Site icon Motherhood.co.th Blog

ขบวนการจ้าง “อุ้มบุญ” จากจีนโผล่ในไทยแล้ว

ขบวนการอุ้มบุญ

ตำรวจไทยทะลายแก๊งรับจ้างอุ้มบุญชาวจีน

ขบวนการจ้าง “อุ้มบุญ” จากจีนโผล่ในไทยแล้ว

เราคงผ่านตากับข่าวต่าง ๆ ที่มีชาวต่างชาติทำการว่าจ้างหญิงชาวไทยให้ “อุ้มบุญ” มาหลายต่อหลายครั้ง แต่ล่าสุดที่มีข่าวออกมาเมื่อไม่กี่วันก่อน เรื่องมันใหญ่โตถึงขั้นว่าทำกันเป็นขบวนการเลยทีเดียว เรื่องราวจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น Motherhood จะสรุปสถานการณ์ให้ทราบกันค่ะ

กลุ่มผู้ต้องหาชาวจีนที่ทำธุรกิจจ้างหญิงตั้งครรภ์เพื่อส่งทารกไปขายในจีนได้ถูกจับกุมแล้วบางส่วน ทางตำรวจพบว่านี่เป็นขบวนการเค้าเด็กรายใหญ่ในไทยครั้งแรก ซึ่งขบวนการนี้ได้มีการดำเนินงานมามากว่า 13 ปี แต่ทางตำรวจก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าส่งออกเด็กไปทำอะไร

จับกุมขบวนการนี้ได้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ตำรวจได้นำกำลังเข้าตรวจค้นภายในบ้านหลังหนึ่งย่านถนนนาคนิวาส 37 เพื่อติดตามตัวผู้ต้องหาสัญชาติจีน ตามหมายจับ ที่ได้รับการสืบสวนพบว่าทำธุรกิจเกี่ยวกับการติดต่อให้หญิงไทยตั้งครรภ์และส่งเด็กไปขายยังประเทศจีน พร้อมกันนี้ในบ้านอีกหลังซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน พบหญิงไทยอีก 7 คน บางคนกำลังตั้งครรภ์ พร้อมพบทารกเพศชาย อายุประมาณ 20 วัน อยู่บนห้องชั้น 2 โดยมีหญิงอีกคนที่ไม่ใช่แม่ ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นพี่เลี้ยงเด็ก โดยหญิงคนดังกล่าวได้รับเงินค่าจ้าเดือนละ 14,000 บาท นอกจากนั้นทางตำรวจยังค้นพบตู้อบเด็กทารกอยู่ภายในบ้านด้วย ซึ่งคาดว่ามีไว้เพื่อใช้อบเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดและที่คลอดในไทย เพราะปกติแล้วขบวนการนี้จะส่งหญิงที่ตั้งครรภ์อายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน ไปคลอดที่จีน แต่เนื่องจากช่วงนี้ยังคงมีการแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำให้การเดินทางลำบาก บางคนที่ถึงกำหนดคลอดจึงต้องคลอดในไทย

อีกบริเวณหนึ่งที่ทางตำรวจได้ทำการเข้าตรวจค้นคือย่านทาวน์อินทาวน์ โดยพบผู้ต้องหาหญิงสัญชาติจีนตามหมายจับ ซึ่งเธอได้ทำการเปิดสถานที่รับปรึกษาผู้มีบุตรยาก ทางตำรวจยังค้นพบชายหญิงชาวจีน 8 คู่ รวม 16 คนอีกด้วย ซึ่งพักอยู่ในห้องพักที่เปิดให้ฝังตัวอ่อน เพราะต้องนอนพักอย่างน้อย 10 วัน อีกทั้งยังพบหญิงสัญชาติเมียนมาอีก 7 คน ที่เป็นแม่บ้านดูแลสถานที่นี้ อย่างไรก็ตามตำรวจพบว่าผู้หญิงตามหมายจับมีความเกี่ยวพันกับชายคนแรกที่จับได้ที่บ้านพักย่านนาคนิวาส

