Site icon Motherhood.co.th Blog

รับบุตรบุญธรรม เขาทำกันอย่างไร ?

เงื่อนไขรับบุตรบุญธรรม

นี่คือสิ่งที่คุณต้องรู้ หากสนใจจะรับบุตรบุญธรรม

รับบุตรบุญธรรม เขาทำกันอย่างไร ?

สำหรับคู่รักที่แต่งงานกันมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ตั้งครรภ์สมใจเสียที บางครั้งการ “รับบุตรบุญธรรม” ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากการทำ IVF หรือการทำเด็กหลอดแก้ว เรียกได้ว่าเป็นทางออกของคนมีลูกยากที่นิยมทำกันมากพอสมควรไม่ว่าจะในต่างประเทศหรือในไทยเรา แต่มันไม่ได้ง่ายเพียงแค่คุณเดินทางไปยังบ้านเด็กกำพร้าหรือสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ เพื่อเลือกรับเด็กมาเท่านั้นนะคะ มันต้องทำเรื่องให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน ซึ่งในโอกาสที่วันนี้เป็นวันรับบุตรบุญธรรมโลก Motherhood จึงนำเอารายละเอียดในการเดินเรื่องมาฝากกันค่ะ

เราเห็นดาราดังรับบุตรบุญธรรมกันมากมาย จนอาจจะคิดว่ามันง่าย

เงื่อนไขของผู้รับบุตรบุญธรรม

  1. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และที่สำคัญต้องมีอายุแก่กว่าเด็กอย่างน้อย 15 ปี
  2. เป็นคนสัญชาติไทย ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย
  3. ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
  4. มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ รวมไปถึงสุขภาพทางใจด้วย
  5. ต้องเป็นผู้ที่ไม่ไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  6. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ตามมาตรา 1587 แห่งประมวลกฎหมายทางแพ่งและพาณิชย์
  7. เป็นผู้ที่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะสามารถเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีได้ ควรมีฐานะที่มั่นคง มีรายได้ที่แน่นอน เพื่อที่จะไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายการลี้ยงดูหรือสนับสนุนการศึกษาของเด็ก
  8. มีเวลามากพอสำหรับการดูแลเอาใจใส่เด็ก
  9. ไม่เคยเป็นผู้ต้องโทษหรือจำคุก จากการกระทำผิดอาญา เว้นแต่จะเป็นโทษประเภทกระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
  10. ผ่านการทดลองเลี้ยงดูเด็กครบตามกำหนดอย่างน้อย 6 เดือน ภายใต้การสังเกตกาณ์ของเจ้าหน้าที่ เว้นแต่ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงกับเด็ก
  11. เป็นครอบครัวที่อบอุ่น สมบูรณ์ และมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดี
  12. มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และถูกสุขลักษณะ
  13. ต้องไม่มีบุตรของตนเองหรือมีเด็กในความอุปการะจำนวนมากเกินไป เพื่อที่คุณจะสามารถดูแลเด็ก ๆ ทุกคนได้อย่างเต็มที่

เงื่อนไขของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม

  1. ตัวเด็กจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และเด็กจะต้องมีความยินยอมอยากเป็นบุตรบุญธรรมด้วยตนเอง
  2. ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่ยังเป็นผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กก่อน
  3. หากผู้เป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
  4. กรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นอยู่ จะไม่สามารถเป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่นซ้ำซ้อนได้
เงื่อนไขที่คุณต้องผ่านในการจะรับบุตรบุญธรรมนั้นมีมากมาย

ขั้นตอนการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

ผู้ที่สนใจจะรับเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรมจะต้องผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน ซึ่งมีดังต่อไปนี้

เมื่อคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอนุมัติให้คุณสามารถรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ ให้คุณนำหนังสือแจ้งคำอนุมัติที่ได้ไปร้องขอการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือเขตที่ไหนก็ได้

