Site icon Motherhood.co.th Blog

สิทธิเด็ก: คิดก่อนโพสต์เพื่อความเป็นส่วนตัวของลูก

สิทธิเด็กที่พ่อแม่ควรรู้

การโพสต์รูปและข้อมูลของลูกในโลกออนไลน์อาจเป็นการละเมิดสิทธิเด็กได้

สิทธิเด็ก: คิดก่อนโพสต์เพื่อความเป็นส่วนตัวของลูก

พ่อแม่ทุกคนย่อมมีความภูมิใจและมีโมเมนท์ประทับใจของลูก ก็ไม่แปลกที่อยากจะโพสต์ภาพลงโซเชียลให้เพื่อนๆได้ชม แต่ควรคำนึงถึง “สิทธิเด็ก” เสมอ ว่าเขาจะต้องได้รับความเป็นส่วนตัวในโลกไซเบอร์ด้วย แม้ว่าเขาจะยังเด็กเกินกว่าจะรู้เรื่องรู้ราวใดๆก็ตาม และคุณพ่อคุณแม่เองอาจจะยังไม่ตระหนักว่ารูปภาพของลูกรักหรือข้อมูลที่เราลงไว้ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ดี อาจกลายเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพเข้ามาทำอันตรายกับลูกรักได้อย่างที่คาดไม่ถึง

การโพสต์รูปลูกในโซเชียลมีเดียอาจเป็นสิ่งล่อใจมิจฉาชีพ

เมื่อ Parenting กลายเป็น Sharenting

ในยุคปัจจุบันนี้พ่อแม่นิยมใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการโชว์ภาพของลูกน้อย รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆในชีวิตของลูก เพื่อให้ครอบครัวหรือเพื่อนๆที่อยู่ห่างไกลได้รู้สึกใกล้ชิดกับเด็กๆและชื่นชมความน่ารักบางรายไม่เพียงแต่โพสต์ลงบัญชีส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังมีการสร้างเพจหรือมี Instagram ให้ลูกโดยเฉพาะ และเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวหลายอย่าง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าการกระทำนี้มีข้อเสียแฝงอยู่มากมายโดยที่พ่อแม่คาดไม่ถึง

จริงอยู่ว่าการที่พ่อแม่จะลงภาพลูกที่ยังเป็นเบบี๋ ยังนอนแบเบาะอย่างไม่รู้เรื่องรู้ความ ถือเป็นสิทธิ์ของพ่อแม่ที่สามารถทำได้ แต่เมื่อลูกเริ่มมีพัฒนาการด้านตัวตน มีความรู้สึกนึกคิดที่ชัดเจน สามารถบอกความรู้สึกของตนเอง รวมทั้งแสดงความคิดเห็นได้ (อายุประมาณ 3 ขวบขึ้นไป) ก่อนจะลงรูป พ่อแม่จำเป็นต้องขออนุญาตเขาก่อน สิทธิในการถูกคุ้มครองถือเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กจะต้องได้รับจากผู้เลี้ยงดู หากการโพสต์รูปเขาลง social media นำพาให้เกิดเรื่องไม่ดีขึ้น พ่อแม่จะเข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็กได้อีกด้วย

ยิ่งโพสต์ข้อมูลมาก ก็ยิ่งเพิ่มความสะดวกให้มิจฉาชีพมาก

การโพสต์รูปลงใน social network ที่สามารถค้นหารูปได้ไม่อยากถือว่าเป็นความเสี่ยงที่สุด เพราะมิจฉาชีพจะรู้ข้อมูลเหล่านี้โดยที่เราไม่รู้ตัว ยิ่งเราโพสต์เยอะและมีรายละเอียดมากแค่ไหน คนร้ายก็ยิ่งรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเรามากขึ้น ว่าเราทำงานที่ไหน ลูกกี่ขวบแล้ว ลูกเรียนที่ไหน เลิกเรียนกี่โมง พ่อแม่ไปรับลูกเวลาไหน ถึงบ้านเวลาไหน ฯลฯ ข้อมูลพวกนี้สามารถนำมาใช้วางแผนได้เป็นอย่างดี

การแชร์โลเคชั่นหรือแท็กสถานที่ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง

แค่ลงรูปเฉยๆเหมือนไม่พอ พ่อแม่หลายคนนิยมแชร์โลเคชั่นหรือแท็กชื่อสถานที่ลงในรูปด้วยเสมอ เมื่อคนร้ายตามดูอยู่ เขาสามารถรู้ได้ทันทีว่าพวกคุณอยู่ที่ไหน ยิ่งถ้าแชร์เรื่องเดิมๆในสถานที่เดิมเป็นประจำ ก็ยิ่งประมาณการณ์ได้ง่ายว่าจะลงมือได้ตอนไหน

