Site icon Motherhood.co.th Blog

เลือดแม่ลูกไม่เข้ากัน ภาวะอันตรายที่ต้องระวังไว้

ทำไมเลือดแม่ลูกไม่เข้ากัน

หากเลือดของแม่และลูกไม่เข้ากันจะเกิดอะไรขึ้น ?

เลือดแม่ลูกไม่เข้ากัน ภาวะอันตรายที่ต้องระวังไว้

หมู่เลือดคือสิ่งที่ถ่ายทอดจากพ่อและแม่ไปสู่ทารกน้อยในครรภ์ หากเกิดภาวะ “เลือดแม่ลูกไม่เข้ากัน” ก็จะนำไปสู่ปัญหาหลายอย่าง เช่น การรับเลือดในกรณีเร่งด่วนที่เกิดการเสียเลือดมาก ดังนั้น การตรวจความเข้ากันของเลือดแม่และลูกก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการเข้ากันไม่ได้ของเลือดแม่และลูก ซึ่งวันนี้เราจะมาเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องนี้ให้มากขึ้นกันค่ะ

บางคนไม่เคยรู้มาก่อนว่าเลือดของแม่และลูกอาจไม่เข้ากันได้

ระบบหมู่เลือดที่ควรรู้

ระบบหมู่เลือด ABO เป็นระบบหมู่เลือดที่พวกเราคุ้นเคยกันดี ซึ่งระบบนี้จะทำการแบ่งหมู่เลือดออกเป็น 4 หมู่ คือ A B AB และ O โดยความแตกต่างที่เกิดขึ้นจะถูกกำหนดโดยโปรตีนที่เกาะอยู่บนผิวของเม็ดเลือดแดง สารโปรตีนนี้คือ แอนติเจน (Antigen) ทำหน้าที่เป็นตัวจำแนกหมู่เลือด ในระบบ ABO มีสารแอนติเจนอยู่ 2 ชนิด คือ สารโปรตีน A (Antigen-A) และสารโปรตีน B (Antigen-B)

หากต้องการทราบว่าลูกมีหมู่เลือดใดในระบบ ABO คุณพ่อคุณแม่สามารถคำนวณได้คร่าว ๆ จากหมู่เลือดของคุณพ่อและคุณแม่เอง ดังนี้

A + A = ลูกเป็นหมู่เลือด A หรือ O

B + B = ลูกเป็นหมู่เลือด B หรือ O

AB + AB = ลูกเป็นหมู่เลือด A หรือ AB หรือ B

O + O = ลูกเป็นหมู่เลือด O เท่านั้น

A + B = ลูกเป็นหมู่เลือดใดก็ได้ มีโอกาสเป็นได้ทุกหมู่

A + AB  = ลูกเป็นหมู่เลือด A หรือ AB หรือ B

B + AB = ลูกเป็นหมู่เลือด A หรือ AB หรือ B

AB + O = ลูกเป็นหมู่เลือด A หรือ B

A + O = ลูกเป็นหมู่เลือด A หรือ O

B + O = ลูกเป็นหมู่เลือด B หรือ O

Rh คืออะไร?

อาร์เอช (Rh) เป็นหมู่เลือดอีกระบบนอกเหนือจากระบบ ABO พื้นฐาน เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ แพทย์จะเจาะเลือดเพื่อตรวจดูว่าคุณแม่แต่ละคนมีหมู่เลือดชนิดใด โดยเจาะเพื่อตรวจดูทั้ง 2 ระบบหมู่เลือด ผลการตรวจจะรายงานว่าคุณแม่มีหมู่เลือดแตกต่างกันอย่างไร เช่น คุณแม่บางรายอาจมีหมู่เลือด O, Rh+ ในขณะที่คุณแม่บางรายมีหมู่เลือด B, Rh- และหมู่เลือดทั้ง 2 ระบบนี้จะถ่ายทอดไปยังลูกด้วย โดยหมู่เลือดในระบบ Rh สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ

ทั้งนี้ หมู่เลือด Rh ประกอบด้วยยีนของทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่มาจับคู่กัน ลูกจะมีเลือดกรุ๊ปอะไร จะเป็น Rh+ หรือเป็น Rh- ก็ขึ้นอยู่กับยีนที่ลูกได้รับ โดยจะมียีนจากฝ่ายที่มีลักษณะเด่นแสดงออกมาเป็นกรุ๊ปเลือดหรือ Rh แต่อาจมีลักษณะด้อยเป็น Rh+ หรือ Rh- แฝงอยู่ด้วยก็ได้เช่นกัน

Rh มีความเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์อย่างไร?

