Site icon Motherhood.co.th Blog

โรคเอ็นข้อหย่อน อีกโรคในเด็กเล็กที่พ่อแม่ควรรู้จัก

โรคเอ็นข้อหย่อนในเด็ก

โรคเอ็นข้อหย่อนในเด็ก เป็นอีกโรคที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้ไว้

โรคเอ็นข้อหย่อน อีกโรคในเด็กเล็กที่พ่อแม่ควรรู้จัก

หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา คิดว่าคุณพ่อคุณแม่คงไม่ได้คุ้นเคยหรือรู้จักว่ามีเด็กที่เป็น “โรคเอ็นข้อหย่อน” มากเท่าไรนัก แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กลับพบว่าเด็กที่มีกลุ่มอาการเอ็นข้อหย่อนนั้นมีจำนวนมากขึ้น และวันนี้ Motherhood จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความรู้จักกับภาวะเอ็นข้อหย่อนให้ดียิ่งขึ้นค่ะ

ภาวะเอ็นข้อหย่อนคืออะไร

ภาวะเอ็นข้อหย่อน (Joint laxity) เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาจากครอบครัว มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เอ็นข้อหย่อนเป็นภาวะที่ข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกายมีความยืดหยุ่นมากกว่าปกติ ทำให้ช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อ (Range of motion) สามารถทำมุมได้มากกว่าปกติที่เด็กทั่วไปสามารถทำได้ ส่งผลให้เด็กที่มีภาวะนี้เคลื่อนไหวได้ยากเนื่องจากข้อต่อขาดความมั่นคง และเมื่อเคลื่อนไหวนาน ๆ ก็จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ รวมทั้งเกิดการบาดเจ็บที่ข้อต่อได้ง่าย อาการหนึ่งที่มักพบในเด็กกลุ่มนี้คืออาการเท้าแบนล้มเข้าด้านในทั้งสองข้าง โดยมักพบร่วมกับอาการเข่าแอ่น หรือเด็กมักบ่นกับพ่อแม่เมื่อเดินไปได้ระยะหนึ่งว่าปวดเมื่อยบริเวณเข่าหรือน่อง จนต้องร้องให้อุ้ม เด็กหลายรายพบว่ามีพัฒนาการการเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติประมาณ 2-6 เดือน เมื่อเทียบกับเด็กปกติ

ท่านั่งเป็ดส่งผลให้ข้อสะโพกและกระดูกต้นขาบิด

เด็กที่มีเอ็นข้อหย่อนหรือหลวมเหล่านี้ จะนั่งผิดท่าได้ง่าย คือ นั่งกบ นั่งเป็ด (Frog legged sitting) ขาสองข้างของเด็กจะเป็นรูปตัว M หรือ W ซึ่งเป็นต้นเหตุของการบิดที่ข้อสะโพก กระดูกต้นขาบิด เข่าชนกัน ขาโก่ง ขาคด ปลายเท้าบิดเข้าด้านใน หรือปลายเท้าเบนออกที่เรียกกันว่าเท้าแป

ถ้าพบว่ามีอาการนี้ในหลายข้อต่อหรือมีข้อหลวมมาก เด็กจะมีปัญหาพัฒนาการ เช่น เคลื่อนไหวช้า หยิบจับของไม่คล่อง จับดินสอไม่ถูกวิธี ควบคุมการเขียนลำบาก เมื่อยมือขณะเขียนหนังสือได้ง่าย หากปัญหานี้ถูกมองข้าม จะส่งผลให้เด็กมีปัญหาด้านการเรียน เช่น เขียนงานล่าช้า ส่งงานไม่ทันเพื่อน อาจถูกครูตำหนิว่าลายมือไม่สวย จนบางครั้งกลายเป็นสาเหตุให้เด็กเบื่อการเรียน

ระดับความรุนแรงของอาการ

1. ข้อหลวม เด็กจะมีเอ็นข้อหย่อนอย่างเดียว ไม่มีอาการอื่น ๆ หรือความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ภาวะนี้จะดีขึ้นเองตามอายุที่มากขึ้น

2. ข้อหลวม เอ็นข้อหย่อนโดยมีอาการหรือความผิดปกติอื่นร่วมด้วย แต่ไม่รุนแรงมากนัก เด็กในกลุ่มนี้มักมีอาการปวดตามข้อ เช่น ข้อเข่า ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อสะโพก ข้อศอก และข้อไหล่ ร่วมด้วย บางรายมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เดินเชื่องช้า กระปลกประเปลี้ย จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและดูแลใกล้ชิดกว่าเด็กในกลุ่มแรก

