Site icon Motherhood.co.th Blog

“อาการชัก” เกิดตอนลูกมีไข้หรือตอนไหนได้บ้าง?

อาการชักในเด็ก

หากลูกน้อยมีอาการชักเนื่องจากไข้สูง พ่อแม่มีวิธีดูแลอย่างไร

“อาการชัก” เกิดตอนลูกมีไข้หรือตอนไหนได้บ้าง?

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็ก เรื่องสุขภาพของลูกเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความกังวลได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกน้อยเป็นไข้ เด็กบางคนเป็นหนักจนเกิด “อาการชัก” ในบทความตอนนี้จะบอกกับคุณพ่อคุณแม่ถึงรายละเอียดของอาการและวิธีป้องกันลูกน้อยจากความเจ็บป่วยนี้ค่ะ

อาการชักในเด็ก

อาการชัก เป็นการแสดงออกถึงความผิดปกติของการทำงานของสมอง ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากเป็นอาการที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เรียกว่าโรคลมชักหรือลมบ้าหมู หากอาการเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวยังไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคลมชัก

อาการชักของเด็กมีสาเหตุจากไข้ขึ้นสูงเป็นหลัก

สาเหตุของโรค

อาการที่พบในเด็กอาจเกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ ที่พบได้มากคืออาการไข้ ในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือน – 6 ปี เมื่อมีไข้อาจจะทำให้เกิดการชักได้ ซึ่งจะพบได้ประมาณ 3% ของเด็กในช่วงอายุนี้ โดยที่ลักษณะของการชักมักจะชักเกร็งไปทั้งตัวหรือชักเกร็งกระตุกทั้งตัวก็ได้ อาการจะเกิดในระยะแรกของการมีไข้ และอาการจะหยุดเองในระยะสั้น ๆ ไม่เกิน 5 นาที ส่วนใหญ่จะมีประวัติชักจากคนในครอบครัว ความผิดปกติของสมดุลเกลือแร่ ซึ่งอาจจะพบได้ในเด็กเล็กที่มีอาการท้องเสียและมีการสูญเสียเกลือแร่ หรือได้รับสารเกลือแร่ขนาดที่ไม่เหมาะสมหรือเกินกว่าที่ต้องการ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การกระทบกระเทือนที่ศีรษะ การติดเชื้อของระบบประสาท เช่น ภาวะสมองหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ยาหรือสารกระตุ้นสมอง เป็นอาการแสดงของโรคลมชัก

ลักษณะของการชัก

ลักษณะของการชักสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ คนทั่ว ๆ ไปมักจะเข้าใจว่า การชักจะต้องเป็นแบบกระตุกเป็นจังหวะทั้งตัว ในความเป็นจริงแล้วลักษณะของอาการอาจจะมีได้หลายแบบ มีทั้งแบบเหม่อลอยชั่วขณะ แบบหมดสติทันทีร่วมกับอาการตัวอ่อน เกิดการกระตุกเป็นครั้ง เกร็งผวา มีพฤติกรรมผิดปกติชั่วขณะ โดยที่ไม่มีการรับรู้ต่อสภาพแวดล้อม อาการเฉพาะที่ เช่น อาการกระตุกซ้ำ ๆ ของกล้ามเนื้อเฉพาะที่ และมีที่เป็นทันทีและเกิดในช่วงสั้น ๆ

ลักษณะของการชักที่มากับอาการไข้

ลักษณะการชักจากไข้สูงจะเป็นการชักแบบเกร็งหรือกระตุกทั้งตัว เป็นทั้งข้างซ้ายและขวาเท่า ๆ กัน ระยะเวลาที่ชักไม่เกิน 15 นาที ส่วนมากมักจะหยุดได้เองภายในเวลา 3-5 นาที หลังจากชักเด็กจะรู้สึกตัวดี อาการนี้จะเกิดขึ้นหลังจากมีไข้สูง ไม่เกิน 24-48 ชั่วโมง โดยทั่วไปจะเกิดเมื่อเด็กมีอุณหภูมิสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจัดว่ามี “ไข้สูง” อาการนี้จะพบในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ไปจนถึงอายุ 5 ปี โดยช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุดคือ ในเด็กเล็กที่มีอายุ 1-2 ปี

การชักเมื่อมีไข้สูงเกิดขึ้นได้อย่างไร?

การชักเมื่อมีไข้สูงเกิดจากการที่สมองของเด็กเล็กยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้มีโอกาสชักได้เมื่อถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น มีอุณหภูมิร่างกายสูง จึงมักไม่พบอาการนี้ในเด็กที่อายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป

จะส่งผลต่อระดับสติปัญญาของเด็กหรือไม่?

โดยทั่วไปภาวะนี้จะไม่มีผลต่อระดับสติปัญญา พัฒนาการหรือการเรียนรู้ของเด็ก ยกเว้นในบางรายที่มีชักติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะชักต่อเนื่องกันนานมากกว่า 30 นาที จนมีภาวะตัวเขียวเนื่องจากขาดออกซิเจน กรณีนี้อาจส่งผลต่อสมองได้ แต่โดยทั่วไปอาการชักจากไข้สูงมักจะหยุดได้เองภายในเวลา 3-5 นาที จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสมองของเด็ก

หากลูกมีอาการชักบ่อย และครั้งละนาน ๆ อาจเป็นโรคลมชัก

มีโอกาสที่จะเป็นซ้ำ หรือเป็นโรคลมชักหรือไม่?

