Site icon Motherhood.co.th Blog

สายดิน สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเพื่อความปลอดภัยในบ้าน

ระบบสายดิน

สายดิน สิ่งจำเป็นที่หลายบ้านมองข้ามเรื่องความปลอดภัย

สายดิน สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเพื่อความปลอดภัยในบ้าน

ในอดีต คนไทยเราได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้ไฟฟ้าอยู่บ่อยครั้ง สาเหตุหลักมาจากการถูกไฟดูดเพราะมีไฟฟ้ารั่ว จากจุดนี้เอง “สายดิน” จึงกลายเป็นข้อบังคับที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ออกประกาศให้ผู้ยื่นขอใช้ไฟฟ้ารายใหม่ต้องทำการเดินสายไฟฟ้าให้มีระบบต่อลงดิน นับว่าข้อบังคับนี้มีขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้านั่นเอง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับหน้าที่และประโยชน์ของระบบสายดิน วันนี้ Motherhood เลยจะนำเอาเรื่องราวของสายดินมาฝากกันค่ะ

สายดินคืออะไร?

สายดิน (Earthing System) คือการให้ส่วนหนึ่งของระบบไฟฟ้าเชื่อมต่อกับพื้นโลก เพื่อเสริมความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า เช่น หากเกิดไฟรั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้า กระแสไฟส่วนที่รั่วนี้จะไหลลงดินผ่านทางสายดิน แทนที่จะไหลผ่านร่างกายของเรา ในกรณีที่ไปสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการรั่วนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยปกติแล้วสายไฟฟ้าจะมีสิ่งห่อหุ้มกันการลัดวงจร หรือที่เราเรียกมันว่า “ฉนวน” อยู่แล้ว แต่ตัวฉนวนเองก็สามารถเสื่อมลงได้ การป้องกันอันตรายจากไฟฟ้ารั่วได้ดีอีกขั้นหนึ่งก็คือการติดตั้งระบบสายดิน นอกจากนี้ สายดินไม่เพียงแต่ป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ถูกไฟฟ้าดูดเท่านั้น สายดินยังสามารถจัดการกับสัญญาณรบกวนได้อีกด้วย

สายดินจะทำงานได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อปลายสายด้านหนึ่งของสายดินต้องมีการต่อลงดินด้วยวัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นตัวนำไฟฟ้า ส่วนปลายสายอีกด้านหนึ่งจะถูกต่อเข้ากับพื้นผิวของวัตถุหรือโครงของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการให้มีศักย์ไฟฟ้าเป็นศูนย์เท่ากับพื้นดิน

สายดินมักใช้ฉนวนหุ้มที่มีสีเขียวและสีเหลือง

องค์ประกอบของสายดิน

สายดินมีองค์ประกอบหลัก ๆ อยู่ 2 ส่วน ได้แก่ สายตัวนำไฟฟ้า (สายดินหรือสายต่อหลักดิน) และหลักดิน สายดินที่ใช้ในระบบไฟฟ้าทั่วไปภายในสายประกอบด้วยลวดทองแดงหุ้มฉนวนพีวีซี (PVC) ซึ่งตามมาตรฐานกำหนดให้ใช้สายที่มีฉนวนสีเขียวหรือสีเขียวสลับกับสีเหลือง ซึ่งเป็นสีเฉพาะของสายดิน

ในส่วนของหลักดิน คือแท่งโลหะที่ฝังลงในดินเพื่อเป็นตัวเชื่อมสายต่อหลักดินจากเมนสวิตช์เข้ากับดิน หลักดินที่ใช้โดยทั่วไปทำจากเหล็กหุ้มด้วยทองแดง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 มิลลิเมตร (5/8 นิ้ว) ความยาว 2.40 เมตร หลักดินที่ดีเมื่อตอกลงดินแล้วต้องมีความต้านทานการต่อลงดินไม่เกิน 5 โอห์ม

ข้อดีของระบบสายดิน

ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสายดินมากเท่าใดนัก เพราะมองเป็นเรื่องไกลตัว และคิดการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ก็ยังเป็นไปได้ตามปกติอยู่ แต่เหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