ครั้งนี้ถือเป็นกรณีแรกที่พบว่าเป็นชาวจีนมาจัดหานายหน้าคนไทยให้จัดหาหญิงที่ว่างงานหรือต้องการเงินไปรับจ้างตั้งครรภ์ โดยมีผู้มารับจ้างเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามทางตำรวจยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าผู้กระทำการผิดนั้นมีจุดประสงค์ใดในการส่งตัวเด็กออกไปยังประเทศจีน แต่ได้ตั้งสมมติฐานว่าการที่นำเด็กออกไปจำนวนมากนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติ หรืออาจจะนำไปทำสิ่งที่ผิดกฎหมายก็ได้

จากรายงานล่าสุด ชุดสืบสวนกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ได้เสนอไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้เข้าตรวจค้นโรงพยาบาลที่มีหลักฐานเชื่อมโยงกับแก๊งอุ้มบุญเพื่อหาหลักฐาน พร้อมทั้งตรวจสอบเส้นทางทางการเงินและการติดต่อของผู้ร่วมขบวนการทั้งหมด เพราะยังมีอีกหลายแก๊งฝังตัวอยู่ในหลายพื้นของทั่วประเทศ

ทางบก.ปคม.รายงานว่ายังมีอีกหลายแก๊งในเมืองไทย

การอุ้มบุญในประเทศไทย

หลายคนคงรู้จักหรือเคยได้ยินเรื่องการมีลูกโดยวิธีการอุ้มบุญกันมาบ้างแล้ว แต่การอุ้มบุญในไทยนั้นถูกกฎหมายหรือไม่ และมีวิธีการดำเนินการอย่างไรบ้าง เราลองมาดูกัน

นิยามของการอุ้มบุญ

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจิญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ 2558 การอุ้มบุญหรือการตั้งครรภ์แทนกันนั้น เป็นการตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีต่าง ๆ ทางการแพทย์ในการช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือการใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภรรยา หรือการใช้ตัวอ่อนจากอสุจิสามีหรือไข่ภรรยาไปผสมกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น โดยมีข้อห้ามไม่ให้ใช้ไข่ของหญิงที่อุ้มบุญ โดยข้อกำหนดสำหรับผู้ที่จะขอให้มีการอุ้มบุญนั้นมีหลากหลายเงื่อนไข 

ต้องมีสภาพร่างกายเช่นไรถึงทำได้?

ผู้ที่อยู่ในภาวะต่อไปนี้อาจให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทนกำหนดให้ทำได้เฉพาะคู่สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น การอุ้มบุญในประเทศไทยจึงถือว่ายังมีข้อจำกัดต่อผู้ที่ต้องการมีบุตรแต่มีสถานภาพการแต่งงานไม่เป็นไปตามข้อบังคับ หรือคู่รักเพศเดียวกันที่ตามกฎหมายไทยยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้

คุณสมบัติของแม่อุ้มบุญควรเป็นอย่างไร?

ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำว่าแม่อุ้มบุญที่เหมาะสมควรจะมีคุณสมบัติ ดังนี้

อุ้มบุญอย่างไรให้ถูกกฎหมาย

สามีภรรยาที่มีสิทธิในการทำการอุ้มบุญนั้น จะต้องเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหมายถึงว่าคู่สามีภรรยานั้นได้จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฏหมาย แต่หากเป็นการแต่งงานต่างสัญชาติต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี และมีความพร้อมทางครอบครัว รวมถึงมีปัจจัยในการดำรงชีพต่าง ๆ ที่ดี เพื่อที่จะสามารถเลี้ยงดูเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญได้อย่างดีที่สุด การอุ้มบุญหรือการตั้งครรภ์แทนที่ไม่สามารถดำเนินการตามกฏหมายอย่างถูกต้องได้นั้นคือ หญิงโสด ชายโสด ในส่วนของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนได้หรือที่เรียกว่าแม่อุ้มบุญนั้นจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

การจ้างหญิงอุ้มบุญยังคงเป็นปัญหาในประเทศแถบเอเชียหลายประเทศ

มีเงื่อนไขในการตกลงอื่นอีกหรือไม่?

