Site icon Motherhood.co.th Blog

ไขมันทรานส์ อันตรายยังไง ทำไมต้องหลีกเลี่ยง

อันตรายจากไขมันทรานส์

ปกป้องลูกคุณจากอันตรายของไขมันทรานส์ในอาหาร

ไขมันทรานส์ อันตรายยังไง ทำไมต้องหลีกเลี่ยง

การรับประทานของมันของทอดทั่วไปก็ทำให้เราได้ไขมันในปริมาณสูงพอแล้ว แต่อาหารอร่อยและขนมเด็กหลายอย่างก็มี “ไขมันทรานส์” เป็นส่วนประกอบ จึงทำให้เราหลีกเลี่ยงมันยากขึ้นไปอีก เพราะมันสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพเราได้มากกว่าการเป็นโรคอ้วน เรามาดูกันค่ะว่าอาหารประเภทไหนที่เราควรหลีกเลี่ยงบ้าง

กรดไขมันทรานส์คืออะไร

ประมาณ 100 ปีก่อน โลกเราเกิดกระแสการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันพืชที่ไม่อิ่มตัวเพื่อสุขภาพ ด้วยความหวังว่าจะลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไขมันอุดตันเส้นเลือด แต่เนื่องจากมันเป็นไขมันไม่อิ่มตัว เมื่อวางเอาไว้ในอุณหภูมิห้องก็จะทำปฏิกริยากับอากาศทำให้เกิดกลิ่นเหม็นหืน หากจะนำไปแช่ในตู้เย็นก็เป็นไข นักเคมีชาวเยอรมัน Wilhelm Normann จึงได้ทำการปรับโครงสร้างของไขมันเพื่อให้น้ำมันเป็นของแข็งในอุณหภูมิห้องหรือที่เรียกว่า กระบวนการไฮโดรจีเนชั่น (Hydrogenation) โดยการเติมไฮโดรเจน (Partially hydrogenated oil) และวิตามินอีลงไปเพื่อลดกลิ่นเหม็นหืนและทำให้มีอายุได้นานขึ้น จนได้ ‘เนยเทียม’ (Margarine) ขึ้นมา ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อกันว่าไขมันพืชดีต่อร่างกายมากกว่าเลยหันมาบริโภคกันมากขึ้น

ร่วมร้อยปีที่มนุษย์คิดค้นตัวร้ายอย่างไขมันทรานส์ขึ้นมาได้

จนในปี 1950 เริ่มมีกระแสในแวดวงวิชาการที่มองเห็นในอีกแง่มุมของไขมันทรานส์ ผู้คนเริ่มป่วยเพราะโรคจากไขมันเหล่านี้ เพราะไขมันทรานส์ที่สร้างขึ้นมาใหม่นั้นจัดเป็นไขมันเลว และเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วยังไปทำลายไขมันดีในร่างกายอีกด้วย

ไขมันทรานส์พบได้ใน มาการีน เนยขาว (ชอตเทนนิ่ง) ครีมเทียม หรือในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เช่น คุกกี้ โดนัท เค้ก พาย ครัวซองท์ โรตี อาหารจานด่วน เช่น เฟรนช์ฟรายส์ แฮมเบอร์เกอร์ รวมทั้งอาหารทอดที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ และยังพบได้ในขนมกรุบกรอบ ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ เช่น ป๊อปคอร์นที่ใช้เนยเทียมคั่ว นอกจากไขมันทรานส์ที่มนุษย์ผลิตขึ้นมาเองแล้ว ไขมันทรานส์ก็ยังสามารถพบได้ธรรมชาติในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์และนม แต่มีในปริมาณที่เล็กน้อย

ทำไมผู้ผลิตถึงชอบใช้ไขมันทรานส์?

สาเหตุที่อุตสาหกรรมอาหารนิยมใช้ไขมันทรานส์กันมากเพราะว่าเป็นไขมันที่เกิดจากการแปรรูป จึงสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น ไม่ต้องกลัวว่าจะเหม็นหืนหรือเป็นไข เมื่อผลิตอาหารออกมาแล้ว ไขมันทรานส์ในนั้นยังช่วยยืดอายุอาหาร และทำให้เนื้อสัมผัสของอาหารไม่แห้ง โดยที่มีรสชาติใกล้เคียงกับไขมันที่มาจากสัตว์ อีกเหตุผลที่ไขมันทรานส์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการประกอบอาหารก็คือ มันมีราคาถูกกว่าไขมันประเภทอื่น ๆ ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับผู้ประกอบการ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ลดต้นทุน

ไขมันทรานส์ทำอะไรกับร่างกายของเรา?

