Dyslexia ทำความรู้จักกับภาวะบกพร่องในการเรียนรู้
หากพูดถึง “Dyslexia” เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านก็อาจจะเคยได้ยินผ่านหูหรืออ่านผ่านตามาบ้าง แต่อาจจะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงรายละเอียดของอาการ รวมทั้งการตรวจสอบว่าลูกรักของเรามีอาการที่เข้าข่ายหรือไม่ และหากไม่มีความรู้ความเข้าใจในโรคนี้ก็อาจจะส่งผลร้ายหลายอย่างกับลูกได้ ติดตามบทความชิ้นนี้ของ Motherhood ได้เลยค่ะ เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้มีความเข้าใจในภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ดียิ่งขึ้น
อะไรคือภาวะบกพร่องในการเรียนรู้
คำว่า Dyslexia ประกอบขึ้นมาจากรากศัพท์สองส่วน คำว่า dys มีสองความหมายคือ “ไม่” และ “ความยากลำบาก” ส่วนคำว่า lexia หมายถึง “คำ” “การอ่าน” และ “ภาษา” เมื่อรวมทั้งสองส่วนนี้เข้าด้วยกัน จึงมีความหมายว่า ความยากลำบากในการอ่าน หรือไม่สามารถอ่านคำได้ นั่นเอง
Dyslexia คือภาวะผิดปกติ/บกพร่องที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษา ส่งผลให้ไม่สามารถอ่าน สะกดคำ หรือเขียนหนังสือได้ เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการแยกเสียงตัวอักษรและเชื่อมโยงเสียงของตัวอักษรเข้ากับรูปร่างของตัวอักษรนั้นๆรวมทั้งรูปคำ ซึ่งผู้ที่มีภาวะนี้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการมองเห็นและมีระดับสติปัญญาที่ปกติ พวกเขาสามารถเรียนหนังสือได้เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่จะต้องพยายามมากกว่าและใช้เวลานานกว่าในการอ่านหนังสือ พวกเขาไม่ได้มีเชาวน์ปัญญาที่บกพร่องในด้านการเรียนรู้แต่อย่างใด
แต่ยังมีความเข้าใจผิดหนึ่งของคนในสังคมเกี่ยวกับภาวะนี้ การที่เด็กในวัยเริ่มเข้าเรียนจะสะกดคำบางคำสลับที่แบบกลับหน้ากลับหลังกัน เช่น god > dog หรือ saw > was หรือเขียนตัว d และ b สลับด้านเหมือนส่องกระจก ทำให้เด็กถูกเข้าใจผิดว่ามีอาการ แท้จริงแล้วอาการเช่นนี้เป็นปัญหาทั่วไปของเด็กที่กำลังเริ่มเรียนรู้ภาษา เด็กอาจเกิดความสับสนตัวอักษรและคำที่ดูใกล้เคียงกัน เมื่อเข้าชั้นประถมเด็กจะแยกแยะได้มากขึ้นและปัญหาจะหมดไปเอง
อาการของความบกพร่องในการเรียนรู้
โดยทั่วไปแล้วอาการของภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้จะสังเกตค่อนข้างยากในวัยก่อนเข้าเรียน เพราะเขาจะยังไม่เจอกับการเรียนรู้ในตัวอักษรอย่างจริงจัง แต่อาการจะเริ่มเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยเรียนและวัยรุ่น และจะแสดงอาการต่างกันไปตามแต่ละช่วงวัย ดังนี้
- วัยก่อนเข้าเรียน แม้ว่าเด็กในวัยนี้จะยังแสดงอาการไม่ชัดจนกว่าจะเริ่มเข้าเรียน แต่ก็มีเด็กบางรายที่มีอาการบ่งบอกบางอย่างให้สังเกตได้ เช่น
- พูดช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน
- ไม่สามารถออกเสียงคำที่ยาวหลายพยางค์ได้
- มีปัญหาในการจำตัวอักษร ตัวเลข และสี
- สะกดคำไม่ได้ เรียนรู้คำใหม่ๆได้ช้า
- ไม่เข้าใจการเล่นเสียงสัมผัสในเพลงหรือกลอน
- วัยเริ่มเข้าเรียน ในวัยนี้อาการจะมีให้เห็นชัดเจนมากขึ้น โดยจะมีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านและเขียนหนังสือ ดังนี้
- มีปัญหาในการเรียนรู้และจดจำชื่อหรือเสียงของตัวอักษร
- มีปัญหาในการแยกแยะความแตกต่างของเสียงตัวอักษรและรูปคำ
- มีปัญหาด้านการจดจำลำดับของสิ่งต่างๆ
- พัฒนาการด้านการสะกดคำช้ากว่าปกติ
- อ่านออกเสียงคำที่ไม่คุ้นเคยไม่ได้
- ไม่สามารถเลือกใช้คำพูดในการสื่อสารได้อย่างเหมาะสม
- เขียนตัวอักษรหรือตัวเลขผิด เช่น เขียนเลข 6 เป็นเลข 9
- วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักมีอาการไม่ต่างจากที่พบได้ในวัยอื่น ดังนี้
- อ่านและเขียนหนังสือช้า ทำให้ใช้เวลาทำงานที่ต้องใช้ทักษะในการอ่านและเขียนนานกว่าปกติ
- สรุปใจความสำคัญของเรื่องต่างๆไม่ได้ หรือเรียบเรียงงานเขียนได้ไม่ดี
- มีปัญหาเรื่องการสะกดคำ
- ออกเสียงชื่อหรือคำต่างๆผิด
- ไม่ค่อยเข้าใจมุกที่มีการเล่นคำหรือความหมายของสำนวนต่างๆ
- มีปัญหาในการเรียนภาษาต่างประเทศ
- มีปัญหาในการจดจำและการคำนวณ
คุณพ่อคุณแม่จึงต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกอยู่เสมอ หากสงสัยว่าเด็กประสบภาวะนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีรักษา เพราะหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง เด็กจะมีปัญหานี้ติดไปจนเขาโต
สถานการณ์ในประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทย อาการผิดปกติของภาวะ Dyslexia จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ด้านใหญ่ๆ ดังนี้
1.ความบกพร่องด้านการอ่าน (Reading Disorder)
เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับทักษะการอ่าน ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีความสามารถในการอ่านต่ำกว่าคนอายุเท่ากัน อาการที่เห็นชัดคือจะไม่สามารถอ่านหนังสือได้คล่องเท่าคนทั่วไป หรือแค่สามารถอ่านออกเสียงได้แต่ไม่สามารถจับใจความได้ ทำให้เด็กที่มีภาวะนี้จะมีความสามารถในการเรียนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น 2 ระดับชั้น
2.ความบกพร่องทางทักษะการเขียน การสะกดคำ การสร้างคำ หรือการสร้างประโยค (Written Expression Disorder)
ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีทักษะในการเขียน การสะกดคำ การสร้างประโยคที่บกพร่อง โดยไม่สามารถสะกดคำได้ถูกต้อง และไม่สามารถสร้างประโยคที่อ่านแล้วเข้าใจได้หรือเขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง
3.ความบกพร่องทางด้านทักษะการคำนวณ (Mathematics Disorder)
ความบกพร่องนี้ทำให้ผู้มีภาวะขาดทักษะในการคำนวณ ทำให้ไม่เข้าใจถึงกระบวนการในการคำนวณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบวก ลบ คูณ หาร โดยจะไม่เข้าใจว่าการลบจะต้องหักออกอย่างไร นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่มีปัญหาในการทดเลข และการตีโจทย์ปัญหา กล่าวคือจะสามารถบวกลบเลขตามปกติได้ แต่จะไม่เข้าใจโจทย์ที่เป็นสถานการณ์สมมติ ไม่รู้ว่าต้องแก้โจทย์อย่างไร
สาเหตุของความบกพร่องในการเรียนรู้
ปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ที่ชัดเจน แต่มีข้อสันนิษฐานว่ามีแนวโน้มที่จะถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพราะอาการนี้มีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติบนโครโมโซมตัวที่ 7 ผู้ที่มีภาวะนี้อาจได้รับยีนบางตัวมาจากพ่อแม่ จึงทำให้การทำงานของสมองที่มีหน้าที่สั่งการและควบคุมการเชื่อมโยงของเสียงกับอักษรและตัวสะกดมีการทำงานบกพร่อง และรวมไปถึงพื้นฐานของสมองที่สั่งการด้านความจำ การวิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลอีกด้วย ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่ส่งผลได้ ดังนี้
- บุคคลในครอบครัวมีภาวะนี้หรือมีปัญหาด้านการเรียนรู้อื่นๆ
- เด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ
- การได้รับยา แอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ รวมถึงการเกิดภาวะติดเชื้อของแม่ที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์
การวินิจฉัยความบกพร่องในการเรียนรู้
