Site icon Motherhood.co.th Blog

สำลีไม่มีสารฟอกขาว เลือกยังไงให้ปลอดภัย

เลือกสำลีไม่มีสารฟอกขาว

สำลีที่มีสารฟอกขาวอันตรายกับผิวหนังเราอย่างไร ?

สำลีไม่มีสารฟอกขาว เลือกยังไงให้ปลอดภัย

สำลีเป็นของใช้เด็กอ่อนที่มีบทบาทมากในทุกวันนี้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่นิยมที่จะเลือกใช้ “สำลีไม่มีสารฟอกขาว” กันมากกว่า เพราะได้เรียนรู้มาว่าเป็นสำลีชนิดที่ปลอดภัยกว่า แต่สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่าเขาฟอกขาวสำลีกันไปเพื่ออะไร และจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อลูกน้อยอย่างไร วันนี้ Motherhood จะนำเอารายละเอียดมาฝากกันค่ะ

ประวัติศาสตร์ของการใช้สำลี

เราเริ่มใช้สำลีครั้งแรกในวงการแพทย์ ตั้งแต่ปี ค.ศ 1180 ที่โรงพยาบาล Queen’s Hospital ที่เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ โดย Dr.Joseph Sampson Gamgee ในช่วงนั้นกรรมวิธีการผลิตสำลีคือการนำฝ้ายจากต้นฝ้ายมาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ แล้วจึงนำมาใช้งาน ซึ่งสำลีก็ได้ถูใช้งานแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

แม้ในประเทศไทยจะมีโรงงานผลิตาสำลีอยู่มากมาย แต่ฝ้ายที่นำมาผลิตสำลีในบ้านเรานั้นเป็นฝ้ายที่นำเข้าจากต่างประเทศมากถึง 99% ส่วนฝ้ายที่ปลูกเองในประเทศไทยหรือที่เรียกว่าฝ้ายพื้นเมือง มีเพียง 1% เท่านั้น

สำลีที่ผลิตและจำหน่ายในไทยมาจากฝ้ายนอกแทบทั้งสิ้น

ขั้นตอนการผลิตสำลี

โดยปกติแล้วต้นฝ้ายใช้ระยะเวลาการเติบโตประมาณ 100 วัน นับจากวันที่เริ่มปลูก มันจะค่อย ๆ เติบโตและออกดอก จากนั้นดอกจะร่วงและเกิดเป็นผล หรือที่เรียกว่าสมอฝ้าย สมอฝ้ายเมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล เมื่อมันแก่จัดก็จะแตกออกและจะเห็นเป็นปุยฝ้ายสีขาว ๆ อยู่ในสมอ เกษตรกรจะเก็บปุยฝ้ายใส่กระสอบ แล้วนำพวกมันมาตากแดดเพื่อลดความชื้น จากนั้นจึงทำการแยกเมล็ดฝ้ายออก เพื่อเตรียมขายให้กับโรงงาน เราเรียกฝ้ายที่เก็บมาในส่วนนี้ว่าฝ้ายดิบ

หลังจากที่ฝ้ายดิบถูกส่งมายังโรงงานทำสำลีแล้ว คนงานจะทำการตรวจสอบความสะอาด ตรวจสอบความยาวของเส้นใย และการตรวจสอบความชื้นของฝ้ายดิบ เมื่อฝ้ายดิบผ่านกระบวนการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ก็ถึงเวลานำฝ้ายดิบเหล่านี้ไปเข้ากระบวนการทำสำลี

กระบวนการทำสำลีแบบที่ 1 นำฝ้ายดิบมาทำการฟอกและนำมาสางให้เป็นเส้น ๆ จากนั้นนำไปแปรรูปทำเป็นสำลีก้อนกลม และนำเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ เพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์

กระบวนการทำสำลีแบบที่ 2 นำฝ้ายดิบมาทำการแปรรูปเป็นแผ่นบาง ๆ และพับเป็นชั้น ๆ ทบกันไปมาประมาณ 9-12 ชั้น จากนั้นจึงนำฝ้ายที่ได้มาเข้ากระบวนการฟอกขาว และตรวจสอบสารเคมีตกค้าง รวมทั้งความเป็นกรดเป็นด่างในสำลี ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำมาแปรรูปให้เป็นสำลีแผ่น สำลีม้วน และสำลีก้าน

โรงงานผลิตสำลีต้องตรวจสอบฝ้ายหลายขั้นตอน

ฟอกสำลีด้วยสารเรืองแสงเพื่ออะไร ?

สารเรืองแสงที่พบในสำลีคือ สาร Fluorescence ซึ่งมาจากกระบวนการฟอกขาว เพราะในการผลิตเส้นใยธรรมชาติมักจะมีสารที่ออกสีติดมาตามธรรมชาติ ทำให้เส้นใยของสำลีมีสีออกเหลือง คล้ายสีขาวนวล ๆ ไม่ขาวจั๊วะเสียทีเดียว บางครั้งจึงจำเป็นต้องฟอกขาวเส้นใยเพื่อความเหมาะสมในการใช้งาน ซึ่งสารฟอกขาว (Optical brightening agent: OBA) หรือสารเพิ่มความขาวสว่างเหล่านี้เป็นสารย้อมสีประเภทเรืองแสง (Fluorescent dye)

สารเรืองแสงในสำลีอันตรายอย่างไร ?

