Site icon Motherhood.co.th Blog

6 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “เด็กออทิสติก” ที่คนส่วนมากมี

ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับเด็กออทิสติก

นี่คือ 6 ความเชื่อผิด ๆ ที่ผู้คนมีต่อเด็กออทิสติก

6 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “เด็กออทิสติก” ที่คนส่วนมากมี

มีข้อมูลที่ผิดมากมายเกี่ยวกับ “เด็กออทิสติก” ที่คนในสังคมส่งต่อกันจนกลายเป็นความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับเด็กหรือคนกลุ่มนี้ เราได้ถามผู้เชี่ยวชาญถึงสิ่งที่พ่อแม่จำเป็นต้องรู้ เพื่อให้พวกคุณแยกแยะความจริงออกจากสิ่งที่คนลือกันมั่วไปเอง และคุณจะได้ดูแลเด็กพิเศษของคุณได้อย่างถูกต้อง

พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กออทิสติกหลายคนต้องการช่วยเหลือลูก ๆ ค้นหาคำตอบเกี่ยวกับอาการที่พวกเขาเป็นจากช่องทางออนไลน์ แต่บนอินเทอร์เน็ต พวกเขาสามารถพบเจอกับโพสต์เกี่ยวกับการรักษาแบบปาฏิหาริย์ที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ หรือพบกับข้อมูลที่เกิดมาจากความเข้าใจผิด ๆ ในฟอรัมสนทนา

ความจริงก็คือ แม้ว่าคุณจะดูการวิจัยมาบ้างแล้ว แต่ก็มีคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบมากมายและข้อค้นพบที่ขัดแย้งกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การตีความที่ผิด และผู้คนก็เติมข้อมูลในช่องว่างเหล่านั้นด้วยตัวเอง

แต่ข้อมูลที่ผิดทั้งหมดนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่ผู้ปกครองเอาเสียเลย และในบางกรณีอาจเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เราได้ขอให้ผู้เชี่ยวชาญแจกแจงความไม่ถูกต้องที่พบบ่อยที่สุดที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์

Image: whiteswanfoundation.org

Myth #1: ออทิสติกเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่ง

ออทิสติกเป็นความผิดปกติที่มีลักษณะเป็นสเปกตรัม ซึ่งหมายความว่าอาการ ความสามารถ ความบกพร่อง และระดับความรุนแรงจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ลักษณะของกลุ่มอาการภาวะออทิซึ่ม (ASD) อาจรวมถึงการพูดล่าช้าหรือไม่มีเลย ความไวอย่างมากต่อเสียงหรือการสัมผัส พฤติกรรมซ้ำ ๆ ทักษะทางสังคมที่ไม่ดี ปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ และอาการชัก เป็นต้น

แต่อาการที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏในเด็กทุกคนที่เป็นออทิสติก และสิ่งสำคัญคือต้องจดจำอาการเฉพาะของเด็กเพื่อให้สามารถรักษาได้ตามนั้น เพราะหากเราสามารถวินิจฉัยและรักษาได้เร็วกว่าที่จะรอให้อาการทั้งหมดเกิดขึ้นให้เห็น ในบางรายอาจไม่เคยเกิดขึ้น และยิ่งคุณเริ่มการบำบัดเร็วเท่าไหร่ ผลลัพธ์ก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น ทักษะด้านภาษา ไอคิว และการปรับตัวล้วนดีขึ้น

พวกเขาไม่ใช่เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

Myth #2: เด็กออทิสติกทุกคนมีความบกพร่องทางสติปัญญา

การศึกษาจากเครือข่าย Autism and Developmental Disabilities Monitoring (ADDM) พบว่า 69 เปอร์เซ็นต์ของเด็กออทิสติกไม่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งโดยทั่วไปจะกำหนดเป็นคะแนนไว้ที่ IQ 70 หรือต่ำกว่า

ยังคงมีความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนว่าทุกคนที่เป็นโรคออทิสติกมีสติปัญญาอันจำกัด ผู้คนอาจตั้งสมมติฐานของตน ว่าคนเราจะพูดหรือสื่อสารได้ดีเพียงใด แต่เด็กออทิสติกอาจฉลาดมากในบางด้าน และมีความท้าทายในด้านอื่น ๆ เช่นเดียวกับเด็ก ๆ ทั่วไป แม้ว่าจุดแข็งและจุดอ่อนของพวกเขามักจะแตกต่างกันไป  ตัวอย่างเช่น เด็กออทิสติกอาจมีทักษะการพูดที่จำกัด แต่สามารถแก้ปริศนาที่ซับซ้อนได้ดีมาก ความฉลาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถเพียงอย่างเดียว

พวกเขาควรได้รับการพัฒนาทักษะในการหาและเล่นกับเพื่อน

Myth #3: เด็กออทิสติกไม่สนใจที่จะหาเพื่อน

เด็กออทิสติกมักต่อสู้กับทักษะการสื่อสารและการเข้าสังคม ทำให้ยากที่จะแสดงออกในสิ่งที่ต้องการหรือรู้วิธีเล่น แต่เช่นเดียวกับเด็กส่วนใหญ่ เด็กออทิสติกหลายคนต้องการเพื่อน

โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ บางคนอาจดูเหมือนไม่ค่อยสนใจ แต่ก็มีแนวโน้มว่าพวกเขายังไม่ได้พัฒนาทักษะในการหาเพื่อนและเล่นด้วยกัน พวกเขาอาจใช้เวลานานกว่าเด็กทั่วไปในการทำเช่นนี้ และพวกเขาจะต้องได้รับการสอนทักษะ

พวกเขาอาจเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ในกลุ่มเล่นของเด็กภายใต้การดูแล โดยมีการฝึกสอนมากกว่าเด็กทั่วไปตามวัยเล็กน้อย เมื่อเด็กออทิสติกโตแล้ว พวกเขาอาจเข้าสังคมโดยมีการฝึกสอนเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย แต่ในรูปแบบที่แตกต่างจากเพื่อนของเขาทั่วไป

เด็กโตอาจกระตือรือร้นที่จะพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อที่พวกเขาสนใจ แต่ไม่ค่อยมีความบันเทิงที่จะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ ผู้คนอาจตีความว่าสิ่งนี้เป็นการต่อต้านสังคม ซึ่งมักไม่เป็นเช่นนั้นเลย ในที่สุดเด็ก ๆ อาจถอนตัวออกไปหากพวกเขาไม่สามารถสร้างหรือรักษาเพื่อนไว้ได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าหากพวกเขาเข้าใจและพัฒนาทักษะทางสังคมที่ดี คนหนุ่มสาวที่มีกลุ่มอาการภาวะออทิซึ่มก็สามารถมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและสนุกสนานต่อไปได้เช่นกัน

มีโอกาสสูงที่ฝาแฝดแท้จะเกิดอาการเช่นเดียวกัน

Myth #4: ออทิสติกเกิดจากพันธุกรรมทั้งสิ้น

มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ายีนบางตัวก่อให้เกิดหรือมีส่วนทำให้เกิดออทิสติก แต่ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมก็เข้ามามีบทบาทด้วยเช่นกัน นักวิจัยเองก็เพิ่งเริ่มเข้าใจเรื่องนี้

การวินิจฉัยโรคออทิสติกพบว่ามีแนวโน้มที่จะแบ่งปันอาการโดยฝาแฝดแท้มากกว่าฝาแฝดเทียม การศึกษาเคยรายงานว่าหากแฝดแท้มีอาการออทิสติก มีโอกาส 90 เปอร์เซ็นต์ที่แฝดอีกคนก็จะมีอาการเช่นกัน แต่ตอนนี้การวิจัยชี้ให้เห็นว่าตัวเลขอยู่ที่ 50-70 เปอร์เซ็นต์ ความจริงที่ว่าอีก 30-50 เปอร์เซ็นต์ของฝาแฝดแท้ไม่แสดงอาการออทิสติกบ่งชี้ว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอาจมีบทบาท ในบางครั้งปัจจัยต่าง ๆ เช่น การได้รับยา เช่น กรดวาลโปรอิก (ยาต้านอาการชัก) หรือการได้รับเชื้อไวรัสผ่านทางมดลูก เช่น โรคหัดเยอรมัน อาจทำให้เกิดออทิสติกได้

