Site icon Motherhood.co.th Blog

Herd Immunity คืออะไร? เกี่ยวยังไงกับไวรัสโคโรนา

herd immunity คืออะไร

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออังกฤษหวังจะให้ภูมิคุ้มกันหมู่แก้ปัญหา Covid-19

Herd Immunity คืออะไร? เกี่ยวยังไงกับไวรัสโคโรนา

เชื้อไวรัสโคโรนาถูกจัดให้เป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก รัฐบาลของหลายประเทศจึงมีการเสนอให้สร้าง “Herd immunity” ในกลุ่มประชาการของประเทศ เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่ยั่งยืนในระยาว หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วคำ ๆ นี้มีความหมายว่าอย่างไร มันจะกลายมาเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเอาชนะไวรัสโคโรนาได้หรือไม่ ติดตามกันต่อในบทความนี้ค่ะ

Herd Immunity คืออะไร?

มันคือภูมิคุ้มกันหมู่ หรือจะเรียกว่า Community immunity ก็ได้เช่นกัน ซึ่งตามนิยามของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC ได้ให้นิยามเอาไว้ว่า เป็นภาวะที่ประชากรส่วนมากของสังคมหนึ่ง ๆ มีภูมิคุ้มกันโรค โดยคิดเป็นสัดส่วนจำนวนคนที่สูงมากพอ จนช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนั้น ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ ไม่ว่าภูมิคุ้มกันหมู่นั้นจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อหายจากโรค หรือเกิดจากการรณรงค์ฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ก็ตาม

แรกเริ่มเดิมทีคำ ๆ นี้ปรากฏครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1923 ในบทความวิชาการของวิลสัน จีเอส (Wilson GS.) ซึ่งเป็นบทความที่ว่าด้วยโรคระบาดต่าง ๆ ที่มีความใกล้ชิดกับหนู โดยพบว่า หนูที่ได้รับวัคซีนมีอัตราการตายต่ำและมีโอกาสที่จะถ่ายทอดเชื้อน้อยลงด้วย

ประชากรส่วนมากยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้

เมื่อชุมชนแห่งใดมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น สมาชิกส่วนหนึ่งที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหรือร่างกายอ่อนแอจนไม่มีภูมิคุ้มกันโรค ก็จะได้รับประโยชน์จากการปกป้องแบบรวมหมู่นี้โดยอัตโนมัติ เพราะพาหะที่นำเชื้อโรคจากภายนอกเข้ามาจะไม่สามารถส่งต่อเชื้อนั้นให้กับคนอื่น ๆ เป็นจำนวนมากจนเกิดการระบาดขึ้นได้ ในทางกลับกัน หากมีสมาชิกในชุมชนแห่งใดที่จงใจไม่รับภูมิคุ้มกันที่เรียกกันว่าพวก Anti-vaxxer หรือกลุ่มต่อต้านวัคซีน อยู่ในจำนวนที่มากพอ พวกเขาก็สามารถแพร่เชื้อจนทำให้สมาชิกส่วนหนึ่งที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหรือร่างกายอ่อนแอจนไม่มีภูมิคุ้มกันโรค ต้องพลอยติดโรคชนิดนั้นไปด้วย และเมื่อมีคนติดโรคมากเข้า โรคชนิดนั้นก็จะกลับมาระบาดได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม จำนวนของประชากรที่จำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกัน หรือได้รับวัคซีนสำหรับการมีภูมิคุ้มกันหมูในแต่ละโรคนั้น มีสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป เช่น โรคหัดต้องมีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนไม่ต่ำกว่า 95% ส่วนโปลิโอ ก็ต้องมีไม่น้อยกว่า 80%

การถือกำเนิดของวัคซีน

ร่างกายของคนเราล้วนมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ แต่ถึงอย่างนั้นร่างกายก็ไม่ได้สามารถสู้รบกับโรคภัยได้ไปเสียทุกอย่าง การถือกำเนิดขึ้นของวัคซีนจึงเป็นเหมือนขุมกำลังที่ช่วยให้มนุษย์เราเอาตัวรอดจากโรคภัยต่าง ๆ นานามาได้

กลุ่มคนที่ค้นพบวิธีสร้างภูมิคุ้มกันโรคเป็นกลุ่มแรก คือ ชาวจีนในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 10 ซึ่งสิ่งที่พวกเขาค้นพบนั้นเรียกว่า Smallpox inoculations หรือ Variolation ซึ่งหมายถึง การให้คนที่มีสุขภาพดีมารับเอาเนื้อเยื่อหรือสะเก็ดแผลซึ่งเกิดจากโรคของผู้ป่วยเข้าร่างกาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง

