนั้นให้นะ”

พ่อแม่มักจะพูดสิ่งเหล่านี้เป็นหลักเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกประพฤติตัวไม่เหมาะสม แต่ตามคำกล่าวของฟอลคอน คำพูดประเภทนี้ “เป็นทางลัดสำหรับผู้ใหญ่มากกว่า พวกเขาไม่ได้สอนบทเรียนที่แท้จริงให้เด็ก ๆ ฟัง”

ปัญหาคือ: ไนอากล่าวว่าจิตวิทยาและการสอนในวัยเด็กกีดกันพ่อแม่ออกไปจากความคิดเกี่ยวกับการลงโทษ เพราะเด็กจะมีปฏิกิริยาตอบสนองตามความกลัวที่จะถูกลงโทษ แทนที่จะคิดถึงพฤติกรรมของพวกเขาจริง ๆ “พวกเขาจะพยายามตอบสนองความคาดหวังของผู้ใหญ่โดยไม่เข้าใจว่าทำไม” ฟอลคอนกล่าวเสริม

“หลักการเดียวกันนี้ใช้กับการให้รางวัลเช่นกัน” ไนอกล่าว “เมื่อคุณพูดว่า ‘ถ้าลูกได้เกรดดี พ่อจะซื้อของเล่นให้’ โฟกัสจะไปอยู่ที่ของเล่นมากกว่าพฤติกรรม”

วิธีแก้ปัญหา: ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคิดว่าพ่อแม่ควรรับทราบพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีเสมอ การยกย่องสำหรับการกระทำที่ดีจะช่วยให้เด็ก “หยุดและไตร่ตรองถึงการกระทำที่เป็นบวกนี้” ไนอากล่าว

ในทำนองเดียวกัน พ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้พฤติกรรมแย่ ๆ ลอยนวลไป พวกเขาควรเอ่ยปากออกมาด้วยความตั้งใจที่จะกระตุ้นให้พวกเขาทำตัวดีขึ้น “แทนที่จะพูดว่า ‘ลูกไม่สามารถเล่นคอมพ์ได้เพราะลูกยังทำการบ้านไม่เสร็จ’ คุณควรลองเป็น ‘ทันทีที่ลูกทำการบ้านเสร็จ ลูกก็สามารถเล่นคอมพ์ได้'”ไนอากล่าว

การเรียนรู้ชีวิตคนผ่านสื่อก็ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องที่เป็นนามธรรมได้ดีขึ้น
เมื่อพ่อแม่พยายามสอนลูกเรื่องศีลธรรมหรือบทเรียนชีวิต

“กิน ๆ เข้าไปซะ มีเด็กอดอยากอีกตั้งเยอะในโลก”

“ชีวิตมันไม่ง่ายหรอกนะ ลูกต้องเรียนรู้ซะตั้งแต่ตอนนี้”

“รอให้โตก่อน ลูกถึงจะทำอย่างที่อยากทำได้ แต่ตอนนี้ลูกต้องฟังพ่ออย่างเดียว”

ตามที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองกล่าว พ่อแม่มักจะใช้บทเรียนทางศีลธรรมเพื่อสร้างความท้าทายที่เด็ก ๆ จะต้องพบเจอในชีวิต แต่เด็กกลับมองว่านั่นคือการลงโทษพวกเขา

ปัญหาคือ: ข้อความเหล่านี้มักจะเป็นสิ่งที่ไม่เจาะจงและเป็นนามธรรม ดังนั้น เด็ก ๆ จึงเข้าใจได้ยากว่าหมายถึงอะไร “อย่างที่เราทราบจากการศึกษาเรื่องประสาทวิทยา การคิดเชิงนามธรรมนั้นพัฒนาช้ามาก ระหว่างอายุ 5-25 ปี” ฟอลคอนกล่าว แต่เธอแนะนำว่าพ่อแม่ควรให้ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นแก่ลูก ๆ ที่พวกเขาสามารถเชื่อมโยงได้

“ลองนึกถึงคำพูดที่ว่า ‘กินอาหารซะ เด็กคนอื่น ๆ กำลังหิวโหย’ ข้อความที่เราต้องการจะสื่อคืออย่ากินทิ้งกินขว้าง แต่การใช้ถ้อยคำเช่นนี้ ดูเหมือนว่าเรากำลังกล่าวโทษเด็กสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพวกเขา”

วิธีแก้ปัญหา: ไนอากล่าวว่าพ่อแม่ควรแนะนำแนวคิดเรื่องศีลธรรมเชิงเปรียบเทียบผ่านความช่วยเหลือจากนิยาย “การเล่น การอ่าน การดูตัวละครต่าง ๆ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ทั้งหมดนี้ช่วยให้เด็กพัฒนาความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ” ไนอากล่าวต่อ เรื่องราวในจินตนาการยังช่วยให้เด็ก ๆ จินตนาการถึงสถานการณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบได้

เมื่อพ่อแม่เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น

“ทำไมลูกไม่ทำตัวเหมือนลูกพี่ลูกน้องเค้าบ้างนะ พวกนั้นเค้าออกจะมารยาทดี”

“แกนี่เหมือนพ่อ/แม่แกจังนะ”

“ลูกไม่ถนัดเรื่องนี้หรอก มา แม่จัดการเอง”

