‘Bullying’ เมื่อลูกคุณถูกรังแก
Bullying ถือเป็นคำศัพท์ที่กำลังอินมากในบ้านเราช่วง 2-3 ปีมานี้ เนื่องจากสังคมไทยเพิ่งเริ่มตระหนักถึงผลร้ายของการ bully (การกลั่นแกล้ง) ว่ามันทำให้ผู้อื่นรู้สึกแย่หรือเจ็บตัวอย่างไร และโดยส่วนมากเหยื่อของการโดน bully มักจะถูกรังแกจากเพื่อนที่โรงเรียนหรือสมาชิกในครอบครัวอย่างพี่น้อง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเด็กผู้เป็นเหยื่อ อาจจะทำให้เด็กเกลียดการไปโรงเรียนหรือโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาในการเข้าสังคม
แบบไหนคือ Bullying
เราสามารถแบ่งการ bully ออกตามลักษณะความรุนแรงได้เป็นกลุ่มหลักๆ ดังนี้
- การทำร้ายร่างกายและใช้กำลังบังคับ เช่น ชก ตี หยิก ผลัก เตะ แย่งหรือข่มขู่เอาสิ่งของจากเหยื่อ ทำลายข้าวของของเหยื่อให้เสียหาย นำข้าวของของเหยื่อไปซ่อนหรือทิ้ง สั่งให้ทำในเรื่องที่ไม่อยากทำ รวมทั้งสั่งให้ไปแกล้งคนอื่นต่ออีกทอด
- การใช้คำพูดทำร้ายความรู้สึก เช่น ล้อเลียน ข่มขู่ วิพากย์วิจารณ์ในทางลบ ใช้ถ้อยคำล่วงละเมิดทางเพศ
- การกลั่นแกล้งทางสังคม เช่น การกีดกันเหยื่อออกจากสังคม การข้ามคนอื่นมีปฏิสัมพันธ์กับเหยื่อ โดยใช้กำลังขมขู่หรือปล่อยข่าวทางลบเกี่ยวกับตัวเหยื่อ
- การกลั่นแกล้งทางโซเชียล หรือ Cyberbullying เป็นการกลั่นแกล้งผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยผู้แกล้งไม่ต้องเปิดเผยตัวเอง เช่น ลงภาพตัดต่อในทางเสียหาย คอมเมนท์ทำร้ายความรู้สึก ปล่อยข่าวลือ
- การกลั่นแกล้งในที่ทำงาน เกิดขึ้นกับคนวัยทำงาน มักผ่านการใช้อำนาจในที่ทำงาน ทำให้เหยื่อมีประสิทธิภาพการทำงานที่ถดถอยลง รู้สึกไม่อยากมาทำงาน และลาออกไปในที่สุด
ลูกของคุณโดน bully อยู่หรือเปล่า
สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกรักของคุณกำลังตกเป็นเหยื่อของการถูกกลั่นแกล้ง มีดังนี้
- ลูกบอกว่าทำของหายบ่อยๆ
- มีร่องรอยบาดเจ็บ ฟกช้ำตามเนื้อตัวของลูก โดยลูกไม่บอกสาเหตุ
- กินอาหารเยอะผิดปกติตอนอยู่บ้าน เพราะอาจจะถูกรังแกไม่ให้ได้กินอาหารกลางวันที่โรงเรียน
- ลูกมีอาการเครียด ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร
- มีอาการทางจิต เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ฝันร้าย ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ปลีกตัว
- ไม่อยากไปโรงเรียน หาข้ออ้างที่จะไม่ไปเรียน ไปเรียนสาย ขาดเรียนบ่อย ผลการเรียนแย่ลง
- หลีกหนีการเข้าสังคม หนีออกจากบ้าน
- ทำร้ายตัวเอง หรือคิดฆ่าตัวตาย
ถ้าหากลูกเราเป็นฝ่าย bully เด็กอื่นละ
เด็กที่ bully ผู้อื่นใช่ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากการกระทำของตัวเอง ในเบื้องต้นเขาจะมีเพื่อนน้อยลง เหลือคบกันอยู่แต่กลุ่มเพื่อนที่มีนิสัยชอบ bully เหมือนกัน อาจจะพากันไปทำสิ่งที่รุนแรงมากยิ่งกว่าเดิมเมื่อเขาโตขึ้น เพื่อป้องกันลูกของคุณไปรังแกเด็กอื่น และเพื่อที่ตัวเขาเองจะไม่เป็นที่รังเกียจของเพื่อนๆ ควรดูว่าเด็กมีพฤติกรรมต่อไปนี้หรือไม่
- มีส่วนร่วมในการชกต่อยหรือโต้เถียงกันอย่างรุนแรง
- มีพฤติกรรมแสดงออกอย่างก้าวร้าวมากขึ้น
- เป็นเพื่อนกับเด็กที่แสดงออกถึงความก้าวร้าว
- มีเงินหรือสิ่งของเพิ่มขึ้น โดยที่เด็กอธิบายไม่ได้ว่าไปเอาของพวกนั้นมาจากไหน
- ชอบกล่าวโทษคนอื่น และไม่ยอมรับผิดทั้งที่เห็นชัดเจนว่าเป็นความผิดของตนเอง
- หมกมุ่นอยู่กับการแข่งขัน และอยากมีเชื่อเสียง อยากได้รับความนิยม
ทำไมเด็กจึงชอบรังแกคนอื่น
- บางคนทำไปเพราะความสนุกสนาน ขาดทักษะในการรับรู้ความรู้สึกผู้อื่น ขาดทักษะในการแสดงความเห็นอกเห็นใจ
- เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรง จึงซึมซับเอาพฤตกรรมเหล่านั้นมาใช้จนเคยชิน เมื่อกระทำต่อผู้อื่นแล้วก็ไม่รู้ว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไรบ้าง
- เด็กอาจจะมีประสบการณ์ถูกรังแกมาก่อน และไม่ได้รับการปกป้อง จึงต้องเริ่มรังแกคนอื่นก่อนบ้าง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเสียเอง
- เด็กบางคนรังแกผู้อื่นเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตนเอง รู้สึกว่าตนเองเข้มแข็ง มีอำนาจ และเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น
- เด็กบางคนไม่ได้ตั้งใจจะแกล้งคนอื่นด้วยความเกเร แต่ทำลงไปเพราะขี้รำคาญเด็กคนอื่น
- เด็กยังควบคุมความอิจฉาไม่เป็น จึงชดเชยความรู้สึกตัวเองด้วยการรังแกคนอื่น
- เด็กอาจถูกที่บ้านวางกรอบให้มีพฤติกรรมที่ดีมากเกินไป ทำให้เด็กเก็บกดและแสดงความเกเรกับเด็กอื่นนอกบ้าน
แก้ไขอย่างไรเมื่อลูกถูก bully
- พ่อแม่ควรแจ้งให้ครูของลูกทราบถึงปัญหา และยื่นคำขาดให้โรงเรียนยุติปัญหาการรังแกกัน โดยไม่ต้องกังวลว่าเมื่อแจ้งไปแล้วลูกจะถูกรังแกหนักกว่าเดิม
- ไม่ควรที่จะคิดว่าเป็นสิ่งที่ลูกต้องเผชิญปัญหาด้วยตัวเอง การถูกรังแกเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้ใหญ่
- ควรศึกษานโยบายของทางโรงเรียนที่มีต่อปัญหาการรังแกกันของเด็กนักเรียนให้ดี เพราะทางโรงเรียนมีหน้าที่ดูแลให้นักเรียนมีสวัสดิภาพในขณะที่อยู่โรงเรียน
- พ่อแม่ควรให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียนในการแก้ปัญหา และรวบรวมหลักฐานที่ชัดเจนเพื่อใช้อ้างอิงได้เมื่อจำเป็น
- พูดคุยกับพ่อแม่ของเด็กที่รังแก เพื่อให้เขารับทราบถึงปัญหาและหาแนวทางจัดการปัญหาอีกแรง โดยอาจนัดเจรจาพร้อมกันที่โรงเรียนต่อหน้าครู
ป้องกันไม่ให้ลูกถูก bully อย่างไร
- ฝึกความมั่นใจให้ลูก เพื่อให้เขากล้าคิดกล้าทำ กล้าจะเปิดเผยเมื่อเขาโดนรังแก ไม่เก็บงำปัญหา นอกจากนี้เด็กที่ชอบรังแกมักจะเลือกเหยื่อที่แสดงอาการกลัวหรือแสดงความอ่อนแอให้เห็น ถ้าลูกเป็นเด็กที่แสดงออกถึงความมั่นใจในตัวเองอยู่ตลอดเวลา ก็จะลดการตกเป็นเป้าไปได้มาก
- พูดคุยสอบถามเรื่องที่โรงเรียน เพราะบางครั้งลูกกลัวพ่อแม่จะมองว่าเขาอ่อนแอหรือเป็นความผิดที่ปล่อยให้คนอื่นรังแก ที่สำคัญอย่าได้กล่าวโทษลูกว่าเป็นความผิดที่อ่อนแอเองเด็ดขาด
- สอนให้ลูกหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงในการถูกรังแก เช่น มุมอับหลังโรงเรียน ห้องน้ำ
- ควรทำความรู้จักกับเพื่อนของลูกไว้บ้าง เพราะเด็กจะกล้าเปิดใจกับเพื่อนมากกว่า เขาอาจจะเล่าเรื่องที่ถูกรังแกให้เพื่อนคนที่เข้าไว้ใจฟัง
- สอนให้ลูกกล้ามีปากมีเสียงบ้าง สิ่งนี้ไม่ใช่การสอนให้เด็กเป็นคนมีวาจาร้ายกาจหรือก้าวร้าว หากแต่หมายถึงกล้าที่จะพูดเพื่อปกป้องสิทธิ์หรือรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง
- สอดส่องดูแลการใช้งานโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และสื่อสังคมออนไลน์ของลูกบ้าง เพราะเป็นพื้นที่ที่จะเกิด cyberbullying ได้มาก
การถูกกลั่นแกล้งไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ เพราะมันสามารถกระทบถึงจิตใจของเด็กในระยะยาวได้ หัวใจของการแก้ปัญหาคือคุณพ่อคุณแม่ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก เด็กก็จะไว้ใจ และกล้าเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นให้ฟัง เพราะลูกรู้ว่าพ่อแม่พร้อมจะเป็นที่พึ่งให้เขาได้เสมอไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น ถ้าเด็กเล่าให้ฟังแต่เนิ่นๆก็จะยับยั้งปัญหา Bullying ได้ไวยิ่งขึ้น
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th