Site icon Motherhood.co.th Blog

โรคอ้วนในเด็ก น่ากลัวกว่าที่ผู้ใหญ่คิด

โรคอ้วนในเด็ก อันตราย

เด็กๆจ้ำม่ำอาจจะดูน่ารัก แต่มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย

โรคอ้วนในเด็ก น่ากลัวกว่าที่ผู้ใหญ่คิด

เด็กๆที่ตัวอ้วนจ้ำม่ำ ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะมองว่าน่ารักน่าเอ็นดูดี แต่ลืมมองกันไปว่ามีภัยแฝงอยู่เบื้องหลังความตุ้ยนุ้ยน่ารักมากมาย “โรคอ้วนในเด็ก” จะนำพาให้ลูกหลานมีปัญหาสุขภาพอย่างอื่นอีกหลายชนิด ของกินแปลกๆใหม่ๆสมัยนี้ก็ช่างล่อตาล่อใจลูกน้อยเสียเหลือเกิน คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบหาทางป้องกันไม่ให้ลูกกินมากจนอ้วน จะทำได้อย่างไรบ้างนั้น ติดตามอ่านบทความตอนนี้ได้เลยค่ะ

อย่าปล่อยให้ลูกมีน้ำหนักเกิน เพราะโรคอ้วนจะนำโรคข้างเคียงมาอีกมาก

สถานการณ์ของโรคอ้วนในเด็ก

ปัจจุบันเด็กทั่วโลกมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ป่วยโรคอ้วนมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัวนับจากทศวรรษ 1980 ความอ้วนก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพตามมามากมาย ตั้งแต่ปัญหาสุขภาพกายไปจนถึงสุขภาพจิต ที่ทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตัวเองและกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ พ่อแม่ควรใส่ใจดูแลอาหารการกินของลูก รวมถึงส่งเสริมให้เขาใส่ใจสุขภาพและเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำหนักเกินจนเกิดปัญหาด้านสุขภาพได้

สาเหตุของโรคอ้วนในเด็ก

โรคอ้วนในเด็กนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักเกิดจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม คือการกินมากกว่าที่ใช้พลังงานไปและวิถีชีวิตแบบนั่งๆนอนๆ (Sedentary Lifestyle) ไม่ว่าเป็นการเล่นวิดีโอเกม ดูทีวี เล่นคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยขาดการออกกำลังกาย เมื่อพลังงานที่เข้ามากกว่าที่เราใช้ออก ทำให้เกิดไขมันสะสมในร่างกาย นอกจากนี้เด็กบางคนอาจมีปัญหาทางจิตใจ เช่น อาการซึมเศร้า ทำให้กินมากเกินไป

ส่วนสาเหตุของโรคอ้วนอื่นๆพบได้น้อยมาก เช่น เกิดจากความผิดปกติทางฮอร์โมน เป็นโรคทางสมองชนิดที่ทำให้กินแบบไม่รู้จักอิ่ม หรือเกิดจากความบกพร่องทางพันธุกรรมบางอย่าง มีความผิดปกติในยีน เช่น Prader Willi Syndrome และ Down’s Syndrome และโรคทางต่อมไร้ท่อ เช่น ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone)

พ่อแม่ต้องฝึกให้ลูกมีวินัยในการกิน อย่าตามใจปากจนเคยตัว

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยว่าเด็กเป็นโรคอ้วนหรือไม่นั้น ให้พิจารณาน้ำหนักเทียบกับส่วนสูง การวัดค่าความอ้วนทำได้ด้วยการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) แล้วนำไปเปรียบเทียบกับกราฟ BMI แยกตามเพศและอายุของเด็กว่าอยู่ในเปอร์เซ็นไทล์ที่เท่าไหร่ ถ้าเกินเปอร์เซ็นไทล์ที่ 85-95 ของเกณฑ์ถือว่าอยู่ในระยะอวบ แต่ถ้าเกินเปอร์เซ็นไทล์ที่ 95 ของเกณฑ์ถือว่าอ้วน นอกจากนี้แพทย์ยังอาจทำการตรวจเลือดเพื่อดูเบาหวาน ระดับไขมันในเลือด ค่าตับ ค่าไต ฮอร์โมนคอร์ติซอล และระดับวิตามินดี รวมไปถึงตรวจว่ามีปัญหาไทรอยด์หรือไม่ ประกอบกับการสอบถามประวัติ เช่น ประวัติความเจ็บป่วยในครอบครัว สภาพจิตใจของเด็ก เป็นต้น

ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากโรคอ้วน

ควรพาลูกไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดได้ง่ายกว่าปล่อยให้โต

วิธีการรักษา

แพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุของโรคอ้วนว่าเกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น การกินอาหารหรือเกิดจากการเป็นโรค และทำการรักษาไปตามสาเหตุ แพทย์จะตรวจดูว่าเด็กมีภาวะฮอร์โมนผิดปกติหรือไม่ เช่น ขาดไทรอยด์ฮอร์โมนหรือมีสเตียรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากโรคบางอย่างที่ต้องใช้สเตียรอยด์ในการรักษา เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคมะเร็งบางอย่าง เป็นต้น ที่พบได้บ่อยคือร่างกายของเด็กมีการสร้างสเตียรอยด์ฮอร์โมนมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากต่อมหมวกไตสร้างสเตียรอยด์ฮอร์โมนขึ้นมามากเกินไปเอง หรือสมองเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตสร้างสเตียรอยด์ฮอร์โมนมากเกินกว่าปกติก็ได้ สังเกตได้ว่าหากสาเหตุเกิดจากฮอร์โมนทำงานผิดปกติ เด็กมักมีร่างกายอ้วนและมีภาวะเตี้ยร่วมด้วย

หากเด็กอ้วนเพราะกินมากเกินไป แพทย์จะแนะนำให้ควบคุมอาหารและออกกำลังกาย การรักษาจะมีประสิทธิผลมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความใส่ใจของพ่อแม่ในการให้เด็กกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และกินในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกาย นอกจากนี้การนำเด็กมารักษาแต่เนิ่นๆตั้งแต่ยังเล็กจะได้ประสิทธิผลกว่ารักษาในช่วงวัยรุ่น เพราะเด็กเล็กจะยังอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของพ่อแม่อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ยังมีแพทย์ยังอาจแนะนำให้ปรึกษากับนักโภชนาการเพื่อให้เด็กกินอาหารอย่างถูกต้อง หรือในบางครั้งอาจร่วมรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการสำหรับกรณีที่รุนแรง เช่น เด็กอ้วนมากหรือเด็กโต ที่ต้องมีการรักษาอื่นๆร่วมด้วย แต่ไม่ว่าโรคอ้วนจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม สิ่งสำคัญเป็นลำดับแรกคือการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย

พ่อแม่และครอบครัวต้องช่วยเด็กควบคุมอาหารและออกกำลังกาย

พ่อแม่จะช่วยลูกในการลดน้ำหนักได้อย่างไร

คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในภาวะน้ำหนักเกินต้องรีบฝึกวินัยในการกินอาหารให้เขาก่อนจะสายนะคะ ลดของหวาน น้ำอัดลม ยึดหลักว่าต้องใช้พลังงานให้มากกว่าที่นำเข้าไป ควรเลือกอาหารก่อนกิน เริ่มฝึกอ่านฉลากโภชนาการที่อาหารก่อนซื้อทุกครั้งก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งค่ะ ปล่อยไว้จนเข้าวัยรุ่นจะยิ่งลดยากขึ้น และโรคแทรกซ้อนเยอะด้วยนะคะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th