ภาวะบกพร่องในการเรียนรู้เป็นปัญหาที่วินิจฉัยได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากแพทย์จะต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากการมีระดับสติปัญญาต่ำ สมรรถภาพการได้ยินหรือการมองเห็นเสื่อมถอย หรือจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ โดยใช้ข้อมูลและวิธีวินิจฉัยดังนี้
พัฒนาการและประวัติการรักษาทั่วไป แพทย์จะสอบถามอาการที่เกิดขึ้น และประวัติการรักษาความเจ็บป่วยต่างๆในอดีต รวมทั้งสอบถามว่ามีคนในครอบครัวที่มีเคยมีประสบภาวะนี้หรือมีปัญหาการเรียนรู้ชนิดอื่นหรือไม่
- สภาพแวดล้อมทางบ้าน แพทย์จะซักถามเรื่องราวทั่วไปในครอบครัวและปัญหาทางบ้าน
- แบบสอบถาม แพทย์อาจให้ตัวเด็ก สมาชิกในครอบครัว หรือครูผู้สอน เป็นผู้ทำแบบสอบถามประกอบการวินิจฉัย รวมทั้งให้เด็กทำแบบทดสอบความสามารถด้านการอ่านและการเรียนภาษาด้วย
- การตรวจสมรรถภาพทางร่างกาย เด็กจะได้รับการตรวจการมองเห็น การได้ยิน และตรวจการทำงานของสมอง เพื่อดูว่ามีปัญหาทางสุขภาพอื่นที่เป็นสาเหตุให้อ่านหนังสือไม่ได้หรือไม่
- การทดสอบทางจิตวิทยา แพทย์จะให้เด็กหรือคุณพ่อคุณแม่ทำแบบทดสอบจิตวิทยาเพื่อประเมินสุขภาพจิตของเด็ก จะช่วยให้ทราบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นแท้จริงมาจากปัญหาการเข้าสังคม ความวิตกกังวล หรืออาการซึมเศร้าหรือไม่
- การทดสอบทักษะการเรียนรู้ เป็นการให้เด็กทำแบบทดสอบทักษะทางการเรียนรู้และเข้ารับการวิเคราะห์ทักษะจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อประเมินทักษะและความสามารถทางการเรียนรู้ของเด็ก
การรักษาความบกพร่องในการเรียนรู้
ภาวะ Dyslexia นั้นไม่ถือเป็นโรค แต่จัดเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ด้วยยา แต่อย่างไรก็ตาม การได้เข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธีตั้งแต่เนิ่นๆก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ วิธีรักษามีดังนี้
- พัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่โรงเรียน ครูผู้สอนจะต้องจัดโปรแกรมการเรียนการสอนที่่เหมาะสมกับเด็กที่มีภาวะนี้ โดยเพิ่มความสามารถการอ่านด้วยการใช้ทักษะการมอง การฟัง และการสัมผัส เช่น ให้เด็กฟังคลิปเสียงพร้อมกับชี้นิ้วอ่านตามคำที่ได้ยิน วิธีนี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจและจดจำคำต่างๆได้ สะกดคำเป็น และเข้าใจสิ่งที่อ่านมากขึ้น
- วิธีพัฒนาทักษะด้วยตนเองสำหรับเด็ก คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือลูกที่มีภาวะนี้ให้มีความสามารถในการเรียนรู้ที่ดีขึ้นได้ ดังนี้
- สังเกตลูกว่ามีอาการที่น่าสงสัยหรือไม่ ถ้ามีให้รีบพบแพทย์ เพราะการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยจะช่วยได้มาก
- ให้ลูกหัดฟังหนังสือเสียงตั้งแต่อายุ 6 เดือนหรือต่ำกว่านั้น เมื่อลูกเริ่มโตก็ฝึกอ่านนิทานไปพร้อมกับลูก
- ปรึกษาครูผู้สอนถึงการจัดแผนการเรียนที่เสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ของลูกอย่างเหมาะสม
- กระตุ้นให้ลูกฝึกอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอเพื่อพัฒนาทักษะ หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมทักษะเข้าช่วย
- วิธีพัฒนาทักษะด้วยตนเองสำหรับผู้ใหญ่ ผู้ที่ประสบภาวะนี้ก็สามารถประสบความสำเร็จในการเรียนและการทำงานได้ หากฝึกทักษะเพื่อพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
- หมั่นทำแบบทดสอบประเมินทักษะตนเอง และหาวิธีช่วยฝึกทักษะการอ่านและเขียน
- เข้ารับการอบรมที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ
- เรียนรู้วิธีรับมือแบบอื่นๆ การเรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง รวมทั้งการสนับสนุนและให้กำลังใจ จะทำให้ผู้ที่มีภาวะนี้ทำสิ่งต่างๆและใช้ชีวิตได้ตามปกติ