ภาพธรรมดาๆของลูก อาจถูกคนร้ายเซฟไปตู่ว่าเป็นลูกเขา

ถึงแม้จะไม่ได้ลงรูปลูกพร้อมแชร์โลเคชั่นบ่อยนัก แต่การลงรูปธรรมดาทั่วไปของเด็กมากจนเกินควร คนร้ายก็อาจนำไปใช้เพื่อประโยชน์ตัวเองได้ เช่น หากมีครูหรือพลเมืองดีมาเห็นคนร้ายกำลังพาลูกออกไปจากโรงเรียน เขาอาจจะเห็นว่าลูกมีท่าทีขัดขืนหรือร้องไห้จึงเข้าไปขัดไว้ แต่คนร้ายรู้รายละเอียดของลูกเราหมด ทั้งชื่อ ทั้งชั้นเรียน แถมยังแอบเซฟรูปลูกไว้ในหลากหลายอิริยาบท ถ้าครูหรือพลเมืองดีเหล่านั้นไม่เคยเห็นหน้าพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็กมาก่อน เขาจะเอาอะไรไปคัดค้านคนร้าย เขาก็จำต้องปล่อยคนร้ายไป ในเมื่อคนร้ายมีหลักฐานพร้อมขนาดนั้น

ต่อให้มีแต่ภาพของโปรดลูกก็ยังอันตราย

และถึงแม้จะไม่ลงรูปตัวลูกบ่อยเท่าไหร่ แต่ยังมีการลงรูปของกินสุดโปรดของเขา หรือของเล่นชิ้นโปรด ไม่ว่าจะตุ๊กตา หุ่นยนต์ หรือเกมใดๆ คนร้ายสามารถจดจำไว้และนำมาเป็นสิ่งล่อใจเด็กๆได้ดีมาก โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก

การโพสต์รูปบัตรนักเรียนหรือเอกสารประจำตัวลูกจะนำมาซึ่งอันตราย

ภาพเด็กอ่อนแบบโป๊ๆก็มีคนคิดไม่ดีได้นะ

พ่อแม่บางคนลงรูปลูกตั้งแต่ยังเป็นเด็กอ่อนบ่อยมาก และลงแทบทุกอิริยาบท ไม่ว่าจะเป็นตอนอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือโตมาอีกหน่อยก็ตอนนั่งกระโถนได้เอง ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นภาพลูกที่ไม่สวมเสื้อผ้าหรือใส่แค่ผ้าอ้อมตัวเดียว รูปนุ่งน้อยห่มน้อยของลูกเหล่านี้อาจถูกมือดีสวมรอยนำไปโพสต์ลงในเว็บไซต์ที่ลงแต่ภาพโป๊เปลือยของเด็ก เพื่อให้พวกใคร่เด็กได้เสพย์กัน

ข้อเสียของการโพสต์รูปลูกลงโซเชียลฯ

หากไม่นับข้อเสียทางด้านความปลอดภัยของลูกและประเด็นเรื่องสิทธิเด็กที่ได้พูดกันไปแล้ว การโพสต์รูปลูกตามเฟซบุ๊กหรือตามโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆก็ยังมีผลเสียต่อเด็กได้ ดังนี้

การที่พ่อแม่โพสต์รูปและเรื่องราวของลูกลงโซเชียลฯ จะนำไปสู่การสร้างตัวตนให้เด็ก โดยให้เป็นไปในแบบที่พ่อแม่ต้องการ ทำให้ในชีวิตจริงเด็กหลายคนต้องดูดีหรือดูน่ารักตลอดเวลาต่อหน้าสาธารณชน อาจทำให้เด็กรู้สึกสูญเสียความเป็นตัวเองหรือสูญเสียความเป็นเด็ก เพราะพ่อแม่บางรายมีการจัดการกับเด็กแบบฝืนธรรมชาติ เพื่อให้ภาพออกมาดูดีที่สุด ทั้งที่ในความเป็นจริง เด็กเหล่านี้ต้องการได้วิ่งเล่น ซุกซน และสนุกสนานตามธรรมชาติ ได้ร้องไห้ งอแง ซึ่งการกระทำเหล่านี้อาจเป็นการปิดกั้นพัฒนาการตามวัยของเด็ก

บางครั้งพ่อแม่อาจจะโพสต์ภาพของลูกที่จะเป็นปัญหาต่อสภาพจิตใจของเขาได้ในอนาคต เช่น รูปเด็กเปลือย หรือรูปตอนขับถ่าย เมื่อเขาโตขึ้น อาจจะถูกขุดเอาภาพนั้นขึ้นมาล้อเลียน และส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจเขาเมื่อโตขึ้นได้ หรือเด็กหลายๆคนไม่ชอบที่จะโตไปแบบเป็นที่รู้จักหรือมีคนทักทายเวลาไปไหนมาไหน

การลงภาพที่ลูกใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นจะยิ่งเป็นอันตรายต่อเขา