ไขมันทรานส์สามารถเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) ไขมันไม่ดี หรือคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (Low-density lipoprotein cholesterol; LDL-C) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) ในเลือด แต่กลับลดระดับไขมันดี หรือคอเลสเตอรอลชนิดเฮชดีแอล (High-density lipoprotein cholesterol; HDL-C) นอกจากนี้ยังเพิ่มน้ำหนักและไขมันส่วนเกิน ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบในร่างกาย เบาหวาน ตับทำงานผิดปกติ นิ่วในถุงน้ำดี จอประสาทตาเสื่อม เพิ่มความเสี่ยงการเป็นอัลไซเมอร์

ปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันว่าการบริโภคไขมันทรานส์เป็นประจำทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจสูง ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของคนไทยรองจากโรคมะเร็ง

จะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารนี้มีไขมันทรานส์?

  1. อ่านฉลากโภชนาการให้ถี่ถ้วนว่าอาหารชนิดนี้มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบหรือไม่
  2. อ่านส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด หากมีส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial hydrogenation) หรือน้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจน (Hydrogenated oil) ผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นอาจมีไขมันทรานส์ได้ ถึงแม้ว่าบนฉลากโภชนาการจะระบุว่า Trans fat 0.0 g ก็ตาม เนื่องจากตามกฎหมายหากมีไขมันทรานส์ น้อยกว่า 0.5 g ผู้ผลิตสามารถระบุบนฉลากได้ว่าเป็น Trans fat 0.0 g
  3. หากเป็นสินค้าที่ไม่มีฉลากโภชนาการติดมาบนบรรจุภัณฑ์ เช่น ขนมกรุบกรอบ ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ อย่างคุกกี้ โดนัท เค้ก พาย หรือเมนูอาหารจานด่วนทั้งหลาย ก็ให้รับประทานในปริมาณน้อยและไม่ควรรับประทานบ่อยครั้งนัก
อ่านฉลากผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่ลูกจะกิน

หลายประเทศแบนไขมันทรานส์จริงเหรอ?

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ไม่ควรบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์เกิน 1% ของพลังงานที่เราได้รับต่อวัน ตามปกติแล้วพลังงานเฉลี่ยที่ควรได้รับต่อวันจะอยู่ที่ 2,000 กิโลแคลอรี เท่ากับว่าเราไม่ควรทานอาหารที่มีไขมันทรานส์เกิน 2.2 กรัมต่อวัน หรือคิดเป็น 0.5 กรัม (500 มิลลิกรัม) ต่อหน่วยบริโภค

เดนมาร์ก นับเป็นประเทศที่บุกเบิกการห้ามใช้ไขมันทรานส์อย่างสิ้นเชิงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ทำให้หลายประเทศเริ่มเจริญรอยตาม เริ่มต้นจาก 7 ประเทศในยุโรป และในปีพ.ศ. 2555 ประเทศสิงคโปร์ได้ออกกฎหมายจำกัดปริมาณไขมันทรานส์ในอาหารให้ไม่เกิน 2 กรัม ต่อประมาณไขมัน 100 กรัม และต้องระบุปริมาณไขมันทรานส์บนห่อบรรจุภัณฑ์ของอาหารประเภทไขมันด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยจึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 ว่าด้วยการห้ามผลิต นำเข้า จำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์เด็ดขาด โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ 9 ม.ค. 2562 และนับเป็นประเทศแรกในอาเซียน โดยผู้ที่จะนำเข้าผลิตภัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. เป็นต้นไป ต้องทำใบรับรองเพื่อยืนยันว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าไม่มีการปนเปื้อนไขมันทรานส์

การออกประกาศนี้ก็เพื่อปิดช่องโหว่เรื่องการระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากผลิตภัณฑ์ เพราะแม้ขนมหรืออาหารนั้นจะมีไขมันทรานส์อยู่ 0.5 กรัม ต่อหน่วยบริโภค หากเรารับประทานเข้าไปมากก็ได้รับเข้าร่างกายเราเกินกำหนดอยู่ดี

ใช้น้ำมันอะไรทำอาหารดี?

ควรหันมาใช้น้ำมันที่มีความอิ่มตัวค่อนข้างสูง เพราะทำให้ไม่ต้องเติมสารสังเคราะห์ต่าง ๆ ลงไปมากนัก รวมทั้งควรลดการบริโภคอาหารทอด ขนมขบเคี้ยว ขนมที่มีองค์ประกอบของไขมันสูง และหันมาบริโภคอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งและแปรรูป หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการน้อยที่สุด จะเป็นการดีต่อสุขภาพมากกว่า

นอกจากเราจะต้องระวังเรื่องอาหารการกินของเจ้าตัวน้อยแล้ว เราก็ต้องไม่ลืมที่จะออกกำลังกายให้เหมาะสมกับอายุควบคู่กันไปด้วย เพื่อที่เราจะได้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ และห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th