Site icon Motherhood.co.th Blog

ไวรัสโคโรนา อาจมีพันธุกรรมของไวรัส 2 ตัวรวมกัน

ไวรัสโคโรนา

ขณะนี้มีไวรัสโคโรนา 7 สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์

ไวรัสโคโรนา อาจมีพันธุกรรมของไวรัส 2 ตัวรวมกัน

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ “ไวรัสโคโรนา” ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลกในช่วงเวลานี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์กลับยังไม่ทราบแน่ชัดถึงต้นกำเนิดของไวรัสชนิดนี้ และมีการถกเถียงกันอย่างมากมายถึงที่มาที่แท้จริงของมัน รวมทั้งความกลัวว่าเชื้อไวรัสอาจจะกลายพันธุ์ไปสู่สิ่งที่น่ากลัวกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ วันนี้ Motherhood เลยจะนำเอาข้อมูลมาอัพเดทให้ทราบกันค่ะ

ในช่วงเริ่มแรกที่พบว่ามีการระบาดและผู้คนยังเรียกว่าไวรัสอู่ฮั่น ผู้คนทั่วโลกมีความเชื่อว่าเชื้อดังกล่าวมาจากสัตว์อย่างค้างคาวในจีน แต่ก็มีคนอีกกลุ่มสันนิษฐานว่าอาจมีที่มาจากตัวนิ่มหรืองูเห่าจีนก็เป็นได้ ในขณะที่เส้นทางวิวัฒนาการหรือความเป็นมาทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเองนั้น ก็ยังคงคลุมเครืออยู่มากเช่นกัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีบทความในเว็บไซต์วิชาการ The Conversation ซึ่งเขียนโดย ดร. อเล็กซองดร์ ฮัซซานิน นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติว่าด้วยประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (MNHN) ของฝรั่งเศส ออกมาระบุถึงผลวิเคราะห์ทางพันธุกรรมที่ชี้ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจเป็นสิ่งที่เรียกว่าไคมีรา (Chimera) ซึ่งจัดเป็นสิ่งมีชีวิตแบบเดียวกับสัตว์ประหลาดในเทพนิยายกรีก ไคมีราเกิดจากการรวมตัวกันของเซลล์จากสัตว์ต่าง ๆ หลากหลายชนิด แต่ในกรณีของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น อาจเป็นการรวมตัวกันของพันธุกรรมจากไวรัสโคโรนาที่พบได้ในค้างคาวและตัวนิ่ม

แรกเริ่มผู้คนเชื่อว่าไวรัสแพร่ระบาดมาจากค้างคาว

บทความชิ้นนี้มีการอ้างถึงงานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์จากประเทศจีน ที่เผยแพร่ในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ด้านชีววิทยา bioRxiv.org ซึ่งพบว่าเชื้อโรคโควิด-19 อาจเกิดจากการรวมตัวระหว่างไวรัสโคโรนาที่มีพันธุกรรมใกล้ชิดกับสายพันธุ์ RaTG13 ซึ่งพบได้ในค้างคาวมงกุฎเทาแดง (Rhinolophus affinis) กับไวรัสโคโรนาที่มีพันธุกรรมคล้ายคลึงกับไวรัสชนิดที่พบได้ในตัวนิ่ม

ในบทความของ ดร. ฮัซซานิน อธิบายเอาไว้ว่า ผลการเปรียบเทียบพันธุกรรมในหมู่ไวรัสโคโรนาที่ใกล้เคียงกับ SARS-CoV-2 บ่งชี้ว่าสายพันธุ์ RaTG13 ซึ่งพบในค้างคาว มีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรมมากถึง 96% ในขณะที่ค้างคาวกลับไม่แสดงอาการของโรคออกมา จึงบ่งชี้ได้ว่าสัตว์ประเภทนี้มีความสามารถเป็นแหล่งกักเก็บ (Reservoir) ขนาดใหญ่ของเชื้อโรคโควิด-19 ได้

อย่างไรก็ตาม ไวรัสสายพันธุ์ที่พบในค้างคาวมีความหลากหลายทางพันธุกรรมในส่วนหนามของมันมากเกินไป ซึ่งภายในหนามนี้มีตัวรับที่คอยทำหน้าที่จับเข้ากับเซลล์ในร่างกายของมนุษย์ จึงคาดการณ์ได้ว่าไวรัสชนิดนี้ไม่น่าจะทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ง่าย ในขณะที่ไวรัสโคโรนาซึ่งพบในตัวนิ่มมาเลเซีย (Manis javanica) มีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรมโดยรวมน้อยกว่าที่ 90% อีกทั้งตัวนิ่มที่ติดเชื้อยังแสดงอาการป่วยออกมาให้เห็นด้วย จึงไม่อาจถือว่ามันเป็นแหล่งกักเก็บของเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ได้ หากแต่ไวรัสในตัวนิ่มมีพันธุกรรมของส่วนหนามใกล้เคียงกับ SARS-CoV-2 มากถึง 99% จึงยิ่งทำให้มีโอกาสในการเป็นเชื้อโรคระบาดได้มากกว่า

ไวรัสโคโรนาอีกสายพันธุ์พบได้ในตัวนิ่มมาเลเซีย

จากหลักฐานงานวิจัยที่กล่าวมา จึงมีความเป็นได้สูงว่าเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 เป็นไคมีรา ซึ่งเกิดมาจากการรวมตัวกันของไวรัสโคโรนาทั้งสองชนิด โดยกระบวนการรวมตัวของไวรัสทั้งสองชนิดนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสิ่งมีชีวิตติดเชื้อไวรัสทั้งคู่พร้อมกันในคราวเดียว ซึ่งยังคงไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าว่าสัตว์ชนิดไหนกันแน่ที่ให้กำเนิดไวรัสไคมีรานี้ขึ้นมาได้ นักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องทำการค้นหาความจริงกันต่อไป

ไม่ว่าไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้จะมีที่มาจากสัตว์ชนิดใดก็ตาม หรือจะมีเพิ่มมาอีกกี่สายพันธุ์ย่อย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของเราเอง ที่ต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ออกไปข้างนอกเท่าที่จำเป็น ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ว่าจะก่อนรับประทานอาหารหรือหลังจากสัมผัสสิ่งของสาธารณะที่อยู่นอกบ้านมา ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังในช่วงไวรัสกำลังระบาดนะคะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th