  1. เมื่อมีกระแสไฟรั่วมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ หรือสายไฟ สามารถเสื่อมและไฟรั่วได้ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากความผิดพลาดของอุปกรณ์เองหรือจากการเสื่อมตามอายุการใช้งาน แทนที่ไฟจะรั่วและดูดคนในบ้าน ถ้าติดตั้งระบบสายดินแล้ว ถึงแม้เราจะถอดรองเท้าในบ้านก็ตาม ไฟก็จะไม่ดูดหรือช็อตเรา
  2. ไฟที่รั่วออกมาอาจทำให้เกิดสนามแม่เหล็กหรือคลื่นรบกวนทางไฟฟ้า ทำให้ภาพที่ออกจากทีวีมีคลื่นรบกวน หรือเครื่องเสียงอาจจะเกิดเสียงจี่จากคลื่นรบกวน การติดตั้งสายดินก็สามารถช่วยในกรณีนี้ได้
  3. ทำให้ระบบ Surge Protection สมบูรณ์แบบ เนื่องจาก Surge เมื่อกระแสเข้ามาสูง ๆ เป็นไปไม่ได้ที่อุปกรณ์อย่างตัวต้านทานจะรับกระแสไหว ถ้า MOV ไม่ระเบิดก็อาจทำให้ไฟกระชากเข้าอุปกรณ์ได้ การมีระบบสายดินจะทำให้ไฟที่กระชากเข้ามาลงไปสู่ศักย์ที่ต่ำกว่า นั่นคือสายดิน และจะทำให้ระบบกันไฟกระชากนั้นสมบูรณ์
  4. เป็นการถนอมอายุการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากถ้าไฟรั่วและไม่มีสายดินเพื่อถ่ายเทศักย์ลงดิน เครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ๆ จะรับแรงกดดันของกระแสไฟฟ้าที่รั่วออกมา แม้เพียงเล็กน้อย แต่ก็อาจจะทำให้อายุการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นเสื่อมลงเร็วกว่าปกติ
  5. ช่วยให้ RCD Breaker หรือเบรกเกอร์กันไฟดูด ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่ต้องรอให้ไฟรั่วไปดูดคน เพราะเมื่อเรามีสายดิน ไฟที่รั่วลงดินจะทำให้ RCD Breaker สามารถตรวจจับได้ และเบรกเกอร์จะตัดไฟ จนกว่าเราจะรู้จุดที่ไฟรั่วและทำการแก้ไข หากเราไม่ติดสายดิน เราจะต้องรอให้ไฟรั่วลงสู่ศักย์ที่ต่ำกว่า ซึ่งไฟอาจจะดูดคนได้
สายดินต้องทำจากเหล็กหุ้มทองแดงเท่านั้น

ติดตั้งสายดินแบบไหนได้บ้าง?

บ้านพักอาศัยจำเป็นต้องติดตั้งระบบสายดินให้ถูกต้องตามมาตรฐาน เพื่อให้ระบบสายดินมีความปลอดภัยและใช้งานได้จริง การต่อลงดินแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ การต่อลงดินที่เมนสวิตช์และการต่อลงดินของเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยต้องทำทั้งสองจุด จึงจะใช้งานได้อย่างสมบูรณ์

บริเวณเมนสวิตช์จะต้องต่อสายนิวทรัล (N) ลงดิน สายนิวทรัลคือสายเส้นที่เมื่อเราใช้ไขควงวัดไฟวัดแล้ว หลอดที่อยู่ในไขควงจะไม่เรืองแสง สำหรับเมนสวิตช์ที่เป็นคอนซูมเมอร์ยูนิตจะมีขั้วสำหรับต่อสายนิวทรัล ซึ่งจะมีเครื่องหมายแสดงจุดต่อลงดินไว้ ในการต่อสายลงดินจะใช้สายไฟฟ้าที่มีขนาดไม่เล็กกว่า 10 ตารางมิลลิเมตร

คือการใช้สายไฟต่อจากจุดต่อลงดินที่โครงของเครื่องใช้ไฟฟ้าเดินกลับไปต่อลงดินที่เมนสวิตช์ โดยใช้หลักดินแท่งเดียวกันกับของสายนิวทรัล ทั้งนี้สายดินจะเดินรวมไปด้วยกันกับสายวงจรที่จ่ายไฟให้เครื่องใช้ไฟฟ้า

เพื่อความปลอดภัยต้องติดสั้งสายดินให้ได้มาตรฐาน

แม้จะมีการติดตั้งระบบสายดินแล้ว การติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วหรืออุปกรณ์ป้องกันไฟดูดก็ยังมีความจำเป็น เพราะมันจะช่วยเสริมการป้องกันให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หากเกิดกรณีสายดินขาด

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th