ไม่ว่าคุณแม่จะมีเลือดกลุ่ม Rh+ หรือ Rh- ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ ถ้าทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็น Rh+ หรือ Rh- ทั้งคู่ หรือคุณแม่เป็น Rh+ ก็จะไม่มีปัญหากับการตั้งครรภ์ ยกเว้นกรณีที่คุณแม่มีกลุ่มเลือด Rh- แต่ลูกในครรภ์มีกลุ่มเลือด Rh+ อาจเพราะได้รับลักษณะเด่นมาจากคุณพ่อ อาจทำให้เกิดปัญหาเลือดแม่และลูกไม่เข้ากัน กรณีนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหากเลือดของลูกที่เป็น Rh+ เข้าสู่ร่างกายของแม่ทางรกหรือสายสะดือจากการเจาะน้ำคร่ำหรือในการคลอด ก็จะทำให้ร่างกายคุณแม่สร้างภูมิต้านทานขึ้นมาทำลายเม็ดเลือดแดงของลูกได้

การป้องกันที่ดีที่สุดคือ เมื่อพบว่าตั้งครรภ์ก็ให้รีบไปฝากครรภ์เสียตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหากตรวจพบการไม่เข้ากันของเลือดแม่และลูกในการตั้งครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะได้รีบฉีดยาลดการสร้างภูมิต้านทานต่อเลือดของลูกให้ เมื่อมีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดของแม่ไปทำลายเม็ดเลือดแดงของลูกในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไป แต่ไม่ได้แปลว่าจะเกิดปัญหาใด ๆ ขึ้นในการคลอด คุณแม่ที่มีกลุ่มเลือด Rh- ยังสามารถคลอดได้ตามปกติ

การฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่ดี

เมื่อเลือดแม่ลูกไม่เข้ากัน

การเกิดภาวะเลือดแม่และเลือดลูกไม่เข้ากันในระบบหมู่เลือด ABO มีสาเหตุจากแอนติบอดีในเลือดของแม่สามารถซึมผ่านรกเข้าไปยังเลือดของลูกในครรภ์ หากแม่มีหมู่เลือด O ก็จะมีแอนติบอดี A และ B ผ่านไปยังลูกได้ ในกรณีที่ลูกมีหมู่เลือด A B หรือ AB แอนติบอดีที่ผ่านรกเข้าไปในเลือดของลูกจะไปทำลายเม็ดเลือดของลูกให้แตก

แต่การไม่เข้ากันของเลือดแม่และลูกในหมู่เลือด ABO มักมีอาการไม่รุนแรงนัก มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่เม็ดเลือดแดงของลูกแตกมาก จนทำให้มีการปล่อยสารที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง หรือสารบิลิรูบิน (Billirubin) ซึ่งสารที่มีสีเหลืองออกมาในกระแสเลือด สารนี้จะมาเกาะที่ผิวหนังและเยื่อบุตาขาว ทำให้ทารกมีอาการตัวเหลืองหรือตาเหลืองหลังคลอดได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวล เพราะโอกาสที่ทารกได้รับอันตรายหรือเสียชีวิตในครรภ์จากอาการนี้นับว่าน้อยมาก การไม่เข้ากันของเลือดแม่และเลือดลูกในระบบหมู่เลือด ABO นี้พบได้บ่อยถึงประมาณร้อยละ 20 ของการตั้งครรภ์ และมักพบได้ตั้งแต่การตั้งครรภ์ครั้งแรก

จะเห็นได้ว่าภาวะผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับทั้งตัวคุณแม่และทารกเองนั้น เราสามารถยับยั้งหรือผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ด้วยการรีบไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ค่ะ เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจเช็คร่างกายคุณแม่อย่างละเอียดถี่ถ้วน หากเจอปัญหาอะไรจะได้รีบแก้ไขได้ทันก่อนจะสาย

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th