Site icon Motherhood.co.th Blog

10 เคล็ดลับสำหรับ “สอนลูกเรื่องการออมเงิน”

ต้องสอนลูกเรื่องการออมเงิน

วางรากฐานวินัยทางการเงินให้ลูกตั้งแต่วันนี้ด้วยการออม

10 เคล็ดลับสำหรับ “สอนลูกเรื่องการออมเงิน”

นิสัยการออมเงินอาจเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญ แต่ก็ไม่ใช่นิสัยที่จะได้มาง่าย ๆ เสมอไป คนเป็นพ่อแม่จึงจำเป็นที่จะต้อง “สอนลูกเรื่องการออมเงิน” ไว้ตั้งแต่ตอนที่เขายังเล็ก เพราะนิสัยการออมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ตั้งตัวได้ เป็นหน้าที่ของคุณที่จะช่วยให้พวกเขาป้องกันการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและเรียนรู้ที่จะให้คุณค่ากับการควบคุมเงินของพวกเขา เมื่อคุณคำนึงถึงประโยชน์ของสิ่งนี้ ต่อไปนี้คือ 10 เคล็ดลับที่คุณสามารถดำเนินการเพื่อให้บุตรหลานของคุณเริ่มต้นการออม

1. แยกแยะความต้องการออกจากความจำเป็น

ขั้นตอนแรกในการสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักคุณค่าของการออมคือการช่วยให้พวกเขาแยกแยะระหว่างความต้องการกับความจำเป็นออกจากกันเสียก่อน อธิบายว่าความจำเป็นรวมถึงเรื่องพื้นฐาน เช่น อาหาร ที่พักพิง เสื้อผ้า การดูแลสุขภาพ และการศึกษา สิ่งที่อยากได้นอกไปจากนั้นคือสิ่งเพิ่มเติม ตั้งแต่ตั๋วหนังและขนมไปจนถึงรองเท้าผ้าใบมีแบรนด์ จักรยาน หรือสมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุด

คุณยังสามารถทดสอบพวกเขาเกี่ยวกับสิ่งของในบ้านของคุณเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดนี้ ตัวอย่างเช่น ชี้สิ่งของในห้องนอนหรือในครัวและถามพวกเขาว่าสิ่งของนั้นเป็นของจำเป็นหรือของที่แค่สนองความต้องการ สิ่งนี้ทำให้คุณสามารถอธิบายแนวคิดที่ว่าคุณต้องจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่คุณใช้เงินจ่าย และเก็บเงินไว้สำหรับสิ่งจำเป็นในอนาคต

2. ให้พวกเขาได้หาเงินเองบ้าง

หากคุณต้องการให้ลูกของคุณฝึกนิสัยประหยัด ปล่อยให้พวกเขาหารายได้และออมเงินด้วยตัวเองดู เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้วิธีใช้เงินด้วย เมื่อคุณเสนอค่าขนมเพื่อแลกกับงานบ้าน พวกเขาก็จะได้เรียนรู้คุณค่าของการทำงานหนักเช่นกัน

3. ตั้งเป้าหมายการออม

สำหรับเด็ก การได้รับคำสั่งให้เก็บเงิน—โดยไม่อธิบายเหตุผล—อาจดูไร้ความหมาย การช่วยเด็กกำหนดเป้าหมายการออมอาจเป็นวิธีที่ดีกว่าในการกระตุ้นให้พวกเขาออมเงิน

หากพวกเขารู้ว่าพวกเขาต้องการประหยัดเงินเพื่ออะไร ให้ช่วยแบ่งเป้าหมายออกเป็นกลุ่มย่อยที่จัดการได้ ตัวอย่างเช่น หากพวกเขาต้องการซื้อเกมมูลค่า 2,000 บาท และพวกเขาได้รับเงินค่าขนม 300 บาทต่อสัปดาห์ ช่วยพวกเขาหาว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะบรรลุเป้าหมายนั้น โดยพิจารณาจากอัตราการออมของพวกเขา

