Site icon Motherhood.co.th Blog

Intersex – เพศกำกวม ผ่าตัดแก้ไขให้ลูกดีไหม?

intersex คืออะไร

เด็ก Intersex หรือเด็กที่มีภาวะเพศกำกวม ต้องไม่ถูกแทรกแซงทางการแพทย์

Intersex – เพศกำกวม ผ่าตัดแก้ไขให้ลูกดีไหม?

ขณะนี้ที่ประเทศอินเดีย รัฐทมิฬนาฑูได้มีการออกกฎหมายเพื่อห้ามมิให้พ่อแม่ผ่าตัดเลือกเพศให้ทารก ในทารกที่เป็น “Intersex” หรือที่เรียกในภาษาไทยได้ว่าภาวะเพศกำกวม ซึ่งทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียและเป็นประเทศที่สองของโลกที่มีการออกกฎหมายตัวนี้ขึ้นมา และในประเทศไทยเองมีอัตราของภาวะกำกวมพบได้ในเด็กแรกคลอดประมาณ 1 ต่อ 4,500 ราย อ่านมาถึงตรงนี้ คิดว่าน่าจะยังมีคุณพ่อคุณแม่หลายท่านไม่เข้าใจว่าอะไรคือภาวะเพศกำกวม แล้วพ่อแม่ที่มีลูกเป็นภาวะนี้จะต้องให้ลูกผ่าตัดเลือกเพศไปทำไม จำเป็นแค่ไหนที่จะต้องผ่าตัด แล้วทำไมรัฐถึงต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวโดยการออกกฎหมายห้ามด้วย วันนี้ Motherhood จะนำเอาเรื่องราวจากชีวิตจริงของบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวมมาให้ได้รับรู้กันค่ะ

อยากให้พ่อแม่เข้าใจว่าภาวะเพศกำกวมเป็นเรื่องธรรมชาติ

Intersex คืออะไร?

อินเตอร์เซ็กส์ หรือภาวะเพศกำกวม หมายถึง คนที่เกิดมามีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากปกติ จนไม่สามารถระบุเพศชัดเจนได้ โดยมีทั้งการเกิดมามีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งสองเพศ ปริมาณฮอร์โมนหรือโครโมโซมเพศที่ผิดปกติ หรือแม้กระทั่งลักษณะด้านอื่นๆที่ค่อยๆปรากฎเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ การเป็นอินเตอร์เซ็กส์มักจะหมายถึงลักษณะทางกายภาพ ไม่ได้หมายถึงเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศ

รูปแบบของเด็กอินเตอร์เซ็กส์ที่พบบ่อยในระหว่างทำคลอดและส่งผลต่อการวินิจฉัยเพศของแพทย์ คือพบอวัยวะเพศของทั้งชายหญิงตั้งแต่เมื่อแรกคลอด สิ่งที่ทำให้เกิดความสับสนว่าเป็นหญิงหรือชายนั้น เริ่มจากการดูจากอวัยวะเพศภายนอก เด็กบางคนสามารถดูออกว่าเป็นชาย แต่กลับมีอวัยวะเพศสั้นผิดปกติ หรืออัณฑะไม่ลง หรือมีรูปัสสาวะอยู่ผิดที่ จากนั้นเป็นเรื่องของอวัยวะเพศภายใน เช่น ต่อมเพศ มดลูก รังไข่ อัณฑะ ซึ่งเด็กบางคนมีทั้งต่อมเพศหญิงและชายอยู่ในคนๆเดียว เช่น เด็กมีอวัยวะเพศภายนอกเป็นผู้หญิง แต่มีต่อมเพศชายหรือโครโมโซมเพศชายอยู่ ซึ่งลักษณะบางประการของเด็กอินเตอร์เซ็กส์ก็จะพัฒนาชัดเจนขึ้นและคงที่เมื่อเขาอายุเพิ่มขึ้น หรือเมื่อพวกเขาเข้าสู่วัยรุ่น

อะไรคือปัญหาสิทธิเด็กที่ทารกและเด็กอินเตอร์เซ็กส์ต้องเจอ?

