Site icon Motherhood.co.th Blog

เราเป็นแม่ที่แย่หรือเปล่า ถ้า “ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก” ?

ทำไมไม่รู้สึกผูกพันกับลูก

เราอาจจะไม่รู้สึกผูกพันกับลูกตั้งแต่แรกเห็นก็ได้นะ

เราเป็นแม่ที่แย่หรือเปล่า ถ้า “ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก” ?

มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาที่จะรู้สึกผูกพันกับคนที่เราเพิ่งเจอ แม้เขาจะโตขึ้นมาในตัวของเราก็ตาม แม่หลายคนอาจรู้สึกผิดที่ตัวเอง “ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก” หรือยังไม่อินกับความเป็นแม่มากนัก สิ่งที่คุณต้องทำก็คือพยายามลดความรู้สึกผิดเหล่านั้น และหันมาเรียนรู้เจ้าตัวน้อยให้มากขึ้น

หากคุณเคย Google ดูเกี่ยวกับการที่คุณขาดความผูกพันกับทารกน้อยของคุณ คุณอาจเจองานวิจัยที่บอกว่าการมีความผูกพันในระยะแรกนั้นล้วนเชื่อมโยงกับทุกสิ่ง ตั้งแต่สุขภาพจิตที่ดีไปจนถึงเด็กที่มีความฉลาดมากกว่า นี่ไม่ใช่การกดดันหรืออะไรนะ แต่ถึงแม้โฆษณาเกี่ยวกับแม่และเด็กมากมายพยายามทำให้เราเชื่อถึงความผูกพันเหล่านั้น แต่พ่อแม่ทุกคนไม่ได้ตกหลุมรักลูกตั้งแต่แรกเห็น ในงานวิจัยปี 2018 นักวิจัยชาวนอร์เวย์พบว่าความรู้สึกที่ไม่เชื่อมโยงกับทารกแรกเกิดเป็นเรื่องปกติสำหรับคุณแม่ เช่นเดียวกับความรู้สึกผิดและความอับอายที่มักจะเกิดตามมา

ในสายตาผู้เชี่ยวชาญ ความรู้สึกนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก

ผู้เชี่ยวชาญล้วนยืนยันตรงกันว่าความรู้สึกเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ความคิดที่ว่าลูกของเราเพิ่งออกมาและเราไม่ได้รักพวกเขาอย่างบ้าคลั่งในทันที ก็เรายังไม่รู้จักเด็กคนนั้นเลย เราเพิ่งเริ่มทำความรู้จักพวกเขาและพวกเขากำลังทำความรู้จักกับเรา

สิ่งสำคัญคือคุณสามารถดูแลลูกของคุณได้ ร้องเพลงให้พวกเขาฟัง สัมผัสพวกเขา ให้อาหารพวกเขา เมื่อคุณรับผิดชอบชีวิตน้อย ๆ ด้วยวิธีนั้น ความห่วงใยของคุณก็จะมาถึงเอง มันไม่ใช่สิ่งที่บังคับว่าคุณต้องทำในทันที แต่มันเป็นสิ่งที่คุณจะพัฒนาไปได้เองตามเวลา

เผลอคิดไปว่าเราไม่รักลูก

จากผลสำรวจของ National Childbirth Trust (NCT) พบว่า คุณแม่ถึง 1 ใน 3 ในช่วงแรก ๆ จะมีปัญหาเรื่องการสร้างสายสัมพันธ์กับทารกหลังคลอด และคุณแม่ถึง 1 ใน 10 เกิดความรู้สึกลำบากใจหรือละอายใจที่จะบอกเล่าความรู้สึกเหล่านี้ให้กับหมอ พยาบาล หรือผู้ให้บริการทางการแพทย์ได้ฟัง

เพราะความรู้สึกผิดในใจและความคาดหวังว่าเราควรจะรักลูกในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข เป็นความรักที่ไร้ข้อแม้ สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้คุณแม่รู้สึกกดดันว่าเราต้องรักลูก ต้องผูกพันกับลูก แต่สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา ( Academy of American Pediatrics – AAP) ยืนยันว่าเราไม่ควรไปคาดหวังว่าความผูกพันจะต้องเกิดขึ้นในทันที เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา และไม่ได้จำกัดเวลาว่าจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าด้วย

