Site icon Motherhood.co.th Blog

Shaken Baby Syndrome เขย่าหนูแบบนี้ ไม่ดีรู้ไหม

รู้จักกับ Shaken Baby Syndrome

พ่อแม่คนไทยพึงระวังไว้ เขย่าลูกแรง ๆ ไม่ส่งผลดีแน่

Shaken Baby Syndrome เขย่าหนูแบบนี้ ไม่ดีรู้ไหม

เชื่อว่าพ่อแม่คนไทยจะยังไม่รู้จักกับ “Shaken Baby Syndrome” มากสักเท่าไหร่นัก แต่ในต่างประเทศเขาตระหนักกันมานานแล้วว่ามันมีโอกาสเกิดอันตรายกับเด็กทารกขึ้นได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะกับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ และยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของทารกมากถึง 1 ใน 3 เลยทีเดียว มาติดตามไปด้วยกันนะคะว่ารายละเอียดของกลุ่มอาการนี้เป็นอย่างไรบ้าง และเราจะเพิ่มความระมัดระวังสำหรับลูกน้อยได้อย่างไร

Shaken Baby Syndrome คืออะไร?

มันคือกลุ่มอาการทารกถูกเขย่า ทำให้ทารกได้รับบาดเจ็บ จัดว่าเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกครอบครัว โดยเฉพาะกับครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ หากพ่อแม่ ญาติ ๆ หรือพี่เลี้ยงเด็ก ชอบเขย่าตัวทารกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ว่าจะแค่เล่นกันหรือทำลงไปเพราะอารมณ์โมโห ในสมองของเด็กเล็กจะมีน้ำอยู่ในช่องสมองมากกว่าเนื้อสมอง การเขย่าไปมาจึงทำให้เนื้อสมองแกว่งตัว จนเนื้อสมองกระแทกเข้ากับกะโหลกศีรษะ หากเขย่าไปด้านข้างเลือดก็จะออกจากสมองด้านข้าง ถ้าเขย่าไปด้านหน้าเลือดก็จะออกจากสมองด้านหน้า สมองจะได้รับความกระทบกระเทือนและมีเลือดออก เพราะเส้นเลือดในสมองของเด็กทารกยังไม่แข็งแรง โอกาสที่เส้นเลือดแตกปริและฉีกขาดจึงมีมากกว่าผู้ใหญ่

เด็กไม่หยุดร้องไห้ซะที พ่อแม่อารมณ์ไม่ดีก็เผลอเขย่าแรง

สาเหตุของกลุ่มอาการทารกถูกเขย่า

สาเหตุของการเขย่าตัวทารกส่วนมากแล้วเกิดจากผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูทารกไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กหยุดร้องไห้ โดยเฉพาะกับเด็กทารกในช่วง 3 เดือนแรกที่มักจะร้องไห้ไม่หยุด ไม่เว้นทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้พ่อแม่เกิดความเหนื่อยล้าจากการอดนอน บวกกับความเครียดที่ต้องฟังเสียงลูกร้องไห้ ก็อาจทำให้พ่อแม่เผลอเขย่าตัวลูกแรงเกินไป หวังจะให้เด็กหยุดร้อง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าการเขย่านั้นจะทำให้เด็กทารกมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ไม่เพียงแต่การเขย่าตัวเด็กเพื่อให้หยุดร้องไห้เท่านั้น บางครั้งการเล่นกับเด็กที่รุนแรงหรือโลดโผนเกินไป เช่น จับลูกที่ยังมีอายุไม่ถึง 1 ขวบโยนขึ้นไปกลางอากาศแล้วคอยรับ แม้ว่าเด็กจะรู้สึกสนุกสนานและชอบใจ แต่มันก็เกิดความเสี่ยงที่สมองจะได้รับการกระทบกระเทือนเช่นกัน

เป็นอันตรายกับเด็กมากแค่ไหน?