เด็กที่เคยชักจากไข้สูงจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการชักซ้ำ ประมาณ 30% หากมีไข้สูงอีก จนกว่าจะอายุมากกว่า 5 ปี ดังนั้น เมื่อลูกมีไข้สูงควรให้ยาลดไข้หรือให้ยาพาราเซตามอล และเช็ดตัวให้ลูกทันทีเพื่อลดไข้

ส่วนความเสี่ยงในการเป็นโรคลมชักนั้นไม่ได้แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป ยกเว้นในเด็กรายที่มีอาการชักนานกว่า 15 นาที มีอาการชักซ้ำมากกว่า 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง มีความผิดปกติทางสมองและพัฒนาการก่อนมีอาการชัก หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคลมชัก ก็จะมีโอกาสเป็นโรคลมชักได้มากกว่าเด็กปกติ

อันตรายจากการชัก

ในระหว่างที่เกิดการชักที่เป็นแบบทั้งตัวและมีอาการหมดสติ อาจจะก่อให้เกิดอันตรายโดยตรงกับร่างกายส่วนต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะศีรษะ เกิดการสำลักซึ่งอาจจะอุดกั้นหลอดลม เป็นผลทำให้เกิดภาวะสมองขาดออกซิเจนได้ การชักที่ขึ้นเกิดนานมักจะควบคุมยาก และอาจจะก่อให้เกิดความผิดปกติของสมองส่วนอื่น ๆ เพิ่มได้ ขณะเกิดการชักที่เป็นทั้งตัว โอกาสที่เด็กจะกัดลิ้นตัวเองนั้นมีน้อยมาก ความเชื่อที่ว่าเมื่อเกิดอาการชักแล้วจะต้องพยายามงัดปาก หรือสอดใส่วัสดุใด ๆ เข้าไปในปากเพื่อป้องกันการกัดลิ้นนั้นไม่ถูกต้อง ในความเป็นจริงแล้วการพยายามช่วยเหลือด้วยวิธีดังกล่าวจะก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อเด็กที่กำลังชักและผู้ที่กระทำ

ข้อควรปฏิบัติเมื่อลูกชัก

พ่อแม่ต้องตั้งสติให้มั่น แล้วจัดท่าให้ลูกอยู่ในลักษณะที่ปลอดภัยจากการชัก คือนอนราบและตะแคงศีรษะไปด้านข้าง และพยายามกำจัดน้ำลายหรือเศษอาหารที่ลูกอาจจะอาเจียนออกมา ห้ามสอดใส่วัสดุใด ๆ เข้าไปในปากหรือพยายามงัดปากเด็ดขาด ในกรณีที่ลูกมีอาการไข้สูงร่วมด้วย พ่อแม่ต้องรีบเช็ดตัวลดไข้ โดยทั่วไปหากเด็กชักจากไข้ จะชักไม่เกิน 5 นาที เมื่อลูกหยุดชักควรพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยและรักษาอาการต่อ หากลูกมีอาการชักนานมากกว่า 5 นาที หรือรอบปากมีรอยเขียวคล้ำ ควรรีบส่งโรงพยาบาลทันที

การรักษา

การชักจากไข้ แพทย์จะรักษาสาเหตุของไข้และให้ยาเพื่อหยุดอาการชักพร้อมกันไปด้วย ถ้าเด็กมีการชักซ้ำบ่อยจะแนะนำให้ใช้ยาป้องกันการชักซ้ำ ซึ่งให้ใช้เฉพาะเวลาที่เด็กมีไข้ ยาที่ให้ใช้คือยา DIAZERAM ให้ในเวลามีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส การให้ยาป้องกันการชักระยะยาวจะให้ในเด็กที่ชักบ่อยมาก หรือชักนานในแต่ละครั้ง

กรณีที่เป็นโรคลมชัก แพทย์จะให้รับประทานยากันชัก โดยให้รับประทานยาสม่ำเสมออย่างน้อบ 2 ปี หลังจากการชักคร้งสุดท้อย ถ้าควบคุมอาการได้ แพทย์จะค่อย ๆ ให้ลดยาลงและหยุดยาภายใน 3-6 เดือน สำหรับการชักจากสาเหตุอื่น ๆ แพทย์จะทำการรักษาตามสาเหตุ

ป้องกันการชักเพราะไข้สูงได้ด้วยการเช็ดตัวให้ลูก

วิธีป้องกันการชักจากไข้สูง

ช่วงเวลาที่จะพบว่าเด็กชักจากไข้สูงมากที่สุดคือ ช่วงเที่ยงคืนถึงตีสอง เนื่องจากเป็นช่วงที่พ่อแม่ส่วนมากเหนื่อยล้าจากการทำงานมาทั้งวันจนอาจเผลอหลับไป หรืออาจจะวางใจว่าลูกไข้ลดแล้วทั้ง ๆ ที่ไข้นั้นจะขึ้น ๆ ลง ๆ พ่อแม่สามารถดูแลลูกเพื่อป้องกันลูกชักเพราะไข้สูงด้วยวิธีการดังนี้

เมื่อทราบถึงสาเหตุและการป้องกันการชักแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็คงวางใจขึ้นได้ในระดับหนึ่งแล้วนะคะ ทางที่ดีคือต้องดูแลสุขภาพของลูกให้แข็งแรงอยู่ตลอดเวลา จะได้ไม่ติดเชื้อหวัดจนเป็นไข้ง่าย ๆ โอกาสที่ลูกน้อยจะชักเพราะไข้สูงก็จะลดลงค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th