เมื่อเราใช้สำลีที่มีสารเรืองแสงเช็ดทำความสะอาดผิว ก็จะหลงเหลือสารตกค้างอยู่บนผิวหนัง จากการศึกษาพบว่าเมื่อสาร Fluorescence ได้รับรังสี Ultraviolet (UV) จากแสงแดด (ความยาวคลื่นอยู่ที่ 254 นาโนเมตร) อาจเหนี่ยวนำให้เกิดสารก่อมะเร็งที่ผิวหนัง ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ ดังนั้น เมื่อจะเลือกใช้สำลีเพื่อทำความสะอาดผิวหนัง ควรเลือกที่ไม่มีสารเรืองแสง ( Fluorescence agent free )

นอกจากในสำลีแล้ว เรายังพบสาร Fluorescence ซึ่งมาจากกระบวนการฟอกขาว เช่น ผ้าขาว กระดาษชำระ พลาสติก ยาสีฟัน โลชั่น ครีม เมื่อเติม Fluorescent dye ลงไปจะช่วยให้มีความขาวสว่างเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น เมื่อจะใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ควรอ่านฉลากให้ละเอียดก่อนใช้ และควรมีความระมัดระวังในการใช้งาน

อะไรคือสำลีใยสังเคราะห์ ?

ปัจจุบันใยฝ้ายแท้ 100% นั้นมีราคาสูงขึ้นมาก ทำให้ผู้ผลิตบางรายแอบเจือปนใยสังเคราะห์เข้าไปเพื่อลดต้นทุนในการผลิต หรืออาจมีการเคลือบผิวหน้าของสำลีด้วยสารสังเคราะห์ เพราะฝ้ายชนิดใยยาวมีราคาสูงกว่า ผู้ผลิตบางรายจึงเลือกใช้ใยฝ้ายแบบสั้นแทน แล้วเคลือบด้วยสารสังเคราะห์เพื่อให้ผิวสัมผัสของสำลีเนียนเรียบไม่เป็นขุย

ดังนั้น หากเราจับบริเวณผิวหน้าสำลีแล้วให้ความรู้สึกเหมือนมีอะไรเคลือบอยู่ หรือรู้สึกว่าสำลีนั้นมีผิวหน้าที่เนียนเรียบจนผิดสังเกต ก็ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจมีการใช้สารสังเคราะห์มาเคลือบผิวสำลี

สามารถนำผลิตภัณฑ์สำลีที่มีในบ้านมาตรวจสอบเองได้

วิธีตรวจสอบว่าสำลีไม่มีสารฟอกขาวด้วยตัวเอง

  1. ตรวจสอบสารเรืองแสงได้โดยใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์
  2. ตรวจสอบสำลีที่มีสารตกค้าง โดยการนำสำลีจุ่มลงไปในน้ำสะอาด จากนั้นบีบน้ำออกให้หมาด ถ้าเป็นสำลีที่มีสารตกค้าง จะมีกลิ่นอับแรงมาก
  3. ตรวจสอบสารตกค้างในสำลี โดยการนำสำลีเช็ดหน้าไปแช่ในน้ำสะอาดพอประมาณ ให้สำลีซับน้ำนั้นเข้าไป จากนั้นใช้ช้อนกดน้ำจากสำลีออกมา แล้วเทน้ำนั้นใส่หลอดทดลอง จากนั้นลองเขย่าหลอดทดลองดู หากมีสารเคมีตกค้างเจือปนอยู่ เราจะเห็นว่ามีฟองสีขาว ๆ ขุ่นๆ ลอยอยู่เหนือน้ำนั้นด้วย หากเป็นสำลีที่ดี ไม่มีสารตกค้าง น้ำที่กดออกมาได้จะใสและไม่มีฟอง
  4. สำลีที่ดีต้องทำจากฝ้ายแท้ 100% จึงจะซับน้ำได้ดี สามารถทดสอบได้โดยนำสำลีก้อนหรือสำลีแผ่นมาจุ่มน้ำ สำลีจะจมลงไปภายในเวลาไม่เกิน 10 วินาที แต่หากเป็นสำลีที่ผสมใยสังเคราะห์ จะใช้เวลาเกินกว่า 10 วินาทีในการจมน้ำ หรืออาจจะไม่จมน้ำเลย
  5. ทดสอบสำลีด้วยการเผาไหม้ สำลีที่ทำจากฝ้ายแท้ เมื่อเกิดการเผาไหม้จะไม่เกิดควันสีดำ และเถ้าของสำลีจะเป็นสีขาว แต่หากเป็นสำลีที่ผสมใยสังเคราะห์ เมื่อเกิดการเผาไหม้จะมีควันสีดำและมีกลิ่นเหม็นเหมือนไฟไหม้พลาสติก เถ้าของสำลีสังเคราะห์นั้นจะมีสีดำและเป็นก้อนแข็ง ๆ

การดูแลความสะอาดให้ลูกน้อยหลังอาบน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น การทำความสะอาดหู การทำความสะอาดสะดือ แต่ไม่ใช่ว่าคุณจะใส่ใจเฉพาะคุณภาพของสำลีเท่านั้น บรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มสำลีก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะสำลีที่ดีนอกจากจะสามารถเช็ดได้สะอาดแล้ว ยังต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยสูงด้วย เช่น บรรจุภัณฑ์ประเภท Food grade ซึ่งถุงพลาสติกประเภทนี้จะมีความใส สะอาด และเหนียว มีความทนทานแข็งแรงมากกว่าถุงซิปที่ใช้กันอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th