Site icon Motherhood.co.th Blog

อาบน้ำทารก ไม่ใช่เรื่องยาก หากรู้วิธีที่ถูกต้อง

การอาบน้ำทารก

การอาบน้ำทารกไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่รู้วิธี

อาบน้ำทารก ไม่ใช่เรื่องยาก หากรู้วิธีที่ถูกต้อง

ในบรรดาสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่อง “อาบน้ำทารก” แน่เลยใช่ไหมคะ หลังจากที่พาลูกน้อยกลับบ้านแล้ว คุณพ่อคุณแม่คงไม่แน่ใจว่าจำเป็นจะต้องอาบน้ำให้เขาบ่อยแค่ไหน และต้องดูแลความสะอาดเฉพาะในแต่ละจุดอย่างไรบ้าง วันนี้ Motherhood จะช่วยไขข้อข้องใจนี้ให้เองค่ะ

ควรอาบน้ำให้ทารกบ่อยแค่ไหน?

โดยส่วนใหญ่แล้วพยาบาลจะอาบน้ำทารกแรกเกิดให้เรียบร้อยหลังคลอด แต่หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่พาลูกน้อยกลับบ้าน การอาบน้ำทารกแรกเกิด 2-3 ครั้ง ก็เพียงพอแล้วสำหรับเด็กทารกแรกเกิดถึงสามเดือน เพราะผิวหนังของเด็กแรกเกิดนั้น ยังบอบบางอยู่มาก ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา หรือ American Academy of Pediatrics (AAP) ได้กล่าวถึงความเชื่อเกี่ยวกับการอาบน้ำให้ทารกแรกเกิดทุกวันว่า ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องอาบน้ำให้กับทารกแรกเกิดทุกวัน เพราะทารกไม่ได้ออกไปเล่นสกปรกหรือรับประทานอาหารเลอะเทอะเนื้อตัว การอาบน้ำให้ทารกแรกเกิดบ่อยครั้งเกินไปอาจทำให้ทารกเกิดอาการผิวแห้ง และอาจเกิดการอักเสบได้ ด้วยความที่ผิวของทารกนั้นง่ายต่อการระคายเคืองสิ่งต่างๆรอบตัว ซึ่งรวมไปถึงน้ำและสบู่ด้วยเช่นกัน

ทารกแรกเกิดไม่จำเป็นต้องอาบน้ำทุกวัน เพราะไม่ได้ทำอะไรสกปรก

การไม่อาบน้ำให้ทารกแรกเกิดบ่อยๆนั้นมีข้อดี

คุณพ่อคุณแม่คงเคยสังเกตเห็นไขที่ห่อหุ้มทารกแรกเกิดที่เป็นสีขาวๆ ติดมากับตัวทารกตั้งแต่แรกเกิด ไขนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์เป็นอย่างมากกับลูก เพราะไขหุ้มทารกนั้นมีหน้าที่ช่วยปกคลุมร่างกายและผิวหนังของทารกตั้งแต่พวกเขายังอยู่ในครรภ์มารดา นอกจากจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทารกแล้ว มันยังช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับผิว การอาบน้ำให้ทารกแรกเกิดเร็วเกินไปนั้นจะเป็นการทำให้ทารกสูญเสียตัวช่วยในการสร้างวิตามินเค ที่เกิดจากแบคทีเรียในน้ำคร่ำอีกด้วย และบางครอบครัวในต่างประเทศเลือกที่จะไม่อาบน้ำเลยจนกว่าไขหุ้มทารกจะแห้งไปเองเสียด้วยซ้ำ

ไม่ต้องอาบน้ำแล้วจะทำความสะอาดอย่างไร?

จริงอยู่ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอาบน้ำให้ทารกน้อยทุกวัน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า คุณพ่อคุณแม่จะไม่ต้องเช็ดทำความสะอาดลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเช็ดทำความสะอาดข้อพับ ใต้รักแร้ ก้น และอวัยวะเพศ สำหรับสิ่งเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่ยังสมควรที่จะต้องทำอยู่ เพราะทารกก็ยังขับถ่ายตามปกติ หากไม่เช็ดให้สะอาดก็คงจะหมักหมม และกลายเป็นแหล่งรวบรวมเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคต่างๆได้

ควรอาบน้ำให้ทารกตอนไหน

คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกอาบน้ำให้ทารกในตอนที่แน่ในว่าไม่มีใครมาขัดจังหวะ หรือเลือกอาบก่อนให้นมในมื้อสาย หรือเลือกเป็นช่วงเย็นก่อนค่ำก็ได้เช่นกัน แต่ก็ควรทราบไว้ว่าทารกทุกคนแตกต่างกัน บางคนไม่ชอบอาบน้ำทันทีหลังจากดูดนมเสร็จ ใหญ่พบว่าการอาบน้ำให้ทารกก่อนรับประทานอาหารนั้นดีที่สุด

อุปกรณ์อาบน้ำต้องเตรียมให้พร้อมใช้งาน จะได้หยิบใช้สะดวก

อุปกรณ์ในการอาบน้ำทารก

ของใช้จำเป็นที่ต้องใช้ในการอาบน้ำทารก คุณพ่อคุณแม่ควรหยิบเตรียมไว้ให้พร้อม ได้แก่ ผ้าเช็ดตัว สบู่เด็ก แชมพูสระผม น้ำอุ่น ฟองน้ำ สำลี แป้งเด็ก อ่างอาบน้ำ ผ้าอ้อม เสื้อตัวใหม่ นำทุกอย่างมาไว้ใกล้ๆมือเพื่อความสะดวก