การที่ผู้ใหญ่เขย่าเด็กด้วยความรุนแรงไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งการเล่นกับเด็กอย่างโลดโผน มีความเสี่ยงที่จะทำให้เด็ก โดยเฉพาะทารกที่อายุอยู่ในช่วง 3-8 เดือน ได้รับบาดเจ็บทางสมองจนถึงขั้นเสียชีวิต หรือทำให้เด็กพิการตลอดชีวิตได้ เช่น ปัญหาทางสายตา ลมชัก ปัญหาทางสติปัญญาและการเรียนรู้ จนถึงขั้นเป็นอัมพาต เนื่องจากกล้ามเนื้อคอของเด็กยังไม่แข็งแรงพอ เมื่อคอและศีรษะของเด็กถูกเหวี่ยงไปมาหรือมีการเขย่าเกิดขึ้น ก็จะทำให้เส้นเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมองฉีกขาด เกิดเลือกออกในสมอง การเคลื่อนไหวแบบกระตุกอย่างรวดเร็วทำให้เนื้อสมองได้รับอันตราย และอาจจะลุกลามไปถึงขั้นเส้นเลือดในจอประสาทตาขาดได้ด้วย

มีช่องว่างในกะโหลก เมื่อโดนเขย่าสมองจึงกระแทก

ตรวจสอบอย่างไรว่าลูกได้รับบาดเจ็บจากการเขย่า

ถึงแม้ว่าอาการบาดเจ็บจากภายในจะไม่ค่อยส่งสัญญาณมาภายนอกจนผู้ใหญ่สามารถสังเกตเห็นได้ชัด แต่แนะนำให้หมั่นสังเกตหลังจากพบว่าลูกถูกเขย่า เช่น มีการอาเจียน หายใจติดขัด กลืนน้ำลายไม่ได้ ไม่ยอมดูดนม เซื่องซึม ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียก หน้าผากบวมขึ้น หรือมีเนื้อปูดออกมาที่ศีรษะ หากพบอาการดังที่กล่าวมานี้ ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และจำเป็นต้องแจ้งกับแพทย์ด้วยว่าเด็กถูกเขย่าตัวอย่างรุนแรง เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยอาการและทำการรักษาอย่างทันท่วงที

วิธีป้องกัน

ควรหลีกเลี่ยงการโยนลูกเล่นสูง ๆ

ทำอย่างไรหากลูกไม่ยอมหยุดร้องไห้?

หากการที่ลูกร้องไห้งอแงไม่ยอมหยุดมักเป็นตัวกระตุ้นให้พ่อแม่หงุดหงิดจนเผลอเขย่าตัวลูกอย่างรุนแรงบ่อยครั้ง พ่อแม่ต้องลองใช้วิธีใหม่ในการปลอบลูกให้สงบลง ดังนี้

เมื่อลูกร้องไห้ไม่หยุด อย่าใช้อารมณ์กับเขา ตั้งสติให้ดี

พ่อแม่ คนในครอบครัว หรือพี่เลี้ยงเด็ก ควรจะเข้าใจว่าการร้องไห้เป็นธรรมชาติของทารก เป็นการที่ทารกพยายามจะสื่อสาร ที่ถึงแม้คุณจะไม่เข้าใจมันก็ไม่เป็นไร หากแน่ใจว่าลูกกินอิ่ม และจับเขาอุ้มเรอแล้ว ผ้าอ้อมก็ไม่ได้แฉะ ไม่มีแมลงสัตว์กัดต่อยเขาอยู่ ก็พอจะวางใจได้ว่าสักพักลูกจะหยุดร้องลงได้เอง ระหว่างนั้นต้องคอยยับยั้งตัวเองเสมอ ไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับเขา เพราะหากเขย่าตัวลูกอย่างรุนแรงลูกอาจจะพิการหรือถึงแก่ชีวิตได้ คงไม่มีใครอยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะความหงุดหงิดชั่ววูบของผู้ใหญ่

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th