Gluten Free คืออะไร จะรู้ได้ไงว่าลูกแพ้ Gluten
กระแสรักสุขภาพกำลังมาแรงไปทั่วโลก รวมทั้งในบ้านเรา และเมื่อไม่นานมานี้คำว่า “Gluten Free” ก็ได้เข้ามาแพร่หลายในไทยเช่นกัน ทำให้หลายๆคนเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่แปะคำนี้ไว้จะต้องเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพแน่นอน พ่อแม่บางคนจึงพยายามเลือกหามาให้ลูกรัก แต่ความจริง Gluten Free คืออะไร ดีต่อสุขภาพของเราจริงหรือไม่ และจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่จะเลือกรับประทานอาหารประเภทนี้ ติดตามหาคำตอบไปด้วยกันเลยค่ะ
Gluten Free มีดีอะไร?
มันคือผลิตภัณฑ์ปราศจากโปรตีนกลูเตน ซึ่งเป็นสารที่พบอยู่ในธัญพืชจำพวกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ ข้าวทริทิเคลีที่เป็นพืชผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวสาลีกับข้าวไรย์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ทำมาจากแป้งสาลีหรือธัญพืชเหล่านี้ด้วย ดังนั้น เราอาจพบกลูเตนได้ในซุปข้น ซอสปรุงอาหาร เครื่องดื่ม วิตามิน หรืออาหารเสริมบางตัว เช่น ซอสถั่วเหลือง เบียร์ ผลิตภัณฑ์จากมอลต์ ขนมปัง พาสต้า ขนมเค้ก หรือน้ำสลัด เป็นต้น
ผู้คนหันมารับประทานอาหารปราศจากโปรตีนกลูเตนด้วยหลายเหตุผล แต่สาเหตุหลักมาจากสภาวะของร่างกายไม่เอื้อต่อการบริโภคโปรตีนกลูเตน เช่น แพ้กลูเตน ภาวะไวต่อกลูเตน แพ้ข้าวสาลี มีภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเองบนผิวหนัง (Dermatitis Herpetiformis) มีปฏิกิริยาภูมิแพ้ตนเองจากการรับประทานกลูเตน (Gluten Ataxia) โรคเซลิแอค (Coeliac) โรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าอาการจำพวกนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น ช่วยในการลดน้ำหนัก บรรเทาอาการของโรคซึมเศร้า ปวดศีรษะ อ่อนเพลียเรื้อรัง หรือช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า เป็นต้น กลายเป็นแรงจูงใจให้คนทั่วไปเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมจากข้าวสาลีและธัญพืชที่มีกลูเตน แต่ก็ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของอาหารปราศจากโปรตีนกลูเตนสำหรับคนสุขภาพปกติออกมาน้อยมาก
อาหารปราศจากโปรตีนกลูเตนดีสำหรับทุกคนหรือไม่?
จุดประสงค์ของการรับประทานอาหารปราศจากโปรตีนกลูเตนเริ่มแรกมีสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เปรียบเสมือนวิธีรักษาอาการแพ้กลูเตน ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่แพ้กลูเตนหรือเป็นโรคระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการแพ้กลูเตน แต่สำหรับคนทั่วไปอาจจะใช้เป็นเพียงแค่ทางเลือกในการรับประทานอาหารเท่านั้น ดังนั้น การรับประทานอาหารปราศจากโปรตีนกลูเตนจึงเหมาะสมสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นทางสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป เพราะการได้รับปริมาณกลูเตนเพียงเล็กน้อยก็อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเซลิแอค หากได้รับปริมาณกลูเตนเพียง 50 มิลลิกรัมก็สามารถทำลายเยื่อบุลำไส้เล็กได้ ส่งผลให้ดูดซึมอาหารได้น้อยลงและนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น โรคกระดูกพรุน ภาวะมีลูกยาก เส้นประสาทได้รับความเสียหาย เกิดอาการชัก เป็นต้น
สำหรับคนทั่วไป สามารถรับประทานอาหารปราศจากโปรตีนกลูเตนได้ เพียงแต่ไม่ควรรับประทานเป็นประจำหรือทดแทนอาหารปกติ เพราะจะทำให้ขาดสารอาหารและเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการขาดสารอาหารสำคัญ เช่น วิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ หรือสารอาหารที่ผู้ผลิตเติมลงไปเพิ่มเช่นกรดโฟลิคในขนมปัง เป็นต้น