- ทำความเข้าใจอาการ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจว่าภาวะที่เป็นไม่ใช่โรคร้ายแรง แม้ไม่มีการใช้ยารักษา แต่ก็สามารถทำให้อาการดีขึ้นได้ด้วยการหมั่นฝึกฝนทักษะ
- ให้กำลังใจ ผู้คนรอบข้างต้องกระตุ้นให้ลูกหลานมีความเชื่อมั่นในตนเอง มั่นใจในความสามารถและข้อดีที่ตัวเองมี
- ปรึกษาครูผู้สอน คุณพ่อคุณแม่นอกจากจะปรีกษาครูเรื่องการออกแบบการเรียนการสอน อาจขอให้ครูอัดเสียงการเรียนการสอนมาให้ลูกฟังซ้ำ
- เข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนต่างๆ วิธีนี้จะช่วยให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับภาวะ Dyslexia
คุณพ่อคุณแม่อย่านิ่งนอนใจเด็ดขาดหากลูกมีอาการที่ใกล้เคียง ต้องรีบปรึกษาแพทย์และทำการวินิจฉัยให้แน่ใจโดยเร็ว หากปล่อยไว้จะเกิดปัญหากับเขาในระยะยาวแน่นอน ถ้าเขาไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี ไม่มีครูหรือบุคลากรจากทางโรงเรียนที่จะจัดแผนการเรียนรู้ให้เด็กเฉพาะตามภาวะที่ลูกกำลังประสบ ยิ่งเขาเรียนในชั้นที่สูงขึ้น มีเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้น จะทำให้เขาขาดแรงบันดาลใจที่จะพยายามเรียนต่อไป เพราะเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกวิธี
อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ลูกอาจจะกลายเป็นคนสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง ขี้กังวล ก้าวร้าว และมีบุคลิกชอบแยกตัวจากผู้คน เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีปัญหาในการเข้าสังคมอย่างถาวร
การเสริมความมั่นใจและสร้างจุดเด่นอื่น
คุณพ่อคุณแม่และสมาชิกในครอบครัวต้องเน้นย้ำกับลูกเสมอว่าการที่เขามีภาวะ Dyslexia ไม่ได้แปลว่าเขาจะโตขึ้นไปกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ล้มเหลวในชีวิต ลองยกตัวอย่างบุคคลชื่อดังระดับโลกที่มีภาวะนี้เช่นกัน แต่พวกเขาก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นลี กวน ยู อดีตผู้นำสิงคโปร์ ที่ทั่วโลกต่างยกย่องให้เป็นมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ในวงการบันเทิงก็มีดาราฮอลีวู้ดชื่อดังอย่างทอม ครูส ที่ก็มีภาวะนี้ เช่นกัน หรือในวงการอาหาร ก็มีเชฟที่ได้รับความนิยมอย่างเจมี่ โอลิเวอร์ พวกเขาแสดงให้เห็นว่าแม้เขาจะมีความบกพร่องในการเรียนรู้ภาษา การอ่านและเขียน ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนเท่าที่ควร แต่เขาสามารถพัฒนาทักษะทางด้านอื่นให้เชี่ยวชาญจนเป็นที่ยอมรับได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกที่มีภาวะนี้ค้นหาความถนัดในตัวเขาด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี กีฬา ศิลปะ การแสดง หรือแม้แต่การทำอาหาร และช่วยเขาส่งเสริมให้กลายเป็นจุดแข็งที่สามารถชดเชยความบกพร่องในการเรียนรู้แบบวิชาการ
การป้องกันความบกพร่องในการเรียนรู้
เนื่องจากไม่มีการฟันธงถึงสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะ Dyslexia จึงไม่สามารถหาทางป้องกันอย่างตรงจุดได้ แต่ผู้ที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์สามารถลดปัจจัยความเสี่ยงได้ เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ โดยรับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติดอื่นๆ ควรเสริมแคลเซียมให้ร่างกายมากยิ่งขึ้นไปอีกระหว่างที่เริ่มตั้งครรภ์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสูดดมสารเคมีในช่วงตั้งครรภ์ด้วย
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th