3. ข้อหลวม เอ็นข้อหย่อนที่เป็นมาก มีอาการรุนแรงหรือมีความพิการผิดรูปร่วมด้วย ซึ่งจะปรากฏเด่นชัดตอนเด็กอายุมากขึ้น เด็กในกลุ่มนี้จะมีอาการที่สำคัญ ได้แก่ การผิดรูปหรือผิดสัดส่วนของลำตัว แขนขา หลังคด เท้าบิด เข่าชนกัน ขาโก่ง เข่าโค้ง มือผิดรูป ผิดสัดส่วน ข้อสะโพกอาจเคลื่อนหรือหลุด เด็กอาจมีปัญหาทางตา ปัญหาการพูดและการได้ยิน อาการข้างต้นที่กล่าวมานี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากหลายฝ่ายร่วมกัน และต้องมีการติดตามผลระยะยาว

อาการเท้าปุกก็มีสาเหตุมาจากเอ็นข้อหย่อน

อาการข้อหลวมและเอ็นข้อหย่อนมีสาเหตุเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ที่ทำให้เนื้อเยื่อทั่วร่างกายผิดปกติและส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบโครงสร้างและการเคลื่อนไหวในเด็ก

10 อาการผิดปกติเกี่ยวกับเอ็นข้อหย่อนที่พบบ่อยในทารกและเด็กเล็ก

1. เท้าปุก (Club Foot)

2. เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า และข้อต่อทั่วไปอ่อนปวกเปียก

3. เท้าผิดรูปที่โครงสร้างส่วนกลางเท้า( Mid-foot)

4. ต้นขาและขาบิดคด (Twisted legs) ขาโก่ง เข่าโค้ง (Bow legs) ร่วมกับปลายเท้าบิดเข้าด้านใน

5. เข่าชนกัน (Knocked knee) มักร่วมกับ เท้าแป (Flat feet) และข้อต่อทั่วร่างกายอ่อนปวกเปียก (Hyper mobile joint) มักพบในเด็กที่ยืนเดินได้แล้ว

6. อุ้งเท้าแบนราบ เท้าแป

7. นิ้วเท้าผิดปกติ เช่น หัวแม่เท้าชี้เข้าข้างใน หัวแม่เท้าชี้ออกนอกโดยมีปุ่มชี้เข้าข้างใน หัวแม่เท้าชี้ออกนอกโดยมีปุ่มที่โคนนิ้ว โดยที่ปุ่มจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และเจ็บ

8. นิ้วเท้าคดงอ นิ้วเท้าเกยกัน

9. เท้าขนาดไม่เท่ากัน ขาสองข้างยาวไม่เท่ากัน

10. เท้าขาดความรู้สึก (Anesthetic foot)

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นเอ็นข้อหย่อน

หากคุณพ่อคุณแม่อยากทราบว่าลูกของเรามีภาวะเอ็นข้อหย่อนหรือไม่ ให้ทำการตรวจประเมินเพื่อวินิจฉัยภาวะเอ็นข้อหย่อน โดยสามารถประเมินเบื้องต้นจากการดูข้อต่อจำนวน 9 ข้อต่อ ดังนี้

1. สามารถงอพับนิ้วโป้งมาชิดข้อมือด้านหน้าได้ทั้ง 2 ข้าง

2. สามารถจับนิ้วก้อยมือเหยียดได้มากกว่า 90 องศาทั้ง 2 ข้าง

3. ข้อศอกแอ่นมากเกินกว่า 10 องศาทั้ง 2 ข้าง

4. เข่าแอ่นไปทางด้านหลังมากเกินกว่า 10 องศาทั้ง 2 ข้าง

5. สามารถยืนก้มตัว แล้วนำฝ่ามือทั้ง 2 ข้างไปแนบติดพื้นได้โดยที่เข่าไม่งอ

หากสงสัยว่าลูกมีอาการ ให้ลองทำแบบทดสอบนี้

หากตอบว่าใช่ในแต่ละหัวข้อให้นับเป็น 1 คะแนน คะแนนรวมทั้งหมด 9 คะแนน ถ้าเด็กได้คะแนนรวมมากกว่าหรือเท่ากับ 6 คะแนนขึ้นไป บ่งบอกได้ว่าเด็กมีภาวะเอ็นข้อหย่อน

วิธีการรักษา

หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการที่เข้าข่าย ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดนะคะ เพราะถ้าตรวจเจอโรคตั้งเเต่ 2 ปีเเรก จะช่วยให้เด็กได้รับการรักษาที่ถูกวิธีเเละทำให้เขามีพัฒนาการได้ตามวัยค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th