Site icon Motherhood.co.th Blog

เด็กตาเหล่ ตาเข เกิดจากอะไร

เด็กตาเหล่หรือตาเข

ตรวจสอบอาการตาเหล่หรือตาเขของลูกก่อนจะสายเกินไป

เด็กตาเหล่ ตาเข เกิดจากอะไร

หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกน้อยที่มีอายุต่ำกว่า 3 เดือน มีอาการตาเหล่เข้าหากันหรือเหล่ออก ตาสองข้างทำงานไม่ค่อยสอดคล้องกัน ก็อาจกังวลว่าลูกจะเป็น “เด็กตาเหล่” หรือเปล่า เมื่อเขาโตขึ้นไปแล้วอาการจะยังติดอยู่กับเขาหรือไม่ หากยังมีอาการอยู่ จะทำการรักษาได้อย่างไร วันนี้เราจะมาติดตามความรู้เรื่องอาการตาเหล่และตาเขกันค่ะ

อาการตาเหล่คืออะไร

ตาเหล่ หรือ ตาเข (Strabismus, Squint) เป็นภาวะหรือโรคที่พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก โดยจะมีอาการที่ตาทั้ง 2 ข้างไม่อยู่ในแนวตรงตามธรรมชาติ อันสืบเนื่องมาจากการมีภาวะผิดปกติที่ทำให้การเคลื่อนไหวของลูกตาทั้ง 2 ข้างขาดการประสานงานกันเช่นคนที่มีตาปกติ โดยตาดำข้างใดข้างหนึ่งจะมีการเขเข้าด้านในทางหัวตาเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจพบได้บ้างที่ตาเขออกด้านนอกทางหางตา ตาเขขึ้นด้านบน หรือตาเขลงด้านล่าง ทำให้ไม่สามารถมองวัตถุด้วยตาทั้งสองข้างพร้อมกัน

ภาวะนี้คืออาการที่ตาสองข้างทำงานไม่ประสานกัน

กับคนที่ตาปกติ ลูกตาจะเคลื่อนไหวในลักษณะที่ประสานงานสอดคล้องกันเสมอ เพื่อให้มองเห็นภาพเป็น 3 มิติ โดยมีสมองเป็นตัวสั่งการมาที่กล้ามเนื้อสำหรับกลอกตาทั้ง 2 ข้าง เป็นการทำงานไปพร้อมกัน ขยับมองเป็นแนวขนานกันไป ถ้าตาขวาจะมองไปทางขวา ตาซ้ายก็ต้องมองไปทางขวาด้วย หรือถ้าตาซ้ายมองลงล่าง ตาขวาจะมองขึ้นบนหรือมองไปทางอื่นไม่ได้ นอกจากมองลงล่างตามตาซ้ายด้วย ยกเว้นในเวลาที่มองใกล้ ๆ ซึ่งตาทั้ง 2 ข้างจะหมุนเข้าหากันเพื่อจับโฟกัสภาพที่อยู่ใกล้ และเวลามองตรงไปข้างหน้า ตาทั้ง 2 ข้างก็จะต้องอยู่ตรงกลาง

จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 5% ของเด็กทั้งหมดที่เกิดมาจะตรวจพบภาวะนี้ อาจจะเป็นน้อยหรือมากและเป็นตาเขชนิดต่าง ๆ กันไป และมากกว่าครึ่งหนึ่งจะตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในอายุ 6 เดือน