4. จัดหาที่สำหรับออมเงิน

เมื่อลูก ๆ ของคุณมีเป้าหมายในการออม พวกเขาต้องการที่สำหรับสะสมเงินสด สำหรับเด็กเล็กอาจใช้เป็นกระปุกออมสิน แต่ถ้าพวกเขาอายุมากกว่านั้น คุณอาจต้องการเปิดบัญชีออมทรัพย์ส่วนตัวาำหรับเขาที่ธนาคาร หรือแม้แต่เปิดบัตรเดบิตที่เหมาะกับเด็ก

5. ให้พวกเขาติดตามการใช้จ่าย

ส่วนหนึ่งของการเป็นนักออมที่ดีกว่าคือการรู้ว่าเงินของคุณกำลังจะไปไหน สมัยนี้การติดตามค่าใช้จ่ายทำได้ง่ายขึ้นเเมื่อใช้แอปธนาคาร แต่คุณสามารถทำได้ด้วยวิธีโบราณเช่นกัน

หากลูกของคุณได้รับเงินค่าขนม การให้พวกเขาจดรายการใช้จ่ายในแต่ละวันและรวมเข้าด้วยกันเมื่อสิ้นสุดสัปดาห์อาจเป็นประสบการณ์ที่เปิดหูเปิดตา กระตุ้นให้พวกเขาคิดว่าพวกเขาใช้จ่ายอย่างไรและจะบรรลุเป้าหมายการออมได้เร็วแค่ไหนหากต้องเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่าย

6. เสนอสิ่งจูงใจในการออม

เหตุผลหนึ่งที่ผู้คนประหยัดเงินในแผนเกษียณอายุของนายจ้างก็คือเงินสมทบที่ได้รับจากบริษัท ใครบ้างละจะไม่ชอบเงินฟรี ? หากคุณมีปัญหาในการจูงใจลูก ๆ ให้ออมเงิน คุณสามารถใช้หลักการเดียวกันนี้เพื่อเพิ่มความพยายามของพวกเขาได้

หากลูกของคุณตั้งเป้าหมายการออมไว้มาก เช่น แท็บเล็ต 12,000 บาท คุณอาจเสนอให้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่เขาออมได้ อีกทางเลือกหนึ่ง คุณสามารถเสนอรางวัลเมื่อลูกของคุณบรรลุเป้าหมายการออม เช่น โบนัส 1,000 บาท สำหรับการเก็บไปถึงครึ่งทาง

7. ปล่อยให้มีข้อผิดพลาด

ส่วนหนึ่งของการให้เด็ก ๆ ควบคุมเงินของตัวเองคือการปล่อยให้พวกเขาเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง มันเป็นเรื่องที่ยั่วใจมากที่คุณจะก้าวเข้ามากะเกณฑ์เขาให้ห่างจากความผิดพลาดที่อาจมีค่าใช้จ่ายสูง แต่อาจดีกว่าถ้าใช้ความผิดพลาดนั้นเป็นช่วงเวลาที่สอนเขาได้ ด้วยวิธีนี้ พวกเขาจะรู้ว่าไม่ควรทำอะไรกับเงินสดในอนาคต

8. ทำหน้าที่เป็นเจ้าหนี้ของพวกเขา

หลักการพื้นฐานประการหนึ่งของการออมคือการไม่ทำเกินความสามารถของคุณ หากลูกของคุณมีของที่อยากซื้อและรู้สึกไม่อดทนกับการออมเพื่อสิ่งนั้น การเป็นเจ้าหนี้ของลูกสามารถช่วยสอนบทเรียนอันมีค่าเกี่ยวกับการออมได้

สมมติว่าลูกของคุณต้องการซื้อบางอย่างที่มีราคา 3,000 บาท คุณสามารถ ‘ให้ยืม’ เงินและเรียกเก็บหนี้จากเงินส่วนที่คุณให้พร้อมดอกเบี้ย บทเรียนที่คุณต้องการสอนก็คือการออมอาจหมายถึงความอดทนรอ (Delayed gratification) ที่นานขึ้น แต่สิ่งของที่ลูกต้องการซื้อจะมีค่าใช้จ่ายน้อยลงหากลูกรอได้