เราจึงสามารถสรุปได้ว่า อาหารปราศจากโปรตีนกลูเตนไม่ได้ดีต่อสุขภาพทุกคนเสมอไป คนที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่จำเป็นที่จะต้องรับประทานอาหารชนิดนี้ดังเช่นคนที่มีอาการแพ้กลูเตน แต่สามารถรับประทานได้เป็นครั้งคราว และหากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกมีอาการแพ้กลูเตนหรือไม่ ก็ยังไม่ควรหาอาหารปราศจากโปรตีนกลูเตนมารับประทานกันเอง ควรไปพบแพทย์และรับการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยอาการก่อน
7 สัญญาณบ่งบอกว่าลูกแพ้กลูเตน
อาการแพ้กลูเตนสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และในแต่ละวัยก็เกิดอาการที่ค่อนข้างจะแตกต่างกัน โดยเฉพาะในเด็ก หากมีอาการแล้วไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ทำให้มีรูปร่างแคระแกร็นได้ ด้านล่างนี่คือสัญญาณที่จะบ่งบอกว่ามีอาการแพ้กลูเตน หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการเหล่านี้ ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโปรตีนกลูเตนให้เร็วที่สุด
- มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย
อาการที่เห็นได้ชัดที่สุดของโรคแพ้กลูเตนก็คือปัญหาในระบบขับถ่าย เพราะเมื่อระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อโปรตีนกลูเตนแล้วก็จะทำให้ระบบขับถ่ายทำงานผิดปกติ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยคือ ท้องเสีย ท้องอืด ท้องผูก ปวดท้อง อาการเหล่านี้ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว และมีอาการคลื่นไส้อาเจียนตามมา
- อุจจาระมีลักษณะผิดปกติ
เมื่ออาการแพ้กลูเตนกำเริบ จะสังเกตได้ว่าอุจจาระของผู้ป่วยจะมีลักษณะที่ผิดไปจากเดิม โดยมีสีที่อ่อนลง มีไขมันปนมากับอุจจาระ และมีกลิ่นที่เหม็นผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมไขมัน จึงถูกขับถ่ายออกมา ในผู้ใหญ่ลักษณะอุจจาระจะค่อนข้างเหลว แต่ในเด็กจะพบว่าถ่ายลำบากและอุจจาระแข็ง
- รู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย
การแพ้กลูเตนมีผลให้ลำไส้ไม่ทำหน้าที่ดูดซึมอาหารได้ดีเท่าที่ควร ร่างกายจึงขาดสารอาหารจำพวกธาตุเหล็กและวิตามิน โดยร่างกายจะส่งสัญญาณออกมาเป็นอาการอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ทั้งๆที่ก็ไม่เคยมีอาการเช่นนี้มาก่อน
- เกิดภาวะขาดสารอาหาร
เมื่อลำไส้ไม่สามารถทำหน้าที่ดูดซึมอาหารได้ดีเท่าที่ควรจะเป็นเนื่องจากแพ้กลูเตน ร่างกายจึงไม่ได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ขาดสารอาหาร ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที่ก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น และนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง ภาวะขาดเกลือแร่ อีกทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อเล็กลีบลงมาเพราะไม่ได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ
- น้ำหนักลดผิดปกติ
น้ำหนักกลับลดลงอย่างผิดปกติทั้งๆที่รับประทานอาหารได้ตามปกติ คือผลกระทบจากโรคแพ้กลูเตน เพราะเมื่อลำไส้อักเสบจากการแพ้กลูเตน ร่างกายจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในวัยเด็กจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตได้เป็นอย่างมาก
- ผิวหนังอักเสบ
อาการผิวหนังอักเสบสามารถพบได้กับโรคภูมิแพ้แทบทุกชนิด แต่อาการผิวหนังอักเสบที่เกิดจากโรคแพ้โปรตีนกลูเตนนั้นจะมีลักษณะเป็นผื่นคัน มีตุ่มน้ำใสๆ และจะแตกออกเมื่อเกา อาจขึ้นได้ทั่วร่างกาย แต่มักขึ้นในบริเวณข้อศอก เข่า และก้น โดยอาการจะหายไปได้เองเมื่อปรับเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่ปราศจากโปรตีนกลูเตน
- อารมณ์แปรปรวน
โรคแพ้กลูเตนไม่ได้ส่งผลถึงร่างกายแค่เพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงภาวะอารมณ์อีกด้วย อาจทำให้รู้สึกซึมเศร้า วิตกกังวล ในกลุ่มผู้หญิง หากอยู่ในช่วงก่อนมีประจำเดือนอารมณ์ก็จะยิ่งแปรปรวนมากขึ้นด้วย
อาหารปราศจากกลูเตนมีอะไรบ้าง?
