Site icon Motherhood.co.th Blog

8 วิธี สอนลูกให้มีวินัย สำหรับวัยเด็กเล็ก

วิธีสอนลูกให้มีวินัย

พบกับ 8 วิธีฝึกวินัยให้เจ้าตัวเล็ก

8 วิธี สอนลูกให้มีวินัย สำหรับวัยเด็กเล็ก

แม้แต่พ่อแม่ที่มีลูกมาแล้วมากกว่าหนึ่งคนก็พบว่าการที่จะ “สอนลูกให้มีวินัย” ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้อย่างง่ายดายเลย โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ลองทำตามกลยุทธ์ที่เราหามาให้นี้ดูสิคะ เพื่อให้เจ้าตัวน้อยของคุณอยู่กับร่องกับรอยที่คุณอยากให้เป็นมากขึ้น

สำหรับคุณแม่จำนวนมาก การฝึกฝนวินัยอย่างมีประสิทธิภาพเป็นหนึ่งในภารกิจที่ยากที่สุดและน่าเหนื่อยหน่ายใจที่สุดในการเป็นผู้ปกครอง เป็นเหมือนการปะทะกันผ่านความรู้สึกนึกคิดที่ไม่มีวันสิ้นสุดระหว่างคุณกับลูกของคุณ เพราะเมื่อลูกวัย 2 ขวบของคุณ “เข้าใจ” แล้วว่าที่เธอไม่สามารถกระแทกหัวน้องชายของเธอได้ด้วยตุ๊กตา เธอก็จะเบนไปทำพฤติกรรมที่น่ารำคาญอีกอย่างหนึ่ง และเหมือนว่ากระบวนการทุกอย่างจะต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

เราจะฝึกหัววินัยให้เด็กเล็กได้อย่างไร บางคนยึดถือเอาด้วยการตีและลงโทษ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เรากำลังพูดถึง ดังที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการอบรมเลี้ยงดูลูกหลายคนเห็นตรงกันว่า วินัยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตั้งกฎเพื่อไม่ให้ลูกน้อยของคุณมีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่ก้าวร้าว (การตีและการกัด) ที่ก่อให้เกิดอันตราย (วิ่งออกไปตามถนน) และพฤติกรรมอันไม่เหมาะสม (ขว้างปาอาหาร) นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับการติดตามผลที่ตามมาเมื่อเขาทำผิดกฎ และนี่คือ 8 กลยุทธ์ที่สามารถช่วยคุณกำหนด จำกัด และหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดี

1. เลือวิธีต่อสู้ให้เหมาะ

ถ้าคุณได้แต่พูดว่า “ไม่ ไม่” ลูกของคุณจะไม่สนใจและไม่เข้าใจลำดับความสำคัญที่คุณต้องการ นอกจากนั้นคุณจะยังไม่สามารถแจกแจงแบบชี้เฉพาะด้วยว่า “ไม่” นั้นมันสำหรับอะไรบ้าง คุณจำเป็นที่จะต้องกำหนดไปเลยว่าอะไรที่สำคัญบ้างสำหรับคุณ กำหนดลิมิตขึ้นมาตามความเหมาะสม รวมทั้งติดตามผลลัพธ์ด้วย และให้ลองปรับให้มีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นบ้าง ทำแบบนี้ลูกของคุณจะพัฒนาได้เร็วกว่าการที่คุณยืนยันกระต่ายขาเดียวกับเขา เพื่อให้เขาทำตามที่คุณต้องการให้จงได้

หากคุณปล่อยให้ลูกเล่นและทำห้องรกก่อนที่เขาจะนอนหลับ คุณพบว่าทั้งของเล่น หนังสือ เสื้อผ้าเกลื่อนกลาดไปหมด การที่คุณเอาแต่พร่ำบอกลูกว่า “อย่าทำรก” ไม่ได้ทำให้ลูกฟังคุณเลย แทนที่จะพูดห้าม ให้คุณบอกลูกให้จัดการเคลียร์ห้องหลังจากที่ลูกตื่น หรือเมื่อลูกแบ่งของเล่นให้กับน้องเล็ก คุณก็ต้องไม่ลืมที่จะกล่าวชมเขาอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการเสริมแรงกระตุ้นเชิงบวกให้ลูกทำพฤติกรรมที่ดีขึ้น และทำพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลดลง

ควรเก็บสิ่งของที่จะกระตุ้นเขาให้ห่างมือ

2. รู้ว่าอะไรกระตุ้นลูกคุณ

พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างสามารถป้องกันได้ ตราบใดที่คุณสามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรเป็นตัวจุดประกาย และคุณสร้างแผนไว้ล่วงหน้า เช่น จัดการกับสิ่งล่อตาล่อใจ หากลูกชอบที่ลากกระดาษชำระลงไปในห้องโถงและหัวเราะคิกคักขณะที่ม้วนกระดาษคลี่ออกมาด้านหลังเขา การเอาแต่พูดว่า “ไม่” หรือ “อย่าทำอย่างนั้น” ก็ไม่ได้ผลเท่าไหร่ สิ่งที่คุณต้องทำนั้นง่ายมาก เพียงแค่ย้ายกระดาษชำระไปที่ชั้นวางในห้องน้ำที่เขาไม่สามารถเข้าถึงได้ สำหรับเด็กวัยหัดเดินการดึงกระดาษชำระออกมานั้นเป็นสิ่งไม่อาจต้านทานได้เลย มันง่ายกว่าที่คุณจะนำมันออกไปให้พ้นทางแทนที่จะต่อสู้รบราไม่ให้ลูกหยิบมันมาเล่น

