Reye’s Syndrome โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากยาบางตัว
เวลาที่ลูกป่วยไข้ คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็พยายามหาหยูกยามารักษาอย่างดีที่สุด แต่บางทีอาจไม่ทันคิดว่าลูกน้อยจะแพ้ยาได้ และ Reye’s Syndrome ก็เป็นหนึ่งในโรคแทรกซ้อนที่เกิดมาจากอาการแพ้ยาบางชนิดที่ใช้บำบัดรักษาอาการป่วยอย่างอื่น แต่จะเป็นยาตัวไหนและมีไว้ใช้รักษาโรคอะไร มาติดตามกันต่อในบทความนี้ได้เลยค่ะ
Reye’s Syndrome (กลุ่มอาการเรย์) เป็นกลุ่มอาการที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองและตับ ผู้ป่วยมักจะอาเจียนอย่างต่อเนื่อง กระสับกระส่าย หมดสติ อาการมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และรุนแรงถึงขั้นหมดสติได้ เป็นภาวะเจ็บป่วยที่พบได้ไม่มาก มักจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็กถึงอายุไม่เกิน 16 ปี
สาเหตุของ Reye’s Syndrome
มักพบอาการในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคติดเชื้อมาจากไวรัส เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส ลำไส้อักเสบ เป็นต้น การใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) เพื่อบรรเทาไข้ในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้มากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่ทราบกลไกการทำงานของโรคที่แน่ชัด
ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี แม้จะไม่มีประวัติการใช้ยาแอสไพรินก็อาจะมีอาการเรย์ซินโดรมได้ ซึ่งพิสูจน์พบว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมของกรดไขมันโดยการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้มักไม่มีอาการแสดง แต่อาการจะกำเริบขึ้นมาเองเมื่อได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปกระตุ้น
ส่วนในเด็กโตที่ก็ยังสามารถพบอาการได้แต่ก็น้อยมาก มักจะมีปัจจัยมาจากการสัมผัสสารเคมีบางอย่าง เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า หรือทินเนอร์
อาการของผู้ป่วย
โดยปกติแล้วอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยมักจะปรากฎภายใน 3-5 วันหลังติดเชื้อไวรัส หรืออาจจะนานจนถึง 3 สัปดาห์ในบางราย โดยมีอาการหลักๆ ดังนี้
- คลื่นไส้ อาเจียนบ่อย
- ร่างกายอ่อนเพลีย นอนมากเกินปกติ
- กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย
- สับสน มึนงง หรือมีภาพหลอน
- มีปัญหาด้านการมองเห็น การได้ยิน และการพูด
- ในเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี จะมีอาการหายใจถี่และถ่ายเหลว
ในกรณีที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยอาจจะอาเจียนอย่างต่อเนื่อง ชักเกร็ง หมดสติ แขนขาอ่อนแรง หรืออาจถึงขั้นเป็นอัมพาตได้ โรคนี้ทำให้เซลล์ในร่างกายทำงานผิดปกติ มีการสะสมไขมันตามอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ทำให้ตับทำงานได้ไม่เต็มที่ เกิดการคั่งของแอมโมเนียในหลอดเลือดทำให้เกิดภาวะสมองบวม และความดันในกะโหลกศีรษะสูงมากกว่าปกติ เป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น หากพ่อแม่พบว่าลูกมีอาการป่วยโดยเฉพาะอาการที่รุนแรง ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาและป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
การวินิจฉัยกลุ่มอาการเรย์
ภาวะนี้ยังไม่มีวิธีตรวจหาโรคแบบเฉพาะเจาะจง แต่เบื้องต้นแพทย์จะนำเลือดไปตรวจและตรวจปัสสาวะ เพื่อหาการติดเชื้อแบคทีเรีย ตรวจระดับความเป็นพิษในเลือด ตรวจการทำงานของตับ รวมทั้งตรวจหาความบกพร่องของการสังเคราะห์กรดไขมัน หรือความผิดปกติของระบบเผาผลาญอาหารด้วย นอกจากนั้นแพทย์อาจจะตรวจด้านอื่นเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้
- ตรวจน้ำไขสันหลัง เป็นการเจาะเอาน้ำที่อยู่ในข้อกระดูกสันหลังออกมา เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณแบคทีเรียหรือการติดเชื้อในสมอง อีกทั้งยังสามารถแยกโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกันด้วย เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้สมองอักเสบ เป็นต้น
- เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เป็นการสแกนเพื่อตรวจดูลักษณะภายในสมองว่ายังปกติดีหรือไม่ มีอาการบวมหรืออาการผิดปกติอย่างไรบ้าง
- ตรวจชิ้นเนื้อจากผิวหนัง แพทย์จะตัดเอาตัวอย่างผิวหนังปริมาณเล็กน้อยเพื่อนำเอาไปตรวจวินิจฉัยหาความบกพร่องด้านการสังเคราะห์กรดไขมัน และตรวจหาโ์รคเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ
- ตรวจชิ้นเนื้อจากตับ โดยการเจาะผ่านช่องท้อง นำตัวอย่างเนื้อเยื่อจากตับไปส่งตรวจ เพื่อหาอาการผิดปกติที่สอดคล้องกับเรย์ซินโดรม
การรักษากลุ่มอาการเรย์
แพทย์จะเน้นรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นเป็นหลัก เพื่อควบคุมไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นไปกระทบกระเทือนถึงสมอง โดยอาจใช้หลายวิธีรวมกันและคอยดูแลอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
- ให้สารอาหารหรือเกลือแร่ผ่านทางหลอดเลือด เพื่อช่วยให้เลือดกลับสู่สภาวะสมดุล
- ให้อินซูลินแก่ผู้ป่วยเด็กเพื่อเพิ่มการเมตาบอลิซึมของน้ำตาลกลูโคส
- ให้วิตามินเค เกล็ดเลือด หรือพลาสมา เพื่อลดการเกิดเลือดออกในตับ
- ให้ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดปริมาณน้ำในร่างกาย และลดการเกิดสมองบวมด้วยฮอร์โมนสเตียรอยด์
- ใช้เครื่องช่วยหายใจในกรณีที่การทำงานของปอดมีปัญหา
- ให้ยาต้านชัก เพื่อป้องกันการเกิดอาการชักในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
- เฝ้าดูการทำงานของหัวใจ ปอด ตับ และระบบต่างๆภายในร่างกาย
- ผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในขั้นรุนแรง อาจต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิดในห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) เพราะเป็นอาการที่อันตราย ซึ่งสามารถกระทบกระเทือนต่อสมองและร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
ภาวะแทรกซ้อนของกลุ่มอาการเรย์
ผู้ป่วยในภาวะนี้ส่วนใหญ่จะสามารถหายเป็นปกติได้ แม้บางรายอาจจะมีอาการเสียหายของสมองที่เกิดจากอาการบวม โดยในผู้ป่วยรายที่มีการติดเชื้ออย่างรุนแรงก็อาจทำให้สมองเสียหายอย่างถาวรได้ แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นมีน้อยมาก นอกจากนี้ภาวะแทรกซ้อนบางอย่างอาจจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เช่น สูญเสียการได้ยินหรือการมองเห็น มีปัญหาด้านการกลืนอาหารหรือการเคลื่อนไหว ความจำสั้น เป็นต้น
การป้องกันกลุ่มอาการเรย์
เนื่องจากยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าภาวะนี้มีสาเหตุมาจากอะไร เราจึงสามารถทำได้เพียงหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการ ดังนี้
- ฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสและไข้หวัดใหญ่
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินในเด็กที่อายุ 2-16 ปี ยกเว้นจะอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และอาจใช้ยาชนิดอื่นแทน เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น แต่การให้ยาไอบูโพรเฟนยังมีข้อควรระวังคือ ใช้ได้กับเด็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไปเท่านั้น และห้ามใช้กับเด็กรายที่มีอาการขาดน้ำหรืออาเจียนอย่างหนัก
- ก่อนใช้ยาควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรและอ่านฉลากยาให้ครบถ้วนทุกครั้ง เพราะยาหรือผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาแอสไพริน เช่น กรดอะซีทิลซาลิซิลิก อะซีทิลซาลิไซเลต กรดซาลิซิลิก ซาลิไซเลต เกลือซาลิไซเลต เป็นต้น
ได้รับรู้เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนกลุ่มอาการเรย์ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับลูกหลังจากการเป็นไข้หวัด อิสุกอิใส หรือโรคอื่นๆที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกันไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นในการใช้ยา โดยเฉพาะกับยาแอสไพรินไม่ควรให้ลูกใช้เด็ดขาดจนกว่าเขาจะโตเป็นผู้ใหญ่จริงๆ และยังต้องเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อยาต่างๆจากร้านขายยาให้ลูกกินเองด้วย
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th