Site icon Motherhood.co.th Blog

ยาเรมเดซิเวียร์ ช่วยให้ผู้ป่วย Covid-19 ฟื้นตัวเร็วขึ้น

ยาเรมเดซิเวียร์รักษา Covid-19

ยาเรมเดซิเวียร์รักษาผู้ป่วย Covid-19 ให้หายกลับบ้านได้

ยาเรมเดซิเวียร์ ช่วยให้ผู้ป่วย Covid-19 ฟื้นตัวเร็วขึ้น

มีความคืบหน้าครั้งสำคัญในการรักษาผู้ป่วย Covid-19 เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ “ยาเรมเดซิเวียร์” ได้ถูกองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้เป็นยาต้านไวรัสโคโรนากับผู้ป่วย Covid-19 ที่อาการหนักแล้ว หลังพบว่ายาตัวนี้ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้นถึง 31% จากเดิมทียาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) เป็นยาต้านไวรัสที่ออกแบบมาเพื่อรักษาทั้งไวรัสตับอักเสบและไวรัสระบบทางเดินหายใจทั่ว ๆ ไป ที่ถูกคิดค้นโดยบริษัท Gilead Sciences ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

การทดลองใช้ยาเรมเดซิเวียร์เป็นยาต้านไวรัสโคโรนานั้น เกิดจากการระดมทุนโดยรัฐบาลกลาง ซึ่งอนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์ทำการวิจัยขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับยาตัวนี้โดยไม่มีผลประโยชน์ทางการเงิน ซึ่งการวิจัยนี้ขึ้นอยู่กับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเกือบทั้งหมด

งานวิจัยนี้สนับสนุนโดยรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ

รายงานจาก BBC และ The New York Times ระบุตรงกันว่า การทดลองยาต้านไวรัสชนิดนี้ได้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยค้นพบว่า มันสามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวและกลับบ้านได้เร็วขึ้นกว่าเดิม การทดลองนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ ซึ่งได้เริ่มศึกษาตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ทำการศึกษาผ่านผู้ป่วยจำนวน 1,063 คน จากประเทศสหรัฐฯ ฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักร จีน และเกาหลีใต้ โดยพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยานี้จะหายได้เร็วกว่าผู้ป่วยที่ใช้ยาหลอก (Placebo) ใน 11 วันเทียบกับ 15 วัน หรือคิดเป็น 31%

ดร.แคธลีน มูลเลน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวเพิ่มว่า “ข่าวดีที่สุดก็คือ ผู้ป่วย Covid-19 ส่วนใหญ่ที่ได้รับยาตัวนี้หายดีจนกลับบ้านได้ และมีคนไข้เพียง 2 รายเท่านั้นที่เสียชีวิต” อย่างไรก็ตาม ยารักษาตัวนี้ยังไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยในกลุ่มเฝ้าระวัง ดังนั้น ยังไม่สามารถสรุปได้ 100% ว่ายาเรมเดซิเวียร์จะมีประสิทธิภาพต่อการต้านไวรัส

ดร. มาร์ค เดนิสัน แห่งมหาวิทยาลัย Vanderbilt เป็นหนึ่งในนักวิจัยจำนวนหนึ่งที่ค้นพบศักยภาพของยาเรมเดซิเวียร์ เขาเริ่มศึกษาเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่มากนักจะสนใจเกี่ยวกับมัน “เราสนใจจากมุมมองทางชีวภาพ” ดร. เดนิสันเล่า “ไม่มีใครสนใจจากมุมมองของการบำบัดเลย” ยาเรมเดซิเวียร์ฆ่าไวรัสโคโรนาทุกตัวในการทดสอบของดร.เดนิสัน จากนั้นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลน่ายังพบว่ายานี้ยังฆ่าไวรัสในสัตว์ที่ติดเชื้อด้วย ซึ่งมันไม่ใช่เพียงแค่ไวรัสโคโรนาที่ก่อให้เกิดโรคหวัดเท่านั้น แต่รวมถึงโรคซาร์สและเมอร์สอีกด้วย

ด้าน นายแพทย์ แอนโทนี ฟอซี ที่ปรึกษาฝ่ายสาธารณสุข ประจำทำเนียบขาว ก็ยืนยันด้วยเช่นกันว่า ยาเรมเดซิเวียร์ถือเป็นยาที่ส่งผลดีต่อการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวจากอาการป่วยได้เร็วขึ้นกว่าเดิม ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า ยาดังกล่าวไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิตลงอย่างมีนัยสำคัญ เราจึงยังไม่ควรรีบตัดสินว่ายาชนิดนี้จะเป็น “ฮีโร่” ที่จะสามารถรักษา Covid-19 ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะมันยังจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกสักระยะ ขณะที่องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ก็อนุมัติให้ใช้ยาชนิดนี้อย่างมีเงื่อนไข โดยจำกัดให้ใช้เฉพาะกลุ่มผู้ป่วยหนักก่อนเท่านั้น ในขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยกย่องยาตัวนี้ในวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าเป็นการรักษาที่สำคัญและมีแนวโน้มจะเป็นไปในทางที่ดี

ถึงยาเรมเดซิเวียร์จะฟื้นฟูผู้ป่วย Covid-19 แต่ก็ไม่ใช่วัคซีนป้องกัน

ถึงกระนั้นแพทย์บางคนที่ทำงานในหน่วยผู้ป่วยหนักได้ใช้ยานี้เป็นอาวุธใหม่ในการจัดการกับไวรัส “มันเป็นก้าวแรกที่ยอดเยี่ยม” ดร. โรเบิร์ต ฟินเบิร์ก ประธานแผนกการแพทย์ของมหาวิทยาลัยแพทย์แมสซาชูเซตส์กล่าว

ไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อมั่นว่ายาเรมเดซิเวียร์จะทำงานได้ดีตามที่งานวิจัยกล่าวอ้าง การวิจัยในประเทศจีนที่เพิ่งตีพิมพ์ในสัปดาห์นี้ในวารสาร Lancet พบว่ายาตัวนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่ป่วยหนัก และผู้เชี่ยวชาญหลายคนต้องการดูข้อมูลจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ และอีกประเด็นที่ต้องย้ำเตือนก็คือ แม้ว่ายาชนิดนี้จะช่วยย่นระยะเวลาการฟื้นตัวของผู้ป่วยให้เร็วขึ้นได้ แต่ก็ไม่ได้หมายว่า มันคือวัคซีนที่จะช่วยจัดการกับ Covid-19 ในร่างกายผู้ป่วยแต่อย่างใด

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th