หากลูกวัย 18 เดือนของคุณมีแนวโน้มที่จะคว้ากระป๋องออกจากชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ต ให้นำของเล่นมาให้เขาเล่นด้วยในรถเข็นขณะที่คุณซื้อของ หากลูกวัยอายุ 2 ขวบของคุณไม่แบ่งปันตุ๊กตาของเธอระหว่างเล่นกับเพื่อน ๆ ที่บ้าน ให้นำพวกมันออกจากพื้นที่เล่นก่อนที่เพื่อนของเธอจะมาถึง และถ้าลูกวัย 3 ขวบของคุณชอบวาดภาพบนผนัง ให้คุณนำดินสอสีไปเก็บไว้ในลิ้นชักที่เข้าถึงไม่ได้ และอย่าให้สีพวกนั้นแก่เขาโดยที่คุณไม่ได้ดูแลอยู่

3. ซักซ้อมการป้องกัน

เด็กบางคนแสดงท่าทางออกมาเมื่อเขาหิวหรือมีความขับข้องใจอยู่ภายใน หากลูกของคุณมีความสุขและกระปรี้กระเปร่าในตอนเช้า แต่ดูเหนื่อยและหงุดหงิดหลังอาหารกลางวัน ให้ไปพบแพทย์เมื่อเธออยู่ในสภาพที่ดีที่สุด เตรียมเธอให้พร้อมสำหรับประสบการณ์ใหม่ ๆ และคอยอธิบายว่าคุณคาดหวังให้เธอทำอะไร

นอกจากนั้นต้องเตรียมลูกให้พร้อมในการเปลี่ยนกิจกรรมด้วย “ในอีกไม่กี่นาทีเราจะต้องหยิบของเล่นและเตรียมพร้อมที่จะกลับบ้านแล้วนะ” เด็กที่เตรียมตัวไว้ดีกว่า จะมีโอกาสน้อยที่จะก่อเรื่องยุ่งยาก

เรียนรู้ที่จะแสดงออกให้เหมือนกันทุกครั้งเมื่ออยากให้ลูกเข้าใจ

4. ความสม่ำเสมอ

ระหว่างช่วงอายุ 2 ถึง 3 ขวบ เด็กกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมของพวกเขาส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบตัวอย่างไร หากปฏิกิริยาของคุณต่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งคุณปล่อยให้ลูกชายของคุณโยนลูกบอลเข้าไปในบ้าน และครั้งต่อไปคุณบอกเขาว่าทำแบบนั้นไม่ได้ ลูกคุณจะสับสนกับสัญญาณที่หลากหลาย

ถ้าคุณตอบสนองแบบเดียวกันเขาอาจเรียนรู้บทเรียนของเขาหลังจากสี่หรือห้าครั้ง ความสม่ำเสมอเป็นกุญแจสำคัญ ทุกครั้งที่ลูกของคุณนำนิ้วมือของคุณไปกัดเล่น ให้บอกเขาว่า “หยุดทำนะ แม่เจ็บ” จากนั้นหยิบของเล่นให้แทนเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

5. อย่าใช้อารมณ์

แน่นอนว่ามันยากที่จะสงบสติอารมณ์ เมื่อลูกวัย 18 เดือนของคุณดึงหางสุนัข หรือเมื่อลูกวัย 3 ขวบของคุณปฏิเสธที่จะแปรงฟันของเขาเป็นครั้งที่หนึ่งพันล้าน แต่ถ้าคุณกรีดร้องด้วยความโกรธ ข้อความที่คุณพยายามส่งไปให้ลูกรับรู้จะหายไป และสถานการณ์ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเด็กถูกอารมณ์ด้านลบของพ่อแม่ถาโถมเข้าใส่ เขาจะเห็นแต่อารมณ์ แต่จะไม่ได้ยินในสิ่งที่คุณบอกกับเขา

ที่จริงแล้วปฏิกิริยาของความโกรธแค้นกลับจะเพิ่มความบันเทิงให้กับลูกของคุณเท่านั้น ดังนั้น จงอย่าตะเบ็งเสียง หายใจเข้าลึก ๆ นับถึงสามแล้วนั่งลงไปที่ระดับสายตาของลูก จงพูดอย่างรวดเร็ว มั่นคง จริงจัง และเข้มงวด เมื่อคุณส่งคำตำหนิไปยังเขา