5 สิ่งเกี่ยวกับลูกที่ไม่ควรโพสต์ลงโซเชียลฯ

  1. แชร์รูปพร้อมโลเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยวอื่นที่พ่อแม่พาลูกไป การลงรูปพร้อมแชร์โลเคชั่นจะทำให้คนร้ายติดตามตำแหน่งของเด็กได้ถูก เพื่อป้องกันปัญหานี้ไม่ควรลงภาพพร้อมกับการแชร์โลเคชั่นหรือบรรยายถึงสถานที่ที่ไป หรือถ้าอดไม่ไหวจริงๆก็ให้ทำหลังจากออกจากสถานที่นั้นๆมาแล้วพักใหญ่ เพื่อที่คนร้ายจะไม่สามารถตามตัวได้
  2. ข้อมูลส่วนตัวของลูก เช่น ชื่อและนามสกุล ที่อยู่ โรงเรียน รูปของบัตรนักเรียนหรือหนังสือเดินทาง รวมทั้งข้อมูลเบอร์โทรของพ่อแม่ด้วย เพราะทั้งหมดนี้คือแหล่งข้อมูลชั้นดีที่มิจฉาชีพจะนำไปใช้งงานได้
  3. รูปภาพของสิ่งที่อยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นของเล่นชิ้นโปรด อาหารที่ลูกชอบกิน แม้แต่รูปรถของคุณพ่อคุณแม่ที่เห็นป้ายทะเบียนรถ เพราะคนร้ายจะสามารถใช้ของโปรดของลูกมาหลอกล่อลูกได้ โดยเฉพาะหากรู้ทะเบียนรถก็ยิ่งสามารถตามมาถึงบ้านได้อย่างง่ายดาย
  4. รูปลูกตอนนุ่งน้อยห่มน้อยหรือทำอะไรน่าอาย พวกที่ใคร่เด็กมีอยู่จริง คนพวกนี้จะมีอารมณ์กับภาพเด็กที่ใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น แม้ว่าเด็กเหล่านั้นจะยังเป็นเด็กในวัยทารกที่สื่อสารไม่ได้ก็ตาม รวมทั้งรูปภาพที่ลูกทำกิจกรรมที่เป็นส่วนตัวหรือน่าอาย เช่น ตอนนั่งกระโถน หรือตอนทำอะไรเลอะเทอะ เมื่อเขาโตขึ้นอาจจะโดนล้อได้
  5. ภาพลูกที่มีเพื่อนๆติดมาด้วย ถึงแม้ลูกจะยินยอมให้พ่อแม่ลงรูป แต่ก็ต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของเพื่อนๆของลูกด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่แต่ลูกเราที่จะเป็นอันตราย แต่เพื่อนๆลูกก็อาจได้รับอันตรายที่ไม่ต่างกัน

สิ่งที่ควรทำก่อนโพสต์รูปลูกลงโซเชียลฯ

  1. เคารพสิทธิของลูกเสมอในการจะโพสต์ภาพหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเขา ควรขออนุญาตก่อนโพสต์เมื่อเขาโตพอที่จะบอกความรู้สึกหรือแสดงความเห็นได้
  2. เขียนบรรยายภาพอย่างให้เกียรติลูก ใช้ถ้อยคำที่สุภาพ และเหมาะสม
  3. ตั้งค่าในบัญชี social media นั้นๆให้เป็นส่วนตัว เห็นได้เฉพาะคนที่รู้จัก ละเว้นการเผยแพร่ข้อมูลไปสู่คนแปลกหน้า
  4. คิดทบทวนเสมอก่อนจะโพสต์รูปหรือข้อความใดๆเกี่ยวกับลูก ควรคำนึงถึงอนาคตของเขาเป็นสำคัญ และลองแทนความรู้สึกตัวเองลงไป ว่าถ้าหากเป็นตัวเองจะชอบโพสต์แบบนี้ไหมเมื่อโตขึ้น
ไม่ใช่แค่คำอนุญาตจากลูกเราเอง แต่ต้องคำนึงถึงการลงรูปที่เห็นหน้าเพื่อนๆของลูกเช่นกัน

เพื่อความปลอดภัยของลูก คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธที่จะพูดคุยกับคนแปลกหน้า รวมทั้งซักซ้อมความเข้าใจเสมอถึงสถานการณ์คับขัน เช่น หากติดงานด่วนมารับไม่ได้ จะให้ลูกไปรอที่ไหนในโรงเรียน หรือจะมีการส่งใครมารับหรือไม่ ถ้ามี คนๆนั้นจะเป็นใคร และต้องมีพาสเวิร์ดเพื่อป้องกันบุคคลไม่ประสงค์ดีสวมรอยมาด้วย

คุณพ่อคุณแม่ควรระลึกอยู่เสมอว่าสังคมออนไลน์มีความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าที่คิด นั่นหมายความว่าใครต่อใครก็จะสามารถสอดแนมความเคลื่อนไหวของผู้คนในโลกไซเบอร์ได้ตลอดเวลา เท่ากับว่าเพิ่มความเสี่ยงให้ลูกน้อยโดยที่เราไม่ทันคาดคิดเลย ดังนั้น ต้องคิดให้มากเข้าไว้ก่อนที่จะโพสต์อะไรเกี่ยวกับลูกลงโซเชียลมีเดีย

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th