ประเภทของอาการตาเข

  1. ตาเขชนิดเห็นได้ชัด (Manifest strabismus) เป็นตาเขที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าตาเข โดยจะมีอยู่ด้วยกันหลายลักษณะ คือ
    • ตาเขเข้าด้านใน (Esotropia) ตาดำข้างที่เขจะเบนเข้าด้านในหรือมุดเข้าหาหัวตา ตาเขชนิดนี้จะพบได้มากกว่าชนิดอื่น ๆ และมักพบได้ในเด็กแรกเกิดอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป อาจเรียกว่าเป็นตาเขเข้าด้านในชนิดแรกเกิด (Infantile esotropia) หรือ “ตาไขว้” (Crossed eye) สาเหตุที่เกิดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เมื่อมองภาพระยะใกล้จำเป็นต้องเพ่งมากเกินไปทำให้ตาดำมุดเข้าหากัน หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อกลอกลูกตา หรือประสาทบังคับการทำงานกล้ามเนื้อตาไม่สมดุลกัน และสาเหตุตามกรรมพันธุ์
    • ตาเขออกด้านนอก (Exotropia) ตาดำข้างที่เขจะเบนหรือเฉียงออกด้านนอกหางตา เป็นชนิดที่พบได้น้อยกว่าชนิดตาเขเข้าด้านใน ไม่ค่อยพบในเด็ก ๆ ซึ่งตาเขชนิดนี้มักจะเกิดร่วมกับภาวะสายตาสั้น อาจเป็นเพราะโรคกระจกตาดำเลนส์ตาขุ่น วุ้นลูกตาขุ่น รูม่านตาตีบ และประสาทจอรับภาพผิดปกติ เป็นผลให้ตาข้างนั้นไม่สามารถจับจ้องภาพได้ จึงเบนออกด้านนอก
    • ตาเขขึ้นด้านบน (Hypertropia) ตาดำข้างที่เขจะลอยขึ้นด้านบน อาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อกลอกตา เป็นชนิดที่พบได้น้อย
    • ตาเขลงด้านล่าง (Hypotropia) ตาดำข้างที่เขจะมุดลงด้านล่าง เป็นตาเขชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อสำหรับกลอกตาหรือมีแผลเป็นที่กล้ามเนื้อตาหลังได้รับอุบัติเหตุ แผลเป็นจึงดึงรั้งให้ลูกตามุดลงด้านล่าง ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้น้อยเช่นกัน
  2. ตาเขเทียม (Pseudostrabismus) เป็นตาเขที่พบได้ในเด็กที่สันจมูกยังแบนราบกับผิวหนังและบริเวณหัวตากว้าง จึงแลดูคล้ายตาเหมือนอยู่ชิดหัวตา เหมือนลักษณะตาเขเข้าด้านใน แต่เมื่อเด็กโตขึ้นสันจมูกมีดั้งสูงขึ้น ภาวะนี้จะหายไปเอง อีกประเภทคือ มีรูปหน้าแคบ ทำให้ตาทั้งสองอยู่ใกล้กันมาก แม้จมูกจะโด่ง แต่ก็ทำให้ดูเหมือนคนตาเขเข้าในได้เช่นกัน หรืออีกประเภทคือ มีใบหน้ากว้าง ทำให้ลูกตาอยู่ห่างกันมากกว่าปกติ จนดูคล้ายกับคนตาเขออกด้านนอก
  3. ตาเขชนิดซ่อนเร้น (Phoria) หรือที่เรียกว่า “ตาส่อน” เป็นภาวะที่ถ้าลืมตาแล้ว ตาทั้ง 2 ข้างจะอยู่ตรงกลางเป็นปกติดี แต่เวลาที่ร่างกายอ่อนเพลีย หรือเมื่อเอาอะไรมาบังตาข้างใดข้างหนึ่ง ตาข้างนั้นจะเบนออกจากตรงกลาง ถ้าเอาที่บังตาออก ตาข้างนั้นก็จะกลับมาตรงใหม่ ภาวะนี้มักจะไม่มีปัญหาอะไร แต่อาจเป็นสาเหตุให้มีอาการเมื่อยล้าตาได้ง่ายกว่าคนทั่วไปเมื่อต้องใช้สายตามาก ๆ
  4. ตาเขชนิดอัมพาตของประสาทกล้ามเนื้อตาหรือจากโรคทางร่างกายอื่น เป็นตาเขชนิดที่มักพบได้ในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กพบได้น้อย และเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อกลอกลูกตาอ่อนตัวหรือเป็นอัมพาต หรือเกิดตามหลังภาวะโรคระบบอื่นของร่างกาย เช่น เป็นโรคเบาหวานนาน ๆ ตาอาจเขออกนอกได้
สามารถพบอาการได้ 5% ในเด็กที่มาตรวจ

ทารกแรกเกิดสายตาจะยังเจริญไม่เต็มที่ ทำให้อาจเกิดอาการตาเขได้บ้าง แต่หากเด็กอายุเลย 6 เดือนไปแล้วยังมีอาการตาเขอยู่อีกก็ถือว่าผิดปกติ ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อย คือ

ต้องรีบพาลูกไปตรวจหากพบอาการต้องสงสัย

วิธีการรักษา

  1. ถ้าพบอาการตาเขเป็นครั้งคราวในทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน แพทย์จะเฝ้าติดตามดูอาการไปเรื่อย ๆ ก่อน เพราะถ้าไม่มีสาเหตุที่ผิดปกติ อาการก็มักจะหายไปได้เมื่ออายุได้ 6 เดือน แต่ถ้าอายุเลย 6 เดือนไปแล้วยังไม่หาย ควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจดูภายในลูกตาอย่างละเอียด ดูว่ามีโรคอื่น ๆ ที่เป็นต้นเหตุของตาเขหรือไม่ มีภาวะตาขี้เกียจหรือไม่ และวัดดูว่าความเขมีมากน้อยเพียงใด เพื่อใช้ประเมินในการรักษาต่อไป
  2. เด็กที่มีสายตายาวมากกว่า + 2.50 D หรือมีสายตา 2 ข้างต่างกันมากกว่า + 1.50 D หรือมีสายตาเอียงมากกว่า + 0.50 D ควรได้รับการแก้ไขด้วยแว่นตา หรือคอนแทคเลนส์ หากไม่แก้ไขปัญหาสายตาดังกล่าวจะมีโอกาสเกิดภาวะตาขี้เกียจได้
  3. หากต้องต้องได้รับการผ่าตัด บางรายอาจต้องได้รับการผ่าตัดซ้ำ เพราะการผ่าตัดครั้งเดียวอาจแก้ไขอาการตาเขได้ไม่หมด และหลังการผ่าตัดเด็กยังคงต้องมาตรวจรักษาเป็นระยะ และถ้ามีปัญหาสายตาร่วมด้วย แม้ผ่าตัดตาเขแล้วยังคงต้องใส่แว่นต่อไป
  4. แพทย์จะนัดมาตรวจเป็นระยะ ๆ เพื่อปรับค่าแว่นแก้ไขสายตา เนื่องจากเมื่อเด็กโตขึ้น สายตาก็จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงติดตามเรื่องการพัฒนาการมองเห็นสามมิติ เพื่อติดตามดูว่ามีปัญหาเรื่องตาเขกลับเป็นซ้ำอีกหรือไม่ ซึ่งหากเกิดขึ้นซ้ำก็จะต้องทำการรักษาโดยเร็ว

คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกหลังจากที่เขาอายุมากกว่า 3 เดือน หากพบอาการที่น่าสงสัยให้พาไปพบจักษุแพทย์โดยเร็วเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไปค่ะ

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th