หลักฐานและเอกสารที่ต้องใช้

  1. สำเนาทะเบียนบ้านของคุณและคู่สมรส คนละ 1 ฉบับ
  2. สำเนาทะเบียนของตัวเด็กเองและของพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็ก คนละ 1 ฉบับ
  3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคุณและคู่สมรส คนละ 1 ฉบับ
  4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็ก และของเด็ก (หากเด็กมีอายุ 7 ปีขึ้นไปต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนด้วย) คนละ 1 ฉบับ
  5. สำเนาทะเบียนสมรสของคุณ 1 ฉบับ
  6. สำเนาทะเบียนสมรสหรือทะเบียนหย่าของพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็ก หากพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็กไม่ได้จดทะเบียนสมรส ให้ใช้ทะเบียนรับรองบุตร 1 ฉบับ
  7. ใบรับรองแพทย์ของคุณและคู่สารส เพื่อแสดงว่ามีความพร้อมทั้งด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจหรือไม่ โดยจะเป็นผลการตรวจสภาพจิตตามกระบวนการทดสอบทางจิตวิทยา (มีอายุไม่เกิน 6 เดือน)
  8. ในกรณีที่คุณต้องการขอรับเด็กมาเลี้ยงจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน เนื่องจากคุณไม่สามารถมีลูกได้ คุณจะต้องนำหลักฐานทางการแพทย์หรือใบรับรองแพทย์มายืนยันด้วย
  9. ผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม
  10. รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 2 นิ้วเท่านั้น คนละ 1 รูป ทั้งของคุณกับคู่สมรส ของเด็ก และของพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็ก โดยเป็นรูปที่ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน กรณีเป็นเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี อนุโลมให้ใช้รูปขนาดโปสการ์ดได้
  11. สูติบัตรของเด็ก
  12. สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-สกุลของคุณหรือคู่สมรส (ถ้ามี) 1 ฉบับ
  13. สำเนาใบมรณะบัตรในกรณีที่คู่สมรสของพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็กเสียชีวิต 1 ฉบับ
  14. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน อย่างละ 1 ฉบับ ของผู้รับรอง 1 คน ซึ่งผู้รับรองต้องรู้จักกับตัวคุณ เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อน หรือหัวหน้างาน โดยที่ผู้รับรองไม่ต้องมาด้วยในวันที่คุณนำคำร้องมายื่น แค่ต้องรับรองสำเนาเอกสารของตนเองให้ครบ
  15. กรณีที่คุณมีสัญชาติไทย ไม่ได้ถือ Citizen ของประเทศอื่น แต่คุณทำงานและอาศัยอยู่ต่างประเทศ ให้นำสำเนาหนังสือเดินทาง หนังสืออนุญาตทำงาน หนังสือรับรองการทำงานและรายได้ และทำหนังสือขอความร่วมมือเยี่ยมบ้านในต่างประเทศ โดยต้องระบุสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยที่ใกล้ที่อยู่ของตน และยินยอมจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในการติดตามเยี่ยมบ้านและติดตามการทดลองเลี้ยงดูเด็ก (กรณีต้องทดลองเลี้ยงดูเด็กตามกฎหมาย) และหลักฐานที่เป็นภาษาต่างประเทศต้องแปลเป็นภาษาไทยอย่างถูกต้องและได้รับการรับรอง
  16. หากคุณและคู่สมรสไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่อยู่กินร่วมกันฉันท์สามีภรรยา คู่สมรสของคุณไม่สามารถขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมร่วมได้ และต้องลงนามในเอกสารคำร้องขอรับเด็ก พร้อมแนบเอกสารหลักฐานดังที่กล่าวมาข้างต้น
  17. เอกสารหลักฐานของทุกคน ยกเว้นของผู้รับรอง ให้นำฉบับจริงมาแสดงด้วย ในวันที่นำคำร้องขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมายื่น
หากคุณอยู่ต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการเยี่ยมบ้านเพื่อตรวจสอบก็จะเพิ่มมาอีก

สิทธิตามกฎหมายของเด็กเมื่อได้เป็นบุตรบุญธรรม

การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมนั้น ตามกฎหมายแล้วจะให้สิทธิคุ้มครองเด็กให้มีฐานะเหมือนเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของคุณโดยทันทีนับแต่วันที่จดทะเบียน เช่น สามารถใช้นามสกุลของคุณได้ ตัวเด็กมีสิทธิได้รับมรดก แต่สำหรับตัวคุณเองนั้นไม่มีสิทธิที่จะมารับมรดกของเด็ก หากเด็กยังมีครอบครัวที่แท้จริงอยู่ ตัวเด็กเองก็ยังไม่ได้เสียสิทธิที่ควรได้หรือพึงมีตามกฎหมายจากครอบครัวเดิมไป เช่น เด็กยังสามารถได้รับมรดกจากพ่อแม่ที่แท้จริงได้ และพ่อแม่ที่แท้จริงก็ยังมีสิทธิ์ในการไปมาหาสู่หรือมาเยี่ยมกันได้ตามสมควร

นอกจากนี้กฎหมายยังคุ้มครองเด็ก โดยที่ผู้จะรับบุตรบุญธรรมจะไม่สามารถเลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม นอกเสียจากจะได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็กก่อน และพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็กก็สามารถฟ้องให้เลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ หากเกิดเหตุอันไม่ควร

หากคุณมีข้อสงสัยเพิ่มเต็ม ก็สามารถสอบถามรายละเอียดได้จาก กรมกิจการเด็กและเยาวชน ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2255 5850-7 หรือ 0 2253 9116-7 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ dcy.go.th ก็ได้เช่นกัน

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th