Myth #5: วัคซีนทำให้เกิดออทิสติก

ในปี 1998 The Lancet ตีพิมพ์รายงานที่เชื่อมโยงวัคซีนกับออทิสติกซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเล่นข่าวนี้ในสื่อจำนวนมาก และเกิดความกลัวมากมาย แต่บทความถูกถอดออกเมื่อได้รับการยืนยันว่าข้อมูลบางส่วนนั้นปลอมแปลง แพทย์รายดังกล่าวจึงสูญเสียใบอนุญาตทางการแพทย์

บางคนก็ยังคงมีความกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสารกันบูดในวัคซีน แต่อัตราออทิสติกเพิ่มขึ้นเป็นเวลาหลายปีหลังจากที่สารกันบูดพวกนั้นถูกกำจัดออกไป ความเข้าใจผิดอาจยังคงมีอยู่บางส่วน เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนในช่วงเวลาที่พ่อแม่ผู้ปกครองและแพทย์สามารถมองเห็นสัญญาณออทิสติก แต่นี่เป็นเพียงเรื่องบังเอิญ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนและออทิสติกอย่างมีนัยยะสำคัญ

Image: npr.org

Myth #6: คีเลชั่นบำบัดเป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยสำหรับออทิสติก

พ่อแม่บางคนเคยให้ลูกลองคีเลชั่นบำบัด ซึ่งเป็นวิธีการบำบัดที่เกี่ยวข้องกับการกินยาบางชนิดเพื่อกำจัดสารปรอทออกจากเลือด การรักษาเหล่านี้อ้างอิงจากรายงานที่ไม่มีหลักฐานระบุว่าสารปรอทอาจทำให้เกิดออทิสติกได้ แต่วิธีการบำบัดนี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัยและอาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรง รวมถึงความเสียหายของไต

แต่นั่นไม่ใช่วิธีการรักษาทางเลือกเดียวที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นอันตราย แพทย์บางคนอ้างว่าวิตามินเอในปริมาณที่สูงมากอาจลดอาการออทิสติกได้ แต่อาจทำให้อาเจียน กระดูกบางลง และตับถูกทำลาย รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

ความจริงแล้วไม่มีวิธีที่พิสูจน์แล้วว่าจะรักษาอาการออทิสติกได้ แต่คุณสามารถพูดคุยกับแพทย์ของบุตรหลานเกี่ยวกับยาหรือวิธีการรักษา เพื่อรักษาอาการเฉพาะหรือเกี่ยวกับการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญ ครอบครัวที่อยากรู้อยากเห็นว่าการรักษาจะช่วยให้อาการของเด็กดีขึ้นได้หรือไม่ ควรแน่ใจว่าข้อมูลเกี่ยวกับการบำบัดนั้นมาจากแหล่งข้อมูลอิสระที่เชื่อถือได้ ไม่ใช่ผู้พัฒนาวิธีการบำบัดหรือผู้ที่ออกมาให้คำรับรอง

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรรักษาความสงสัยเกี่ยวกับการกล่าวอ้างที่เกินจริงของวิธีการรักษาและบำบัดต่าง ๆ เอาไว้ และถามว่าการบำบัดนั้นได้รับการศึกษาอย่างถูกต้องในเด็กที่มีกลุ่มอาการภาวะออทิซึ่มที่ปัญหาคล้ายคลึงกันกับบุตรหลานของคุณหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่ามีความเสี่ยงน้อยที่สุด

 

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th