ตามกฎหมายแล้วนั้น ก่อนจะเริ่มมีการตั้งครรภ์ จะต้องมีการตกลงเป็นหนังสือ ระหว่างหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนกับสามีภริยาที่ต้องการมีบุตร ว่าให้ทารกในครรภ์ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนเป็นบุตรของสามีภริยาที่ขอให้มีการอุ้มบุญ การทำข้อตกลงดังกล่าว จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนในสิทธิหน้าที่ระหว่างคู่สามีภริยา และแม่อุ้มบุญ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือเกิดการต่อรองเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนโดยใช้ทารกในครรภ์เป็นประกัน รวมทั้งเป็นการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของเด็กและแม่อุ้มบุญด้วย

การอุ้มบุญแบบไหนผิดกฎหมาย

กฎหมายกำหนดว่าห้ามดำเนินการให้ตั้งครรภ์แทน เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจการค้า รวมถึงห้ามไม่ให้กระทำการเป็นนายหน้า คนกลาง โดยเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการตอบแทนในการจัดการหรือชี้ช่องให้มีการรับตั้งครรภ์แทน และห้ามไม่ให้มีการโฆษณาว่ามีหญิงประสงค์จะรับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น หรือมีบุคคลประสงค์จะให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน ไม่ว่าจะกระทำเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น การรับจ้างอุ้มบุญ การเป็นนายหน้าจัดหาหญิง หรือสถานพยาบาลเพื่อทำการอุ้มบุญจึงเป็นความผิด และมีโทษทางอาญา

ใครเป็นบิดาและมารดาตามกฎหมายของเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ

กฏหมายในพรบ.ฉบับล่าสุดนี้ กำหนดให้เด็กที่เกิดจากอสุจิไข่หรือตัวอ่อนของผู้บริจาคโดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฏหมายของสามีและภรรยาที่ประสงค์จะมีบุตรโดยใช้วิธีการอุ้มบุญ ไม่ว่าภรรยาจะเป็นผู้ตั้งครรภ์เองหรือเป็นการตั้งครรภ์แทนโดยหญิงอื่น ผลก็คือเด็กที่คลอดจากครรภ์ของแม่อุ้มบุญจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายของคู่สามีภรรยา ซึ่งทั้งคู่จะต้องเดินทางไปแจ้งเกิด ส่วนชายหรือหญิงที่บริจาคอสุจิหรือไข่ ซึ่งนำมาใช้ปฎิสนธิเป็นตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์ หรือผู้บริจาคตัวอ่อน และเด็กที่เกิดจากอสุจิหรือไข่หรือตัวอ่อนที่บริจาคดังกล่าว ไม่มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันตามประมวลกกหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก

สามารถมีลูกเองได้ แต่ยังอยากให้คนอุ้มบุญได้หรือไม่?

ความมุ่งหมายของกฎหมายฉบับนี้มีเพื่อให้ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาภาวะของการมีบุตรยาก หรือไม่สามารถมีบุตรได้ ดังนั้นในกรณีที่คู่สมรสสามารถมีบุตรได้เอง แต่ฝ่ายหญิงไม่ต้องการตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ หรือคู่สมรสซึ่งต้องการมีบุตรจำนวนมากโดยมีจุดประสงค์ที่มิชอบ หรือกรณีชายหรือหญิงที่ไม่ได้สมรสแต่ต้องการมีบุตร ย่อมไม่อยู่ในขอบเขตของการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ตามกฏหมายฉบับนี้

บ้านเรามีบุคคลากรทางการแพทย์ที่มีฝีมือไม่เป็นสองรองใครนะคะ และเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ก็รุดหน้ามากขึ้นทุกวัน หากใครประสบปัญหามีบุตรยากก็ลองพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาดูก่อนได้ค่ะ เรื่องการอุ้มบุญเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องอาศัยความยินยอมจากคนหลายฝ่าย แม้ว่าจะมีกฎหมายออกมารองรับแล้วก็ตาม แถมอาจจะต้องรับมือกับผู้คนรอบตัวที่ไม่เข้าใจเหตุผลในการอุ้มบุญหรือไม่เห็นว่ามันเป็นวิธีที่ดี ส่วนกรณีขบวนการจ้างอุ้มบุญตามที่เป็นข่าว หากมีความคืบหน้าในการสืบสวนอย่างไรแล้ว Motherhood จะนำรายละเอียดมาอัพเดทให้ได้ทราบกันอีกครั้งค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th