Herpangina ตุ่มแผลในปาก เริ่มระบาดในเด็กแล้ว
ชื่อของ “Herpangina” อาจจะเป็นชื่อโรคที่ยังไม่ค่อยคุ้นหูสำหรับคนไทยเท่าไหร่นัก แต่หากมันระบาดไปติดกับลูกน้อยแล้วละก็จะทำให้เด็กทรมานเป็นอันมาก คุณพ่อคุณแม่รีบทำความรู้จักกับโรคเฮอร์แปงไจน่าไว้ดีกว่านะคะ เพราะตอนนี้กำลังเริ่มระบาดในหมู่เด็กเล็กแล้ว
โรคเฮอร์แปงไจน่า มีสาเหตุจากอะไร?
เฮอร์แปงไจน่า (Herpangina) หรือโรคตุ่มแผลในปากเด็ก จัดเป็นโรคในกลุ่มเดียวกับโรคมือเท้าปาก สามารถติดต่อจากเชื้อโรคกลุ่มเอนเตอโรไวรัส (Enterovirus) ที่แพร่กระจายตัวอยู่ในอากาศ ระบบทางเดินหายใจ ทางน้ำสะอาด รวมถึงวัตถุที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น ผ้าขนหนู แก้วน้ำ และของเล่น ติดต่อได้จากการคลุกคลีกับเด็กที่ป่วย การไอ จาม โดยไม่ปิดปาก ทำให้เด็กที่ใกล้ชิดได้รับละอองน้ำลายหรือน้ำมูกไปด้วย เด็กในวัยที่เสี่ยงกับการรับเชื้ออยู่ในช่วงอายุ 1-7 ปี
พ่อแม่จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากลูกต้องพบเจอหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย Herpangina หรือต้องอยู่ในสถานที่ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ เช่น โรงเรียน ค่ายกิจกรรม และสถานที่เลี้ยงเด็ก โดยเฉพาะในช่วงที่มีความเสี่ยงเกิดโรคสูง อย่างช่วงฤดูร้อนไปจนถึงต้นฤดูฝน
อาการของโรคเฮอร์แปงไจน่าเป็นอย่างไร?
อาการเบื้องต้นของโรคจะดูคล้ายกับโรคมือเท้าปาก คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการของลูกได้ ดังนี้
- เริ่มเจ็บบริเวณเพดานปากและคอก่อน จากนั้นจะเกิดแผลคล้ายร้อนในบริเวณเพดานปาก ลิ้นไก่ และด้านหลังของคอหอย
- ภายใน 24 ชั่วโมงแผลจะเริ่มเป็นตุ่มแดง และกลายเป็นตุ่มน้ำในที่สุด มีการอักเสบรอบๆแผลด้วย
- ไม่มีผื่นสีแดงหรือตุ่มที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า
- มีอาการไข้สูงเฉียบพลัน สามารถสูงได้ถึง 41 องศาเซลเซียส แต่ลดลงได้ภายใน 2-4 วัน
- แผลในปากจะยังอยู่ไปอีก 1 สัปดาห์โดยประมาณ
วิธีรักษาโรคเฮอร์แปงไจน่า
ถึงแม้เฮอร์แปงไจน่าจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ยังไม่มียาตัวไหนที่สามารถกำจัดไวรัสกลุ่มนี้ได้โดยตรง วิธีรักษาจึงทำได้แค่ดูแลไปตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ปวด ใช้ยาชาแบบหยดภายในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผล เด็กจะค่อยๆฟื้นตัวได้เองหลังจากไข้ลด
สำหรับเด็กโตอาจจะใช้ยาชากลั้วปากได้ แต่กับผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็ก อาจจะให้ดื่มน้ำเย็น นมเย็น เนื่องจากเด็กจะกินอาหารได้ไม่มากเพราะเจ็บแผลในปาก อาจจะทำให้มีอาการขาดอาหารได้ การดื่มนมแช่เย็นหรืออาหารอื่นที่สามารถแช่และรับประทานแบบเย็นได้ก็จะช่วยในส่วนนี้ ความเย็นจะช่วยให้ชาในปาก ไม่เจ็บแผลตอนกลืนอาหาร หากต้องการรับประทานอาหารชนิดอื่นต้องเลือกที่รสไม่จัด ย่อยง่าย ไม่มีรสเปรี้ยว เพราะกรดในอาหารเหล่านั้นจะกัดแผลได้ ทำให้แสบมากขึ้น
หากยังมีอาการไข้สูง รับประทานอาหารไม่ได้ และเกิดอาการขาดน้ำ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาโดยด่วน
จะป้องกันลูกจากโรคเฮอร์แปงไจน่าได้อย่างไร?
เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันเฮอร์แปงไจน่า วิธีป้องกันลูกน้อยของคุณไม่ให้ติดโรคจึงทำได้ ดังนี้
- ไม่ควรให้ลูกอยู่ใกล้เด็กอื่นที่เป็นโรคนี้ หรือไปอยู่ในที่แออัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากในห้องเรียนมีเด็กป่วยโรคนี้ถึง 2 คน ควรให้มีการหยุดเรียน
- ไม่ใช้ข้าวของของเด็กแต่ละคนปะปนกัน และควรทำความสะอาดของใช้ทุกอย่างด้วยน้ำยาทำความสะอาดเป็นอย่างดี
- คุณพ่อคุณแม่ พี่เลี้ยง หรือผู้ที่เลี้ยงดูเด็กเป็นประจำ จะต้องล้างมือให้สะอาดหลังขับถ่าย ก่อนปรุงอาหารให้เด็ก ก่อนและหลังรับประทานอาหารของตัวเอง และช่วยเด็กรับประทานอาหาร
- ตัวเด็กเองก็ต้องล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อออกไปในที่ที่ล้างมือไม่สะดวกก็ควรให้เด็กใช้เจลทำความสะอาดหรือสเปรย์ทำความสะอาดให้เป็นนิสัย รวมทั้งรักษาสุขภาพโดยรวมให้ดี จะได้มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
ถึงแม้เฮอร์แปงไจน่าจะไม่ส่งผลอังตรายถึงชีวิต แต่หากเด็กมีอาการหนักกว่าปกติ ก็จะทำให้แพทย์รักษาได้ยากขึ้น ใช้เวลาฟิ้นตัวจากโรคนาน จึงอาจส่งผลกระทบต่อการเรียนได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรป้องกันแต่เนิ่นๆ โดยเน้นการดูแลสุขอนามัยของลูกอย่างเคร่งครัด
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th