ฟอลคอนคิดว่าการเปรียบเทียบหลาย ๆ อย่างมาจากความคิดของเราในการจัดลำดับความสำคัญของประสิทธิภาพการทำงานและความสำเร็จ “ลูกต้องทำตามความคาดหวังเสมอ ทำให้ดีกว่าคนอื่น” เธอกล่าว

ปัญหาคือ: “ในฐานะนักการศึกษาเด็ก ฉันพูดเสมอว่านี่ไม่ใช่การแข่งขัน ทุกคนมีความพิเศษและต้องการเวลาของตัวเอง” ฟอลคอนกล่าว “นั่นคือสิ่งที่ผู้ปกครองทุกคนควรเข้าใจ” ความจริงที่ว่าพฤติกรรมบางอย่างเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในเด็กคนหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าพฤติกรรมนั้นจะเป็นไปตามสัญชาตญาณสำหรับเด็กคนอื่น ๆ การเปรียบเทียบลูกของคุณกับเด็กคนอื่น ๆ ที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะ “เสี่ยงที่จะบ่อนทำลายความภาคภูมิใจในตนเองและความมั่นใจของพวกเขา ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จำเป็นต่อการเผชิญกับอนาคตของพวกเขา” ฟอลคอนกล่าว

ในทำนองเดียวกัน พ่อแม่มักจะเปรียบเทียบลูกของตนกับผู้ปกครองคนอื่น ๆ ปัญหาคือมีการใช้เด็กเป็นสื่อกลางในการกล่าวหาผู้ใหญ่ ทั้งที่ตัวเด็กไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมาแต่เดิม

วิธีแก้ปัญหา: พ่อแม่สามารถเปรียบเทียบตัวตนในอดีตของเด็กเพื่อเน้นย้ำความก้าวหน้าของพวกเขาได้ คุณสามารถใช้ประโยคเช่น “แม่มีความสุขเพราะเมื่อวานหนูเล่นในสวนสาธารณะกับเด็กคนอื่น ๆ และแบ่งปันของเล่นของหนู” ไนอากล่าว “ในกรณีนี้ ในฐานะผู้ปกครอง ฉันกำลังเน้นสิ่งที่ลูกแสดงให้ฉันเห็นว่าลูกทำได้ สิ่งที่อยู่ในมือเขา และเป็นส่วนหนึ่งของคุณ”

บางครั้งพ่อแม่ก็กังวลไปเองว่าจะถูกคนนอกมาตัดสิน
เมื่อพ่อแม่กลัวถูกคนอื่นตัดสิน

“อย่าร้องไห้เป็นเด็กผู้หญิงสิ”

“หนูเป็นสาวน้อยนะ ทำอย่างงั้นไม่ได้จ้ะ”

“ของเล่นอันนี้ไม่เหมาะกับลูกหรอก ไปดูอันอื่นเถอะ”

ดังที่ไนอากล่าวว่า “การศึกษาแบบสหวิทยาการที่รวมสังคมวิทยา การแพทย์ และจิตวิทยา แสดงให้เห็นว่าบทบาทและการแสดงออกทางเพศถูกกำหนดโดยพลการโดยสังคมที่เราเข้าไปพัวพัน” ในขณะที่บางสิ่งถือเป็นเรื่องของผู้ชายในสังคมหนึ่ง พวกมันอาจถูกจัดเป็นเรื่องของผู้หญิงในอีกสังคมหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การเอาชนะแบบแผนเหล่านี้ค่อนข้างยากสำหรับผู้ใหญ่ เพราะความคิดแบบนั้นฝังแน่นกับเขาไปแล้ว

ปัญหาคือ: พ่อแม่มักกลัวว่าจะต้องอับอายเพื่อนฝูงหรือถูกตัดสิน “ผู้คนพบรูปแบบที่สร้างความมั่นใจ ดังนั้น การที่ลูกสาวของคุณประพฤติตัวแบบเดียวกับผู้หญิงคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกับเธอ ทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นพ่อแม่ที่ดี” ไนอากล่าว อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้บทบาทที่เข้มงวดอาจทำให้เด็กรู้สึกเหมือนขาดอากาศหายใจและทำลายความภาคภูมิใจในตนเอง

วิธีแก้ปัญหา: เลือกใช้แนวทางการเลี้ยงลูกแบบเป็นกลางทางเพศและพยายามขจัดทัศนคติแบบเหมารวมและคำอย่างเช่น ‘เด็กผู้ชาย’ ‘เด็กผู้หญิง’ ‘สาวน้อย” และ ‘หนุ่มน้อย’ ในขณะที่ปล่อยให้เด็ก ๆ wเลือกรูปแบบการเล่นของตนเองอย่างอิสระ จากนั้นเด็กจะได้สัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ โดยค้นหาสิ่งที่พวกเขาชอบจริง ๆ

“เด็ก ๆ อยากรู้อยากเห็นมาก” ฟอลคอนกล่าว “พวกเขาเปลี่ยนแปลงความสนใจอยู่ตลอดเวลา พวกเขาเป็นเหมือนนักวิทยาศาสตร์ตัวจริง” การกีดกันไม่ให้พวกเขาแสดงออกจะไม่ทำให้พวกเขาเติบโต

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th