9. พูดคุยเกี่ยวกับเงิน

ในการสำรวจของ T. Rowe Price ในปี 2021 ผู้ปกครอง 41% บอกว่าพวกเขาไม่ชอบคุยกับลูกเรื่องเงิน หลายคนแสดงความเขินอายที่จะพูดถึงเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หากคุณต้องการให้เด็กๆ เรียนรู้เกี่ยวกับการออม คุณต้องดูแลให้มีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าคุณจะกำหนดเวลาเช็คอินประจำสัปดาห์เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเงินหรือคุยกันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน กุญแจสำคัญคือทำให้การสนทนานี้ดำเนินต่อไป

10. เป็นตัวอย่างที่ดี

การสำรวจของ T. Rowe Price พบว่ามีเพียง 59% ของผู้ปกครองเท่านั้นที่มีเงินเก็บไว้เพื่อการเกษียณ ในขณะที่มีเพียง 55% เท่านั้นที่มีเงินออมทรัพย์ฉุกเฉิน คุณยังสามารถช่วยกันตัดสินใจเก็บเงินเพื่อซื้อของร่วมกันได้ เช่น ทีวีจอใหญ่ ทริปวันหยุดพักผ่อนของครอบครัว หรือสระว่ายน้ำ

พ่อแม่จะส่งเสริมให้ลูกออมเงินได้อย่างไร ?

วิธีหนึ่งที่จะส่งเสริมให้เด็ก ๆ ออมเงินบางส่วนคือการจัดหาที่สำหรับเก็บออม สำหรับเด็กเล็กนั่นอาจหมายถึงการได้กระปุกออมสิน เด็กโตสามารถเปิดบัญชีธนาคารหรือบัตรเดบิตของตนเองได้ คุณยังสามารถจ่ายดอกเบี้ยให้กับสิ่งที่พวกเขาประหยัดได้ เพื่อเป็นแรงจูงใจในการกันเงินไว้สำหรับอนาคต

อะไรคืออุปสรรคในการสอนลูกเรื่องการออมเงิน ?

การวิจัยชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองหลายคนลังเลที่จะพูดเรื่องเงินกับลูก ๆ ด้วยซ้ำ การสำรวจในปี 2021 โดย T. Rowe Price พบว่า 41% ของผู้ปกครองหลีกเลี่ยงการสนทนาเหล่านั้น ในการสอนพฤติกรรมที่ดีเกี่ยวกับการใช้เงิน พ่อแม่ต้องหาวิธีพูดคุยเรื่องนี้ในบ้าน

พ่อแม่จะสอนลูกให้แยกแยะระหว่างความต้องการกับความจำเป็นได้อย่างไร ?

พ่อแม่สามารถตอบคำถามเด็ก ๆ เกี่ยวกับสิ่งของที่พบในบ้านของคุณได้ ตั้งแต่เครื่องครัว เสื้อผ้า ไปจนถึงของเล่น และถามพวกเขาว่าเป็นสิ่งที่ครอบครัวของคุณจำเป็นต้องมีหรือเพียงแค่อยากได้ โดยการชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างนั้น เด็ก ๆ จะเริ่มรู้สึกว่าการซื้อสินค้าบางอย่างควรมีลำดับความสำคัญสูงกว่าของอีกอย่าง

หากคุณเป็นพ่อแม่ การทำให้การออมเงินเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของลูกจะเป็นการวางรากฐานสำหรับอนาคตทางการเงินที่สดใส การปลูกฝังวินัยทางการเงินที่ดีตั้งแต่ยังเล็กทำให้เด็ก ๆ มีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเครียดทางการเงินน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เติบโตมากับการฝึกแบบนี้

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th