สหประชาชาติระบุว่า มีคนทั่วโลกราว 1.7% เกิดมามีภาวะเพศกำกวม ซึ่งเป็นจำนวนพอๆกับคนที่เกิดมามีผมสีแดง แต่ในขณะนี้เด็กที่เกิดมามีเพศกำกวมทั่วโลกกลับได้รับการผ่าตัดเพื่อให้เหลือเพศใดเพศหนึ่ง ซึ่งใช่ว่าจะลงเอยด้วยดีเสมอไป การกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่าการผ่าตัดเลือกเพศให้เด็กที่มีภาวะเพศกำกวมนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่

ความพยายามที่จะทำให้เด็กอินเตอร์เซ็กส์เป็นคน “ปกติ” ด้วยการดัดแปลงทางการแพทย์เพื่อให้พวกเขากลายเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงตั้งแต่ตอนที่พวกเขายังเด็กมาก การดัดแปลงส่วนใหญ่มักจะเป็นการผ่าตัดอวัยวะเพศเพื่อเสริมความงามหรือให้ตรงตามจารีตของสังคม อย่างเช่นการตัดคลิตอริสให้สั้นลง ถึงแม้ว่าส่วนที่ยาวออกมาจะยังคงเป็นศูนย์รวมเส้นประสาท การผ่าอวัยวะสืบพันธุ์ภายในออก การผ่าตัดเพื่อใส่ช่องคลอดหรือกระทั่งการตัดแต่งองคชาติให้มีรูปลักษณ์เหมือนปกติ ซึ่งการดัดแปลงที่ล่วงเกินและส่งผลทั้งชีวิตเหล่านี้มักจะถูกกระทำตั้งแต่ก่อนที่เด็กจะตัดสินใจได้เอง

ปกติการดัดแปลงเหล่านี้จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง แต่ข้อมูลที่ผู้ปกครองได้รับก่อนการตัดสินใจนั้นมักจะขาดความน่าเชื่อถือ เพราะการดัดแปลงเหล่านี้มักจะมีผลกระทบทางสุขภาพระยะยาว รวมไปถึงการต้องรับประทานยาปรับฮอร์โมนตลอดชีวิต แต่ความจริงแล้วการดัดแปลงเหล่านี้ควรจะรอให้เด็กคนนั้นโตขึ้นมาและตัดสินใจเรื่องนี้ด้วยตัวเอง พวกเขามีสิทธิ์ที่เลือกเพศที่ตนเองต้องการได้ด้วยตนเอง ไม่ควรถูกแทรกแซงทางการแพทย์

ภาวะเพศกำกวมถือเป็นความเจ็บป่วยหรือไม่?

เด็กหรือบุคคลอินเตอร์เซ็กส์ก็เหมือนคนอื่นๆทั่วไปที่ย่อมมีปัญหาสุขภาพตามปกติ ในการวิจัยพบไม่กี่กรณีเท่านั้นที่เด็กอินเตอร์เซ็กส์ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ทันทีตั้งแต่แรกเกิด แต่การเป็นอินเตอร์เซ็กส์ไม่ใช่ปัญหาทางสุขภาพ และภาวะอินเตอร์เซ็กส์เป็น ร่างกายตามธรรมชาติ โดยบุคคลที่เป็นอินเตอร์เซ็กส์ส่วนใหญ่มักจะมีสุขภาพดี แต่อินเตอร์เซ็กส์บางคนก็จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทดแทนเนื่องจากผลมาจากการแทรกแซงทางการแพทย์

Phall-O-meter คือเครื่องกำหนดเพศเด็กโดยวัดขนาดอวัยวะเพศชาย

ทำไมเด็กอินเตอร์เซ็กส์ต้องถูกแทรกแซงทางการแพทย์?

การแทรกแซงทางการแพทย์ คือความพยายามที่จะทำให้ร่างกายของเด็กอินเตอร์เซ็กส์ให้เป็นไปตามอุดมคติของความเป็นชายหรือเพศหญิง กล่าวคือ เป็นการผ่าตัดที่ทำให้มีอวัยวะเพศใดเพศหนึ่งเพียงเพศเดียว โดยแพทย์เป็นผู้กำหนดให้ ซึ่งจะกำหนดให้จากอวัยวะที่สามารถใช้งานได้ดีกว่าหรือสามารถพัฒนาการได้ดีกว่า