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคน เนื่องจากฮอร์โมนและการคลอดลูกทำให้เรารู้สึกเหน็ดเหนื่อย เมื่อการคลอดผ่านพ้นไปอย่างเรียบร้อยดี คุณก็จะรู้สึกโล่งใจที่ลูกออกมาเสียที บวกกับการที่ร่างกายต้องรับภาระในการคลอดมาอย่างหนัก คุณจำเป็นต้องพักฟื้นร่างกาย คุณจะมีอารมณ์ที่อยากจะพักผ่อนมากกว่าที่จะไปคิดเรื่องอื่น ดังนั้น คุณจำเป็นที่จะต้องให้เวลากับตัวเองเสียก่อน เมื่อร่างกายคุณพร้อม จิตใจคุณก็จะพร้อม เมื่อนั้น ธรรมชาติก็จะสร้างความรักความผูกพันขึ้นมาในระหว่างที่คุณได้โอบกอดลูก ให้นมลูก ได้อุ้ม และได้เลี้ยงดูเขา

เพียงแต่ต้องระวังอาการจะหนักจนเข้าภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

อารมณ์และความรู้สึกที่อาจเกิดขึ้นกับคุณ

  1. ความสับสน หลายคนอาจเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคุณแม่คนอื่น ๆ เช่น อาจจะคิดว่าแม่คนอื่นล้วนรักและผูกพันกับลูกของพวกเขาดี แต่ทำไมเรากลับไม่รู้สึกแบบนั้นเลย ? เราเป็นแม่ที่แย่หรือเปล่านะ ? หรือเราทำหน้าที่แม่บกพร่อง ? แต่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถเห็นชีวิตของคนอื่นได้ในทุกมุม ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริง ๆ ของคนเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เราไม่รู้ เขาอาจจะมีอะไรที่ไม่เคยพูดออกมาก็ได้ แต่เป็นเราที่คิดเปรียบเทียบไปเอง
  2. ความเสียใจ แม่บางคนอาจจะรู้สึกเป็นลบกับการทำหน้าที่ของแม่ อาจรู้สึกผิดหวังที่ต้องมาทำหน้าที่นี้ เรียกว่าเป็นความรู้สึกผิดที่ทับซ้อนกับความเสียใจในสิ่งที่กำลังเผชิญ หากความรู้สึกเสียใจที่ต้องเป็นแม่เกิดขึ้นมาเมื่อใด คุณต้องยอมรับให้ได้และไปต่อ พยายามมองสถานการณ์ในด้านบวกเข้าไว้ แต่หากคุณยังรู้สึกเสียใจ รู้สึกแย่กับหน้าที่นี้จนรับไม่ได้ นี่อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ให้รีบปรึกษาจิตแพทย์โดยด่วน
  3. ความรู้สึกผิด เมื่อเกิดความสงสัยในตัวเองว่าทำไมเรายังไม่รู้สึกรักหรือผูกพันกับลูก หรือในบางรายที่หนักกว่านั้นคือเกิดความเสียใจที่จะต้องทำหน้าที่แม่ ความรู้สึกผิดในใจก็จะเกิดขึ้นตามมา เพราะเราหลงลืมไปว่าความรู้สึกผูกพันเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสร้างขึ้นมา ขอให้คุณทำหน้าที่ของแม่อย่างเต็มที่ในทุกวัน และความผูกพันก็จะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นเอง

เพื่อช่วยในการเชื่อมต่อความผูกพันกับเจ้าตัวน้อย ให้สังเกตสัญญาณเริ่มต้นว่าลูกน้อยของคุณเริ่มตกหลุมรักคุณ เช่น เมื่อพวกเขาทำเสียงตามคุณ จ้องมองที่ใบหน้าของคุณ และในยามที่เขาแนบชิดกับคุณ แต่ถ้าคุณกังวลว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรกับลูกน้อยของคุณ อย่าลังเลที่จะติดต่อจิตแพทย์ เพราะคุณอาจกำลังประสบกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยและสามารถรักษาได้

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th