การรับประทานอาหารปราศจากโปรตีนกลูเตนควรใส่ใจเรื่องส่วนผสมและข้อมูลทางโภชนาการให้ดี เนื่องจากอาจมีกลูเตนเป็นส่วนผสมอยู่ ทั้งนี้ อาหารตามธรรมชาติที่ไม่มีโปรตีนกลูเตนอยู่ก็มีหลายชนิด แต่ต้องคัดเลือกที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีปรุงหรือเติมวัตถุที่เจือปนด้วยกลูเตน เช่น
- พืชตระกูลถั่วต่างๆ
- ไข่
- เนื้อสัตว์สีแดง เนื้อไข่ อาหารทะเล
- ผักและผลไม้สด
- ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมสด เนย โยเกิร์ตสูตรธรรมชาติ เป็นต้น
- ธัญพืชหรือเมล็ดพืชที่ระบุว่าไม่มีส่วนผสมของกลูเตน เช่น ข้าว ข้าวโพด คีนวาห์ เมล็ดแฟลกซ์ เป็นต้น
เริ่มรับประทานอาหารปราศจากโปรตีนกลูเตนอย่างไร?
เบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่ควรแจ้งกับทางโรงเรียนหรือผู้ที่ช่วยดูแลเด็ก ถึงอาการแพ้กลูเตนของลูก เพื่อให้คอยช่วยสอดส่องและเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารของลูกให้มากขึ้น
ก่อนจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารใดก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ต้องศึกษาฉลากข้อมูลโภชนาการให้ดี เพื่อดูว่าส่วนประกอบสำคัญมีกลูเตนในรูปแบบต่างๆผสมอยู่หรือไม่ แต่โดยมากสินค้าที่ปราศจากโปรตีรกลูเตนมักจะมีสัญลักษณ์ติดไว้ชัดเจน นอกจากนี้ ยา วิตามิน และอาหารเสริมบางอย่างก็อาจมีส่วนผสมของกลูเตนได้ พ่อแม่จึงควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรเกี่ยวกับยาที่ลูกจะต้องรับประทาน และอ่านฉลากยาก่อนใช้ทุกครั้ง
หากคุณแม่ชอบทำอาหารให้ลูกกินเอง ก็ต้องทำความสะอาดบริเวณทำอาหารเป็นอย่างดี รวมทั้งต้องจัดเก็บวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารปกติของสมาชิกคนอื่นในบ้านให้อยู่คนละส่วนกับวัตถุดิบปราศจากกลูเตน เพื่อป้องกันการปนเปื้อน กรณีที่ออกไปรับประทานอาหารตามร้าน ก็ต้องสอบถามให้แน่ใจเสียก่อน รวมทั้งเมื่อต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ควรทำการแจ้งสายการบินก่อนว่าต้องการอาหารปราศจากกลูเตนสำหรับลูก ซึ่งสายการบินส่วนมากจะมีไว้บริการอยู่แล้ว เพียงแค่ทำการแจ้งไปก่อน
แม้ว่าโรคแพ้กลูเตนจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยไม่ให้อาการแพ้ของลูกกำเริบขึ้นมาด้วยการช่วยลูกเลือกรับประทานอาหารที่ไม่มีส่วนผสมของโปรตีนกลูเตน รวมทั้งขอคำปรึกษาจากแพทย์ในการดูแลสุขภาพลูก เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th