ทัศนคติทางการแพทย์ในปัจจุบันจะอิงกับความคิดว่าการผ่าตัดอวัยวะเพศของทารกจะช่วยลดความทุกข์และความกังวลของครอบครัว และลดความเสี่ยงที่จะเกิดตราบาปในใจและความสับสนเพศของเด็ก การแทรกแซงในการผ่าตัดภายในร่างกายกลับมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขลักษณะของอวัยวะ มากกว่าที่จะมุ่งเน้นในเรื่องการทำงานของอวัยวะเพศ โดยแพทย์จะตัดอวัยวะเพศที่วินิจฉัยว่าไม่สามารถทำงานได้หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพออก

ในวัยเด็ก การผ่าตัดตกแต่งอวัยวะเพศนี้ยังเป็นปัญหาเพราะเด็กไม่สามารถให้ความยินยอมกับแพทย์ได้ด้วยตัวเอง ส่วนในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ได้มีการรายงานว่า พวกเขารู้สึกว่าถูกกดดันจากแพทย์และครอบครัวเกี่ยวกับการผ่าตัดเพื่อให้มีลักษณะที่สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคม แพทย์บางคนยังคงเชื่อว่าการเปิดเผยสถานะภาพการเป็นอินเตอร์เซ็กส์ของบุคคลเป็นสิ่งที่น่ากลัวหรืออันตราย

เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเด็กอินเตอร์เซ็กส์หลังจากถูกแทรกแซงทางการแพทย์?

เหตุการณ์ที่จัดว่าเป็นกรณีตัวอย่างได้ดีว่าผลกระทบต่อชีวิตของเด็กอินเตอร์เซ็กส์ที่ถูกแทรกแซงทางการแพทย์นั้นร้ายแรงเพียงใด คือกรณีที่ศูนย์กฎหมายเพื่อผู้ยากจนในภาคใต้ (The Southern Poverty Law Center and Advocates for Informed Choice) ได้ยื่นฟ้องคดีต่อแผนกสังคมบริการของรัฐเซาท์แคโรไลนา (SCDSS) และโรงพยาบาลกรี (Greer Memorial Hospital) แห่งวิทยาลัยแพทย์เซาท์แคโรไลนา และบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลาย ในการที่แพทย์เอาอวัยวะเพศของเด็กวัย 16 เดือนออกไป เนื่องจากเด็กเกิดมาด้วยภาวะเพศกำกวม เด็กคนนี้ได้รับการระบุเพศชายตั้งแต่แรกเกิด (Male assigned at birth) แต่อวัยวะเพศของเขาก็ยังดูไม่ชัดเจนมากพอ ศัลยแพทย์จึงตัดสิใจเอาอวัยวะเพศชาย ลูกอันฑะ และเนื้อเยื่อรอบๆลูกอันฑะ ที่ปรากฏอยู่บนส่วนที่มีลักษณะแบบอวัยวะเพศหญิงของเด็กออก และผ่าตัดเพื่อสร้างอวัยวะเพศหญิงให้ชัดเจนขึ้น

คณะฟ้องร้องคดียืนยันว่าไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ในการผ่าตัดนี้ ไม่ต้องการให้แพทย์ “แก้ไข” เด็กคนนี้ และในตอนนี้ “เขา” แปรสภาพเป็น “เธอ” ไปอย่างถาวรแล้ว เป็นที่น่าเศร้าใจว่าในตอนนี้เด็กอินเตอร์เซ็กส์ผู้นี้ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อายุแปดปี เขารู้สึกว่าตนเองเด็กผู้ชาย ใช้ชีวิตเป็นผู้ชาย และหัวใจของเขานั้นแตกสลาย

ความหนักใจของพ่อแม่ที่มีลูกอินเตอร์เซ็กส์

สิ่งที่ทำให้เรื่องมันซับซ้อนยิ่งขึ้นคือการที่พ่อแม่ของเด็กอินเตอร์เซ็กส์มักจะถูกบุคลากรทางการแพทย์ถาม เพื่อให้พวกเขาทำการตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของลูก แน่นอนว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องคำนึงว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก พวกเขาต้องการให้ลูกมีความสุข และพวกเขาต้องการให้ลูกเติบโตขึ้นโดยไม่ถูกรังแกหรือเยาะเย้ยในร่างกายที่สังคมมองว่าผิดปกติ แต่ในหลายๆกรณีพ่อแม่มักโดนโน้มน้าวใจโดยเอาความเจ็บป่วยที่อาจจะขึ้นในอนาคตมาอ้าง เพื่อบีบให้เขาตัดสินใจให้ลูกอินเตอร์เซ็กส์เข้ารับการผ่าตัด