เปลี่ยนเป้าหมายของคุณจากการ “ควบคุมลูก” ให้เป็นการ “ควบคุมสถานการณ์” นี่อาจหมายถึงการปรับเปลี่ยนความคิดของคุณเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นไปได้ในช่วงเวลาหนึ่ง จนกว่าการมีวินัยในตัวเองของลูกคุณจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย คุณอาจต้องลดความคาดหวังของคุณถึงความอดทนและการควบคุมตนเองของลูกลงบ้าง ถ้าเป้าหมายของคุณคือการทำให้แต่ละวันเป็นไปอย่างราบรื่น

หากลูกยังเล็ก การให้เหตุผลยาว ๆ เขาจะยังฟังไม่เข้าใจ

6. รับฟังและทวนซ้ำ

เด็ก ๆ จะรู้สึกดีขึ้นเมื่อพวกเขารู้ว่าพวกเขาเคยได้ยิน ดังนั้นเมื่อเป็นไปได้ ให้ทำซ้ำในสิ่งที่เด็กกังวล ถ้าลูกส่งเสียงดังในร้านขายของเพราะคุณจะไม่ยอมให้ลูกแกะคุกกี้ คุณลองพูดอะไรบางอย่างเช่น “ดูเหมือนว่าลูกจะโกรธแม่ เพราะแม่จะไม่ยอมให้หนูแกะคุกกี้จนกว่าเราจะกลับถึงบ้านฉัน ขอโทษที่ลูกรู้สึกแบบนี้ แต่ร้านค้าจะไม่ยอมให้แกะสิ่งต่าง ๆ จนกว่าพวกเราจะจ่ายเงิน มันเป็นกฎของเขา” แม้ว่าการพูดเช่นนี้จะไม่สนองความต้องการของเด็ก แต่มันจะลดความโกรธของลูกลงได้บ้างและช่วยกลบเกลื่อนความขัดแย้ง

7. ทำให้ง่ายและสั้นเข้าไว้

หากคุณเพิ่งรับบทเป็นพ่อแม่ครั้งแรก ส่วนใหญ่คุณมักจะใช้เหตุผลกับลูกของคุณเมื่อเขาทำผิดกฎ ลองให้คำอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกทำผิดไป และออกบทลงโทษหรือสิทธิพิเศษที่ลูกจะต้องเสียมันไปหากลูกยังไม่หยุดทำตัวไม่ดี แต่กลยุทธ์เช่นนี้จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะในขณะที่เด็กอายุ 18 เดือน เขาจะขาดความสามารถที่จะเข้าใจประโยคที่ซับซ้อน เด็กอายุ 2 หรือ 3 ขวบที่มีทักษะการใช้ภาษาที่พัฒนาแล้ว ก็ยังขาดความสนใจในการซึมซับสิ่งที่คุณพูด

แต่ให้คุณพูดด้วยวลีสั้น ๆ พูดซ้ำสองสามครั้ง ผสมกับการเปล่งเสียงและการแสดงออกทางสีหน้า ตัวอย่างเช่น หากลูกวัย 18 เดือนของคุณตีแขนคุณให้พูดว่า “ไม่เอานะ! อย่าตีแม่ เจ็บ ไม่ตี” เด็กอายุ 2 ขวบสามารถเข้าใจได้มากกว่านี้: “ไม่กระโดดบนโซฟานะคะ! ไม่กระโดด การกระโดดเป็นสิ่งอันตราย หนูอาจล้มได้ ไม่กระโดดค่ะ”

เสนอทางเลือกให้เขา แต่ต้องมีแค่สิ่งที่คุณรับได้เท่านั้น

8. เสนอทางเลือก

เมื่อเด็กปฏิเสธที่จะทำ (หรือเลิกทำ) บางสิ่ง ปัญหาที่แท้จริงมักจะควบคุมได้ เมื่อเป็นไปได้ เปิดโอกาสให้ลูกก่อนวัยเรียนของคุณได้ควบคุมบางสิ่งบางอย่าง โดยที่คุณเสนอทางเลือกให้แบบจำกัด แทนที่จะสั่งให้ลูกทำความสะอาดห้องของลูก เปลี่ยนเป็นถามเขาว่า “หนูอยากหยิบหนังสือหรือของเล่นของหนูออกมาก่อน” อย่างไรก็ตามต้องแน่ใจว่าตัวเลือกนั้นมีจำกัดและยอมรับได้สำหรับคุณ “หนูต้องการเริ่มจากตรงไหน” อาจทำให้ลูกของคุณรู้สึกจับต้นชนปลายไม่ถูก และตัวเลือกที่ไม่เป็นที่ยอมรับของคุณก็จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้น

มันยังคงเป็นเรื่องปกติที่คุณจะรู้สึกหงุดหงิดหรือหัวเสียบ้างเป็นครั้งคราวในการสอนลูกให้มีวินัย หากคุณรู้สึกว่ามาถึงจุดนั้น ให้ปรึกษากับคู่ของคุณ กุมารแพทย์ หรือเพื่อนที่ไว้ใจได้ สำหรับความช่วยเหลือและคำแนะนำ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th