จากนั้นในอีก 800 ปีต่อมา นายแพทย์เอดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) บุคคลสำคัญของการพัฒนาวัคซีน ได้นำเอาหนองจากแผลของผู้ป่วยโรคฝีดาษวัวใส่เข้าไปใต้ผิวหนังของเด็กชายคนหนึ่งที่ตอนแรกมีสุขภาพดี แต่เมื่อเด็กชายผู้นี้ได้รับเชื้อฝีดาษเข้าไป ก็กลายเป็นว่าเขามีอาการของโรคฝีดาษวัวไปด้วย แต่ก็ไม่ได้เสียชีวิตแต่อย่างใด เพราะเขาได้รับการรักษาให้หายดี และเมื่อมีการนำเชื้อฝีดาษเข้าไปในร่างกายของเด็กคนนี้อีกครั้ง เขาก็ไม่มีอาการป่วยแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าเชื้อที่เข้าไปในร่างกายก่อนหน้านี้ได้ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเขาแล้วนั่นเอง

นับจากจุดนี้เอง วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษก็เริ่มมีใช้กันในประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1853 ทำให้จำนวนผู้ป่วยน้อยลง และค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ ก่อนจะแผ่ขยายไปใช้กันในพื้นที่อื่น ๆ จนไม่พบการติดเชื้อนี้อีกในโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงประกาศว่าได้กำจัดโรคนี้จนหมดสิ้นไปแล้ว

วัคซีนฝีดาษจัดเป็นวัคซีนตัวแรกที่ถูกคิดค้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

วัคซีนเกี่ยวอะไรกับภูมิคุ้มกันหมู่

ภูมิคุ้มกันหมู่เป็นผลทางอ้อมของการป้องกันโรคจากวัคซีน ที่ช่วยปกป้องคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันจากโรคภัยด้วยกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันมากพอ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโปรแกรมการให้วัคซีนกับประชากรทั่วโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมา

จะนำมาใช้กับ Covid-19 ได้อย่างไร?

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา เรื่องของภูมิคุ้มกันหมู่กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งหลังจากที่ แพทริก วัลแลนซ์ (Patrick Vallance) หัวหน้าที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการยืดเวลาอัตราการระบาดของ Covid-19 ออกไปให้นานที่สุด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นในประชากรให้จงได้

เขาอธิบายว่า ต้องให้ประชากรส่วนใหญ่หรือประมาณ 60% ติดเชื้อไวรัสเสียก่อน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในกลุ่มคนที่หายป่วยแล้ว ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้จะช่วยป้องกันกลุ่มคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจากไวรัสได้โดยอัตโนมัติ และช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนี้ในภายหลังได้อีกด้วย แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ เรายังไม่มีวัคซีนที่จะต้านทานไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ นั่นแปลว่า ภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีผู้คนที่ติดเชื้อจำนวนมาก จนพวกเขาสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อร่างกายตัวเองได้ เมื่อนั้นผลกระทบจากโรคนี้จึงจะบรรเทาเบาบางลง

ศาสตราจารย์ บีอาเท แคมป์แมนน์ (Beate Kampmann) ผอ.ศูนย์วัคซีนจาก London School of Hygiene and Tropical Medicine ก็ยังเห็นด้วยกับแนวคิดของวัลแลนซ์ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลใช้มาตรการกักตัวผู้สูงอายุ ในระหว่างที่สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไปด้วยนั้น จะช่วยสร้างวงแหวนของกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกัน (Ring of immune people) ซึ่งเป็นการปกป้องกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงเอาไว้ตรงกลาง ไม่ให้พวกเขารับเชื้อไวรัสได้

การนำทฤษฎีภูมิคุ้มกันหมู่มาใช้ยังคงเป็นที่ถกเถียง

แต่โฆษกของ WHO มาร์กาเร็ต ฮาร์ริส (Margaret Harris) กลับไม่เห็นด้วยต่อเรื่องนี้ เธอกล่าวว่า ตอนนี้พวกเรายังมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ไม่มากนัก เพราะระยะเวลาที่ไวรัสนี้แพร่ระบาดในหมู่ประชากรยังไม่นานพอที่จะทำให้เรารู้ว่ามันสามารถทำอะไรกับระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์บ้าง และยังมีมีนักวิทยาศาสตร์อีก 229 คน ที่คัดค้านแนวคิดเรื่อง Herd immunity เพราะมองว่าเป็นมาตรการที่เสี่ยงเกินไป โดยอาจทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน

เจเรมี โรสแมน (Jeremy Rossman) วิทยากรชำนาญการพิเศษด้านไวรัสวิทยาจาก University of Kent ได้ให้ความเห็นว่า มาตรการเฝ้าระวังและกักตัวตามที่ WHO แนะนำถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19 และหากจะใช้ Herd immunity เพื่อป้องกันกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เท่ากับว่าเราต้องให้ประชากรถึง 47 ล้าน มีการติดเชื้อ

สุดท้ายแล้วโฆษกประจำกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษออกมาแถลงว่า การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในแผนปฏิบัติการของทางกระทรวง แต่เป็นเพียงแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อการระบาดสิ้นสุดลงเท่านั้น

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th