บุคคลอินเตอร์เซ็กส์หลายคนผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหว                                  Image: mic.com

ความเปลี่ยนแปลงที่เด็กอินเตอร์เซ็กส์ต้องการ

เป้าหมายของนักสิทธิมนุษยชนและชุมชนอินเตอร์เซ็กส์คือ การยุติการการดัดแปลงทางการแพทย์ทั้งหมดที่ไม่จำเป็นต่อสุขภาพของเด็ก นอกจากนี้ยังต้องการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปเพื่อทำลายอคติที่มีต่ออินเตอร์เซ็กส์ สังคมควรตะหนักว่าคนที่ต้องเปลี่ยนแปลงไม่ใช่คนที่เกิดมาเป็นอินเตอร์เซ็กส์ แต่เป็นสังคมที่พยายามจะบังคับให้พวกเขาเป็นในสิ่งที่ตรงตามจารีตของสังคมต่างหาก การที่เด็กจะเป็นอินเตอร์เซ็กส์หรือไม่มันไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย เพราะเด็กทุกคนสมควรที่จะได้อยู่ในสังคมที่ทุกคนเคารพในสิทธิมนุษยชนของพวกเขา

จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง

ในปี 2015 ประเทศมอลตาได้ประกาศให้การผ่าตัดเด็กอินเตอร์เซ็กส์ด้วยสาเหตุทางสังคมเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ประเทศโคลัมเบียก็ได้เปลี่ยนระบบให้การผ่าตัดในลักษณะนี้ต้องผ่านการอนุญาติจากศาล หรือเมื่อปี 2017 ประเทศโปรตุเกสก็ออกมาประกาศว่ากำลังมีการร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้อยู่ และคณะกรรมการต่อต้านการทรมานและคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติเองก็ออกคำแนะนำแก่หลายๆประเทศให้ยุติการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นต่อสุขภาพกับเด็กอินเตอร์เซ็กส์

และล่าสุดคือที่ประเทศอินเดีย รัฐบาลทมิฬนาฑูได้สั่งห้ามการผ่าตัดเลือกเพศในทารกและเด็ก ในคำสั่งเมื่อเดือนก่อนหน้านี้ รัฐบาลของรัฐยังกล่าวอีกว่าการผ่าตัดจะได้รับอนุญาตเฉพาะในกรณีที่มีสถานการณ์ที่คุกคามชีวิต ซึ่งจะต้องตัดสินใจหลังจากคำแนะนำของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการการศึกษาแพทย์ (DME) ในคณะทำงานนี้จะประกอบด้วยศัลยแพทย์ กุมารแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านระบบปัสสาวะ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ นักสังคมสงเคราะห์ นักกิจกรรมอินเตอร์เซ็กส์ และตัวแทนจากรัฐบาล

การออกมาเคลื่อนไหวของนักเคลื่อนไหวอินเตอร์เซ็กส์ที่เริ่มต้นในปี 1990 ถือเป็นการปลุกกระแสในเรื่องสิทธิของเด็กอินเตอร์เซ็กส์ได้เป็นอย่างดี เพราะบุคคลอินเตอร์เซ็กส์รู้สึกสะดวกใจกับตัวเองมากขึ้นที่มีความแตกต่าง บุคคลอินเตอร์เซ็กส์ส่วนมากไม่ได้อยากรับการผ่าตัดซ่อมแซมร่างกาย ส่วนเด็กที่เกิดมามีอวัยวะเพศกำกวมสามารถเลือกเพศที่ตนเองต้องการได้ และต้องสามารถปฏิเสธการผ่าตัดแทรกแซงได้ด้วย

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับความรู้เกี่ยวกับ Intersex หรือภาวะเพศกำกวม หวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาของเด็กอินเตอร์เซ็กส์กันมากขึ้นแล้วนะคะ ผู้เขียนเองก็หวังว่าจะไม่มีทารกอินเตอร์เซ็กซ์คนไหนถูกแทรกแซงทางการแพทย์โดยไม่จำเป็นแบบที่ผ่านๆมาอีก

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th