ขั้นตอนอาบน้ำทารกแรกเกิด

  1. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนจะอาบน้ำทารก
  2. ทดสอบอุณหภูมิน้ำที่เตรียมไว้ โดยใช้ข้อศอกจุ่มน้ำเพื่อทดสอบดูว่าน้ำอุ่นกำลังดีหรือยัง
  3. ถอดชุดของทารกออก แล้วห่อตัวทารกด้วยผ้าขนหนู โดยเก็บแขนไว้แนบลำตัวทั้งสองข้าง ให้เหลือเฉพาะส่วนศีรษะ
  4. เริ่มต้นด้วยการใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดตาของทารกก่อน
  5. ทำความสะอาดใบหน้าของทารก โดยอาจจะใช้ฟองน้ำสำหรับอาบน้ำเด็ก หรือผ้าขนหนูก็ได้ บิดน้ำให้หมาดๆ เช็ดตามบริเวณหน้า มุมปาก ซอกคอ ซอกหู จมูก
  6. หากต้องการสระผมให้ทารก ก่อนสระผมให้อุ้มเด็กมาหนีบไว้ข้างลำตัวข้างซ้าย แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วนางของมือข้างซ้าย กดใบหูให้ทับรูป้องกันน้ำเข้าหู จากนั้นก็วักน้ำใส่ผม แล้วใช้ผ้าใส่แชมพูสระผมสำหรับทารก นำมาถูที่ศีรษะเด็กให้เกิดฟอง ใช้นิ้วมือข้างขวาคลึงตามหนังศีรษะเบาๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้นด้วย
  7. หากเล็บยาว ก็ไม่ควรเกาหนังศีรษะให้ทารก เพราะจะทำให้หนังศีรษะของลูกถลอกเป็นแผลได้เมื่อสระผมเสร็จ ให้คลี่ผ้าที่ห่อตัวเด็กออก แล้วเช็ดศีรษะของทารกให้แห้ง
  8. วางทารกลงบนเตียง หรือเบาะที่ปูด้วยผ้ายางกันเปียก เอาผ้าที่ห่อตัวออกให้หมด แล้วทำความสะอาดลำตัว แขน ขา โดยใช้ฟองน้ำหรือผ้าขนหนูชุบน้ำเช็ดตามตัวก่อน แล้วจึงฟอกสบู่ โดยการนำผ้า หรือฟองน้ำถูสบู่ก่อน แล้วค่อยๆถูตามซอกคอ รักแร้ ง่ามนิ้วมือ นิ้วเท้าทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
  9. เมื่อฟอกสบู่ตามส่วนต่างๆครบแล้ว ใช้ฟองน้ำหรือผ้าขนหนูชุบน้ำเช็ดสบู่ตามตัวออกให้หมด จากนั้นประคองทารกวางลงในอ่างสำหรับอาบน้ำเด็กอย่างเบาๆช้าๆ อย่าให้ลูกตกใจ จากนั้นล้างสบู่ออก แล้วรีบนำทารกขึ้น แล้วห่อผ้าให้เพื่อให้เกิดความอบอุ่น
  10. จากนั้นให้เช็ดตามตัวให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกคอ ข้อพับ รักแร้ ขาหนีบ
  11. ทาแป้งให้เด็ก โดยเทแป้งลงบนฝ่ามือก่อน แล้วจึงค่อยๆทาไปบนตัวเด็กตามส่วนต่างๆที่ต้องการ เช่น ใบหน้า ซอกคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ยกเว้นสะดือ ในเด็กที่สะดือยังไม่หลุด สำหรับเด็กที่อ้วน บริเวณซอกคอ ขาหนีบ ข้อพับ นั้นจำเป็นมากเพื่อลดการเสียดสีของผิวหนัง และจำได้เสมอว่าควรหลีกเลี่ยงแป้งที่มีส่วนผสมของ Talcum เพราะเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของทารกน้อยได้
  12. เช็ดทำความสะอาดสะดือให้ทารก
ไม่ควรเกาศีรษะทารกรุนแรง โดยเฉพาะคนไว้เล็บ

การทำความสะอาดส่วนต่างๆในร่างกายทารก

การทำความสะอาดอวัยวะเพศ

สิ่งที่ต้องทำเหมือนกันก็คือ ก่อนใส่ผ้าอ้อม อาจจะทาครีมป้องกันเพื่อป้องกันผดผื่นก่อนได้ แต่ไม่ควรโรยแป้งตรงอวัยวะเพศ ให้ทาแค่บริเวณแก้มก้นและขาหนีบก็พอ สำหรับการทำความสะอาด ให้ใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดบริเวณที่เปื้อนปัสสาวะและอุจจาระจนสะอาด ซับให้แห้ง อาจจะปล่อยให้ก้นลูกได้ผึ่งลมสักครู่ ก่อนจะใส่ผ้าอ้อม

เลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่เป็นอันตรายกับผิวบอบบางของทารก

ข้อควรระวังในการอาบน้ำให้ทารก

เมื่อคุณพ่อคุณแม่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว Motherhood หวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะเริ่มมั่นใจมากขึ้นในการอาบน้ำให้ทารกน้อย เพราะการอาบน้ำให้ลูกน้อยเป็นช่วงเวลาที่มีค่า ที่จะช่วยเสริมสร้างความผูกพันระหว่างคุณกับลูกได้เป็นอย่างดี

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th